มีนาคมอาจเป็นเดือนแห่งความร้อนระอุในเมืองใหญ่ แต่สำหรับเรา นี่คือสัญญาณกระซิบบอกให้รู้ว่า ฤดูกาลบ๊วยได้เดินทางมาถึงแล้ว

เรามุ่งหน้าขึ้นดอยไปยังหมู่บ้านหนองเต่า อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่เล็กๆ ในโอบล้อมของภูเขาและป่าไม้ด้านหลังดอยอินทนนท์ ที่ยังคงร่มรื่นและเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญอีกสายหนึ่งของชาวเชียงใหม่ ที่นี่เป็นบ้านเกิดของพี่น้องชาวปกาเกอะญอที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับผืนป่ามายาวนาน


ตอนนี้บ๊วยเริ่มติดผลเต็มที่แล้ว ต่างจากฤดูหนาวที่บ๊วยจะทิ้งใบจนหมดต้น อวดดอกสีขาวงดงามราวซากุระ แต่น่าเสียดายที่ปีนี้ช่วงปีใหม่มีฝนหลงฤดูนานนับเกือบสัปดาห์ทำให้ดอกบ๊วยร่วงไปเยอะ จึงติดผลไม่มากเท่าทุกๆ ปี

ต้นบ๊วยในหมู่บ้านหนองเต่าเหลืออยู่ตามลำต้นเพียงเล็กน้อย เพราะชาวบ้านเริ่มทยอยเก็บไปบ้างแล้ว บ๊วยที่ปลูกในบ้านเราไม่เหมือนบ๊วยญี่ปุ่น เพราะลูกเล็กกว่า รสชาติเมื่อกินสดจะฝาดและเปรี้ยว จึงขายสดไม่ได้ราคานัก เพราะส่วนใหญ่นำไปใช้แปรรูปเป็นบ๊วยเค็ม หรือบ๊วยดองมากกว่า

แต่เมื่อไม่นานนี้ บ๊วยเริ่มมาแรงจากแดนปลาดิบ ทำให้หลายคนเริ่มเสาะหาบ๊วยสดกันเยอะขึ้น คนปลูกบ๊วยจึงต้องเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน บ๊วยสดนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น น้ำเชื่อมบ๊วย บ๊วยเค็ม เกลือบ๊วย และที่น่าสนใจมากคือยาบ๊วย ที่สกัดจากน้ำบ๊วย 10 กิโลกรัม เคี่ยวงวดจนเหลือเป็นครีมแค่กระปุกยาหม่อง ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาประจำบ้านที่ชาวญี่ปุ่นนิยมใช้อย่างมาก เพราะช่วยบำรุงระบบไหลเวียนโลหิต คนญี่ปุ่นเชื่อว่า หากระบบเลือดดีเสียอย่าง ร่างกายจะไม่มีทางเจ็บป่วยได้เลย

ควิ-อำนวย นิยมไพรนิเวศน์  แกนนำเกษตรอินทรีย์บ้านหนองเต่าเล่าว่า “ผลไม้บางอย่างที่มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไม่ใช่พืชท้องถิ่น บางอย่างปลูกแล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำกินยังไง เราต้องพยายามหาวิธีการเพิ่มมูลค่า เพื่อนๆ คนญี่ปุ่นของผมมาแบ่งปันความรู้ว่าจะนำบ๊วยมาทำอะไรได้บ้าง เราก็ลองทำดู ดัดแปลงดูให้ใกล้เคียงกับความชอบแบบคนไทย ทุกวันนี้ของผลิตภัณฑ์บ๊วยบางอย่างที่ขายในญี่ปุ่น ก็ผลิตจากที่นี่แหละครับ เพราะเมืองไทยเรายังมีบ๊วยมาก ที่บ้านเขามีไม่เพียงพอ บางทีผมลองชิมผลิตภัณฑ์บ๊วยที่ผมทำเองกับของจากญี่ปุ่น ก็ไม่แน่ใจเลยนะว่า..อันไหนออริจินัลกว่ากัน” (หัวเราะ)

สมาชิกทุกคนที่มาร่วมกิจกรรม Farm Visit ครั้งนี้ จึงได้ลงมือทำน้ำเชื่อมบ๊วยหรือ Ume Syrup ด้วยกัน ซึ่งมั่นใจได้เลยว่า เป็นบ๊วยที่มาจากกระบวนการผลิตแบบออร์แกนิกล้วนๆ ด้วยขั้นตอนที่แสนง่ายดาย เพียงนำบ๊วยสดมาแช่น้ำเปล่าให้คายความขื่นออกจากผลสักประมาณ 2 ชั่วโมง นำขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ แคะก้านและขั้วออกจากผล ใช้ไม้แหลมจิ้มให้บ๊วยเป็นรูพรุนจนทั่วผล ใส่ไปครึ่งขวดโหลแก้ว จากนั้นใส่น้ำตาลกรวดลงไป สัดส่วนคือบ๊วย 1 กิโลกรัม ต่อน้ำตาลกรวด 0.5 กิโลกรัม ปิดฝาแล้วเขย่าให้น้ำตาลซึมซาบเข้าไปในผลบ๊วย ทิ้งไว้สักพักจะเริ่มเห็นว่ามีน้ำบ๊วยเริ่มซึมออกมา เก็บไว้ในที่ไม่ถูกแสงและอากาศเย็น  ช่วงแรกที่หมักให้หมั่นเขย่าขวดทุกวัน เมื่อน้ำตาลกรวดละลายไปจนหมดแล้ว ให้เขย่าเพียงเดือนละครั้งก็พอ อดใจไว้อีกหนึ่งปี ตอนนั้นเราค่อยมาปาร์ตี้บ๊วยโซดากัน

หลังจากสนุกกับการทำน้ำเชื่อมแล้ว สมาชิกแต่ละคนก็ได้ผ่อนคลายกับการจิบน้ำบ๊วยรสสดชื่น บ้างก็ดื่มกาแฟที่ดริปกันแก้วต่อแก้ว และอร่อยกับเคปกูสเบอร์รี่สดใหม่ ซึ่งทั้งหมดคือผลิตผลจากสวนออร์แกนิกของชุมชนหนองเต่า จากนั้นควิพาเราไปเดินชมแปลงผักของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีแปลงผักสลัดหลากสีอวดโฉมเต็มไปหมด อะโวคาโดบางส่วนก็เริ่มติดผลเล็กๆ แล้ว โชคดีที่เราไปถึงตอนที่ชาวบ้านกำลังเก็บเบบี้แครอทพอดี หลายคนจึงช้อปปิ้งแครอทด้วยการถอนแครอทจากแปลงด้วยตัวเอง เป็นการซื้อผักที่สนุกสนานอย่างยิ่งและคงไม่มีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยนักในชีวิตของเรา

ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ในกระบวนการผลิตที่ปราศจากสารเคมีในทุกขั้นตอน บางคนจึงถอนแครอทออกมา ล้างน้ำให้สะอาดแล้วเคี้ยวกร้วมๆ ริมแปลงนั่นเลย เป็นการกินอาหารที่ได้ฟิลลิ่ง และได้พลังชีวิตดีจริงๆ  ณ จุดนั้น ไม่ว่าคนกินหรือคนปลูก ล้วนแต่มีใบหน้าเปื้อนยิ้มและแววตาเปี่ยมสุขกันทุกคน

เป็นความสุขของคนปลูกที่ได้พบหน้าผู้บริโภคของเขา และเป็นความสุขของผู้บริโภคที่ได้พบหน้าผู้ผลิตอาหารแสนอร่อยและปลอดภัย ช่างเป็นการพบกันที่งดงามเหลือเกิน

ในฐานะผู้ผลิตที่เป็นคนรุ่นใหม่ ควิอยากให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า คำว่า ‘ออร์แกนิก’ ไม่ได้มีความหมายแค่ในมิติสุขภาพ (health) หรือไม่ใช้สารเคมีเท่านั้น หากยังต้องหมายรวมถึงกระบวนการผลิตที่มีความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน (care) อยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม (fair) และนำไปสู่การรักษาระบบนิเวศ (ecology) ร่วมกันด้วย จึงจะเรียกได้ว่าอาหารนั้นๆ เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกอย่างแท้จริง

เหมือนที่ควิและเพื่อนๆ ของเขาบนดอยสูง กำลังพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะดำรงวิถีชีวิตในการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืนที่สุด ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาการผลิตอาหารที่ดีส่งตรงถึงผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพและปลอดภัยได้ด้วย  “ทำยังไงเราจะมีอาหารที่ดีกิน และป่าก็ยังอยู่ได้ด้วย ไม่ใช่ถางป่าปลูกผักไปเรื่อยๆ ถ้าทำอย่างนั้น วันหนึ่งก็จะไม่มีใครสักคนที่อยู่รอดได้ สิ่งที่เราทำทุกวันนี้คือใช้ประโยชน์จากป่าหลายๆ ระดับชั้น เรามีต้นไม้ระดับสูง กลาง มีไม้คลุมดิน มีไม้เลื้อยบนต้นไม้ แม้แต่ใต้ดินก็ยังมี กาแฟที่เราปลูกก็เป็นกาแฟใต้ร่มไม้ในป่า เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เราอยากมีโอกาสเล่าให้ผู้บริโภคฟัง เพราะวิถีชีวิตที่ดีต้องนำพาไปสู่ความยั่งยืน”

วลีที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินเลยจริงๆ เพราะตราบใดที่มนุษย์ไม่เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งที่เรากระทำต่อสรรพสิ่งรอบกาย เราย่อมไม่ตระหนักว่าเราล้วนต่างเป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำลายโลกใบนี้อย่างไม่รู้ตัว การบริโภคอาหารออร์แกนิกจึงมิเป็นเพียงการมอบความรักต่อตนเอง หากยังหมายถึงการเกื้อกูลต่อวิถีชีวิตผู้ผลิต และเมตตาโลกใบนี้ไปพร้อมกันด้วย

เรื่องเล่าเบื้องหลังการผลิตของชุมชนเล็กๆแห่งนี้จึงชวนให้เรากลับมาขบคิดว่า นับจากนี้เราจะช่วยกันสร้างวิถีชีวิตที่อ่อนโยนต่อโลกใบนี้ให้ยั่งยืนได้อย่างไรกันดี 🙂

ติดตามรายละเอียด farm visit ของฮักเวียงช็อปครั้งต่อไปได้ที่ www.facebook.com/HugWiangShop