ปัญหาของ food waste หรือขยะอาหารยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายๆ ฝ่ายพยายามแก้ไข ในปีที่ผ่านมาเราเห็นซูเปอร์มาร์เก็ตพยายามผลักดันแคมเปญกินผักผลไม้หน้าเบี้ยว เห็นร้านอาหารลุกขึ้นมาสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ จากวัตถุดิบเหลือใช้ เห็นเทคโนโลยีที่ช่วยยืดอายุผักผลไม้ให้วางจำหน่ายได้นานขึ้น 

การแก้ไขปัญหาขยะอาหารที่ผ่านมามักเป็นการเคลื่อนไหวที่แก้ไขโดยผู้ผลิตอย่างร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และเกษตรกร แต่ความตื่นตัวเรื่องขยะที่มากขึ้นในฝั่งผู้บริโภค ผู้คนมากมายต่างก็ค้นหาวิธีการที่เราจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดขยะได้ จึงกลายเป็นที่มาของบริษัทสตาร์ทอัพในหลายประเทศทั่วโลกที่ออกแบบแอปพลิเคชั่นซึ่งช่วยให้ใครๆ ก็สามารถแก้ไขปัญหาอาหารขยะได้ง่ายๆ เพียงแค่ปลายนิ้ว

Too Good To go

เพราะอาหารในร้านยังคุณภาพดีเกินกว่าจะทิ้งไป



หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดขยะอาหารของร้านอาหารส่วนใหญ่ไม่ใช่เศษอาหารที่หลงเหลือระหว่างการปรุง แต่กลับเป็นมื้ออาหารที่ขายไม่หมดและต้องทิ้งไป ซึ่งมีสถิติออกมายืนยันว่าร้านอาหารทั่วสหราชอาณาจักรทิ้งอาหารที่ยังกินได้มากกว่า 900,000 มื้อในทุกๆ วัน 

ตัวเลขที่น่าตกใจนี้กลายเป็นที่มาของแอปพลิเคชั่น Too Good To go ที่ช่วยให้ร้านอาหารนำอาหารมื้อที่เหลือของแต่ละวันมาขายต่อได้ในราคาถูกกว่าครึ่ง ซึ่งวิธีการทำงานของ Too Good To go นั้นแสนง่ายดาย มีระบบการซื้อขายเหมือนแอปฯ ขายดีลร้านอาหารที่ผู้บริโภคสามารถเลือกร้านอาหารที่ต้องการซื้อดีลได้ แต่เราจะไม่รู้ว่าอาหารที่เหลือคืออะไร จนกว่าผู้ซื้อจะไปรับอาหารเองในช่วงก่อนปิดที่ร้านอาหารนั้นๆ

นอกจากจะได้อาหารราคาถูกแล้ว อีกจุดเด่นของ Too Good To go คือจำนวนร้านอาหารที่เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์มากกว่า 38,511 ร้าน ทำให้แอปพลิเคชั่นนี้ไม่เพียงแค่เป็นที่สนใจของคนอยากช่วยลดขยะอาหาร แต่ยังดึงดูดลูกค้าทั่วไปที่มองหาอาหารจากร้านโปรดในราคาสุดคุ้มด้วย

หลังจากเปิดใช้งานมาประมาณ 3 ปีแอปพลิเคชั่นนี้สามารถกู้ชีวิตอาหารก่อนจะถูกทิ้งไปได้มากกว่า 30 ล้านมื้อ Too Good To go ถูกยกให้เป็นหนึ่งในโมเดลการลดขยะอาหารที่ประสบความสำเร็จที่สุดของยุโรปและถูกนำไปใช้ลดขยะแล้วกว่า 15 ประเทศทั่วโลก เช่น อังกฤษ เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เป็นต้น 

https://toogoodtogo.org

OLIO

แอปพลิเคชั่นแจกอาหาร ที่จะมาปฏิวัติการกินเหลือในบ้านของทุกคน

ขณะที่ Too Good To go มุ่งเน้นการลดขยะจากร้านอาหาร OLIO แอปพลิเคชั่นจากอังกฤษนี้หันมามุ่งเน้นลดขยะอาหารที่ผลิตในบ้าน เพราะมีสถิติบอกว่าครอบครัวชาวอังกฤษนั้นสร้างขยะอาหารมากกว่า 50% ของขยะอาหารทั้งหมดในประเทศ ซึ่งอาหารเหล่านี้มีทั้งอาหารที่ปรุงแล้วกินไม่หมดและวัตถุดิบที่ซื้อมาแล้วใช้งานไม่ทัน สุดท้ายมันก็ถูกทิ้งกลายเป็นขยะอย่างช่วยไม่ได้

Tessa Clarke และ Saasha Celestial-One รู้สึกว่าแทนที่จะทิ้งอาหารซึ่งยังกินได้ให้รู้สึกเสียดาย ทำไมไม่นำมาแจกจ่ายให้คนในละแวกบ้านกินแทน แต่ปัญหาสำคัญคือคนเมืองในปัจจุบันนี้ไม่รู้จักคนในละแวกบ้าน จากไอเดียที่อยากแก้ไขปัญหาขยะอาหารด้วยวิธีง่ายๆ จึงเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของ OLIO แอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้เราสามารถแจกอาหารหรือวัตถุดิบอื่นๆ ที่กินไม่ทันให้กับคนในละแวกบ้านที่สนใจ

แอปฯ นี้เปิดโอกาสให้ทุกคนแชร์อาหารและของเหลือใช้ได้หลากหลาย ทั้งอาหารที่ปรุงแล้ว วัตถุดิบเหลือใช้ ผักที่ปลูกเอง ไปจนถึงของใช้ทั่วไป มีวิธีการใช้งานง่ายๆ เพียงแค่ลงทะเบียนยืนยันตัวตนในแอปพลิเคชั่น จากนั้นผู้ที่ต้องการแชร์ก็ถ่ายรูปสิ่งของหรืออาหารที่อยากให้พร้อมคำอธิบาย ระบุช่วงเวลา และสถานที่สำหรับรับสินค้า ส่วนผู้รับนั้นจะเจอกับลิสต์สินค้ามากมายในละแวกใกล้เคียง หากเราสนใจก็สามารถกด request ระบุความต้องการรับสินค้าผ่านข้อความส่วนตัวในแอปพลิเคชั่น แล้วนัดหมายเวลาที่จะเดินทางไปรับกับผู้ให้ แค่นี้เราก็ช่วยคนในละแวกบ้านลดขยะอาหารและยังได้อาหารมากินฟรี!! 

OLIO ไม่เพียงแค่ช่วยเชื่อมต่อผู้คนในละแวกใกล้เคียง แต่ยังเชื่อมต่อกับร้านค้าในท้องถิ่นที่อยากร่วมกระบวนการแจกอาหารด้วย ปัจจุบันนี้ OLIO ทำให้เกิดการแชร์อาหารไปแล้วกว่า 2.9 ล้านมื้อ สามารถใช้งานได้มากกว่า 49 ประเทศ เป็นอีกหนึ่งโมเดลการลดขยะอาหารที่ประสบความสำเร็จไปทั่วโลก

https://olioex.com

TABETE

แอปพลิเคชั่นที่อยากให้คนญี่ปุ่นเลิกยึดติดกับอาหารสดใหม่จนเกินไป

ไม่เพียงแค่ในยุโรปและอเมริกา หลายๆ ประเทศในทวีปเอเชียเองก็เผชิญกับปัญหาขยะอาหารเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่คนทั่วไปให้ความสำคัญกับความสดใหม่และคุณภาพของอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการพยายามควบคุมอาหารของตนเองให้ทั้งอร่อย สดใหม่ และคุณภาพดีที่สุด มีการกำหนดวันหมดอายุอย่างตายตัว มีบทลงโทษสำหรับร้านที่วางขายสินค้าที่หมดอายุ ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารทั่วไปไม่กล้าวางจำหน่ายสินค้าที่ใกล้หมดอายุเลบ

นั่นส่งผลให้ญี่ปุ่นมีขยะอาหารที่ยังกินได้มากกว่าปีละ 6.2 ล้านตัน มากเป็นอันดับ 6 ของโลก และกลายเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่คนญี่ปุ่นให้ความสนใจ ซึ่ง TABETE เป็นสตาร์ทอัพที่หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาขยะอาหารนี้ โดยนำไอเดียของแอปพลิเคชั่นขายอาหารเหลือจากร้านของฝั่งยุโรปและอเมริกามาปรับใช้

การทำงานของ TABETE จะคล้ายๆ กับ Too Good To go ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกร้านอาหารที่ต้องการซื้อดีล แต่ต่างกันตรงที่ร้านอาหารพาร์ทเนอร์ของ TABETE จะต้องถ่ายภาพของเมนูที่เหลือและเมนูที่คาดว่าจะเหลือของวันนี้ลงแอปพลิเคชั่นก่อนจากนั้นจึงลงขายดีลให้ผู้ที่สนใจ

หลังจากเปิดให้บริการมาประมาณ 1 ปี TABETE มีร้านอาหารเข้าร่วมขบวนการลดขยะมากกว่า 3,000 ร้าน ไม่เพียงแค่ช่วยให้ลูกค้าได้อาหารดีในราคาถูก ช่วยให้ร้านอาหารไม่ต้องกังวลกับปัญหาขยะ ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างการรับรู้ถึงปัญหาขยะอาหาร และหวังว่าจะช่วยคนญี่ปุ่นสามารถบาลานซ์ ไลฟ์สไตล์ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของอาหารและแนวคิดรักษ์โลก เพื่อแก้ไขปัญหาขยะอาหารให้ได้ในระยะยาว

https://tabete.me/

วิธีร่วมด้วยช่วยกันลดขยะที่คนไทยทำได้

ในประเทศไทยแม้จะยังไม่มีแอปพลิเคชั่นหรือเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริโภคอย่างเราสามารถกู้ชีวิตอาหารก่อนจะเป็นขยะได้อย่างเต็มตัว แต่ล่าสุด Thai SOS มูลนิธิที่รับบริจาคอาหารส่วนเกินจากโรงแรม ห้างร้าน และร้านค้าปลีกมาส่งต่อในหลากหลายรูปแบบ ก็ได้ร่วมมือกับแอปพลิเคชั่นแจกสูตรอาหารอย่าง Cookpad Thailand สร้างแคมเปญ #5000มื้อให้น้อง โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการส่งต่ออาหารที่เหลือจากร้านค้าและโรงแรมต่างๆ ไปยังผู้ยากไร้ ด้วยการแชร์สูตรอาหารลงในแอปพลิเคชั่น ซึ่ง 1 สูตรที่แชร์จะบริจาคทุนให้มูลนิธิ Thai SOS ส่งต่ออาหารผู้ยากไร้ 1 มื้อ

นอกจากนี้เรายังสามารถลดขยะอาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตได้ด้วยการเปิดใจซื้อของสดที่ขายไม่หมดในแต่ละวันซึ่งถูกนำมาหันราคาให้เหลือเพียงครึ่งในช่วงเวลาก่อนปิดห้างหรือที่เรารู้จักกันในชื่อสินค้าป้ายเหลือง รวมถึงทำความเข้าใจกับนิยามของ ว่า best before, sell by, best if used by ต่างกันอย่างไร และแค่ไหนคือระยะปลอดภัยที่เรายังกินได้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ อาหาร ‘หมดอายุ’ ไม่ได้แปลว่า ‘กินไม่ได้’ เสมอไป)

เพียงเท่านี้ทุกคนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการกู้อาหารเหลือได้ ที่สำคัญยังประหยัดด้วย !!