ในขณะที่ประเทศเรายังมีคนอยากไร้และอดอยาก แต่เรากลับมีอาหารคุณภาพดีเหลือทิ้งจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน เพราะพวกมันถูกตีตราไว้ด้วย ‘วันหมดอายุ’ ราวกับว่าเมื่อนาฬิกาตีบอกเวลาเที่ยงคืน อาหารคุณภาพดีและกลายร่างเป็นขยะในทันที จากคุณค่ากลายเป็นภาระที่ต้องกำจัด

แต่ในยุโรปและอเมริกา กลับมีกลุ่มคนที่คอยชุบชีวิตอาหารเหลือเหล่านี้ พวกเขากอบกู้มันขึ้นมาจากถังขยะและแจกจ่ายอาหารคุณภาพดีเหล่านี้ให้กับคนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งหน่วยปฏิบัติการนี้เรียกตัวเองว่า ‘Food dumpster‘ พวกเขาสามารถดำรงชีวิตด้วยขยะอาหารคุณภาพดีโดยไม่ต้องเสียตังค์สักบาท แถมยังกอบกู้อาหารได้มูลค่ากว่า 7,000 บาท (200 ดอลลาร์) ใน 1 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพเสมือนที่รายได้งามเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการจัดงานแต่งงานโดยการเสิร์ฟอาหารหมดอายุที่ยังคุณภาพดีทั้งหมด โดยพวกเขาให้แขกที่มาในงานได้รื่นรมย์และลิ้มรสอาหารเหล่านั้น ก่อนที่จะเฉลยในช่วงท้ายว่าอาหารรสชาติเยี่ยมในพิธีเป็นขยะอาหารมาก่อน แน่นอนว่าบางคนออกจะตกใจ แต่คนส่วนใหญ่ต่างปรบมือและชื่นชมในแนวคิดนี้

ฉันเคยสัมภาษณ์ ร็อบ กรีนฟิลด์ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและ Food dumpster คนสำคัญ ฉันถามเขาไปตรงๆ ว่า เขาเคยป่วยหรือท้องเสียจากการกินอาหารเหล่านี้ไหม เขาตอบว่า “ผมไม่เคยมีปัญหาสุขภาพจากอาหารพวกนี้เลย ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสัญชาติญาณที่จะรู้ว่าอาหารนี้บูดหรือไม่บูด เป็นสัญชาตญาณแบบสัตว์ทั่วไปที่รับรู้ได้ว่าอะไรกินได้หรือไม่ได้ ผมเรียกมันว่า Food common sense”

ในประเทศไทยของเราเองมีการสร้างขยะอาหารถึงปีละ 26.77 ล้านตันหรือคิดเป็นหนึ่งส่วนสามของปริมาณอาหารที่ผลิตได้ แปลว่าพื้นที่การเกษตร 100 ไร่ จะถูกปลูกไปอย่างสูญเปล่าถึง 33 ไร่ แล้วเราจะต้องใช้พื้นที่หรือทรัพยากรมากแค่ไหนในการสร้างผลผลิตให้เพียงพอต่อการกินทิ้งกินขว้างขนาดนี้

แต่เดี๋ยวก่อน! ฉันไม่ได้กำลังจะบอกว่าเรามากินอาหารหมดอายุกันเถอะ แต่จริงๆ แล้วเรายังมีทางออกอีกมากมายในการต่อลมหายใจให้อาหารใกล้หมดอายุขัยเหล่านี้

‘Best before’ doesn’t mean ‘bad after’

เราควรเข้าใจว่า ‘ควรบริโภคก่อน’ คือวันที่แนะนำสำหรับความอร่อยสุดๆ ของอาหารนั้น แต่มันไม่ได้แปลว่าหลังจากนั้นอาหารจะเป็นอันตราย เพียงแต่อาจจะไม่ได้สดใหม่หรือว่าอร่อยเท่าเดิมอีกต่อไป ขนมอบกรอบอาจจะไม่กรอบ หรือขนมปังอาจจะไม่ได้หอมเหมือนเดิม แต่ว่าก็ยังกินได้อยู่นะ

ตุน = อ้วน = โลกร้อน

เมื่อหิวจัดบางคนก็มักจะหักห้ามใจไม่ไหว อันนี่ก็น่ากิน อันโน้นก็อยากลอง ยิ่งซื้อ 1 แถม 1 ยิ่งต้องโดน แล้วก็ซื้อมาเก็บตุนไว้จนกินไม่ทันและหมดอายุในที่สุด

การเลือกซื้อยืดอายุ

บางคนเวลาเลือกซื้อของแล้วมักจะล้วงมือเข้าไปหยิบชิ้นที่อยู่ด้านใน เพราะมักจะมีวันหมดอายุที่ยาวนานกว่าอย่างน้อยก็อีกวันสองวัน ให้ความรู้สึกว่าเป็นของที่สดใหม่กว่าแม้ว่าเราจะบริโภคในวันนั้นเลยก็ตาม แต่ในทางกลับกันพฤติกรรมนี้คือการผลักให้อาหารที่ใกล้ถึงวันหมดอายุกลายเป็นขยะนั้นเอง

ความด่างพร้อยคือด้อยค่าจริงหรือ?

เมื่อเราเสียเงินซื้อของ ใครๆ ก็อยากจะเลือกของที่ดีที่สุดกลับไป นั้นทำให้กล้วยที่อาจจะเปลือกดำไปหน่อย หรือแอปเปิ้ลที่มีรอยช้ำนิดๆ กลับถูกเพิกเฉยและกลายเป็นขยะ ทั้งๆ ที่มันก็ไม่ได้มีคุณค่าน้อยกว่าผลไม้ที่มีผิวสวยงามเหล่านั้นเลย หากเรายอมรับจุดบกพร่องของอาหารว่าเป็นเรื่องธรรมชาติก็จะช่วยลดปริมาณขยะอาหารลงไปได้มาก

ที่มาภาพ: www.frenchfoodintheus.org, www.robgreenfield.tv, www.insight.amcham-shanghai.org, www.wwf.org.uk