นอกจากอาหารจะสัมพันธ์กับสุขภาพอย่างตรงไปตรงมา อีกสายสัมพันธ์ที่เราคิดว่าสำคัญไม่แพ้กันคือบทบาทของอาหารและอนาคต เพราะอาหารสัมพันธ์กับทรัพยากรโลก การบริโภคอย่างคุ้มค่าจึงเป็นการคำนึงถึงอนาคตในคราวเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่ออาหารแปะมือกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บทบาทที่เพิ่มเติมขึ้นมานอกจากความอร่อยจึงเป็นการผลิตอาหารเพื่อความอิ่มท้องและเปี่ยมคุณค่าในวันที่ประชากรโลกวุ่นอยู่กับการจัดการเรื่องอื่นมากขึ้น

แต่นอกจากชุดความรู้และสารคดีเกี่ยวกับอาหารที่มีให้ตื่นตาตื่นใจอย่างมากมาย เราว่าหนังสือในหมวดเรื่องแต่งเกี่ยวกับอาหารและอนาคตก็น่าสนใจไม่แพ้กัน Greenery จึงขอรวบรวมหนังสือ 3 เล่มที่เราว่าช่วยเปิดโลกความสนใจในอาหารได้ไม่น้อยหน้ากัน แต่ขอเตือนว่าไม่ค่อยปล่อยท้องว่างระหว่างอ่านหนังสือหมวดนี้ แต่อนุญาตให้ปล่อยสมองโล่งได้ เพื่อเปิดรับเรื่องราวของอาหารและอนาคตที่จะทำให้จานอาหารในวันพรุ่งนี้ของคุณไม่เหมือนเดิม

Sourdough
Robin Sloan เขียน

นิยายเล่มล่าสุดของผู้เขียน Mr. Penumbra’s 24-Hour Bookstore ที่คราวนี้จะพาเราไปเนิร์ดกับอนาคตอาหารจนน่าเหลือเชื่อว่าอาหารและวิทยาศาสตร์จะแปะมือแท็กทีมกันได้ขนาดนี้ เพราะขั้นกว่าของการรู้จักเข้าใจอาหารผ่านการทำกินเองก็คือการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าอาหารจะพัฒนาไปได้ขนาดไหน

หลังจากที่โลอิส แคลรี่ โปรแกรมเมอร์สาวผู้กินแต่เจลอาหารสำเร็จรูปลองอบขนมปังครั้งแรก เธอก็เหมือนได้เข้าใจคำว่า “อร่อย” เป็นครั้งแรกในชีวิต จากนั้นโลอิสทดลองอบขนมปังด้วยเตาอบหลายแบบ เปลี่ยนเวลา เปลี่ยนเพลงที่เปิดให้สตาร์ตเตอร์ฟัง พาขนมปังโฮมเมดที่ภาคภูมิใจไปออกงาน Farmer Market จนกระทั่งได้พบกับชุมชนคนคลั่งอาหารในซิลิคอน วัลเลย์ที่ต้องการปฏิวัติอาหารด้วยวิทยาศาสตร์ อย่างดอกเตอร์มิตรา ผู้กำลังคิดค้นขนมปังแบบกินน้อยอิ่มนานเหมือนขนมเลมบัสใน Lord of the Ring หรืออะกริปปาที่ทำชีสและน้ำผึ้งจากเชอร์โนบิล ผู้ถ่องแท้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแบคทีเรียและเชื้อราว่า 2 สิ่งนี้คือตัวแปรสำคัญในอาหาร รวมถึงสมาชิกคนอื่นๆ ที่ต่างทดลองเรื่องอาหารด้วยความเชื่อมั่นว่า ความเป็นไปได้ใหม่ๆ คือกุญแจที่จะทำให้มนุษย์อยู่รอด

สูทไส้กรอก (Die Entdeckung der Currywurst)
Uwe Timm เขียน

แม้ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว สูทไส้กรอกจะเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่พาเราไปรู้จักที่มาของไส้กรอกกะหรี่ (Currywurst) แต่ในบริบทที่เกิดขึ้นในเรื่องคงต้องกล่าวว่า ไส้กรอกกะหรี่คืออาหารแห่งอนาคตในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นรสชาติผสมผสานของไส้กรอกเนื้อลูกวัวสีขาว ผัดกับผงกะหรี่จนด้านนอกกรุบเด้ง แล้วราดด้วยมัสตาร์ดเผ็ดร้อนตัดกับซอสมะเขือเทศสีแดงสนิม จนกลายเป็นสวนสวรรค์รสจัดในวันลมแรง คุณบรึคเคอร์เผยความหลังพร้อมความในใจกว่าจะได้สูตรไส้กรอกอย่างช้าๆ จนทำให้เราเห็นความยากแค้นของการปันส่วนอาหาร การพลิกแพลงแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ต้องการกว่าจะได้น้ำมันพืชสักขวด ไส้กรอกสักชิ้น หรือซอสมะเขือเทศสักกระปุก ซึ่งล้วนทำให้เราตระหนักว่า หนึ่งเมนูที่เลิศเลอต้องผ่านการสรรหาและใช้วัตถุดิบคุ้มค่าอย่างไร

กล่องข้าวของครูข้าวกล้อง
Uoto Osamu และ Kitahara Masaki เขียน

การ์ตูนชวนอบอุ่นใจที่เป็นทั้งได้เคล็ดลับน่าทึ่งในการปรุงอาหารและความรู้แปลกใหม่ที่ทำให้ตระหนักถึงสุขภาพของเราในอนาคตผ่านอาหาร คุณครูเก็นไมหรือคุณครูข้าวกล้องแห่งคณะเกษตรศาสตร์ที่ได้ทำการปฏิวัติความเข้าใจเรื่องอาหารของนักศึกษามหาวิทยาลัยอย่างละมุนละม่อม จนทำให้คนอ่านอย่างเรากุมท้องโอดโอย อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชั้นเรียนของคุณครูด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรุงแกงกะหรี่ที่ใส่เปลือกหอมใหญ่ลงไปด้วย เพื่อลดขยะจำนวนมากที่โรงอาหารต้องจัดการ เพิ่มสีสันให้เข้มข้นขึ้น และได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจำพวกฟลาโวนอยด์พ่วงด้วย การปลูกฝังให้กินอาหารแบบไม่ตัดส่วนไหนทิ้ง โดยเฉพาะพืชหัวอย่างกะหล่ำปลีและผักกาดขาว เพราะส่วนหัวที่ทำให้พืชแตกหน่อเติบโตได้ก็ย่อมอุดมไปด้วยสารอาหารสำหรับเราเช่นกัน