ช่วงอากาศร้อนๆ อบอ้าวอย่างนี้ ถ้าได้กินผลไม้เปรี้ยวหวานสดชื่นอย่าง ส้ม เลม่อน มะนาว ก็คงจะช่วยให้กระปรี้กระเปร่า แถมยังให้วิตามินซีที่เป็นประโยชน์กับเราอีกหนึ่งต่อ แต่ความสดชื่นจากผลไม้ตระกูลนี้บางครั้งก็มาพร้อมกับความไม่สบายใจเหมือนกัน เพราะเรามักจะไม่รู้ที่มาที่ไปของมัน แถมยังได้ยินข่าวไม่ดีลือสนั่นว่าติดอันดับท็อปเทนเรื่องสารเคมีตกค้างด้วย!

G101 ตอนนี้ เลยขอพาไปซักประวัติของพืชตระกูลส้ม ว่าทำไมเราต้องเลือกซื้อจากเกษตรกรที่ปลูกด้วยวิถีแบบอินทรีย์ แล้วเราจะเลือกกินยังไงดี ให้ทั้งปลอดภัย สดชื่น และได้ประโยชน์ 

ถึงข้างนอกขรุขระ แต่ข้างในปลอดภัยนะ

ส้ม มะนาว เลม่อน ถือเป็นผลไม้ตระกูลส้มหรือซิตรัส (citrus) ที่มีจุดร่วมกันคือรสเปรี้ยวไปจนถึงเปรี้ยวจัด เรามักจะเห็นผลไม้กลุ่มนี้วางขายในท้องตลาดทั่วไปแบบผลกลมเกลี้ยงหรือผิวสวยเงางาม แต่ความสวยเนี้ยบนิ้งเงาวับของมันนี่แหละที่อาจบ่งบอกถึงอันตรายที่แฝงอยู่ได้

เปลือก ที่เห็นเงาวับ อาจเกิดจากสารเคลือบผลไม้ที่นิยมเคลือบเพื่อให้ดูสวยงาม อยู่บนเชลฟ์ได้นาน ลดรอยขีดข่วน ไม่สุกไว และไม่เหี่ยว แต่ตัวสารเคลือบที่ใช้ส่วนใหญ่ก็มีทั้งแบบที่ทำจากแวกซ์ เชลแล็กเกรดอาหาร ซึ่งกินเข้าไปไม่เป็นอันตราย (ถ้าไม่แพ้) กับอีกแบบที่เป็นสารซึ่งไม่ละลายในน้ำ ซึ่งราคาถูกกว่า เมื่อกินเข้าไปอาจตกค้างหรือเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เหมือนกัน

เนื้อใน ดูเฉยๆ อาจไม่รู้ แต่จากผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2562 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน (Thai-PAN) พบว่าผลไม้ที่พบการตกค้างมากที่สุดคือ ส้ม และจากการสอบถามเกษตรกรก็พบว่าพืชตระกูลส้ม เป็นพืชที่มีโรคและแมลงมารบกวนผลในแทบทุกกระบวนการ (โดยเฉพาะแมลงวันทอง ที่จะมากินผลช่วงใกล้สุก) ทำให้ยิ่งเสี่ยงต่อการฉีดพ่นสารเคมีรวมไปถึงสารฆ่าเชื้อราสูงมากนั่นเอง

ดังนั้น ทางออกเดียวที่เราจะลดความเสี่ยงเหล่านี้ คือการหันมาเลือกซื้อส้ม มะนาว เลม่อน ที่ปลูกด้วยวิถีอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ไม่มีสารเคลือบผิว ถ้าเปรียบเหมือนกับคนก็เหมือนการ ‘ไม่วัดกันที่ภายนอก’ แนวทางเดียวกับเทรนด์เมืองนอกที่ช่วงนี้ผู้บริโภคหันมาเลือกกิน Ugly Fruit หรือผลไม้หน้าตาไม่ดีกันมากขึ้น เพราะที่เห็นผิวตะปุ่มตะป่ำ ขรุขระ มีรอยด่างดำ ไม่เงาวิบวับ ก็แลกมาด้วยความปลอดภัยของคนกิน ช่วยลดปัญหาขยะอาหาร ได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้ขายผลผลิตที่ดี (และขายหมด) และเผลอๆ ยังอร่อยกว่าด้วยนะ!

น.ส. ส้มอินทรีย์ 

“ถึงเปลือกไม่สวย แต่หวานแบบจริงใจ ไม่ใส่เคมี”

จากข้อมูลของงานวิจัยในไทยที่พอจะหาข้อมูลได้ พบว่าส้มที่ปลูกแบบทั่วไปหรือนำเข้าจากเมืองนอกอาจมีสารเคมีตกค้าง และในกระบวนการก็อาจมีการใช้เคมีมากมายถึง 56 ชนิด แถมคนปลูกส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดว่าส้มเป็นพืชที่ปลูกแบบอินทรีย์ไม่ได้หรอก แต่ที่จริง ในบ้านเราเองก็มีเกษตรกรหลายคนที่หันมาปลูกส้มแบบอินทรีย์ได้เต็มตัวแล้วนะ

หนึ่งในนั้นก็คือกลุ่ม Pinto Organic Farming สวนส้มที่ จ.ปทุมธานี ของคุณแป้น เกษตรกรที่กลับใจจากเคมีมาปลูกแบบอินทรีย์ จากที่เคยทำสวนส้มเคมีกว่า 300 ไร่เพื่อตอบสนองตลาดที่ต้องการผลผลิตจำนวนมาก จนกระทั่งต้องมาเจอวิกฤตในปี 2547 ที่ต้นส้มป่วยเพราะดินเจอเคมีจนเป็นกรด ผลส้มร่วงหล่นตายไปจนแทบไม่เหลือ คุณแป้นจึงต้องทยอยแก้ปัญหาด้วยการเอาที่ดินไปขายเพื่อใช้หนี้ ใช้หนี้ไปเรื่อยๆ จนเหลือแค่ที่ดินของพ่อแม่ของตัวเองที่ขายไม่ลง 

“แสดงว่าเราใช้ชีวิตแบบผิดๆ มาตลอด” คุณแป้นเล่าความคิดของตัวเองที่เพิ่งตกตะกอนเมื่อถึงคราวเข้าตาจนกับชีวิต ระหว่างนั้นเองที่ได้ไปลงเรียนวิชาเกษตรอินทรีย์หลายๆ แห่ง และลองทำตามเพราะคิดว่าไม่มีอะไรจะเสีย เริ่มจากทดลองปลูกผักสลัด จนขยับกลับมาปลูกส้มพันธุ์เขียวดำเนินที่มีต้นแข็งแรง ใช้เวลาปรับพื้นที่และบำรุงดินให้กลายเป็นดี ปลูกส้มมาหลายชุด ใช้เวลากว่า 5 ปี หักดิบจนกลายเป็นสวนส้มอินทรีย์แบบเต็มตัวได้สำเร็จ และสิ่งสำคัญที่ทำให้มีกำลังใจคือ ‘ส้มที่ปลูกกลับมาหวานและอร่อยมากๆ เหมือนที่เคยกินตอนเด็กๆ อีกครั้ง’

ส้มพันธุ์เขียวดำเนินของ Pinto Organic Farming พูดได้อย่างภาคภูมิใจว่าปลูกด้วยอินทรียวัตถุทั้งหมด จุดเด่นของส้มอินทรีย์คือลูกเล็ก มีเปลือกบาง แต่เวลาปอกจะมีน้ำมันที่ผิวส้มเยอะทำให้ส่งกลิ่นหอมมากกว่า และที่สำคัญคือรสหวานซ่อนเปรี้ยวที่เป็นธรรมชาติ ยิ่งเก็บไว้หลายวันก็ยิ่งหวาน เอาไปคั้นเป็นน้ำส้มคั้นยิ่งอร่อยชื่นใจ

ใครอยากอุดหนุนส้มอินทรีย์ของคุณแป้น ช่วยเหลือเกษตรกรที่หลุดพ้นจากวงจรหนี้และสารเคมี ส้มอินทรีย์จะออกผลให้สั่งออนไลน์กันอีกครั้งในเดือนกันยายน ให้เข้าไปกดไลก์รอติดตามได้ที่เฟซบุ๊กเพจ Pinto Organic Farming (คุณแป้นกระซิบบอกว่า ช่วงที่ส้มออกผลต้องตัดสินใจไวๆ และช่วยกันอุดหนุนเยอะๆ เพราะแมลงวันทองจะบุกมากินก่อนจนขายไม่ทัน) หรือติดตามข่าวสารได้ที่เพจ มูลนิธิชีวิตไท ที่ใจดีเข้าไปช่วยเหลือคุณแป้นในการทำการตลาด ช่วยแนะนำเรื่องการขาย และเชื่อมโยงให้คนกินได้ไปเที่ยวสวนส้มของคุณแป้นจนติดใจในความจริงใจ และกลายเป็นลูกค้าประจำกันไปหลายคน 

นาย เลม่อนอินทรีย์ 

“ลูกใหญ่พึ่งพาได้ ตัวหอมแต่ไกล ไม่มีสารเคลือบผิว”

จุดเด่นของเลม่อนคือความหอม ยิ่งถ้าลูกใหญ่ๆ และเป็นเลม่อนที่ปลูกแบบอินทรีย์ แค่วางไว้ในห้องก็ส่งกลิ่นหอมกระจายไปทั่ว เรื่องนี้ยืนยันได้จากแฟนเลม่อนตัวยงหลายๆ คน รวมทั้งทีมงานของเราด้วย

เราได้คุยกับคุณบาส เกษตรกรและเจ้าของฟาร์มเลม่อนวิถีธรรมชาติ ณ สวนผึ้ง จ.ราชบุรี อย่าง พสุธารา ว่าเบื้องหลังเลม่อนลูกโต๊โตนั้นผ่านการดูแล ศึกษาจากตำราและทดลองด้วยตัวเองแบบทุกขั้นตอนจริงๆ จนได้วิธีการปลูกแบบเน้น ‘สร้างระบบนิเวศในพื้นที่’ ให้สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ เช่น ตัวห้ำตัวเบียน แมลงช้างปีกใส มาจัดการผู้มากินอาหาร ปลูกพริกใต้ต้นเลม่อน (เขาบอกว่าพริกใต้ต้นเลม่อนอร่อยเป็นพิเศษด้วยนะ!) รวมทั้งใช้วิธีปราบแมลงแบบพื้นบ้านอย่างพริกผสมน้ำบ้างเมื่อจำเป็น โชคดีที่เลม่อนชอบอากาศเย็นตอนกลางคืนและชอบแดดกลางวัน ซึ่งพอดีกับสภาพอากาศตามธรรมชาติของสวนผึ้ง เลยขึ้นได้ลูกโตสวยงาม

“อะไรที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้” เป็นวิธีคิดน่ารักที่ทำให้พสุธาราไม่ใช้สารเคลือบผิวเลม่อน แต่ใส่ใจเรื่องช่วงเวลาในการตัดเพื่อให้ได้เลม่อนที่เงางามตามธรรมชาติ หรือยอมหาวัสดุที่ใช้ซ้ำได้มาห่อผลเลม่อนบนต้น เพื่อลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็นออกไป ฟังแล้วก็ยิ่งทำให้เลม่อนอินทรีย์ยิ่งมีเสน่ห์มากไปกว่าความหอม แต่น่าอุดหนุนให้วงจรที่ดีและเกื้อกูลกับธรรมชาตินี้อยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป 

อุดหนุนเลม่อนอินทรีย์ของคุณบาสได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Pasutara พสุธารา

ด.ช. มะนาวอินทรีย์ 

“ไม่ได้สวยปิ๊ง แต่หน้าแล้งก็ไม่แล้งน้ำนะ”

อีกหนึ่งพืชตระกูลส้มที่หลายคนคิดว่าคงปลูกไม่ได้ในหน้าแล้ง แต่เดี๋ยวนี้ มะนาวอินทรีย์หน้าแล้งก็มีออกผลเหมือนกัน แถมยังเปรี้ยวฉ่ำ ไม่ได้แล้งน้ำอย่างที่คิดเลยสักนิด

เราได้ต่อสายคุยกับตัวจริงเสียงจริงเรื่องการปลูกมะนาว คุณหลวง บ้านพี่หลวง ออร์แกนิคฟาร์ม เกษตรกรเจ้าของฟาร์มออร์แกนิกที่ป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ปลูกมะนาวออร์แกนิกมาสิบกว่าปีจนเข้าใจพืชชนิดนี้อย่างกระจ่าง พอรู้ว่ามะนาวไม่ชอบแสงแดดจัด เลยใช้เทคนิคปลูกมะนาวไว้ใต้ต้นเพกาที่สูงชะลูด ให้ร่มเงาต้นมะนาวได้ดี ไม่มีกิ่งก้านมาค่ำ แถมยังเป็นพืชตระกูลถั่วที่ให้ไนโตรเจนกับดินอีกด้วย

คุณหลวงบอกว่าเกษตรกรที่ใช้เคมีกับมะนาวมักใช้เพราะความไม่เข้าใจ อยากเร่งลูกให้ออกเยอะๆ แต่ไม่มองเรื่องความยั่งยืน พอมีโรคก็คิดว่าเป็นเพราะแมลงไปหมด ทั้งที่บางทีอาจเป็นเพราะไหม้แดดหรือสาเหตุอื่นๆ ก็ได้ ส่วนสาเหตุที่ตรวจหามะนาวแล้วไม่เจอสารเคมีตกค้างเท่าไหร่ เพราะมะนาวมีฤทธิ์เป็นกรด พอตรวจก็เจอแต่กรดซะมากกว่า

มะนาวอินทรีย์ของบ้านพี่หลวงอาจจะไม่ได้สวยปิ๊ง กลมเกลี้ยงสวยไปทุกลูก แต่ก็ปลอดภัย เลี้ยงด้วยความเข้าใจ ทำให้ต้นมะนาวอยู่ได้ยั่งยืน มีอายุนานถึง 10-12 ปี ไม่เหมือนมะนาวเคมีที่ให้ผลได้แค่ไม่กี่ปีก็ตายแล้ว ที่สำคัญคือรสชาติเปรี้ยวของมะนาวที่มาจากธรรมชาติจริงๆ 

“เราไม่ได้กินเปลือก กินแต่น้ำเนอะ” คุณหลวงพูดติดตลก

ใครอยากอุดหนุนไปตามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก บ้านพี่หลวง ออร์แกนิคฟาร์ม ตอนนี้คุณหลวงมีรถวิ่งส่งขายลูกค้าประจำที่ผูกปิ่นโตกันแค่ที่ อ.หัวหิน และออกร้านขายมะนาวรวมทั้งผักอื่นๆ เป็นประจำอยู่ที่ตลาดสุขใจ จ.นครปฐม 

ครอบครัวนี้ สปอร์ต ใจดี แจกวิตามิน C สู้หวัดด้วย!

การเลือกกินส้ม มะนาว เลม่อนอินทรีย์ นอกจากสนับสนุนเกษตรกรให้อยู่รอด และร่วมกันสร้างเส้นทางการกินอาหารดีแล้ว คนกินยังได้เต็มๆ เรื่องความปลอดภัยและสุขภาพ โดยพืชตระกูลส้มนี้ขึ้นชื่ออยู่แล้วเรื่องวิตามินซี ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ส่งผลให้มีผิวพรรณดี และที่สำคัญคือช่วยป้องกันไวรัสที่ทำให้เราเป็นหวัดอีกด้วย! 

ถ้าอยากมีวิถีชีวิตที่ช้าลง ยั่งยืนขึ้น แทนที่จะไปหากินวิตามินซีแบบสังเคราะห์ ก็หันมากินวิตามินจากผักและผลไม้ที่เปี่ยมวิตามินซี แค่นี้ก็จะมีแรงพลังไปสู้กับทุกวิกฤตได้!

ที่มาข้อมูล:

  • มูลนิธิชีวิตไท (โลโคลแอค) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องตกเป็นแรงงานราคาถูก ทำการผลิตให้กับกลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจและเจ้าของที่ดิน
  • Pinto organic farming คุณแป้น-กัลย์ทิพา วสุรัฐเดชาพงศ์
  • Pasutara พสุธารา คุณบาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา
  • บ้านพี่หลวง ออร์แกนิคฟาร์ม คุณหลวง-สมประสงค์ นาคดี 
  • Go Organics Thailand

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง