เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใกล้ถึงฤดูร้อนแล้ว ตอบแบบง่าย ๆ หน่อย ก็คือ รอฟังข่าวประกาศจากกรมอุตุฯ หรือไม่ก็อาศัยความรู้สึกระหว่างวันที่ได้สัมผัสกับอุณหภูมิอากาศและแสงแดดที่แผดร้อน แต่อีกวิธีหนึ่งซึ่งชี้วัดได้ชัดเจนก็คือ ถ้าไปเดินตลาดสดพื้นถิ่นแล้วเห็นชาวบ้านาเก็บผักหวานป่ามาขายพร้อมกับไข่มดแดง นั่นแหละเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ฤดูร้อนมาเยือนแล้ว

ผักหวานป่าธรรมชาติ ของดีปีละครั้ง กับเรื่องราวของมลพิษหมอกควัน
ผักหวานป่าแท้ ๆ นั้นต้องเกิดในป่าเหมือนชื่อ ซึ่งต้นผักหวานเป็นพืชที่เกิดในป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ และป่าดิบแล้งทั่วไป ยอดผักหวานสีเขียวอ่อนเจือเหลืองเวลาถูกแสงแดดส่องผ่านจะมีสีทองสวย เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่นักหาของป่า ทว่าผักหวานป่านั้นมีหลายชนิด ทั้งชนิดที่กินได้ และชนิดที่มีฤทธิ์เบื่อเมา คนเก็บต้องมีความชำนาญจึงจะไม่เสี่ยงอันตรายต่อผู้กิน

เหตุที่ผักหวานแตกยอดในช่วงฤดูร้อน ก็เพราะว่า เมื่ออากาศเริ่มร้อนหลังจากที่เผชิญความแห้งแล้งในฤดูหนาวมาแล้ว ผักหวานจะทิ้งใบ เมื่อฝนชะดอกมะม่วง (ฝนที่จะตกช่วงต้นปี ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์) ตกลงมา ต้นผักหวานที่ทิ้งใบ ก็จะแตกยอดอ่อนให้เราเก็บมากินได้

ด้วยการที่ยอดผักหวานป่านั้นเป็นหนึ่งในวัตถุดิบอาหารที่มีราคาสูง เลยมีคนโลภบางคนที่ใช้วิธีลัดด้วยการจุดไฟเผาต้นผักหวาน เพื่อเร่งให้ใบผักหวานร่วงและแตกยอด สุ่มเสี่ยงให้เกิดไฟป่าขึ้นได้นำไปสู่การสูญเสียทรัพยกรทางธรรมชาติและก่อให้เกิดปัญหามลพิษหมอกควัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมก่อนผักหวานป่าในฤดูทิ้งใบนั้นมีความแห้งแล้ง ติดไฟง่ายนั่นเอง

มันคงดีกว่า หากการหาอยู่หากินตามธรรมชาติเป็นไปตามแบบธรรมชาติจริง ๆ โดยไม่ต้องเร่งเร้าจนทำให้สิ่งแวดล้อมต้องเสียสมดุล เพราะการเผารมต้นผักหวานให้ทิ้งใบนั้น นอกจากจะเสี่ยงทำให้เกิดไฟป่าแล้ว ต้นผักหวานป่าบางต้นทนไม่ได้ แทนที่จะแตกยอดก็ยืนต้นตายลง เรียกได้ว่ามีแต่เสียกับเสีย ไม่เกิดความคุ้มค่าแต่อย่างใด

ปัจจุบันมีนักวิชการการเกษตรให้ความสนใจกับการวิจัยเพื่อทำให้เราสามารถปลูกผักหวานป่าไว้เก็บกินเองได้ แถมยังมีวิธีเร่งให้ผักหวานแตกยอดโดยไม่ต้องจุดไฟเผาต้นอีกด้วย

เสน แฝดคนละฝา กับผักหวานป่า เก็บผิดชีวิตเปลี่ยน
มีพืชชนิดหนึ่ง หน้าตาละม้ายคล้ายผักหวานป่ามาก จนคนเก็บที่ไม่ชำนาญมักเก็บมาผิดอยู่บ่อย ๆ คนอีสานเรียกพืชนิดนี้ว่า เสน หรือ เสม คนภาคเหนือเรียกพืชดังกล่าว่า แก้ก้อง นางแย้ม นางจุม จันทบุรี เรียกว่า ผักหวานเขา กาญจนบุรีและชลบุรี เรียก ผักหวานดง สระบุรี เรียก ผักหวานเมา ประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า ดีหมี ต่อไปในหัวข้อนี้จะขอเรียกชื่อพืชดังกล่าวว่า เสน ตามแบบคนอีสาน เพื่อความเข้าใจที่ง่ายต่อการอธิบาย

เสน มีลักษณะยอดอ่อนคล้ายกับผักหวานป่าชนิดกินได้มาก หากเก็บมาผิดและรับประทานเสนเข้าไป จะทำให้เกิดอาการเมาเบื่อ

จุดสังเกตที่ใช้แยกแยะว่า ต้นไหนผักหวานป่า ต้นไหน เสน ดูได้จากใบแก่ โดย ใบแก่ของต้นเสน รูปทรงรีขอบขนาน จะมีความเหนียวนุ่ม ไม่เปราะแตกง่าย ปลายใบแหลมถึงป้านเล็กน้อย มีสีเขียวเข้มและด้าน ขณะที่ผักหวานป่าซึ่งกินได้นั้น ใบจะมีรูปทรงค่อนไปทางกลมกว้าง เนื้อใบกรอบเปราะแตกง่ายเมื่อบีบด้วยอุ้งมือ ปลายใบมนหรือบุ๋มมีติ่งตรงปลาย ผิวใบเขียวเข้มเป็นมัน ใช้เกณฑ์ตามนี้ก็เก็บผักหวานป่าไม่ผิดต้นแล้ว

วิชากินผักหวานป่า ของดีต่อสุขภาพที่ต้องกินให้ถูกวิธี
จุดเด่นของผักหวานป่าในเชิงสุขภาพก็คือมี เบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นโปรวิตามินเอ ที่ช่วยบำรุงสายตา การมองเห็น และช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ นอกจากนี้ยังมีแคลเซียมที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันได้ดี นั่นเอง

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีข้อแม้ที่ต้องใส่ใจคือ การบริโภคผักหวานป่าต้องนำไปปรุงให้สุกก่อน เพราะถ้ากินผักหวานป่าสด ๆ ในปริมาณมาก จะทำให้เมาเบื่อ เป็นไข้และอาเจียนได้ และยังมีองค์ความรู้เชิงสุขภาพของคนอีสานระบุไว้อีกว่า หากนำยอดผักหวานป่าที่ถูกฝนแล้วมาปรุงอาหารจะทำให้ผู้กินเกิดอาการท้องเสีย ดังนั้นหากคิดจะรับประทานผักหวานป่าก็ต้องคำนึงถึงข้อมูลเหล่านี้ไว้บ้างก็ดีเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

ยอดอ่อนผักหวานป่าทำอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ลวกจิ้มน้ำพริก ผัดน้ำมันหอย ทำแกงเลียง แกงจืด ฯลฯ แถมเดี๋ยวนี้มีงานวิจัยที่นำเอายอดผักหวานป่ามาทำเป็นชาชงดื่มอีกด้วย ทว่าเมนูเด็ดผักหวานป่าสุดคลาสสิกนั้นยกให้ “แกงผักหวานป่าใส่ไข่มดแดง” ซึ่งจัดว่าเป็นอาหารของฤดูร้อนเลยก็ว่าได้ เพราะวัตถุดิบหลักทั้งสองชนิดหาได้ง่ายในฤดูร้อนนั่นเอง หากปรุงเมนูนี้รับประทานก็มีข้อแม้อีกเล็กน้อยในเชิงสุขภาพที่ต้องขอบอกไว้ ว่าอาหารดังกล่าวมีคำเตือนกำกับเล็กน้อยตามภูมิปัญญาของคนอีสานว่า คุณแม่แรกคลอดที่ต้องให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานแกงผักหวานใส่ไข่มดแดง เพราะจะทำให้น้ำนมมาน้อย น้ำนมขาด และสุขภาพแม่และเด็กจะไม่แข็งแรง นอกจากนี้ยังนับเป็นของแสลงสำหรับคนมีไข้อีกด้วย

ดังนั้นคิดจะกินผักหวานป่าต้องรู้ด้วยว่าใครควรกินใครควรเว้น

ผักหวานป่าปลูกได้ ไม่ต้องเผา
ด้วยความที่ยอดอ่อนผักหวานป่าเป้นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคอย่างมาก ปัจจุบันนี้ นักวิชาการเกษตรและปราชญ์เกษตรหลายท่านเลยคิดค้นวิธีปลูกผักหวานป่ากันได้สำเร็จ ความน่าสนใจอยู่ที่วิธีที่ใช้เร่งให้ผักหวานป่าที่ปลูกนั้นแตกยอดโดยไม่ต้องเผา นั่นเก็คือ การริดใบต้นผักหวานป่าที่โตได้ที่ออกแล้วให้น้ำ เพียงเท่านี้ผักหวานป่าก็จะแตกยอดอ่อนให้เก็บกินเก็บขายกันได้แล้วโดยไม่ต้องจุดไฟเผาให้เกิดมลพิษทางอากาศ

นับเป็นวิธีที่ได้ประโยชน์หลายทาง เพราะการปลูกต้นผักหวานก็คือการปลูกต้นไม้ที่เกิดประโยชน์ต่อโลกใบนี้อย่างแน่นอน ขณะที่ผักหวานปลูกนั้นสามารถควบคุมปัจจัยการแตกยอดได้โดยไม่ทำลายหรือก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นี้น่าจะเป็นทางออกให้กับทั้งผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้บริโภค ที่สามารถเข้าถึงวัตถุดิบแสนอร่อยอย่างผักหวานป่าได้โดยไม่ต้องเบียดเบียนโลกแล้ว

อ้างอิงจาก
– หนังสือแนวกินถิ่นอีสานเล่ม 1 จัดพิมพ์จำหน่ายโดย องค์การค้าของคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์
– เอกสารเผยแพร่โครงการวิจัย KIP 17.36 การอนุรักษ์และปลูกเลี้ยงผักพื้นบ้าน
– บทความ “ผักหวานป่า ตัวการก่อมลพิษหมอกควันจริงหรือ?” www.technologychaoban.com

ภาพประกอบ : Peperis