สาเหตุที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด หลายคนอาจจะเห็นว่าเราเป็นคนเมืองมีพื้นที่น้อย  แล้วจะปลูกยังไงดีให้มันง่าย ให้ได้ผักที่มีคุณค่าสารอาหารครบถ้วน ดินที่เราใช้ปลูกต้นไม้กันทั่วไปนี่จะมีแร่ธาตุและสารอาหารเพียงพอหรือเปล่า ต้องไปซื้อปุ๋ยเคมี ปุ๋ยวิทยาศาสตร์อะไรมาใส่ไหม ดินถึงจะดีพอให้ปลูกผักได้ คำตอบอยู่ด้านล่างนี้แล้ว ตามมาอ่านกันเลยครับ

ขนาดพื้นที่ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีสำคัญกว่า

จะปลูกผักกินเอง อย่าไปคิดมากเรื่อง ‘ขนาด’ ของพื้นที่ที่เรามีครับ เพราะผักที่เราปลูกกับดินที่ดีด้วยวิธีการแบบเกษตรอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยธรรมชาตินั้น มีความหมายและคุณค่าที่แตกต่างไปจากผักที่ใช้ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์มากมายนักครับ จากการสังเคราะห์งานวิจัยเปรียบเทียบผลผลิตเกษตรอินทรีย์กับเกษตรที่ใช้สารเคมี ของ มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ พบว่า

ผักอินทรีย์ที่เราปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่า ตลอดจนมีสารโลหะหนักและสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างน้อยกว่าผักที่ปลูกแบบทั่วไปที่ใช้สารเคมี

แถมจากประสบการณ์ที่ผมเองและเพื่อนๆ หลายคนที่ปลูกผักกินเองร่วมยืนยัน ยังพบว่าผักที่เราปลูกเองเแบบไม่ใช้สารเคมีนี้ ยังมีรสชาติที่ดีกว่า กรอบ และหวานกว่าผักที่ปลูกแบบใช้สารเคมีอีกด้วยนะครับ ดังนั้น ไม่ว่าพื้นที่ปลูกผักที่เรามีจะเล็กแค่ไหนก็ไม่สำคัญไปกว่าการเริ่มลงมือปลูกและปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี เพราะถึงจะปลูกได้ไม่มาก แต่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าที่ดีกว่าทั่วไปแน่นอนครับ

ในธรรมชาติ มีปุ๋ยเพียงพออยู่แล้ว

ความจริงอีกประการหนึ่งก็คือ ในธรรมชาติมีปุ๋ยเพียงพออยู่แล้ว จากวงจรการหมุนเวียนสารอาหารในระบบนิเวศ ตั้งแต่ฟ้าแลบฟ้าร้อง ฝนตก ใบไม้ร่วงหล่น ซากพืชซากสัตว์ที่ร่วงหล่นทับถม สัตว์หน้าดินและจุลินทรีย์ทั้งหลายที่คอยย่อยสลายสิ่งเหล่านี้กลับคืนสู่ในรูปของแร่ธาตุและสารอาหาร

ถ้าเรารู้จักธรรมชาติของดินและวิธีการทำงานกับดินแล้ว ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์นั้นก็ไม่มีความจำเป็นเลย

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ทำให้ดินมีความสามารถในการเก็บรักษาและมีระบบหมุนเวียนสารอาหารนี้เกิดขึ้นในดินของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การเพิ่มอินทรียวัตถุ ด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยพืชสดต่างๆ ลงไปในดิน เพื่อให้เป็นอาหารและที่พักอาศัย ให้ไปเลี้ยงดูและอุ้มชูสรรพชีวิตของระบบนิเวศในดิน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันแร่ธาตุและสารอาหารกันผ่านห่วงโซ่อาหารอันเป็นสายใยแห่งชีวิตในดินนั่นเอง

ปรุงดินให้ดี เริ่มได้ที่บ้านเรา

ว่ากันด้วยหลักการและวิชาการกันไปแล้ว คงจะพอเสริมศรัทธาให้กับการปฏิบัติได้นะครับ ส่วนวิธีปฏิบัติในการปรุงดินแบบง่ายๆ ที่จะแนะนำกัน ก็ไม่ยากครับ ทำได้หลายวิธี

วิธีแรก ถ้าหาซื้อปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยมูลไส้เดือนได้ ก็เอาปุ๋ยที่หามาได้มาผสมกับดินเลยครับ ถ้าใครปลูกเป็นแปลงก็ใส่ตารางเมตรละ 2 กิโลกรัม แต่ถ้าใครปลูกเป็นกระถาง ก็ผสมปุ๋ย 1 ส่วนกับดิน 3 ส่วน คลุกให้เข้ากัน รดน้ำให้มีความชื้นพอหมาดๆ แล้วก็ปลูกผักได้เลยครับ

วิธีที่ 2 ถ้าหาปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยมูลไส้เดือนไม่ได้ ก็ให้ใช้ปุ๋ยคอก เช่น ขี้วัว ที่มีขายตามร้านต้นไม้ ถ้าใครเลี้ยงไก่ก็ใช้ขี้ไก่ เอามาผสมดินและรดน้ำในวิธีเดียวกันกับปุ๋ยหมัก แต่ต้องทิ้งไว้ให้ปุ๋ยย่อยสลายตัวดีก่อนสัก 2 สัปดาห์ จึงจะปลูกผักได้

วิธีที่ 3 หรือถ้าใครหาปุ๋ยที่ว่ามานั้นไม่ได้เลย ก็ให้ใช้ใบไม้สดที่มีใบขนาดเล็กๆ ไม่ใหญ่เกินนิ้วหัวแม่มือของเรา หรือจะเป็นเศษอาหารที่เหลือจากในครัวก็ได้ (เน้นเอาเศษพืชเป็นหลัก เนื้อและกระดูกหรือก้างต่างๆ เอาไปฝากน้องหมาน้องแมวก่อนนะครับ ^^) มาผสมลงดินในอัตราส่วนและวิธีการเดียวกันกับวิธีปรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยมูลไส้เดือน และปุ๋ยคอก ที่ว่ามา เพียงเท่านี้ เราก็จะมีดินดีๆ ไว้ปลูกผักกันแล้วครับ

ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ ชวนไปลองทำกันดูนะครับ ได้ผลอย่างไรก็เขียนกลับมาทักทายกันนะครับ

ภาพประกอบ: นวพรรณ อัศวสันตกุล