วนกลับมาอีกครั้งสำหรับเวทีแห่งคนกรีนอย่าง Greenery Talk ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้วสำหรับปี 2020 นี้ โดยยังคงสานต่ออุดมการณ์ Eat Good Live Green อย่างเข้มข้นเช่นเคย พร้อมกับนักทำทั้ง 10 รายชื่อ ที่มาพร้อมกับประสบการณ์ ความกล้าหาญ ความสร้างสรรค์ ที่ต่อยอดมาเป็นธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่โลกรัก พร้อมส่งต่อความกรีนบนเวที Greenery Talk 2020 จนเต็มห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา 

เริ่มต้นเปิดเวที Greenery Talk 2020 โดยพิธีกรหนุ่มสายกรีนที่หันมาเอาจริงเอาจังในการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ ก้องชวนสมาชิกในห้องออดิทอเรียมคุยและคิดเกี่ยวกับวิถี ‘Eat Good Live Green’ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง greenery. กล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยแนะนำเป้าหมายของ greenery. ซึ่งเป็นโครงการโดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ให้เปลี่ยนพฤติกรรมมากินอาหารปลอดภัยและการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่าน 3 ส่วนสำคัญคือ inspiration อย่างคอนเทนต์ใน greenery.org และเพจที่นำเสนอเรื่องราว Eat Good Live Green ในวิธีที่สร้างสรรค์ education ให้ความรู้ผ่านทั้งคอนเทนต์ออนไลน์และกิจกรรมออฟไลน์หลากหลาย และ action ซึ่งคือการสร้างพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นตลาดสีเขียว Greenery Market  คอนเทนต์ออนไลน์ Greenery Workshop ชวนมาเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ไปจนถึงสมาชิกกลุ่ม Greenery Challenge คอมมูนิตี้ที่รวมตัวกันเพื่อแชร์วิธีทำและแรงบันดาลใจในการดูแลโลก เลยรวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

และในเวทีนี้ greenery. จะพาไปพบกับสปีกเกอร์สร้างแรงบันดาลใจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านผู้ผลิตและกลุ่มธุรกิจทั้งขนาด S M L ที่ฉายให้เห็นเทรนด์ใหม่ที่เป็นโอกาสของธุรกิจสีเขียว และตัวแทนผู้บริโภค ที่จะทำให้ผู้ฟังได้เห็นทางเลือกและข้อมูลดีๆ ในการเข้าถึงอาหารปลอดภัยและการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในแง่มุมที่หลากหลาย

สำหรับใครที่พลาดโอกาสนั่งฟังสดๆ ในงาน เราได้เก็บความกรีนดีอยู่ดีจากสปีกเกอร์ทั้ง 10 ชีวิตของเรามาสรุปไว้ ณ ที่นี้อย่างครบครันแล้ว

คนึงนิตย์ ชะนะโม – 0๙d


“เฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ” คือคติประจำใจของ คนึงนิตย์ ชะนะโม หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม ‘อุ้ม ชะนีอินดี้’ จากความเจ็บป่วยของคนใกล้ตัวอย่างคุณแม่ ทำให้คนึงนิตย์หันกลับมาหาการเกษตรซึ่งเป็นต้นทุนดั้งเดิมของที่บ้านอีกครั้ง แต่กลับมาพร้อมกับคำถามว่าเกษตรจะปลอดภัยได้อย่างไรหากชาวนายังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ในทุกทาง เกษตรอินดี้ของคนึงนิตย์จึงเริ่มต้นที่การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ทั้งเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชอื่นๆ ร่วมกับชาวนาและเกษตรกรในชุมชน จนเกิด 0๙d ศูนย์การเรียนรู้ที่เชื่อว่าความยั่งยืนทางอาหารจะเกิดขึ้นได้จากการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เล็กๆ เหล่านี้ไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน

“วันนี้ เราไม่อยากให้คนรู้จักข้าวแค่สองสายพันธุ์ ถ้าเรากินจำกัดแค่สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราคุ้นชิน วันหนึ่งเราจะไม่เหลืออะไรเลย” 

คนึงนิตย์ ชะนะโม และ 0๙d ไม่มีทางปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงทางอาหารไว้ได้โดยลำพัง หากไม่มีชุมชนและคุณลุงคุณป้าคุณตาคุณยายที่เป็นเกษตรกร ‘ยุคใหม่’ ในความหมายของวิธีคิด จึงเป็นตัวอย่างสำคัญที่กำลังบอกเราว่า การหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์บนเส้นทางสายกรีนนั้นสำคัญเพียงใด

ศิวพร เอี่ยมจิตกุศล – สวนผักป้าเบส


ในเมืองแห่งผลไม้อย่างจันทบุรี ทำไมจึงยังมีคนเลือกปลูกผัก? โดยเฉพาะเมื่อเป็นเมืองฝนแปดแดดสี่ที่ทำให้การปลูกผักเป็นเรื่องยากเย็น ป้าเบส หรือ ศิวพร เอี่ยมจิตสกุล อดีตเจ้าของธุรกิจเซรามิกจากกรุงเทพฯ ที่ตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตบั้นปลายในจังหวัดจันทบุรี ทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรใดๆ ทั้งสิ้น ผ่านการเรียนรู้และทดลองซ้ำๆ จนในที่สุดจึงเกิดเป็น ‘สวนผักป้าเบส’ สวนผักออร์แกนิกยืนหนึ่งที่ท้าทายทั้งเกษตรเคมี สวนผลไม้ และสายฝนของเมืองจันทบุรี 

“อยากฝากทุกคนที่บ่นว่าทำไมอาหารมันแย่ อยากให้หาคำตอบแบบที่เราทำ จะรู้ว่าเราเปลี่ยนโลกได้ เราเปลี่ยนแปลงอาหารที่ทำให้เกิดโรค ให้เป็นอาหารที่ดีได้” 

ป้าเบสไม่ได้ปลูกผักออร์แกนิกเพื่อความปลอดภัยของคนกินเพียงอย่างเดียว แต่ยังปลูกเพราะเชื่อว่าชีวิตของทุกคน ทั้งคนกิน คนปลูก และคนรอบข้าง ควรได้รับความปลอดภัยเหมือนๆ กัน สวนผักของป้าเบสจึงเป็นบทพิสูจน์ว่า แม้จะมีข้อจำกัดและอุปสรรคมากมายเพียงไหน การผลิตอาหารปลอดภัยก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความพยายาม

บุญสมิทธิ์ พุกกะณะสุต – Foodwork


คุณเคยกินเพรียงทะเลไหม เคยกินโกรกหรือเปล่า กว่า 8 ปีกับ 400 ชุมชนที่เชฟบุ๊ก บุญสมิทธิ์ พุกกะณะสุต ลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้วิถีการกินอันแตกต่างของชุมชนทั่วประเทศไทย ได้พาเขาไปพบเจอกับสุดยอดวัตถุดิบพื้นบ้านนานาชนิด ถ่ายทอดออกมาเป็นการยาย Foodwork ทางช่อง ThaiPBS ที่เล่าเรื่องความหลากหลายของอาหารนับร้อยตอน เพียงประโยคเดียวที่ว่า ‘อาหารเป็นเรื่องสำคัญที่สุด’ ทำให้เชฟบุ๊กยืนหยัด ร่วมหัวจมท้ายอยู่กับเรื่องความกินดีอยู่ดี เพื่อจะบอกคนไทยทั้งประเทศว่าบ้านเรามีวัตถุดิบดีๆ มากมายที่่ยังไม่มีใครค้นเจอ

“อาหารเป็นเรื่องสำคัญที่สุด บางทีที่เลือกใส่เสื้อผ้าดีๆ โทรศัพท์ต้องแพง บ้านต้องสวย แต่เราลืมไปหรือเปล่าว่าสิ่งที่เราเอาเข้าไปในร่างกายเราคืออาหาร” 

จุดหมายสูงสุดของการทำรายการอาหารที่ต้องเดินทางทั่วประเทศ ถ่ายทำเป็นวันๆ เพื่อให้ได้รายการเพียงสักหนึ่งตอน ไม่ใช่เพื่อชื่อเสียงหรือสร้างประวัติศาสตร์ แต่เชฟบุ๊กต้องการให้ผู้ชมลุกขึ้นมาสนใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้น หรือแค่เพียงลุกขึ้นมาทำอาหารกินเองสักมื้อ นั่นก็ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว

ดร. สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ – บริษัท ปลาออร์แกนิก วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด


คนกรุงเทพฯ ไม่เคยรู้ว่าปลาจากทะเลสามารถนำมาทำอาหารได้กี่ชนิด และแม้ว่าชายฝั่งทะเลไทยจะยาวว่าสองพันกิโลเมตร คนกรุงเทพฯ ก็ยังไม่มีอาหารทะเลที่ดีและปลอดภัยกินได้อยู่ดี เมื่อคนกิน ชาวประมง และอาหารทะเลต่างเป็นความลับของกันและกัน นุช หรือ ดร. สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ จึงเลือกผันตัวจากนักวิจัยสู่การเป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อท้องทะเลและเพื่อคนกินปลา อย่าง ‘ปลาออร์แกนิก’ ที่เชื่อมโยงคนจับ ผู้บริโภค และกุ้งหอยปูปลาเข้าด้วยกัน โดยใช้ระบบเครือข่ายที่ทำให้เชฟรู้จักบังเลาะห์คนจับปลา ทำให้คนจับปลารู้จักคนกินซึ่งเป็นเด็กเล็กในโรงเรียน ทำให้คนกินรู้ว่าการทำประมงที่ดีและปลอดภัย ขนส่งถึงมือผู้บริโภคทันเวลาสดใหม่โดยไม่ใช้ฟอร์มาลีน มีต้นทุนทั้งที่เป็นแรงงานและเป็นเม็ดเงินไม่น้อย 

“ทุกอย่างมีราคาของมัน เวลาซื้ออาหารทะเลถูกๆ ให้คิดไว้เลยว่าจะต้องมีคนอื่นจ่ายแทน ชาวประมงถูกกดราคา ธรรมชาติถูกทำลาย หรืออาจเป็นเราที่ต้องจ่ายค่ายาในอนาคต” 

เมื่อคนกินและชาวประมงได้รู้จักหน้าค่าตา ไม่เป็นความลับต่อกันอีกต่อไป คนทั้งสองกลุ่มจึงซื้อขายกันอย่างเกื้อกูลและห่วงใยในราคาที่เป็นธรรม และต้นทุนของความยุติธรรมนี้เองคือต้นทุนในการรักษาธรรมชาติชายฝั่ง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชาวประมง และสร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนรักอาหารทะเลต่อ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ ‘ปลาออร์แกนิก’ เชื่อมันเสมอมา

พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร – วัดจากแดง


วัดยังคงเป็นศูนย์รวมของสังคมไทยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยึดเหนี่ยวจิตใจ ข้อมูลข่าวสาร หรือแม้กระทั่งขยะ เมื่อญาติโยมเดินหน้าเข้าวัดมาทำบุญใหญ่นับหมื่นคน พร้อมกับขวดพลาสติกคนละใบ ถุงพลาสติกอีกคนละสองสามใบ ปัญหาเรื่องขยะใหญ่ขึ้นตามความเจริญของวัด ขยะในวัดและนอกวัดจึงต้องกลายเป็นอีกกิจของสงฆ์อย่าง พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร จากวัดจากแดง ผู้ริเริ่มโครงการส่งขวดพลาสติกให้กลับชาติไปเกิดใหม่เป็นเครื่องนุ่งห่มสำหรับพระสงฆ์ และส่งถุงพลาสติกให้กลับชาติไปเกิดใหม่เป็นน้ำมัน ปัจจุบันญาติโยมต่างนำถุงและขวดพลาสติกมาทำบุญกันอย่างต่อเนื่องจนวัดสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกได้กว่าเดือนละ 15 ตัน

ไม่เพียงแต่ขยะพลาสติกเท่านั้น วัดจากแดงยังรับบริจาคโฟมเพื่อนำมาขึ้นรูปใหม่เป็นเรือขนาด 15 ที่นั่ง และรับบริจากเศษแก้วเพื่อหลอมใหม่เป็นพระพุทธรูปปางแก้วแตก ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือเครื่องยืนยันว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ส่วนในไหนโครงสร้างของสังคม เราก็ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งของวิถีกรีนได้เสมอ

“ไม่ต้องรอให้ตายแล้วค่อยทำบุญ ยังไม่ตายนี่แหละทำบุญได้เลย ทำบุญด้วยอะไร ทำบุญด้วยการแยกขยะ ได้อานิสงส์หลายประการ ถ้าทำไม่เป็น ขอเชิญมาที่วัดจากแดง ขอเจริญพร”

ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ – moreloop


moreloop ชื่อสั้นๆ ที่อธิบายแนวคิดของธุรกิจสตาร์ทอัพน้องใหม่นี้ได้เป็นอย่างดี เพราะสิ่งที่ moreloop และ แอ๋ม-ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ กำลังสร้างขึ้น คือธุรกิจเครื่องนุ่งห่มที่ใช้เฉพาะผ้าส่วนเกินในระบบการผลิตมาชุบชีวิตให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เท่านั้น ผ้าเหล่านี้คือผ้าที่เผื่อไว้เป็นเปอร์เซนต์สูญเสียในการผลิตเท่านั้น จึงสั่งทำเพียง 1-3% ของจำนวนผ้าทั้งสต๊อก จึงมีน้อยเกินไปสำหรับการนำมาทำผลิตภัณฑ์ใหม่ และมีมากเกินไปจนน่าเสียดายหากจะกลายเป็นขยะ moreloop จึงหยิบผ้าเหล่านั้นมาจัดะบบเพื่อต่อรองกับความต้องการของลูกค้า และไม่ผลิตผ้าใหม่เลย

“เราอยากให้ทุกคนที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือเริ่มทำอะไรกรีนๆ แบบนี้ ให้หาวันแรก หาจุดเปลี่ยนของเราให้เจอ แม้คนอื่นจะบอกว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่ก็ดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย” 

ปลูก – ปั่น – ทอ – ฟอก – ย้อม – เย็บ – ย้าย เส้นทางชีวิตของเสื้อผ้า 1 ผืนสร้างคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาล แต่ moreloop บริษัทที่นำ Industrial waste มายืดวงจรไปอีก 1 ขึ้นตอน ทำให้เสื้อแต่ละตัวที่ออกมาจากที่นี่มีเพียง 2 ขั้นตอน คือ เย็บ – ย้าย ลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้มหาศาล เป็นรูปแบบของธุรกิจกรีนๆ ที่มีแต่ได้กับได้ทั้งเราและโลก

อำนาจ เรียนสร้อย – แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม

“ระบบสินค้าปศุสัตว์อุตสาหกรรม ส่งผลต่อระบบอาหารต่างๆ รวมถึงเรื่องพืชผักและการประมงด้วยซ้ำ แต่ทำไมเรากลับไม่ค่อยได้พูดถึงปัญหาจากปศุสัตว์กัน” 

ไข่หนึ่งใบที่เรากิน อาจเป็นส่วนเพิ่มพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกปลาทูหายจากท้องทะเลไทย และเป็นส่วนหนึ่งของความป่วยไข้ทั้งของคนเลี้ยงและของตัวเราเอง วงจรนี้กำลังขับเคลื่อนไปโดยมีเราเป็นผู้สนับสนุนโดยไม่รู้ตัว นี่เป็นเหตุผลที่อำนาจ เรียนสร้อย เริ่มเปลี่ยนมาเลี้ยงไก่แบบอินทรีย์ โดยไม่ใช้เคมีเพื่อเร่งโต ทำหมัน ป้องกันโรค และไม่ใช้อาหารสัตว์สำเร็จรูปจากโรงงานใด ๆ เลยแม้แต่ที่เดียว ไก่จากแทนคุณออร์แกนิคฟาร์มจึงมีรสชาติที่แตกต่างจากไก่ในระบบอุตสาหกรรมทั่วไป มีเนื้อสวนอกที่ชุ่มฉ่ำไม่แห้งแข็ง มีเครื่องในที่ปลอดภัยทุกวัน และใช้เวลาในการเลี้ยงมากกว่าไก่ที่อุดมไปด้วยฮอร์โมนเร่งโตและเคมีตกค้างจากอาหารสำเร็จรูปว่า 1 เท่าตัว

เกษตรกรปศุสัตว์ทางเลือกยังมีน้อยกว่าน้อย สิ่งที่อำนาจพยายามสื่อสารกับชาวกรีนจากเวที Greenery Talk ครั้งนี้ก็คือ การสนับสนุนจากผู้บริโภคที่เลือกกินให้กรีนนี้เอง เป็นบันไดก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้ปศุสัตว์ทางเลือกมีเพิ่มขึ้น และจะมีชุมชนอาหารปลอดภัยที่พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด – Food Citizen


จักรวาลทั้งใบของคุณเริ่มต้นที่ตรงไหน บางคนอาจเริ่มต้นที่เงินทอง บางคนอาจเริ่มต้นที่ชื่อเสียง แต่สำหรับ ห่วน-วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด นักขับเคลื่อนด้านอาหารปลอดภัยใช้ประสบการณ์กว่า 10 ปีมาการันตีว่า จักรวาลทั้งจักรวาลของคนทุกคนล้วนเริ่มต้นจากจานข้าวจานเดียว เมื่อเราภูมิใจในบทบาทแม่ครัวผู้มีอภิสิทธิ์ในการเลือกปรุงเอง เลือกผักผูกปิ่นโตจากเกษตรกรเจ้าประจำที่เชื่อใจได้ เลือกน้ำตาลธรรมชาติ เลือกซีอิ๊วหมักเองจากวัตถุดิบปลอดภัย และเลือกอีกหลายเลือกซึ่งเป็นสิทธิ์ของคนปรุงเองเท่านั้นที่จะทำได้

ระบบอาหารอุตสาหกรรมเป็นพลังของคนตัวใหญ่ แต่การชี้นิ้วเลือกสิ่งที่ดีต่อโลกและดีต่อเราคือพลังที่ผูกขาดไว้เฉพาะคนตัวเล็ก ๆ อย่างผู้บริโภคและพ่อครัวแม่ครัวประจำบ้านเท่านั้น หากวันนี้เรายังมีสิทธิ์เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับร่างกายและจิตใจของตัวเอง คนปลูก คนปรุง และคนกิน นั้นก็ย่อมเป็นสิ่งที่ควรทำ เป็นพลังในการขับเคลื่อนจากในครัวที่นักขับเคลื่อนรุ่นใหญ่บอกกับเราทุกคนผ่านทอล์กในวันนั้น

“การเลือก การกระทำของเราในทุกวันเปลี่ยนโลกได้ และนี่ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์กับผู้คน แต่เราสัมพันธ์กับโลกด้วย จึงไม่แปลกถ้าจะบอกว่าทั้งจักรวาลของเราอยู่ในจานข้าว” 

กนกพร ดิษฐกระจันทร์ – กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง


หลายคนอาจเคยนึกสงสัย ในเมื่อผู้บริโภคต่างก็อยากกินอาหารที่ปลอดภัยต่อตัวเอง และเกษตรกรจำนวนไม่น้อยก็มีเจตนาจะผลิตอาหารที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่ทำไมตลาดอาหารออร์แกนิกจึงได้เติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น? โอเล่-กนกพร ดิษฐกระจันทร์ เกษตรกรตัวจริงเสียงจริงจึงได้มาเฉลยคำตอบอย่างตรงไปตรงมา ไม่เพียงแต่ผู้ผลิตเท่านั้นที่ต้องแอกทีฟ แต่ผู้บริโภคเองก็ต้องส่งเสียงเพื่อเพิ่มพลังให้พื้นที่สำหรับอาหารปลอดภัยขยายตัวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยเช่นกัน

น้ำเสียงของผู้บริโภคคือกุญแจสำคัญอีกดอกหนึ่งที่จะสื่อสารได้ถึงสองทาง ทางที่หนึ่งคือสื่อสารไปยังเกษตรกรว่าต้องการนวัตกรรมแบบไหน ต้องการสินค้าแบบไหน และต้องการซื้อขายอย่างไรจึงจะสะดวกกับทั้งสองฝ่ายที่สุด และทางที่สองคือสื่อสารไปยังห้างร้านผู้จำหน่ายทั้งรายใหญ่และรายย่อย ว่ายังมีคนซื้อที่พร้อมจะจับจ่ายเพื่อแลกกับอาหารปลอดภัยให้ได้อยู่ดี กินดีกันทั้งคนปลูกและคนกิน

“มีเกษตรกรอีกหลายกลุ่มอยากเปลี่ยนมาทำอินทรีย์ แต่เขาต้องมั่นใจว่าเขาจะมีรายได้ การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรเปลี่ยนได้” 

สุภัชญา เตชะชูเชิด – Refill Station



ส่งท้ายทอล์กแบบกรีนได้กรีนดีกับ แอน-สุภัชญา เตชะชูเชิด นักวิทยาศาสตร์ที่เดินเข้าสู่วิถีกรีนอย่างเต็มตัว พร้อมชวนทุกคนมาร่วมกรีนกันด้วยร้าน Refill Station ร้านทางเลือกที่สื่อสารเรื่อง zero waste lifestyle ที่กลายเป็นร้านขวัญใจชาวกรีนทั่วกรุงเทพในปัจจุบัน แม้จะสื่อสารเรื่อง zero waste มาอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งหนึ่งแอนก็เคยใช้ชีวิตด้วยความไม่เข้าใจ จนความพยายามรักษ์โลกนั้นเข้มข้นจนทำให้โลกที่เป็นอยู่กลายเป็นสถานที่ที่ไม่น่ารักสำหรับเธอและคนรอบข้างไปเสียอย่างนั้น

จนเธอได้คนพบว่าการสื่อสารที่ดีที่สุดเริ่มต้นจากการลงมือทำ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เชื้อชวนให้คนอื่นมาร่วมอุดมการณ์กรีนๆ ได้อย่างสะดวกใจนั่นต่างหากคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุกคนปรับเปลี่ยนตัวเองได้โดยไม่ต้องฝืน เช่นเดียวกับที่แอนและ Refill Station ปวารณาตนเป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่จะสร้างสังคมคนกรีนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีกเรื่อย ๆ

“ช่วงแรกที่เราล้างหลอดใช้ซ้ำ มีน้องคนหนึ่งถามเราว่า คนเราต้องรักโลกขนาดไหนถึงล้างหลอดมาใช้ซ้ำ แต่เดี๋ยวนี้บทสนทนาเปลี่ยนไป กลายเป็น ซื้อจากร้านไหน เลือกแบบไหนดี เราจะเห็นมูฟเมนต์ที่มากขึ้นในสังคมไทย” 

นอกจากความกรีนบนเวทีแล้ว ภายในงานยังมีความกรีนที่สัมผัสได้อย่างเอร็ดอร่อย เช่น ไส้กรอกโฮมเมดหมูอินทรีย์ พัฟย่างแป้งข้าวอินทรีย์ไส้ผัก 5 สี และผลไม้สดๆ มาเป็นอาหารว่างระหว่างช่วงพัก พร้อมระบบการจัดการขยะอย่างดีแบบแทบไม่มีขยะเหลือทิ้ง แถมยังมีน้ำสะอาดที่สามารถนำขวดน้ำส่วนตัวมาเติมได้ตลอดทั้งงาน

นอกจากความอร่อยแบบกรีนได้กินดีแล้ว ยังมีพื้นที่สำหรับให้ผู้ฟังได้แบ่งปันความคิดเห็น สะท้อนไปยังสปีกเกอร์และแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มผู้ฟังเองด้วยการเขียนโน้ตตอบคำถาม ระดมไอเดีย และเขียนเจตจำนงเพื่อแสดงให้กันและกันได้เห็นว่า แม้จะยังมีข้อแม้เงื่อนไขอื่นๆ ที่อาจทำให้การใช้ชีวิตแบบ ‘กรีนให้ได้ กินให้ดี’ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เรายังมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกมากมายที่กำลังเดินอยู่บนถนนสายกรีนด้วยกัน

ภาพถ่าย: