เคยนับกันไหมว่าในหนึ่งวัน เราสร้างขยะกันไปคนละกี่ชิ้น

นอกเหนือจากขยะอินทรียสารที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ในแต่ละวัน เราได้ทิ้งสิ่งแปลกปลอมที่ใช้เวลาย่อยสลายหลักหลายร้อยปีไว้ในโลกใบนี้ไม่รู้เท่าไหร่ หลอดพลาสติกที่ใช้แค่แป๊บเดียว ขวดน้ำดื่มที่หิวเมื่อไหร่ก็แวะเข้าร้านสะดวกซื้อ ฉวยมาดื่มทีละขวดสองขวด ไหนจะแก้วกาแฟ พลาสติกห่อตะเกียบ ถุงใส่ผลไม้ชั่งน้ำหนักในซูเปอร์มาร์เก็ต และขยะอีกจำนวนมากที่นับกันไม่หวาดไม่ไหว

เชื่อว่า ณ นาทีนี้ ทุกคนย่อมรู้ว่าการลดใช้พลาสติกกลายเป็นประเด็นสำคัญ การไม่รับถุงพลาสติกคือสิ่งที่เราได้ยินกันบ่อยๆ แต่พอถึงเวลาต้องปฏิเสธจริงๆ เรามักมีเงื่อนไขและปัจจัยที่ทำให้ไม่ได้ทำมากมาย เช่นเดียวกับการพยายามลดขยะพลาสติกในแง่มุมอื่นๆ ที่ไม่สะดวกกายและไม่ง่ายดายนัก แต่ถ้าอยากจะให้ลองกันอีกสักตั้ง ก็น่าจะพอเป็นไปได้ใช่ไหม

Greenery Challenge ที่ได้เดินทางมาถึงภารกิจที่ 9 จึงอยากชวนทุกคนมาร่วมกันลดขยะ ที่นอกเหนือไปจากการลงมือทำเหมือนเดิม ยังขอเพิ่มเติมด้วยการ ‘นับ’ ขยะที่เราสามารถลดได้จากการปฏิบัติภารกิจในแต่ละวัน เพราะเราเชื่อว่า เพียงเห็นจำนวนและจับต้องได้ว่าเราได้พยายามไปเท่าไหร่ มันจะเป็นกำลังใจชั้นดีให้เราทำต่อไป และอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรอบข้างมาร่วมด้วยช่วยกรีนอีกแรง


#ขวดเดียวแก้วเดิม

เพราะในชีวิตประจำวัน เราต้องดื่มน้ำกันวันละ 3-4 ขวด และแวะเติมความขมความหวานกับกาแฟและเครื่องดื่มพร้อมแก้วใช้แล้วทิ้งอีกวันละแก้วสองแก้ว ลองนับดูเราสร้างขยะใช้เร็วด่วนได้กันวันละเกือบ 10 ชิ้น ลองมาพกขวดและแก้วประจำตัวไปไหนมาไหน แทนการใช้ภาชนะพลาสติกแบบ single use จะช่วยให้เราสามารถลดขยะในชีวิตประจำวันได้ เคล็ดลับคือการพกเป็นประจำจนติดเป็นนิสัย มองหาตู้น้ำดื่มสะอาดแทนการเข้าร้านสะดวกซื้อ ยื่นแก้วประจำตัวให้บาริสต้า บางร้านอาจจะใจดีมีส่วนลดให้ด้วยนะ

#ไม่หลอดเนาะ

จะด้วยความเคยชินหรือลืมคิดไป เราจึงเผลอใช้หลอดพลาสติกเพื่อความสะดวกสบายในการดื่มจนเผลอสร้างขยะที่ย่อยสลายยาก ถูกเก็บไปรีไซเคิลก็ยาก และปนเปื้อนลงไปทำร้ายสัตว์ทะเลได้ง่ายมาก การปฎิเสธหลอดพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง นอกจากหลีกเลี่ยงการดื่มด้วยหลอด การพกหลอดใช้ซ้ำที่ล้างได้จึงเป็นทางออกที่ช่วยลดขยะรายวันจำนวนมหาศาล จะเลือกแบบซิลิโคน แบบสเตนเลส แบบไม้ไผ่ หรือแบบแก้วใสชัดแจ๋วก็แล้วแต่พกสะดวกใช้สบาย แต่ที่แน่ๆ อย่าลืมหาแปรงจิ๋วล้างทำความสะอาดอยู่เสมอ และการนับหลอดที่ปฏิเสธได้และไม่ต้องใช้ จะทำให้เรารู้ว่า ที่จริงเราไม่จำเป็นต้องใช้หลอดก็ได้นะ

#มาเป็นคู่

ช้อนส้อมพลาสติกใช้แป๊บเดียวทิ้งคืออีกสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงได้ นอกจากกินไม่อร่อย จับไม่ถนัด ยังสร้างปัญหาขยะอีกต่างหาก ส่วนตะเกียบที่แม้จะทำจากไม้ แต่ถ้าเรารู้ว่าปีๆ นึงต้องใช้ต้นไม้กว่า 20 ล้านต้นเพื่อผลิตตะเกียบก็คงไม่ใช่จำนวนที่เราจะนิ่งนอนใจ นี่ยังไม่นับถุงพลาสติกบางเฉียบหุ้มตะเกียบที่กำจัดลำบาก เพราะฉะนั้น พกตะเกียบและช้อนส้อมเองสบายใจสบายโลกกว่ากันเยอะ แม้จะเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ได้หยิบออกมาใช้บ่อยเหมือนแก้วหรือขวดก็อย่าท้อใจเลิกพกไปเสียก่อน เพราะถ้ามีโอกาสได้ใช้ จะลดขยะได้แบบคูณสองเพราะมันมาเป็นคู่นี่นา

#คิดไม่ถุง

ช้อปครั้งใดใช้ถุงผ้า บอกร้านค้าว่าไม่รับถุงพลาสติก และอย่าลืมนับนิ้วทำสถิติไว้ เราจะพบว่าวันวันนึงเราถูกหยิบยื่นเจ้าถุงพลาสติกเจ้าปัญหานี่บ่อยจนเบื่อ ทั้งที่พวกมันมีอายุการใช้งานเฉลี่ยเพียง 7 นาทีเท่านั้น การพกถุงแข็งแรงแน่นหนา (แต่น้ำหนักเบา) ไว้ใช้ในการช้อปปิ้งเสมอ ก็จะช่วยลดปริมาณขยะได้มากมายทีเดียวล่ะ

#รีแล้วกรีน

ยึดหลัก 7R เพื่อลดปัญหาขยะล้นโลกด้วยวิธีหลากหลาย แถมเรายังสามารถดีไซน์วิธีและวิถีกรีนได้ด้วยตัวเองตามความถนัด ความเข้าใจ และโอกาส ในแง่หนึ่ง 7R เป็นเหมือนไกด์ที่ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ในการลดขยะหลากหลายรูปแบบ ดังนี้

Reduce ลดการใช้ให้น้อยลง อะไรไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมี ไม่ต้องหยิบ ไม่ต้องเยอะ ถ้ายกตัวอย่างเป็นรูปธรรม เครื่องดื่มบางประเภทไม่เห็นจำเป็นต้องใช้หลอด ถุงพลาสติกไม่ต้องซ้อนหลายชั้น หรือแทนที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ขวดเล็กๆ ก็ลองซื้อขวดใหญ่ใช้บรรจุภัณฑ์น้อยลงดู

Reuse ใช้ซ้ำให้มากขึ้น ใช้แล้วใช้อีกจนกว่าจะคุ้มค่า ไล่ไปตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่างใช้กระดาษให้ครบสองหน้า ใช้ถุงผ้าซ้ำๆ แก้วพลาสติกเอามาชำต้นไม้ ไปจนถึงการประดิดประดอยเปลี่ยนฟังก์ชั่นจากขยะชิ้นเดิมให้กลับมาใช้ได้ใหม่

Recycle กระบวนการแปรรูปขยะให้กลายเป็นวัตถุดิบในการผลิตส่ิงใหม่อาจจะยากเกินกำลังผู้บริโภคตัวเล็กๆ อย่างเรา แต่อีกแง่หนึ่ง เราคือต้นทางในการจัดการแยกประเภทขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หากเรามีความรู้ความเข้าใจ ทิ้งขยะให้ถูกถัง ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น เทน้ำแข็งลงขยะทั่วไปก่อน แล้วค่อยทิ้งแก้วพลาสติกลงขยะรีไซเคิล แยกประเภทกระดาษสักนิดก่อนทิ้ง ก็ช่วยให้การนำไปแปรรูปได้กระดาษที่คุณภาพดีกว่าการผสมปนเปขยะกระดาษทุกชนิด เป็นต้น

Repair ซ่อมแซมแทนโยนทิ้ง เพราะของบางชิ้นอาจจะแค่ต้องการการดูแลรักษา พาไปหาหมอนิดๆ หน่อย หรือใครมีทักษะที่สามารถซ่อมแซมได้เองก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ อย่าคิดว่า เสียเวลา ซื้อใหม่ง่ายกว่า หรือซ่อมไปก็ไม่คุ้ม เพราะต่อให้ไม่คุ้มสตางค์ แต่ก็คุ้มที่เราจะไม่เพิ่มการใช้ทรัพยากรอย่างเปล่าประโยชน์

Return นอกจากการส่งคืนเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเครื่องดื่มขวดแก้วที่ส่งคืนโรงงานแทนการเลือกเครื่องดื่มบรรจุขวดพลาสติก ส่งคืนบรรจุภัณฑ์ให้กับแม่ค้าที่สนิทสนมเพื่อให้เขานำกลับมาใช้ซ้ำ Return ยังหมายถึงการคืนให้สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ลดการใช้สารเคมีที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็นับเป็นการคืนเช่นเดียวกัน

Reject ปฏิเสธการสร้างขยะทุกรูปแบบ ทั้ง #คิดไม่ถุง #ไม่หลอดเนาะ และกิจกรรมหลากหลายที่เราสามารถปฏิเสธการสร้างขยะล้นเกิน และเลือกใช้สิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Rethink คิดให้ดีก่อนใช้และก่อนทิ้งเสมอ เพราะเราอาจเห็นความเป็นไปได้ในการช่วยลดขยะจากวิธีการที่กล่าวมา หรือวิธีที่มากไปกว่าเพื่อโลกสีเขียว

#เพื่อนกรีนหาง่าย

ชวนเพื่อนรอบตัวมาร่วมกรีน ลดขยะเป็นเพื่อนกัน เพราะยิ่งเพิ่มเพื่อนร่วมอุดมกรีนได้เท่าไหร่ โลกก็จะมีขยะน้อยลงเท่านั้น และสิ่งที่สำคัญคือการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแทนการบังคับหรือบ่นว่าให้เพื่อนรู้สึกต่อต้าน ของอย่างนี้ต้องเห็นดีเห็นงามและทำด้วยใจ และอาจจะชักชวนด้วยการมอบแก้วประจำตัวให้เป็นของขวัญและชวนกันใช้ ชวนกันล้าง รับรองว่าได้สมาชิกเพิ่มไม่ยาก และเพิ่มจำนวนขยะที่ลดได้แบบแชร์ลูกโซ่!

#ร้านนี้กรีนดี

นอกจากการทำคนเดียวและส่งเสริมเพื่อนรอบตัวให้กรีนไปด้วยกัน อีกพลังที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้คือต้นทางร้านค้า หากร้านค้ามีอุดมการณ์ในการลดขยะพลาสติกและพยายามที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้จะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดมากมาย แต่มาพยายามไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ส่วนลดคนพกแก้ว การพยายามลดภาชนะใช้แล้วทิ้งในร้าน จัดการแยกขยะให้ถูกประเภท หรือแม้แต่ผู้บริโภคในฐานะคนอุดหนุน การร่วมด้วยช่วยกันให้กำลังใจหรือแชร์ต่อบอกต่อไปยังคนรอบตัว ก็เป็นการขยายฐานสีเขียวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอีกทางหนึ่งนะ

ภารกิจประจำเดือนกันยายน

Greenery Challenge 09: ชวนเธอมานับกัน

หลังจากร่วมอุดมกรีนลดขยะในชีวิตประจำวันด้วยกันมาตลอด 8 เดือนผ่านวิธีและแฮชแท็กหลากหลาย ในภารกิจนี้ เรายังชวนคุณทำเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมการ ‘นับ’ ขยะที่ลดได้แต่ละวัน เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ แถมเป็นกำลังใจให้ตัวเองกรีนต่อไป และแบ่งปันแรงบันดาลใจให้คนรอบข้างได้ง่ายๆ ด้วย

กติการ่วมสนุก

1) เข้าร่วมกรุ๊ป Greenery Challenge ที่ www.facebook.com/groups/GreeneryChallenge

2) โพสต์ภาพการลดขยะที่คุณถนัดตามแฮชแท็กจากภารกิจ Greenery Challenge ก่อนหน้า (จำไม่ได้ นึกไม่ออก เลื่อนลงไปดูข้างล่างได้นะ)

3) พิมพ์แคปชั่นตามเรื่องราวที่คุณอยากเล่า พร้อมระบุจำนวนขยะที่เราช่วยกันลดในแต่ละวัน เช่น วันนี้ลดขยะได้ 2 ชิ้น ขวดน้ำพลาสติก หลอดพลาสติก

4) ติดแฮชแท็ก #GreeneryChallenge และ แฮชแท็กอื่นๆ ในชาเลนจ์ที่ตรงกับวิธีลดขยะของคุณ สามารถติดได้มากกว่าหนึ่ง

5) ทำภารกิจให้ครบ 21 วัน เริ่มตั้งแต่วันนี้ – 21 กันยายน 2561
(ย้ำอีกครั้งหนึ่ง! วันที่ 21 กันยายน เรามีนัด! อย่าลืมมาโพสต์บอกจำนวนขยะลดกันได้ตลอดภารกิจ จำนวนนับเหล่านี้มีผลต่อรางวัลประจำภารกิจด้วยนะ)

***รวมแฮชแท็กในภารกิจ Greenery Challenge***

#ขวดเดียวแก้วเดิม
พกแก้วหรือขวดประจำตัว แทนภาชนะใช้ครั้งเดียวทิ้ง
https://bit.ly/2odVFvJ

#คิดไม่ถุง
ช้อปครั้งใดใช้ถุงผ้า บอกร้านค้าว่าไม่รับถุงพลาสติก
https://bit.ly/2LvpEsc

#ไม่หลอดเนาะ
ปฎิเสธหลอดพลาสติกใช้แล้วทิ้ง พกหลอดใช้ซ้ำที่ล้างได้
https://bit.ly/2LvXwFs

#มาเป็นคู่
พกตะเกียบหรือช้อนส้อมมาเอง ไม่ใช้อาวุธพร้อมทิ้ง

https://bit.ly/2LvXwFs

#รีแล้วกรีน
ยึดหลัก 7R เพื่อลดปัญหาขยะล้นโลก
https://bit.ly/2MVpTSd

#เพื่อนกรีนหาง่าย
ชวนเพื่อนรอบตัวมาร่วมกรีน ลดขยะเป็นเพื่อนกัน
https://bit.ly/2NqrMTS

#ร้านนี้กรีนดี
บอกต่อเมื่อเจอร้านค้าพยายามลดขยะ ช่วยอุดหนุนให้กรีนต่อไป
https://bit.ly/2wtprQT

*** รางวัล ***
ประกาศผลวันที่ 25 กันยายน 2561 ครั้งนี้เราจะมอบรางวัลให้กับผู้รับคำท้าทั้งหมด 2 แบบด้วยกัน

1. รางวัลสำหรับสมาชิกมือใหม่เริ่มกรีน จำนวน 5 รางวัล มอบให้ผู้ที่มีจำนวนนับขยะสูงที่สุด จะได้รับของรางวัลพิเศษจาก Greenery ส่งถึงบ้าน

2. รางวัลสำหรับสมาชิกสีเขียวระดับมงกุฎเพชร จำนวน 5 รางวัล มอบให้ผู้ที่เคยได้รับรางวัลจากภารกิจก่อนหน้าของ Greenery Challenge และเป็นมีสถิติการโพสต์อย่างต่อเนื่องประจำภารกิจนี้ จะผ่านเข้ารอบรอรับรางวัลใหญ่สุดพิเศษในช่วงปลายปีจากทาง Greenery