ยิ่งโลกหมุนเร็วด้วยความทันสมัยมากเท่าไร ผู้คนยิ่งเปลี่ยวเหงาในใจมากขึ้นเท่านั้น “บ้าน” จึงเป็นนิยามของการพักพิงทั้งกายและใจ อันอาจหมายถึงผู้คนสักกลุ่ม สถานที่สักแห่งหรืออาหารสักชามก็เป็นได้

แม้ Come Back Anytime จะคล้ายสารคดีอาหารเมื่อมองอย่างผิวเผิน หากแท้จริงแล้วสิ่งที่ร้อยเรียงเรื่องราวลึกลงไปคือความสัมพันธ์ของผู้คนที่เชื่อมโยงกันด้วยความรักและปรารถนาดี

โดยภาพรวมของหนังเล่าถึงเรื่องราวชีวิตของเชฟมาซาโมโตะ อูเอดะและคาซูโกะ อูเอดะ สองสามีภรรยาที่ร่วมกันสร้างสรรค์ร้านราเม็งเล็ก ๆ ที่ชื่อ “บิเซนเต” ในกรุงโตเกียวซึ่งดำเนินกิจการมายาวนานนับ40ปี ลูกค้าหลายคนของบิเซนเตเติบโตไปพร้อมกับเชฟซึ่งลูกค้ายกย่องเรียกว่า “มาสเตอร์” พวกเขาผูกพันแน่นเหนียวราวครอบครัวใหญ่ หากใครได้เคยชมซีรีย์ญี่ปุ่นเรื่อง Izakaya Bottakuri มาก่อนจะเข้าใจถึงความรู้สึกแบบนั้นได้เป็นอย่างดี (บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหา)

ร้านบิเซนเตขายราเม็งเป็นหลัก มีเมนูให้เลือกไม่กี่อย่างได้แก่ ซุปเกลือ ซุปโชยุ และซุปมิโสะ มีเครื่องเคียงเรียบง่ายแค่ต้นหอม หน่อไม้ ถั่วงอก โดยสามารถเพิ่มเติมความอร่อยได้จากหมูชาชูรสนุ่มที่พร้อมละลายในปาก ในมุมมองของลูกค้าทุกคนชื่นชอบและติดใจความเป็นราเม็งรสใส กินง่าย และกินได้บ่อยแบบซดซุปเกลี้ยงชาม ทั้งที่ดูธรรมดาถึงที่สุดแต่บิเซนเตกลับเป็นอาหารในความคิดคำนึงของผู้คนเสมอมา

ราเม็งร้านนี้มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมาก ชนิดที่ว่าได้รับการบอกเล่าในสื่ออยู่ตลอดเวลา มีผู้คนหลั่งไหลมายืนต่อแถวรอตั้งแต่ร้านยังไม่เปิดก็มี ลูกค้าประจำของเชฟมาซาโมโตะ อูเอดะ ส่วนใหญ่กินราเม็งกันมานานเกินกว่าสิบปี หลายคนให้เหตุผลที่ชอบว่าเป็นรสชาติบ้าน ๆ เดิม ๆ ที่ชวนให้คิดถึงบะหมี่รถเข็นในสมัยก่อน บ้างก็ว่ารสอ่อนบางกินแล้วคิดถึงรสมือแม่ อันเป็นความแตกต่างที่สำคัญจากราเม็งปัจจุบันในโตเกียวที่เน้นรสชาติน้ำซุปเข้มข้นและเครื่องเคียงเยอะ

“เวลาที่ดูสีหน้าลูกค้ามีความสุข แบบ ‘โอย…อร่อยจังเลย’ แค่นี้แหละครับที่ผมต้องการ” เชฟมาซาโมโตะ อูเอดะบอกเล่าภูมิใจกับการงานของชีวิต

“ผมกินได้ทุกวันไม่เบื่อเลย” ลูกค้าคนหนึ่งเล่าพลางหัวเราะ “เมื่อก่อนผมทำงานใกล้ร้านบิเซนเตเลยมากินเกือบทุกวัน พอมาวันหนึ่งร้านนี้หายไปพยายามตามหาเท่าไรก็ไม่พบ อยู่ ๆ มาเจอว่าเขาเปิดที่นี่ นับจากนั้นท้องของผมก็เรียกร้องว่าต้องกินที่บิเซนเต ๆ ๆ เท่านั้น เป็นแบบนั้นเลยล่ะครับ”

เชฟมาซาโมโตะ อูเอดะบอกอย่างถ่อมตนว่า เขาไม่ได้มีเคล็ดลับความอร่อยอะไรเป็นพิเศษเพราะใช้วัตถุดิบปรุงอาหารพื้นฐานทั่วไปและปรุงอย่างพิถิพิถันอย่างที่ร้านอาหารทั่วไปต้องเป็น หากตอนเริ่มต้นสร้างกิจการเขาอ่านและค้นคว้าจากหนังสือมากมาย และพัฒนารสชาติในแบบที่ตัวเองชอบขึ้นมาด้วยตัวเอง บวกกับความโชคดีที่ได้สูตรลับจากภรรยาจนกลายเป็นหมูชาชูเนื้อนุ่มรสละมุนที่เข้ากันอย่างดีทำให้ราเม็งที่ร้านถูกปากผู้คนเพราะคงรสชาติความอร่อยได้เสมอต้นเสมอปลายเช่นนั้นมาตลอดสี่สิบปี

จังหวะนี้แหละที่เหมือนสารคดีโยนคำถามกลับมาที่ผู้ชมว่า ถ้าร้านอาหารที่มีลูกค้ามากมายไม่มีเคล็ดลับความอร่อยเป็นพิเศษ แล้วอะไรเล่าที่ผูกใจผู้คนเอาไว้ได้เป็นกลุ่มก้อนราวเป็นครอบครัวเช่นนี้

โดยปกติแล้วร้านราเม็งบิเซนเตจะเปิดขายหกวันต่อสัปดาห์และหยุดร้านในวันอาทิตย์ แต่ด้วยความที่เป็นคนไม่ชอบอยู่เฉย เชฟซาโมโตะ อูเอดะ จึงมักใช้เวลาวันหยุดทำกิจกรรมในชนบทโดยชวนลูกค้าที่ร้านไปด้วย สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นกิจกรรมเชื่อมใจให้ผูกกัน วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่าพวกเขาขุดดิน ถอนหญ้าด้วยกัน เก็บผักสวนครัวจากบ้านในชนบทไปที่ร้าน บางครั้งก็ออกไปเก็บสาลี่ในสวนของเพื่อน (ที่พัฒนามาจากลูกค้าร้านราเม็ง) ชงชาดื่มกัน ออกไปขุดหาหน่อไม้สด ๆ แล้วล้อมวงทำข้าวหน่อไม้กินรอบกองไฟ ตามหากลอยป่าเพื่อทำอาหารพิเศษเฉพาะฤดูกาลเท่านั้น รวมทั้งการร่วมเอามื้อเอาแรงช่วยกันทำ(ตำ) โมจิกินในวันขึ้นปีใหม่ แถมยังมีมาฝากลูกค้าในเมืองที่ร้านราเม็งอีกด้วย เกิดเป็นสังคมของความเกื้อกูล แผ่ขยายและแบ่งปันที่ทุกคนร่วมกันสร้างขึ้นมา

ลูกค้าประจำคู่หนึ่งแต่งงานกันเพราะกามเทพที่ชื่อบิเซนเต “เราสองคนเจอกันที่ร้านนี้บ่อยๆ วันหนึ่งมาสเตอร์บอกว่าผู้ชายคนนี้ไว้วางใจได้นะ และด้วยความที่บ้านเราอยู่ทางเดียวกัน พอออกจากร้านราเม็งก็กลับบ้านด้วยกัน ตอนนี้เราสองคนแต่งงานมีลูกแล้ว มาสเตอร์กลายเป็นคุณตาของเด็ก ๆ แล้วค่ะ”
อันที่จริงสมัยยังหนุ่ม ซาโมโตะ อูเอดะ เป็นวัยรุ่นที่สร้างปัญหาไม่น้อยแต่การได้แต่งงานกับ คาซูโกะ อูเอดะ ภรรยาที่น่ารักเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาฮึดสู้สร้างชีวิตใหม่

“ถ้าเป็นผู้หญิงคนอื่น เขาอาจทิ้งผมไปแล้วก็ได้” เชฟในวัยที่ตกตะกอนชีวิตจนเข้าใจเล่าย้อนวันวาน ภรรยาที่อยู่เคียงข้างเสมอ ทำงานเหนื่อยหนักร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันเสมออย่างไม่ปริปากบ่นคือบ้านที่จริงแท้สำหรับเขา เขาจึงรู้ดีว่าการมี “บ้านในใจ” สำคัญแค่ไหนสำหรับคนหลงทาง

ลูกค้าประจำร้านบิเซนเตบอกว่า ทุกประสบการณ์ชีวิตทั้งดีร้ายของเธอเกิดขึ้นโดยมีที่นี่เป็นที่พักพิงใจ

“ฉันเข้ามาทำงานในโตเกียวและมีที่พักอยู่ใกล้ ๆ เวลาหิวหรือเลิกงานแล้วไม่รู้จะไปไหนฉันก็อยู่ที่นี่ ตอนพ่อป่วยและจากไปก็ได้ที่นี่ปลอบโยน สุดท้ายแม่ก็จากไปอีกคน ตอนนั้นฉันเศร้ามาก มาสเตอร์บอกกับฉันว่า ‘ถ้าเธอไม่รู้จะไปไหนก็ให้กลับมาได้เลย เรารอต้อนรับเสมอ’ ฉันยังจำคำนั้นได้ มันมีความหมายมากจริง ๆ คิดไม่ออกเลยค่ะว่าถ้าต่อไปไม่มีบิเซนเตแล้วจะเป็นอย่างไร” เธอเอ่ยเศร้าพร้อมน้ำตา

ผู้กำกับ จอห์น แดชบาช ผู้กำกับภาพยนตร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “อาหารคือสิ่งเชื่อมโยงผู้คนไว้ด้วยกัน ผมอยากให้คนดูหนังจบแล้วรู้สึกอยากไปตามหา ‘สิ่งที่จริงแท้’ รอบ ๆ ตัวและเต็มเปี่ยมกับทุกสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเพราะนั่นแหละที่ทำให้ชีวิตสวยงาม”

Come Back Anytime ,ไม่ว่าเกิดอะไร เธอก็กลับมาได้เสมอนะ จึงเป็นสุ้มเสียงที่บิเซนเตต้องการบอกเราทุกคน

หมายเหตุ : Come Back Anytime จัดฉายแบบบรรยายไทยที่ Documentary Club กรุงเทพฯ และชมแบบสตรีมมิ่ง On demand ได้เร็ว ๆ นี้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/DocumentaryClubTH ส่วนคนที่อยากเก็บรายละเอียดเบื้องหลังการถ่ายทำ เรื่องเล่าจากผู้กำกับ ฯลฯ ชวนเข้าไปที่ www.comebackanytime.com

ภาพ: www.comebackanytime.com