ธรรมชาติมอบของขวัญอันยิ่งใหญ่ให้เรามีอาหารการกินหลากหลายได้ทั้งตลอดปี ผ่านสิ่งเล็กจ้อยที่สุดอย่าง “เมล็ดพันธุ์พืช” ด้วยความเรียบง่ายอันเป็นธรรมดานี้เองทำให้เราหลงลืมว่า โลกอาจโกหลาหลเพียงใดถ้าการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดทั้งมวลนั้นถูกผูกขาดเอาไว้ไปตลอดกาล

Vesper เป็นหนังแนววิทยาศาสตร์เหนือจริงที่ชวนตั้งคำถามสำคัญถึงอนาคตว่า “พวกเราทุกคนจะเป็นอย่างไรในโลกที่สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพใบนี้” ผ่านการจำลองสถานการณ์ที่สิ่งแวดล้อมพังพินาศ สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมรั่วไหลออกจากห้องปฏิบัติการมาปนเปื้อนกับพืชพรรณตามธรรมชาติจนโลกเสียสมดุลไปทั้งหมด มีเพียง “ซิตาเดล” ชนชั้นสูงเท่านั้นที่ครอบครองเมล็ดพันธุ์พืชซึ่งถูกใส่รหัสให้เพาะปลูกได้แค่หนึ่งครั้งโดยไม่อาจเก็บเมล็ดเพื่อขยายพันธุ์ต่อได้อีก

คนที่ทำหน้าที่รับใช้ชนชั้นสูงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำตามคำสั่งและรับใช้อย่างว่าง่ายและภักดีเพราะเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากมนุษย์ ในโลกที่มืดดำ หิวโหย และไร้ความหวัง คนส่วนใหญ่ล้มตายเนื่องจากขาดแคลนอาหาร บ้างติดเชื้อไวรัสจนกลายเป็นซอมบี้ตลอดชีวิต แต่สิ่งเดียวที่ทำให้ เวสเปอร์-เด็กหญิงผู้เป็นตัวละครหลักของเรื่อง ยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้คือความรู้และทักษะที่พึ่งพาตัวเอง เช่น การเลี้ยงหนอนนกเป็นแหล่งอาหาร การผลิตไฟฟ้าจากแบคทีเรียที่เพาะเลี้ยงเอง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจุลินทรีย์เพื่อเป็นเจลสมานแผล การเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตเพื่อทำวิจัยและหวังสร้างโลกที่หลากหลายใบใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง

อำนาจต่อรองอันชั่วร้ายของคนที่อยากมีชีวิตอยู่รอดในโลกใบหม่นคือการถ่ายเลือดของเด็ก ๆ ใส่ถุงเพื่อใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกับเมล็ดพันธุ์พืช (ซึ่งเป็นแหล่งอาหารเดียว) จากซิตาเดล ผู้หญิงมีหน้าที่สืบเผ่าพันธุ์สร้างเด็ก เพื่อให้เด็กเป็นทั้งแรงงานและเครื่องมือแลกเปลี่ยนอาหารอีกทอดหนึ่ง

พ่อของเวสเปอร์เคยเป็นทหารให้กองทัพซิตาเดล แต่เมื่อได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบเขาก็ถูกทอดทิ้งในสภาพกึ่งเป็นกึ่งตาย เวสเปอร์หวังใช้องค์ความรู้ที่ตัวเองสะสมและสร้างขึ้นเองเป็นใบเบิกทางให้เข้าไปทำงานในซิตาเดลได้เพื่อให้ชีวิตตัวเองกับพ่อไม่ยากลำบากเกินไปกว่านี้และดูเหมือนโชคจะเข้าข้างเมื่อวันหนึ่งเธอได้ช่วยชีวิตคาเมลเลีย-ผู้บาดเจ็บในยานซิตาเดลเอาไว้ได้

มีฉากเรียบง่ายอันหนึ่งที่น่าสะเทือนใจ เมื่อสัตว์ทั่วไปในธรรมชาติกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกภาพไว้ในแค่หนังสือ
“เธอเคยเห็นตัวนี้ไหม มันร้องยังไงเหรอ” เวสเปอร์ชี้ไปที่รูปแมว
“เมี้ยว”
“แล้วนี่ละ”
“วู้ว..” คาเมลเลียส่งเสียงร้องดังเป็นหมาป่า
“แล้วทำไมซิตาเดลต้องกีดกันคนอย่างพวกเราด้วย” เวสเปอร์เอ่ยถาม
“ถ้าเปิดให้ทุกคนเข้าไป ทรัพยากรก็มีไม่พอน่ะสิ” คาเมลเลียตอบเศร้า

เป็นคำตอบที่ชัดเจนเหลือเกินว่าเหตุใดผู้มีอำนาจจึงพยายามยึดครองสิ่งสำคัญอย่างเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดอาหารเพราะการควบคุมปัจจัยพื้นฐานได้คือการมีอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง

สิ่งนี้คือแรงจูงใจเริ่มต้นที่ทำให้ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้น เมื่อมีข่าวบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาดัดแปลงพันธุกรรมพืชเพื่อให้เกิดการซื้อขายและไม่อาจขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติอีกต่อไป

“ผู้ควบคุมชีวภาพคือผู้ที่อยู่เหนือโลก” นี่เป็นเสมือนอาชญากรรมร้ายแรงที่สุดที่มนุษย์กระทำต่อกันและกันเอง

แม้ในที่สุด เวสเปอร์จะใช้เซลล์เนื้อเยื่อจากร่างกายของคาเมลเลียมาปลดล็อกรหัสในเมล็ดพันธุ์ที่ขโมยมาได้ แต่ผู้ชมก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าภายใต้สายลมที่เมล็ดพันธุ์ถูกโปรยปรายให้หยั่งรากกำเนิด ชีวิตในอนาคตภายหน้าของคนรุ่นใหม่อย่างเวสเปอร์จะเปลี่ยนแปลงไปได้มากขนาดไหนนับจากนี้ แต่มันย่อมคุ้มค่าเสมอเมื่อใครสักคนตัดสินใจลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ตัวเองมีโอกาสได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้อาจเป็นเพียงแค่ “ความหวังอันริบหรี่” ก็ตาม

ในประเทศไทย มีการสื่อสารเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านมาสักระยะหนึ่งแล้ว โจน จันใด ผู้นำเรื่องเกษตรธรรมชาติแนวพึ่งตนเองเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “งานเก็บเมล็ดพันธุ์พืชเป็นเรื่องสำคัญระดับความเป็นความตายของมนุษยชาติ เมล็ดพืชคือความมั่นคงทางอาหาร ตราบใดที่มีอาหารเราจะไม่มีวันอดตาย อาหารทั้งหลายจึงอยู่ในเมล็ดพืช วิธีการทำให้ตัวเองมีกินได้ยาวนานที่สุดคือเก็บเมล็ดพันธุ์ แบ่งปันให้เพื่อนปลูก หากวันหนึ่งไร่นาของเราถูกทำลาย เราก็ขอจากเพื่อนได้ ยิ่งปลูกยิ่งแบ่งเราจะยิ่งกระจายความเสี่ยงในการเก็บสะสมแหล่งอาหาร งานเก็บเมล็ดพันธุ์จึงเป็นงานสำคัญที่ผมจะทำเป็นงานสุดท้ายในชีวิตนี้”

ส่วนในระดับโลกเองรัฐบาลนอร์เวย์เตรียมการเรื่องนี้ล่วงหน้ามานานแล้วด้วยการสร้างห้องนิรภัยเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ (Svabard Global Seed Vault) ไว้ที่ใจกลางขั้วโลกรวบรวมเมล็ดพันธุ์ไว้มากกว่าหนึ่งล้านชนิดเพราะรู้ชัดว่าวันหนึ่งมนุษยชาติต้องเผชิญวิกฤติการขาดแคลนอาหารอย่างแน่นอน

Vesperเป็นภาพยนตร์สัญชาติยุโรปที่มีการร่วมทุนระหว่างลิธัวเนีย ฝรั่งเศส และเบลเยียม โดยสองผู้กำกับคริสตินาและบรูโน แชมเปอร์ ที่ตั้งใจสร้างบรรยากาศให้หนังมีความมืดดำแบบเทพนิยายกริมม์ หากบรรจุความหวังเล็ก ๆ เอาไว้ในนั้นด้วย ภาพยนตร์เปิดตัวในแนวทางสายประกวดและได้รับรางวัล Jury’s Choice Award จากเทศกาล Bucheon International Fantastic Film Festival ครั้งที่ 22 โดยข้อความสำคัญที่ผู้กำกับต้องการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่คือ แม้โลกนี้จะหม่นหมองเพียงใดแต่อย่าหมดหวัง จงมองหาความงามในความเลวร้ายให้พบเพื่อเป็น “เหตุผลของการมีชีวิตอยู่” เพราะชีวิตไม่ใช่แค่การเอาตัวรอดทางกายแต่ต้องมีความหมายที่ยิ่งใหญ่ทางใจด้วย

จินตนาการใน Vesper จึงเป็นหายนะที่เกิดขึ้นได้จริงกับทุกคนบนโลกใบนี้ โปรดตื่นขึ้นและลงมือทำบางสิ่งด้วยตัวเอง “เมล็ดพันธุ์คือชีวิต” คำพูดนี้จะกลายเป็นสิ่งที่เจ็บปวดอย่างยิ่งเมื่อเราไม่หลงเหลือมันแล้วอีกต่อไป
ในโลกที่มืดมน แม้ความหวังจะเล็กจิ๋วเท่าเมล็ดพืช แต่ภายในนั้นแหละที่บรรจุโลกและทางรอดเอาไว้ได้จริง

หมายเหตุ : ชวนชมสารคดีเรื่อง Seed Untold และ Kiss The ground มาดูเพื่อเชื่อมโยงสถานการณ์เกิดขึ้นจริงกับโลกใบนี้ได้ชัดเจนขึ้น ห้องนิรภัยเมล็ดพันธุ์หาข้อมูลอ่านเพิ่มเติมที่ www.croptrust.org

ภาพ : IFC Films Youtube Channel