ทุกปีมีอาหารจำนวนหนึ่งในสามที่ยังกินได้ถูกทิ้งในถังขยะทั่วโลก ทั้งที่อีกด้านหนึ่งมีคนอดอยากขาดแคลนอาหารจำนวนมหาศาลเช่นกัน เดวิด กรอสส์ ลงทุนเปลี่ยนอาชีพจากนักข่าวไปเป็นนักเคลื่อนไหวเรื่องอาหารเพื่อพาไปสำรวจสถานการณ์อาหารเหลือทิ้งว่าเราทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้อย่างไร และ Greenery. ชวนคิดต่อว่าในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เราได้สร้างขยะอาหารมากเพียงใดและเราจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรกัน

แต่เดิมเดวิด กรอสส์ รณรงค์ผ่านการทำกิจกรรมเรื่องขยะอาหารด้วยการค้นขยะจากซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ เพื่อเก็บกู้อาหารที่ยังใช้ได้จำนวนมากมาทำอาหารเพื่อแบ่งปัน (สำหรับคนที่ไม่มีกิน) แต่ดูเหมือนว่าเสียงยังไม่ดังพอ เขาจึงเปลี่ยนแปลงวิธีการเป็นการเดินทางไปยังห้าประเทศทั่วยุโรปเพื่อตั้งใจทำอาหารจากอาหารที่ถูกทิ้งเท่านั้น โดยเดินทางด้วยรถที่ดัดแปลงให้ใช้น้ำมันพืชเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงและเพื่อเป็นครัวเคลื่อนที่ตลอดการสำรวจครั้งนี้ ผ่านสารคดีเรื่อง Waste Cooking : Make food ,not waste. เดวิดเริ่มต้นการสำรวจขยะอาหารจากออสเตรียประเทศบ้านเกิด แล้วมุ่งหน้าเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และปิดการเดินทางที่ประเทศฝรั่งเศส โดยมีผู้คนร่วมเดินทาง สำรวจขยะ คุ้ยขยะ ปรุงอาหารจากขยะจากหลากหลายอาชีพไปตลอดทางกับเขาด้วย

อยากให้เข้าใจตรงกันว่าขยะในที่นี้ไม่ใช่เศษอาหาร แต่หมายถึงวัตถุดิบอาหารที่ไม่ถูกใช้งานจนต้องทิ้งเป็นขยะ

(อยากให้เข้าใจตรงกันว่าขยะในที่นี้ไม่ใช่เศษอาหาร แต่หมายถึงวัตถุดิบอาหารที่ไม่ถูกใช้งานจนต้องทิ้งเป็นขยะ)

ขยะวัตถุดิบอาหารที่ยังใช้ได้ดีส่วนใหญ่มาจากห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะเมื่อของมีตำหนิก็มักถูกนำออกจากชั้นแล้วจบลงในถังขยะ เดวิดเริ่มต้นด้วยการชวนคนเก็บขยะ (ซึ่งปกติไม่เคยค้นขยะ) ไปร่วมสำรวจด้วยกัน ในนั้นมีผลไม้ที่ยังดีอยู่ อาจมีรอยช้ำแค่ลูกเดียว ผักที่เหี่ยวไปบ้างแต่ยังไม่เน่าเสีย ทุกอย่างยังอยู่ในถุงซีลปิดสนิทอย่างดี ซอสสำเร็จรูปกระป๋องบุบที่ยังไม่หมดอายุ “เราเคยซื้ออาหารที่คุณภาพแย่กว่าที่คุณเจอในถังขยะนี้อีกนะ น่าเศร้ามากเลยที่อาหารดี ๆ แบบนี้ถูกทิ้ง” คนเก็บขยะบอกเล่าเมื่อเห็นภาพตรงหน้า

นักวิจัยขยะจากเวียนนาประเทศออสเตรียกล่าวว่า ในแต่ละปีมีอาหาร 30 เปอร์เซ็นต์ถูกทิ้งเป็นขยะทั่วโลก

นักวิจัยขยะจากเวียนนาประเทศออสเตรียกล่าวว่า ในแต่ละปีมีอาหาร 30 เปอร์เซ็นต์ถูกทิ้งเป็นขยะทั่วโลกนับจากระบบการผลิตในฟาร์มจนถึงผู้บริโภคคิดรวมเป็นปริมาณมหาศาลถึง 1.3 พันล้านตันต่อปีเลยทีเดียว ที่เมืองแอร์สตาล ประเทศเบลเยียม มีกฎหมายห้ามให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือสรรพสินค้าทิ้งอาหาร แต่ให้ทางเลือกด้วยการมอบให้ผู้คนที่ต้องการซึ่งส่วนใหญ่ยากจนและขาดแคลนผ่านองค์กรที่ทำงานเรื่องการส่งต่ออาหารส่วนเกิน แม้เป็นแรงเล็ก ๆ แต่ก็ประจักษ์ได้ว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีผู้ริเริ่มทำ

สำหรับคนธรรมดาทุก ๆ คน เราจึง “เริ่มต้นได้จากตู้เย็นของเราเอง”

แหล่งสร้างขยะวัตถุดิบอาหารที่น่าตกตะลึงอีกแห่งหนึ่งคือตู้เย็นของครัวเรือนเล็ก ๆ รวมกัน คนส่วนใหญ่มักซื้ออาหารมาตุนไว้ในตู้เย็น บางอย่างมากเกินไปจนใช้ไม่ทัน บ้างเก็บไว้นานจนลืม (และหมดอายุ) เดวิดกับเชฟที่ร่วมสำรวจขยะอาหารค้างตู้ในอาคารการเคหะได้วัตถุดิบอาหารที่ไม่ใช้แล้วจากตู้เย็นในบ้านมาอย่างท่วมท้นจนทำอาหารเลี้ยงคนได้ทั้งตึกเลย ความสนุกของสารคดีนี้จึงอยู่ตรงที่การคุ้ยขยะ แล้วเอาวัตถุดิบที่ยังดีอยู่มาปรุงเป็นอาหารแบบเห็นกันจะ ๆ ไปเลย แล้วชวนคนมากินด้วยกันเพื่อสร้างบทสนสทนา “จากขยะเป็นอาหารแสนอร่อย” มีคุณป้าท่านหนึ่งตกใจมากเมื่อของที่เลือกทิ้งจากตู้เย็นนั้นมีมูลค่าถึง 800 ยูโร สำหรับคนธรรมดาทุก ๆ คน เราจึง “เริ่มต้นได้จากตู้เย็นของเราเอง”

ในแปลงเกษตรเป็นอีกพื้นที่สำคัญที่มีอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก เพียงเพราะพืชผักเหล่านั้นไม่เป็นไปตาม “ขนาดและรูปแบบที่ร้านค้ากำหนด” ผักเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่ถูกเก็บเกี่ยว แล้วทิ้งไว้ในแปลงหรือไม่ก็ฝังกลบ เช่น แคร์รอตที่เบี้ยว ซูกินีที่เล็กไปหรือใหญ่ไป เดวิดร่วมกับนักกิจกรรมเครือข่าย Slow food ไปช่วยกันเก็บผักที่เหลือในแปลง แล้วนำมาทำอาหารจัดเลี้ยงในสวนผักคนเมืองเพื่อสื่อสารความคิดของการลดขยะอาหารตั้งแต่เริ่มต้น ผักเหลือทิ้งจากฟาร์มมีปริมาณนับ 100 กิโลกรัม นำมาทำอาหารและขนมได้สำหรับผู้คนได้มากถึง 250 คน เลยทีเดียว ซึ่งหัวใจความสำเร็จของกิจกรรมลักษณะนี้คือการมีเครือข่าย คนที่ร่วมลงแรงกันและสนุกไปด้วยกัน

ผมเคยมีประสบการณ์หิวโซในสงครามซาราเจโว เราเรียนรู้ที่จะทำอาหารอร่อยได้จากเศษซากอาหาร เพราะความหิวจะทำให้คุณคลั่งและไม่คิดทิ้งขว้างอาหารอีกเลย

“พืชผักที่ไม่สวยก็ยังเป็นอาหาร แค่ร้านค้าไม่ซื้อเท่านั้นเอง และถ้าพวกเราทำอาหารกันมากขึ้น เราจะทิ้งอาหารน้อยลง ผมเคยมีประสบการณ์หิวโซในสงครามซาราเจโว เราเรียนรู้ที่จะทำอาหารอร่อยได้จากเศษซากอาหาร เพราะความหิวจะทำให้คุณคลั่งและไม่คิดทิ้งขว้างอาหารอีกเลย” นักกอบกู้อาหารจากขยะกล่าว

เราต้องเรียนรู้ที่จะกลับมากินปลาท้องถิ่นเหล่านี้อีกครั้ง มันหาง่าย ราคาถูก และนี่เป็นการช่วยให้ไม่เกิดขยะจากการประมงได้อย่างยั่งยืน

บนเรือประมง และตลาดประมูลปลาเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีอาหารถูกทิ้งเป็นปริมาณมาก โชคดีที่ในฝรั่งเศสมีองค์กรหนึ่งที่คอยรับซื้อปลาที่ตกเกรดจากการประมูลเพื่อส่งต่อองค์กรช่วยเหลือคนที่ขาดแคลนอาหาร “ผู้บริโภคคือคนกำหนดทุกสิ่ง ทุกวันนี้คนต้องการแค่กุ้งกับแซลมอน ทำให้ปลาท้องถิ่นขายไม่ออก แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะกลับมากินปลาท้องถิ่นเหล่านี้อีกครั้ง มันหาง่าย ราคาถูก และนี่เป็นการช่วยให้ไม่เกิดขยะจากการประมงได้อย่างยั่งยืน เพราะทุกวันนี้ชาวประมงเอาปลาที่ตลาดไม่ต้องการ ทิ้งกลับไปในทะเล”

แล้วเราทำอะไรได้บ้าง นี้อาจเป็นแนวทางเล็กน้อยสารคดีชวนให้เราเปลี่ยนแปลง

  1. ปรับพฤติกรรม คือ สำรวจตู้เย็นและตู้เก็บของก่อนออกไปซื้อวัตถุดิบเพิ่มเติม รวมถึงดัดแปลงของที่มี มาปรุงอาหารมากขึ้นเพื่อไม่ปล่อยวัตถุดิบเหลือทิ้งหรือปล่อยให้หมดอายุ
  2. กินด้วยกันตามโอกาสหรือดัดแปลงวัตถุดิบอาหารมาแบ่งปันผู้ที่ต้องการเพื่อลดวัตถุดิบอาหารเหลือทิ้ง
  3. เรียนรู้แหล่งอาหารตามธรรมชาติรอบบ้าน มีผักผลไม้ท้องถิ่นหลายอย่างกินได้ตามฤดูกาล สร้างชุมชนที่ช่วยกันระบุแหล่งอาหารแล้วใช้ประโยชน์เป็นอาหารหรือเพิ่มมูลค่าให้เป็นรายได้ เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ใช่แหล่งเดียวของแหล่งอาหาร

“การปล่อยให้ผลไม้ในเมืองเน่าเสียก็เป็นขยะอาหารแบบหนึ่ง ที่เบอร์ลินเราชวนคนมาระบุตำแหน่งพืชผลไม้ที่เป็นแหล่งอาหารในระบบคลาวด์และแสดงผลตามตำแหน่งจริง ๆ ถ้าเราชวนคนมากินผลไม้ท้องถิ่นแทนผลไม้ที่ขนจากที่ไกล ๆ เราจะได้กินของสดทุกฤดู ลดรายจ่าย และอาหารไม่ต้องเดินทางไกลด้วย ในทุกพุ่มไม้มีอาหารให้กิน ฉันเห็นอาหารในทุกแห่งเสมอเลย ” นักรณรงค์เรื่องอาหารแบ่งปันความคิด

เช่นเดียวกับพ่อครัวอาหารป่าที่นิยมนำวัชพืชมาดัดแปลงเป็นอาหาร “พืชหลายอย่างถ้าเรารู้จักใช้ มันก็ไม่ใช่วัชพืช หรือการเอาวัชพืชมาเป็นอาหารก็ยังปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมีกำจัดมันทิ้งอีก ต้นเวเจลวีดนี้กินเป็นอาหารได้ ถ้าคุณเก็บไปทำแยมจะได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 300 ยูโร ทุกวันนี้เราทิ้งอาหารกันง่ายดายเพราะเราใช้เงินซื้อ แต่ถ้าเราเริ่มทำเอง เราจะไม่ทิ้งขว้างมันง่าย ๆ”

Waste Cooking จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำความเข้าใจอาหารอย่างลึกซึ้งว่าการกินของเราช่วยเปลี่ยนแปลงโลกได้มากมายเพียงใด ติดตามชมสารคดีได้ที่ documentaryclubthailand.com ราคา 50 บาท ต่อเรื่อง

ขอบคุณภาพจาก : WASTE COOKING : MAKE FOOD, NOT WASTE