ฝนปรอยช่วงต้นเดือนตุลาคมทักทายเราตั้งแต่แรกก้าวเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางครั้งนี้ต่างจากทุกครั้งที่มาเยือนเมืองเหนือ ทั้งจุดหมายที่เปลี่ยนไป และจากเป้าหมายที่อยากเก็บเกี่ยวไว้ระหว่างทาง

จุดหมายของการเดินทางครั้งนี้คือ “หมู่บ้านตีนตก” หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอเล็ก ๆ หลัง “ดอยหัวเสือ” อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านที่หลายครั้งถูกลบหายจากแผนที่ของเหล่านักท่องเที่ยว ทั้งที่ตั้งอยู่ถัดจากอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เพียงหนึ่งชั่วโมง และมีประวัติการตั้งรกรากยาวนานนับร้อยปี

เราเดินทางมาถึงหมู่บ้านตีนตกช่วงบ่ายคล้อย ลุงเสม เจ้าของที่พักจึงออกมารอรับด้วยรอยยิ้ม ก่อนเพื่อนร่วมทาง 6 ชีวิตจะทยอยเก็บสัมภาระและจับเข่านั่งคุยกันถึงรายละเอียดทริปด้วยแววตาตื่นเต้น ด้วยเส้นทางที่เราจะออกเดินทางไปพร้อมกันในครั้งนี้นั้นค่อนข้าง “สดใหม่” ในความหมายว่าเป็นเส้นทางที่น้อยคนจะมาถึง และในความหมายว่าธรรมชาติยังไม่ถูกรบกวนมากนัก ระบบนิเวศจึงสมบูรณ์เป็นพิเศษ และนั่นทำให้เกิดเป้าหมายถัดมา คือ การสำรวจเส้นทางเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการท่องเที่ยวให้กับหมู่บ้านแห่งนี้

เช้าถัดมา รถกระบะของลุงเสมก็พาพวกเรามาส่ง ณ ปากเส้นทางเดินเท้าระยะทางราว 13 กิโลเมตร สภาพอากาศช่วงปลายฝนต้นหนาวทำให้หมอกปกคลุมหนาทั่วบริเวณ ในระดับยอดดอยหัวเสือที่อยู่ถัดไปไม่ไกลลับจากสายตา พวกเรากระชับเสื้อกันฝนแน่น พร้อมก้าวเท้าออกเดินทางไปตามเส้นทางที่เงียบเชียบปราศจากนักท่องเที่ยว ก่อนลุงเสมจะพาพวกเราหยุดเป็นระยะเพื่อพบกับรายละเอียดระหว่างทาง อย่างต้นตะไคร้ต้น หรือตะไคร้ดอย สมุนไพรยืนต้นที่มักพบตามป่าดิบเขาในหลายจังหวัดภาคเหนือ เป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญในครัวของหลากหลายชาติพันธุ์ ด้วยเมล็ดของตะไคร้ต้นนั้นมีกลิ่นรสเปรี้ยวและหอมคล้ายมะนาวผสมตะไคร้ เจือกลิ่นอบเชยจาง ๆ เหมาะกับการนำมาเติมกลิ่นรสให้กับอาหาร ทั้งยังมีสรรพคุณดับคาวเนื้อสัตว์ได้อย่างน่าสนใจ

ผืนป่าชื้นฝนเผยให้เราเห็นความสมบูรณ์อีกหลากหลาย หนึ่งในหลายอย่างคือบรรดา “ไลเคน” สิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการพึ่งพาอาศัยกัน (Mutualism) ระหว่างราและสาหร่าย มีรูปร่างลักษณะและสีสันหลากหลาย ซึ่งเป็นข้อสังเกตในการใช้วัดความสะอาดของอากาศและความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้อย่างคร่าว ๆ ด้วยไลเคนนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อากาศสะอาดพอสมควร การพบปะไลเคนเรื่อยไประหว่างทางจึงเป็นทั้งความตื่นตาตื่นใจ และเป็นสิ่งที่ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามถึงสภาพอากาศในเมืองใหญ่ สถานที่ที่ไลเคนพบเห็นยากขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากไลเคน อีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ “เห็ด” หลากชนิดที่ผุดขึ้นให้เห็นในป่าดิบเขาแห่งนี้ แต่นอกจากดอกเห็ดที่เราคุ้นหน้าคุ้นตา ความสัมพันธ์ระหว่างเห็ดกับธรรมชาติในป่าก็เป็นอีกสิ่งที่เราสนใจ โดยเฉพาะเรื่องการพึ่งพาอาศัยระหว่างเห็ดราและต้นไม้ผ่านเครือข่ายใต้ดินที่เรียกว่า “Wood Wide Web” ซึ่งเห็ดราไมคอร์ไรซา (Mycorrhiza) ที่อาศัยอยู่กับรากไม้ จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างพืชพรรณในป่า ผ่านการสร้างเส้นใยบางๆ ที่เรียกว่าไมซีเลียม (Mycelium) เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงอยู่ใต้ดิน เรียกว่าต้นไม้นานาชนิดในป่านั้นสื่อสารกันผ่านเส้นใยดังกล่าว ทั้งเรื่องการระแวดระวังภัยธรรมชาติ การส่งสัญญาณเพื่อขอความช่วยเหลือหรือรับส่งสารอาหารบางชนิด ผ่านการทำงานอย่างสลับซับซ้อนของเห็ดราไมคอร์ไรซาที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งเราสังเกตได้จากดอกเห็ดที่จะผุดขึ้นในป่า เป็นเครื่องยืนยันการมีอยู่ของโครงข่ายเห็ดราที่กำลังทำงานแข็งขันกันอยู่ใต้ดิน

พวกเราเดินลัดเลาะชมเห็ดรา ไลเคน และพรรณไม้กันย้อนกลับมาถึงหมู่บ้านตีนตก ลุงเสมชวนให้เราพักผ่อน และชวนให้เราตื่นขึ้นมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตในป่าฝนแห่งนี้ในพรุ่งนี้เช้า ซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน

เช้าวันรุ่งขึ้น พวกเราเดินเลียบชายป่าของหมู่บ้านตีนตกไปพบกอไผ่ใหญ่ริมลำธาร อีกแหล่งอาหารสำคัญของสมาชิกในชุมชน และปัจจุบันยังกลายมาเป็นอีกแหล่งรายได้นอกเหนือจากการทำเกษตร นั่นก็คือ “หนอนไม้ไผ่” หรือรถด่วน สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วโปรตีนสูงที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพความสะอาดของป่าต้นน้ำ ด้วยหนอนไม้ไผ่ธรรมชาตินั้นมีวงจรชีวิตตั้งแต่เป็นไข่จนกลายเป็นผีเสื้ออยู่ในกระบอกไม้ไผ่ที่ปราศจากสารเคมี เมื่อสังเกตเห็นหนอนไม้ไผ่หรือรถด่วนในป่าไหน นั่นเท่ากับว่าพื้นที่ตรงนั้นได้รับการดูแลรักษาอย่างใส่ใจจากผู้อยู่อาศัยด้วยเหมือนกัน

เส้นทางระยะ 13 กิโลเมตรตัดข้ามป่าดิบเขาแห่งอำเภอจอมทอง ไม่เพียงนำเสนอความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติให้เราสัมผัสอย่างใกล้ชิด ทว่าฉายภาพให้เราเห็นความกลมกลืนระหว่างมนุษย์และธรรมชาติที่อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย และความสัมพันธ์ระหว่างพืชพรรณในป่าที่สื่อสารและพึ่งพากันอย่างลึกซึ้งกว่าที่ใครจะคิด

ภาพ : อรุณวตรี รัตนธารี