ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องเป็นนักปลูกเมือง แต่ทุกเมืองต้องมีนักปลูกเมือง

หลายท่านอาจจะงงว่า นักปลูกเมืองที่กำลังเขียนถึงอยู่นี้คือใคร นักปลูกเมืองก็คือผู้คนที่ร่วมเปลี่ยนแปลงเมืองด้วยการปลูกนั่นเอง ‘ปลูก’ ตั้งแต่ พืชผัก สมุนไพร ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ หรือปลูกสร้างสวน สร้างมิตรภาพ สร้างกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนสำนึกการกินอยู่อย่างเป็นธรรมชาติของเยาวชนและผู้คนในสังคมให้ยังคงอยู่ ฟื้นกลับคืน และเติบโตอย่างมั่นคงแข็งแรงต่อไป หนทางของการ ‘ปลูก’ เหล่านี้ ล้วนแล้วก็เป็นวิถีทางของนักปลูกเมืองทั้งสิ้น

แล้วทำไมต้องปลูกเมือง? ก็เพราะการเปลี่ยนแปลงไปในทุกวันของเมืองที่มักจะย้อนแย้งกับคุณภาพชีวิต นักปลูกเมือง จึงเป็นคนสำคัญที่จะนำเอาชีวิตที่สมดุลกลับคืนมา เมืองใหญ่หลายแห่งนั้นเต็มไปด้วยความสะดวกสบาย มีสาธารณูปโภคเพียบพร้อม แต่กลับมีผู้คนที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บจากการกินอยู่ ด้วยอาหารปนเปื้อนสารพิษ มลพิษในดิน น้ำ อากาศ ที่ล้วนแต่บั่นทอนสุขภาวะของเมืองและชีวิตของเราที่อิงอาศัยอยู่จนทุกวันนี้

แม้แต่ในชนบทที่ห่างไกล ก็ยังคงมีสารพิษในแปลงเกษตรและการผลิตอาหารทั้งหลาย และอาหารที่คนเมืองกินก็ล้วนมาจากชานเมืองและชนบทที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม พิษภัยในอาหารจึงเท่าเทียมเสมอหน้ากัน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงมลภาวะจากในเมืองที่ส่งผลต่อชานเมืองและชนบทด้วยเช่นกัน ทั้งน้ำเสีย กองขยะ และสารพิษในบ้านเรือนต่างๆ

ปัญหาของการกินอยู่ของคนเมืองกับเกษตรกรรม และการผลิตอาหาร ตลอดจนสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้ วิถีการกินอยู่ของคนเมืองจึงมีความหมายต่อชีวิตผู้คนในสังคม สรรพชีวิต และสรรพสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติด้วย

นักปลูกเมืองมีมานานแล้ว และจะมีต่อไป!!!

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะคิดว่า นักปลูกเมืองมีอยู่จริงไหม การเปลี่ยนแปลงสังคมที่เริ่มจากตัวเอง และพื้นที่เล็กๆ จะเป็นไปได้จริงๆ เหรอ? แต่เชื่อไหมว่า หลากหลายวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนทั่วโลก เกิดขึ้นในเมือง และเกิดจากคนเมือง!!?

ยกตัวอย่างเช่น เกษตรอินทรีย์ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้นั้น ในระดับสากลก็เริ่มต้นเมื่อ 87 ปีก่อน เซอร์ อัลเบิร์ต โฮวาร์ด ที่ก่อนท่านจะได้ยศฐาบรรดาศักดิ์ ท่านก็เป็นนักวิชาการเกษตรในเมืองที่ต้องไปทำงานต่างแดน ถูกจักรวรรดิอังกฤษส่งตัวไปส่งเสริมเกษตรเคมีในอินเดียที่เป็นอาณานิคมให้ซื้อสารเคมีจากจักรวรรดิ แต่แล้ว ท่านก็ส่งเสริมให้เกษตรกรทำปุ๋ยหมักใช้เองด้วยวิธีที่ท่านปรับปรุงขึ้นจากวิถีพื้นบ้านให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นและพึ่งตนเองได้ ไม่ต้องซื้อปุ๋ย เพราะท่านตระหนักในความจริงว่าชาวบ้านยากจนมาก จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อสารเคมี นอกจากนี้ท่านยังพบว่าเมื่อดินดีด้วยวิธีธรรมชาติ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดีของพืชและสัตว์ ซึ่งก็ทำให้เราสุขภาพดีด้วยเช่นกัน ด้วยผลงานของท่านก็ทำให้เกิดกระแสผู้คนที่เห็นโทษภัยของการใช้สารเคมีและผู้ที่แสวงหาวิถีทางการกินอยู่กับธรรมชาติออกมาตอบรับกับงานของท่าน

ผู้คนที่โดดเด่นที่สุด ที่นำงานของท่านมาต่อยอดขยายผลมาจนถึงทุกวันนี้ ก็คือ คุณหญิงอีฟ บัลโฟร์ ที่สนับสนุนงานของท่านจนมาก่อตั้งสมาคมดิน (Soil Association) ที่หนึ่งในแนวร่วมการก่อตั้งสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movement) มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งหนึ่งในผู้คนจากสมาคมดินที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ก็คือ เจ้าของวลีอมตะที่กล่าวว่า “เล็กนั้นงาม” Small is Beautiful หรือคุณ อี. เอฟ. ชูมากเกอร์ นั่นเอง ชูมากเกอร์มาที่พม่าตามคำสั่งจักรวรรดิว่าให้มาพัฒนา แต่กลับเอ่ยวลีอมตะนี้ตอบจักรวรรดิไปว่า ไม่ต้องพัฒนาเขาหรอก เขามีความสุขดีอยู่แล้ว และนับแต่นั้นมาทั่วโลกก็รู้จักเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ ซึ่งก่อนหน้าที่เขาจะมา ชูมากเกอร์ก็เป็นนายกสมาคมดิน และปลูกผักออร์แกนิกกินเอง!!!

เช่นเดียวกับในฝั่งเอเชีย ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อ 83 ปีก่อน ท่านโมกิจิ โอกาดะ ก็ค้นพ้นความจริงของการเกษตรที่ว่า การระบาดของศัตรูพืชนั้นมาจากการใช้ปุ๋ยเคมี ที่ทำให้พืชอ่อนแอ กลับกันหากปลูกพืชด้วยปุ๋ยหมักจากใบไม้ที่ผุพังลงตามธรรมชาติ พืชกลับแข็งแรง สวยงาม ไม่เกิดโรคแมลง สด เก็บได้นานกว่า และเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต จนกลายมาเป็นหลักเกษตรธรรมชาติ ที่มีลูกศิษย์ลูกหาของท่านเผยแพร่ออกไปทั่วโลกจนถึงในปัจจุบัน ซึ่งการค้นพบของท่านนี้ เกิดขึ้นในสวนหลังบ้านของท่าน ที่เมืองอะตะมิ จังหวัดชิซึโอกะ ประเทศญี่ปุ่น

นี่ยังไม่นับรวมปรากฏการณ์เกษตรในเมืองหรือ city farm ทั่วโลก ที่ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากพลังของคนเมืองที่ถูกปลุกขึ้น เพื่อออกไปร่วมสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงกับผู้คนและธรรมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกัน

การค้นพบในสัจธรรม สามารถพบได้ในพื้นที่เล็กๆ และเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั่วโลก เพียงแค่ลุกขึ้นมาปลุกพลังในตัวให้ลุกโชนขึ้น นี่เป็นภารกิจที่ผมกับพี่น้องผองเพื่อนโครงการสวนผักคนเมือง ได้พร้อมใจกันขับเคลื่อนกันมาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา และในปีนี้ บ้านเจ้าชายผักร่วมกับโครงการสวนผักคนเมือง ได้ให้กำเนิดหลักสูตรการเรียนรู้ ‘ปลุกพลัง นักปลูกเมือง’ ขึ้น เพื่อปลุกพลังให้ลุกขึ้นมาปลูกเมืองด้วยกัน ไว้จะมาเล่าสู่กันฟังในบทความต่อๆ ไปนะครับ

ภาพประกอบ: npy j.