ในหนึ่งวัน คุณคิดว่าตัวเองมีพฤติกรรมนั่งๆ นอนๆ นานขนาดไหน ลองมาคำนวณไปด้วยกัน ยกตัวอย่าง ผมนอนประมาณ 7 ชั่วโมง ทำงานนั่งโต๊ะอีก 8 ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางบนท้องถนนอีก 2 ชั่วโมง รับประทานอาหารอีก 1 ชั่วโมง งานอดิเรกยังเป็นการนั่งเล่นคอมพิวเตอร์ ดูโทรทัศน์ เล่นมือถืออีกประมาณ 2 ชั่วโมง รวมๆ แล้วผมนั่งๆ นอนๆ ถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งผมเชื่อว่า หลายคนคำนวณแล้วคงเกินมากกว่านี้แน่นอน

การใช้ชีวิตโดยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (sedentary lifestyle) ผมขอเรียกว่า ‘พฤติกรรมแน่นิ่ง’ แทน เพราะการไม่ค่อยขยับตัวในแต่ละวันนั้นทำให้คุณเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

ปัญหาการขาดกิจกรรมทางกาย (physical inactivity) หรือการขยับร่างกายน้อยเกินไป ตอนนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอนั้นเป็น 1 ใน 10 ปัจจัยหลักที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุด เนื่องจากการขาดกิจกรรมทางกายนั้นเป็นต้นเหตุให้เกิด ‘โรคไม่ติดต่อ’ ถ้าใครพอรู้ประวัติศาสตร์หน่อยจะทราบว่าสาเหตุที่ทำให้คนสมัยก่อนเสียชีวิตคือโรคติดต่อ ในอดีตเมื่อมีโรคใดระบาดร้ายแรง สามารถทำให้คนตายได้เป็นหลักสิบล้านคน บางครั้งทำให้ประชากรล้มตายไปได้ถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในบางประเทศเลยทีเดียว

ขณะที่ในปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ความรู้ การจัดการเรื่องสุขอนามัย ขนาดโรคติดต่อที่ร้ายแรงที่สุดก็ไม่ติดอันดับสาเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตอีกต่อไปแล้ว แต่ถ้าเราลองมองรอบตัวตอนนี้ผมเชื่อว่าทุกคนต้องมีญาติพี่น้อง คนรู้จัก เป็นโรคไม่ติดต่อ อย่าง เบาหวาน มะเร็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงฯ อย่างแน่นอน

หลายคนคงสงสัยว่า แค่การไม่ค่อยขยับร่างกายจะทำให้เราป่วยเราตายได้อย่างไร เรื่องนี้คงต้องย้อนไปดูกันตั้งแต่เรื่องวิวัฒนาการ มนุษย์เราในสมัยก่อนนั้นต้องขยับตัวแทบตลอดเวลาที่ตื่น เพราะต้องออกไปล่าสัตว์หาอาหาร บางระบบในร่างกายจึงถูกออกแบบมาให้มนุษย์ต้องขยับจึงจะทำงานได้อย่างสมบูรณ์

ยกตัวอย่างระบบน้ำเหลือง ซึ่งมีหน้าที่ช่วยร่างกายป้องกันอาการติดเชื้อ เนื่องจากท่อน้ำเหลืองไม่ได้มีระบบสูบฉีดเหมือนกับหัวใจ พวกมันถูกควบคุมโดยจังหวะการหดตัวของกล้ามเนื้อ ดังนั้นเมื่อคุณไม่ค่อยมีการขยับระบบน้ำเหลืองก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ หรือตามข้อต่อต่างๆ เนื่องจากกระดูกอ่อนของเราไม่ได้มีเลือดไปเลี้ยงมากอย่างกระดูก กระดูกอ่อนนั้นจะได้รับสารอาหารและออกซิเจนในรูปแบบคล้ายกับการซับน้ำ บีบน้ำของฟองน้ำล้างจาน เมื่อเราขยับก็จะเกิดแรงบีบและการคลายตัวทำให้วงจรสมบูรณ์ แต่พฤติกรรมนั่งๆ นอนๆ เกือบทั้งวัน ทำให้คนทุกวันนี้ประสบปัญหาข้อเสื่อมกันมาก ยังไม่นับรวมระบบย่อยอาหาร ระบบไหลเวียนโลหิต หรือการที่เราขยับร่างกายน้อยเกินไปก็ทำให้ปัญหาโรคอ้วนที่ส่งผลร้ายแรงมากขึ้นทุกที

นักวิจัยสมาคมวิจัยโรคมะเร็งอเมริกัน ศึกษาพบว่า คนเรายิ่งนั่งอยู่เฉยนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงกับความตายมากเท่านั้น การนั่งนานๆ นั้นส่งผลกระทบต่อกระบวนการเผาผลาญอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลด้านลบต่อระดับน้ำตาลในเลือด ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันดี ความดันโลหิตขณะพัก และฮอร์โมนเลปตินซึ่งกระตุ้นความอยากอาหาร ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพถึงโรคอ้วนและโรคหลอดเลือดหัวใจ

แม้คุณจะไปออกกำลังกายตามคำแนะนำวันละ 30 นาที แต่นั่นเท่ากับว่าทั้งวันคุณมีการเคลื่อนไหวร่างกายแค่ประมาณ 2% ของทั้งวัน หรือแม้แต่การโหมออกกำลังกายไม่ใช่คำตอบ การออกกำลังกาย 2 ชั่วโมงต่อวัน ไม่สามารถชดเชยการนั่งๆ นอนๆ 22 ชั่วโมงต่อวันได้ (หมายความว่า แม้คุณจะออกกำลังกายจนมีกล้ามท้องเป็นซิกแพ็กก็ยังเสี่ยงอยู่ดี) ยิ่งถ้าคุณไม่เคยออกกำลังกายแล้วล่ะก็ ยิ่งอันตรายมาก เคยมีแคมเปญชื่อว่า ‘sitting is the new smoking’ เพื่อสื่อให้เห็นว่าการนั่งนานๆ นั้นอันตรายเหมือนกับการติดบุหรี่เลยทีเดียว

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนเดี๋ยวนี้ไม่มีโอกาสขยับร่างกาย มีตั้งแต่เทคโนโลยีต่างๆ ที่อำนวยความสะดวก การจราจรที่ติดขัด มลภาวะ สิ่งแวดล้อม และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ล้วนแล้วแต่ทำให้คนเราใกล้แน่นิ่งไปทุกวัน แต่นี่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ไร้ทางออก เพียงแต่อาจจะต้องไปออกที่ทางเข้า เพราะเทคโนโลยีหรือยาต่างๆ ไม่สามารถขยับแทนเราได้ ดังนั้น ต่างประเทศจึงมีการรณรงค์ให้ยืนทำงาน ยืนประชุม เก้าอี้ทำงานมีแป้นถีบเหมือนจักรยาน หรือจะแค่ยืนแกว่งแขน นั่งเตะขา ลุกขึ้นยืนบ่อยๆ ทุกชั่วโมง เดินไปด้วยขณะโทรศัพท์หรืออ่านหนังสือ (ขนาดจอหงวนในหนังจีน ยังชอบเดินท่องหนังสือเลย) ซึ่งมีการพิสูจน์แล้วว่าการออกกำลังกายทำให้มีสมาธิและความจำที่ดีขึ้น

ข้ออ้างหลักที่หลายคนบอก คือไม่มีเวลา แต่อย่างที่ผมยกตัวอย่างว่าเราไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนชุดออกกำลังกายจริงจัง แค่เริ่มจากปรับใช้ในชีวิตประจำวัน องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ใช้ชีวิตให้กระฉับกระเฉงรวมทั้งสัปดาห์ให้ได้ 150 นาที แค่นี้ก็เพียงพอจะป้องกันผลร้ายจากการขยับร่างกายน้อยเกินไปได้แล้วครับ น้ำตาลสด