Q: แปลกไหมที่ไม่ชอบออกกำลังกายเท่าไหร่ เพราะรู้สึกโดดเดี่ยวเวลาไปยิมหรือไปวิ่งคนเดียว

เป็นเรื่องปกติครับ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้น การอยู่รวมเป็นกลุ่มจึงเป็นพฤติกรรมพื้นฐาน ขนาดในกีฬาวิ่งที่แข่งกับตัวเอง อย่างตอนที่ อีลิอุด คิปโชเก้ นักวิ่งชาวเคนย่าจะฝึกซ้อมเพื่อทำลายสถิติการวิ่งระยะมาราธอนในเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง เขายังใช้ เพเซอร์ (นักวิ่งที่วิ่งด้วยความเร็วคงที่ เพื่อช่วยนำนักกีฬาให้วิ่งในความเร็วที่เหมาะสม) แทนที่จะใช้รถในการกำหนดความเร็วหรือบังลมเพียงอย่างเดียว 

หลายคนเองก็อาจจะมีประสบการณ์ เวลาไปวิ่งแล้วมีเพื่อนคุย ทำให้สามารถวิ่งได้เร็วและนานกว่าปกติ หรือหลายคนติดใจพวกการออกกำลังกายแบบกลุ่ม ไม่ว่าจะเต้นแอโรบิกหรือคลาสออกกำลังกายต่างๆ ในฟิตเนส แม้กระทั่งบางคนก็มีเหตุผลในการเลือกใช้บริการเทรนเนอร์ เพราะไม่อยากเล่นคนเดียวก็มี


Q: ถ้าอยากชวนเพื่อนไปออกกำลังกายเป็นคู่ หรือเป็นหมู่ คิดว่าเหมาะกับกีฬาชนิดไหน 

จริงๆ เกือบทุกการออกกำลังกายและกีฬา สามารถไปเป็นคู่และเป็นหมู่คณะได้อยู่แล้ว แต่มีข้อควรระวังก็คือความสามารถของแต่ละคนที่ไปอาจจะไม่เท่ากัน ทั้งรูปร่าง เพศ อายุ ทักษะ สมรรถภาพ ถ้าจะให้ทำเหมือนๆ กันก็อาจจะทำให้มีคนที่ทำไม่ได้ ทำแล้วเหนื่อยเกินไป หรือเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ ดังนั้น ถ้าจะให้ดีก็ควรมีผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้คำแนะนำ ผู้ที่ไปเข้าร่วมก็ควรประเมินความสามารถตัวเอง ทำเท่าที่ทำได้ ไม่ต้องฝืนจนเกินไป

Q: ขอไอเดีย กิมมิก หรือเทคนิคในการออกกำลังกายกับเพื่อนให้สนุกหรือท้าทาย จนอยากไปออกกำลังบ่อยๆ

เราสามารถปรับประยุกต์กิจกรรมต่างๆ ให้คนเข้าร่วมมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันได้ เช่น ถ้าเป็นการวิ่งอย่างน้อยก็ควรมีการวอร์มอัพ คูลดาวน์พร้อมกัน หรือถ้าอยากวิ่งไปพร้อมกัน คนที่วิ่งเร็วก็สามารถวิ่งยกเข่าสูงย่ำๆ รอคนอื่นๆ โดยที่ยังได้ซ้อมที่ความเหนื่อยเท่าเดิม ถ้าเป็นการเล่นเวตก็อาจจะเล่นท่าเดียวกันแต่อาจจะเลือกเวตแมชชีนเพราะสามารถปรับความหนักได้ง่าย มือใหม่เล่นได้

ถ้าเป็นกีฬาแบบทีมที่มีการแข่งขันได้ อาจจะต้องเฉลี่ยความเก่งให้แต่ละทีมสูสีกัน หรืออาจจะตั้งเป้าอย่างอื่น เช่น เวลาไปตีแบดมินตัน แทนที่จะแข่ง อาจจะชวนให้มีการตีโต้ให้ได้ 20 ครั้งโดยไม่ตกพื้น หรืออาจจะมีการต่อให้ เช่น คนที่เล่นบาสเก็ตบอลไม่เป็นก็ต่อให้หน่อยเป็นยิงโดนห่วงก็ได้แต้ม เป็นต้น

การท้าทายให้คนมาเริ่มออกกำลังกาย เราควรเริ่มจากเป้าหมายที่ทำได้จริง คนส่วนมากทำตามได้ เช่น บริษัทมีรางวัลจะมอบให้การจัดกิจกรรมวิ่งเก็บระยะให้พนักงาน ซึ่งแทนที่จะให้คนที่วิ่งได้มากที่สุด (ซึ่งอาจจะมีคนแข่งกันอยู่แค่ไม่กี่คน คนที่ทำไม่ได้ก็ไม่สนใจ) อาจจะเปลี่ยนเป็นกำหนดว่าใครที่วิ่งรวมกันแล้วได้เกินอาทิตย์ละ 10 กิโลเมตร จะนำมาสุ่มให้รางวัล ทำให้คนส่วนมากเข้าร่วมได้ง่าย เพราะมีแรงจูงใจ

และสุดท้าย ต้องมีการเลือกเครื่องมือให้เหมาะสม เช่น นักวิ่งอาจจะมีนาฬิกาหรือแอพพลิเคชั่นวิ่งที่ใช้จนรู้สึกปกติ แต่กับคนทั่วไปอาจจะรู้สึกไม่สะดวก ยุ่งยาก ก็อาจจะตั้งเป้าหมายเป็นการใช้แอพนับก้าวแทน เป็นต้น


Q: ถ้าไม่มีเพื่อนไปออกกำลังกายด้วยจริงๆ เราจะหาเพื่อนใหม่ได้ยังไงบ้าง 

การหาเพื่อนใหม่ง่ายกว่าการเข็นเพื่อนไปออกด้วยครับ เพราะแต่ละคนอาจจะมีความสนใจ ใส่ใจ ความชอบแตกต่างกัน แต่พอไปออกกำลังกายเอง ก็รู้สึกโดดเดี่ยวไม่รู้จะคุยกับใคร คนในปัจจุบันก็มีความระวังตัวสูง เวลาเจอคนแปลกหน้ามาทัก ต่อให้เป็นเราเองก็อาจจะมีความระแวง จะมาขายตรงเรามั้ย จะหลอกอะไรเราหรือเปล่า 

แต่เราสามารถแก้ปัญหาได้ครับ ด้วยการเริ่มจากไปทำกิจกรรมที่เขาทำเป็นแบบกลุ่มอยู่แล้ว เช่น แทนที่จะไปวิ่งคนเดียว อาจจะไปเริ่มหัดวิ่งกับชมรมต่างๆ เข้าเวิร์กช็อปหาความรู้เรื่องการออกกำลังกาย หรือเวลาไปฟิตเนสแทนที่จะไปปั่นจักรยาน เดินลู่เหงาๆ ก็ลองไปเข้าคลาสออกกำลังกายแบบกลุ่ม หรือง่ายที่สุด เราสามารถเข้าร่วมกลุ่มต่างๆ ในเฟซบุ๊กได้ เพราะการมีเพื่อนในกลุ่มออนไลน์ที่สนใจออกกำลังกายเหมือนๆ กัน เขาจะคอยช่วยแนะนำ คอยให้กำลังใจ คอยกดไลก์เวลาเราโพสต์เรื่องราวการออกกำลังกาย 

ที่สำคัญอาจจะเริ่มจากที่ตัวเราเอง เช่น เลิกการใส่หูฟังตลอดเวลาเพราะอาจจะทำให้คนไม่กล้าพูดคุยด้วย เริ่มขอความช่วยเหลือ ถามคำถามง่ายๆ ก็เป็นการเปิดบทสนทนาที่ดี การยิ้มแย้มทักทาย สวัสดีกับคนที่เห็นเป็นประจำก็ทำให้คุ้นเคยกัน คุยกันต่อในอนาคตง่ายขึ้น

ลองพยายามดูกันสักนิดครับ เพราะการมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ช่วยให้เรามีความสนุก มีความสุขกับสิ่งที่ทำ ที่สำคัญบางครั้งเพื่อนในวงออกกำลังกายนั้นเราอาจจะเจอคนที่เราพูดคุยได้ด้วยอย่างง่ายสบายๆ กว่าเพื่อนที่ทำงานก็เป็นได้ เพื่อนผมบางคนบาดเจ็บ ออกกำลังกายไม่ได้ แต่ขอแค่แวะมาเจอเพื่อนก็เยอะแยะไป และสุดท้าย ไม่ว่าตอนนี้เราจะมีสังคมตอนออกกำลังกายหรือไม่ การออกกำลังกายก็เป็นเรื่องต้องทำนะครับ 

ภาพประกอบ: npy.j