Q: ปีที่ผ่านมาตั้งใจมากๆ ว่าจะออกกำลังกาย แต่พอผ่านไปได้สักพักก็ล้มเลิกกลางทาง เพราะรู้สึกว่ายังไม่ใช่ เราจะรู้ได้ยังไงว่ากีฬาไหนเหมาะหรือไม่เหมาะกับเราครับ

การออกกำลังกายประเภทไหนเหมาะหรือไม่เหมาะกับเรา เป็นเรื่องยากที่จะรู้ได้ครับ เพราะมีปัจจัยแทรกซ้อนหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดประสบการณ์ที่ไม่ดี เช่น คุณอาจจะไปฟิตเนสแล้วเจอแต่เทรนเนอร์มาคอยขายคอร์ส อาจจะไปหัดโยคะในคลาสที่คนเยอะมากเกินไป อาจจะไปวิ่งครั้งแรกตามเพื่อนจนเหนื่อยแทบเป็นลม จนพาลจะคิดว่าเราไม่ชอบหรือไม่เหมาะกับสิ่งนั้นไปก็ได้ เหมือนตอนเด็กที่อาจจะไม่ชอบบางวิชา แต่พอมาคิดๆ ดูแล้วเพราะเรามีประสบการณ์ที่ไม่ดีมาก่อน

ส่วนคำถามที่ว่า เราเหมาะกับกีฬาหรือการออกกำลังกายประเภทไหน บางทีก็ไม่ใช่คำถามครับ เพราะองค์การอนามัยโลกกำหนดขั้นต่ำว่า คนเราควรมีกิจกรรมทางกายแบบแอโรบิกอย่างน้อยอาทิตย์ละ 150 นาที และมีการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 วัน หมายความว่ายังไงเราก็ควรทำทั้งสองอย่างนี้อยู่แล้ว แต่เลือกได้ว่าจะทำในชีวิตประจำวันในเวลาไหน เช่น จะใช้ชีวิตให้กระฉับกระเฉงขึ้น กายบริหารอยู่ที่บ้าน ไปออกกำลังกายในสวน หรือเข้าฟิตเนส ก็ตามสะดวก

Q: เส้นแบ่งระหว่าง “กีฬานี้ไม่เหมาะกับเรา” หรือ “เราอ่อนแอเอง” จริงๆ แล้วอยู่ตรงไหน

ไม่มีกีฬาที่ไม่เหมาะกับเราหรอกครับ บางคนเตะฟุตบอลไม่เก่งเลย แต่มีความสุขมากทุกครั้งที่มาเล่น บางคนเล่นไม่ได้มานั่งดูในสนามก็ยังดี แบบนี้ก็มีเยอะแยะ ถ้าจะมีกีฬาที่ไม่เหมาะกับเราก็ต้องประเมินจากต้นทุน ข้อจำกัดทางร่างกาย เช่น สูงอายุ มีปัญหาสุขภาพ จะให้ไปเล่นกีฬาปะทะ มีแรงกระแทกสูงก็คงลำบาก หรือคนหัดเล่นใหม่ๆ จะไปลองกีฬาที่มีทักษะสูงหรือใช้ร่างกายหนักๆ ก็คงยากเป็นธรรมดา

การยึดคตินกน้อยทำรังแต่พอตัว กรุงโรมไม่ได้สร้างในวันเดียว ก็น่าจะช่วยให้เราเริ่มต้นฝึกเล่นกีฬาได้อย่างปลอดภัย โดยทุกกีฬามีหลักการง่ายอย่างๆ คือการ ฝึกจากเบาไปหาหนัก ฝึกจากง่ายไปหายาก

ซึ่งถ้าเราเล่นแล้วเจ็บ ปวดกล้ามเนื้อมากจนไข้ขึ้น ใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้เลย อันนี้ก็ต้องมาพิจารณาว่า เราหักโหมเกินไปหรือไม่ โค้ชผู้สอนมีความรู้ความสามารถเพียงพอหรือเปล่า เราที่หัดเล่นเองมีความรู้และศึกษามาดีพอหรือยัง เป็นต้น

Q: ถ้าเคยล้มเหลวกับการออกกำลังกาย แต่อยากจะกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ควรตั้งต้นยังไงให้ออกกำลังกายต่อไปได้นานๆ 

ผมแนะนำว่า อย่ายึดติดกับความสำเร็จในอดีต เช่น เคยวิ่งได้เร็วเท่าไหร่ เคยยกได้หนักขนาดไหน เคยหุ่นดีเพียงใด เพราะการที่เราพยายามไปทำให้ได้เท่าเดิม หรือไปเปรียบเทียบกับความสำเร็จในอดีตก็ยิ่งมีแต่ทำให้ปวดใจ ส่วนใครที่เคยล้มเหลวกับการพยายามมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ก็อย่าพึ่งถอดใจครับ 

สุภาษิตที่ผมอยากให้ท่องจนขึ้นใจคือ “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความล้มเหลวอยู่ที่นั่น … ถ้าผิดวิธี” เพราะจากประสบการณ์การเป็นโค้ชมา ผมพบว่าคนส่วนมากที่ทำไม่ได้ เพราะอาจจะหวังทางลัด หรือไปเจอวิธีที่ผิดๆ ยกตัวอย่างเช่น คนจะลดน้ำหนัก แค่อดอาหารก็ทำให้คุณภาพชีวิตแย่แล้ว แต่ดันมาอดควบคู่กับการออกกำลังกายแบบหักโหมอีก เมื่อร่างกายต้องการสารอาหารมาซ่อมแซมสร้างเสริม แต่เราดันอดอาหาร ร่างกายก็อ่อนแอ พอเราจะหยุดจะพักก็โดนทั้งตัวเองและสังคมกดดันให้ทำต่อ (ในวิธีผิดๆ) จนกลายเป็นคนที่มีประสบการณ์แย่ๆ กับการดูแลตนเองไปเลย

สิ่งแรกที่ควรทำ คือตั้งเข็มทิศ ดูแผนที่ ศึกษาหาความรู้ที่ถูกวิธีก่อน ไม่ว่าจะพยายามค้นด้วยตนเอง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ การจ้างเทรนเนอร์หรือโค้ชก็เป็นเรื่องที่ควรทำ โดยในต่างประเทศ การจ้างผู้เชี่ยวชาญเป็นเรื่องปกติ เพราะเขาคิดว่าการเสียเงินตรงนี้ช่วยประหยัดเวลา ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสุดท้ายจะประหยัดเงินกว่าไปทดลองผิดๆ ถูกๆ ด้วยตนเอง

Q: ขอรับแรงบันดาลใจจากโค้ช สำหรับคนที่เคยคิดว่าการออกกำลังกายไม่เหมาะกับตัวเอง แต่อยากลุกขึ้นมาออกกำลังเพื่อตัวเองดูอีกสักตั้งในปีใหม่นี้ค่ะ

อย่าตัดสินตัวเอง โดยปกติแล้วมนุษย์เราจะชอบจัดประเภทให้กับทุกสิ่งบนโลกอยู่แล้ว เช่น ถ้าผมพูดว่า ‘นักการเมือง’ แต่ละคนก็จะมีความคิดต่อคำนี้ขึ้นมาอัตโนมัติ แล้วแต่ประสบการณ์ที่เคยได้พบเจอ ถ้าผมพูดคำว่า ‘อ้วน’ คำแรงๆ อย่าง ‘ตะกละ ไม่มีวินัย ขี้เกียจ’ ก็อาจผุดขึ้นมาในหัวของใครหลายคน ซึ่งแน่นอนบางครั้งก็กลายเป็นว่าเราตัดสินตัวเองไปแล้ว แต่สิ่งที่เราคิดไม่ใช่อย่างนั้นทั้งหมด เราไม่สามารถตัดสินคนด้วยวิธีเหมารวมได้ 

หัวใจก็คือสิ่งที่ผมบอกไว้ข้างต้น ถ้าเราทำผิดวิธี อย่างไรก็ยากจะประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างรายการ The Biggest Loser ที่นำคนมาแข่งขันลดน้ำหนัก แม้ว่าผู้ชนะในแต่ละซีซันจะลดได้หลายสิบกิโลกรัม จากคนอ้วนมากๆ กลายเป็นคนหุ่นดี มีวินัยในการดูแลตนเองอย่างดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป รายการนี้ไม่เคยนำผู้เข้าแข่งขันกลับมาออกรายการอีกเลย สาเหตุก็เพราะการลดอย่างเร่งรีบ ผิดวิธี แม้ผลลัพธ์ในช่วงแรกจะออกมาดี แต่ระบบต่างๆ ในร่างกายเกิดความผิดปกติ ทำให้เกือบทุกคนที่ลดได้กลับมาอ้วนอีกครั้ง

หน่วยงานสุขภาพได้ออกคำแนะนำว่า เราไม่ควรลดน้ำหนักเกินเดือนละ 2-4 กิโลกรัม แต่ควรเน้นการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกสิ่งที่เราทำได้อย่างยั่งยืน ทำได้จริงทำได้ง่ายในชีวิตประจำวัน สำคัญกว่าการไปพยายามหาวิธีแฟนซี หวือหวา

ฉะนั้น ใครที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง ผมอยากฝากไว้ว่าวิธีการสำคัญกว่าผลลัพธ์ ถ้าเราไปในทางที่ถูกต้อง แม้อาจจะประสบความสำเร็จช้าแต่ก็จะยั่งยืน ใจเย็นๆ ไม่สำคัญว่าคุณจะอายุเท่าไร มีโรคประจำตัวมากแค่ไหน เราทำตามฝันได้ ไม่ว่าจะจบมาราธอน มีซิกแพ็ก สุขภาพดี ขอเพียงเริ่มจากเบาๆ ง่ายๆ แต่สำคัญที่ความสม่ำเสมอครับ

ภาพประกอบ: npy.j