อาจเพราะสื่อและสินค้าต่างๆ เดี๋ยวนี้พยายามประโคมเนื้อหาสารพัดว่าการออกกำลังกายมีความเสี่ยง ต้องใช้อุปกรณ์นั้น ต้องมีอุปกรณ์นี้ ถึงจะปลอดภัย ผมเห็นทัศนคตินี้แล้วนึกถึงเพลงพี่ตูน บอดี้แสลม ขึ้นมาทันที “ทำไมมันช่างเปราะบางเหลือเกิน และชีวิตเมื่อไรจะเข้มแข็งพอ”

แล้วความจริงร่างกายเราเปราะบางขนาดนั้นเลยหรือไม่?

ผมบอกได้เลยว่าต่อให้ไม่มีอุปกรณ์ ยา อาหารเสริม หรือคนดูแลเลย เราก็สามารถออกกำลังกายกันได้อย่างปลอดภัย แถมสินค้าหลายๆ อย่างที่โฆษณาบอกว่าช่วยปกป้องเรา ใช้ๆ ไปกลับไม่ดีกับตัวเราซะอย่างนั้น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ไปเลยว่ามีอะไรที่เราเข้าใจผิดกันไปบ้าง

1.รองเท้ายิ่งแพงยิ่งดี 

เราจำเป็นต้องมีรองเท้าแพงๆ ที่มีเทคโนโลยีเจลหรือแอร์ซัพพอร์ตกันขนาดนี้หรือไม่ ผมขอบอกว่าไม่จำเป็น เพราะนักวิ่งระดับแข่งขันทั้งหลายนั้นก็ไม่ได้ใช้รองเท้ารุ่นที่ต้องมีการรองรับมากขนาดนี้ในการแข่ง แถมยังมีอีกแนวคิดที่บอกว่ารองเท้าที่ซัพพอร์ตเรามากเกินไปนี่แหละคือตัวการทำให้บาดเจ็บ จึงเกิดกระแสวิ่งเท้าเปล่ากันมากขึ้น โดยคนที่คิดจะเปลี่ยนมาวิ่งเท้าเปล่าก็ต้องปรับท่าวิ่งกันใหม่เพื่อให้ร่างกายรู้จักผ่อนแรงกระแทกด้วยตนเอง (มีทั้งคนที่ถอดรองเท้าวิ่งเท้าเปล่ากันจริงๆ กับคนที่ใส่รองเท้าพื้นบางมากๆ)

ฉะนั้นข้อแนะนำคือ อย่าใช้ข้ออ้างว่าไม่มีรองเท้าแพงๆ เลยไม่ออกกำลังกาย เพียงเลือกชนิดรองเท้ากีฬาที่เหมาะสม ราคาปกติ ก็ใช้ได้และมีประสิทธิภาพเพียงพอ ดูเราสมัยเด็กๆ สิ รองเท้าพละคู่เดียวก็เล่นได้ทุกกีฬา (แต่คนที่น้ำหนักตัวมากควรเลือกกิจกรรมอย่าง เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ก่อนในช่วงแรก) ดังนั้นสิ่งที่สำคัญกว่ารองเท้าแพงๆ คือทักษะ ท่าทาง และการลงน้ำหนัก ขณะเราวิ่ง

2. ต้องมีอุปกรณ์ซัพพอร์ตเข่า ซัพพอร์ตหลัง 

ปกติอุปกรณ์เหล่านี้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บ ใช้เพื่อควบคุมมุมในการเคลื่อนไหว พยุงกล้ามเนื้อ และมีคำแนะนำว่าให้รีบเลิกใช้ทันทีเมื่ออาการดีขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ไปทำหน้าที่แทนกล้ามเนื้อ อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลง ฉะนั้น ถ้าคุณต้องการออกกำลังกายสร้างเสริมสุขภาพก็เก็บอุปกรณ์พวกนี้ไว้ให้คนป่วยใช้เถอะครับ (ส่วนผู้ใช้แรงงานอาจยังใช้ได้ในเวลาทำงาน และควรถอดเมื่อเลิกทำงานแบกหาม แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือท่าทางในการยกที่ถูกต้อง)

3. ต้องกินยาและอาหารเสริมทั้งหลาย 

คนส่วนใหญ่คิดว่าจะออกกำลังกายให้มีแรงก็ต้องกินก่อน จะเบิร์นไขมันก็ต้องใช้ยาช่วย จะยกให้หนักพักฟื้นให้ไวก็ต้องใช้ยาอีก ข้อนี้ผมขอแนะนำว่าถ้าไม่ใช่นักกีฬาหรือมีอาชีพนายแบบ นักเพาะกาย ก็ไม่จำเป็นต้องหาเรื่องนำสารเคมีใส่ตัวกันน่าจะดีกว่านะครับ ยาหรืออาหารเสริมหลายตัวที่ผ่านการรับรององค์กรระดับโลกมาแล้วก็ถูกเรียกคืนถมไปเพราะมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ อาจจะเกิดกับคุณตอนแก่ อาจจะเกิดผลกับลูกหรือหลานคุณก็ได้ ฉะนั้นผมก็ขอแนะนำว่าอาหารธรรมชาติดีที่สุดแล้ว และวินัยในการกินกับการออกกำลังกายสำคัญกว่าการหวังทางลัด หวังตัวช่วย

4. อุปกรณ์ต้องทันสมัย ต้องออกกำลังกับเครื่องเวตแมชชีนในฟิตเนสถึงจะปลอดภัย 

ผมขอบอกว่าเวตแมชชีนทั้งหลายไม่ได้จำเป็นอย่างที่คุณคิด เพราะคำแนะนำในการฝึกกล้ามเนื้อสำหรับผู้เริ่มต้นบอกว่า เราควรฝึกแบบ close chain คือฝึกแบบ ที่มือ หรือ ขาเราอยู่กับที่ แต่เป็นตัวเราที่เคลื่อนไหว เช่น วิดพื้น สควอต ดึงข้อ หรือกายบริหารที่เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กนี่แหละ ซึ่งการกายภาพบำบัดก็ยังยึดหลักแบบนี้ แต่การฝึกด้วยเครื่องเวตแมชชีนเป็นการฝึกแบบ open chain คือตัวเราอยู่กับที่ แต่แขน ขาเราที่รับน้ำหนักเคลื่อนไหว ซึ่งเสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากกว่า ดังนั้น ต่อให้ไม่ได้เป็นสมาชิกฟิตเนสก็สามารถเริ่มกายบริหารกันได้ง่ายๆ ที่บ้านเลยนะครับ

5. ออกกำลังกายต้องไร้แรงกระเเทก 

แนวคิดนี้เรียกว่า ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ ครับ หมายความว่าถ้าโอ๋กันเกินไป ลูกก็จะทำอะไรไม่เป็น เช่นเดียวกับร่างกายครับ ร่างกายเราต้องการแรงกระแทกเพื่อกระตุ้นให้กระดูกแข็งแรง องค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้มีกิจกรรมที่กระตุ้นความแข็งแรงของกระดูกโดยมีการลงน้ำหนักอย่าง วิ่ง กระโดด ด้วยซ้ำไป เพราะต่อให้คุณว่ายน้ำ ขี่จักรยาน หรือใช้ลู่วิ่งเพียงอย่างเดียวเป็นประจำ แต่ไม่เคยสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อหรือมีกิจกรรมที่ลงน้ำหนักเลยก็เสี่ยงที่จะมีปัญหาเรื่องกระดูกพรุนได้ เพราะร่างกายไม่ได้รับแรงกระแทกในการกระตุ้นให้สร้างและรักษามวลกระดูก

6. ออกกำลังกายต้องมีคนดูแลตลอด 

ระยะหลัง ผมเห็นโรงพยาบาลเอกชนและฟิตเนสหลายที่พยายามทำให้ภาพของการออกกำลังกายดูเสี่ยงอันตราย จำเป็นต้องมีทีมแพทย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด หรือฟิตเนสทั้งหลายที่บอกว่าคุณจำเป็นต้องมีคนสอนส่วนตัวจึงจะปลอดภัย ประเด็นแรกคือ คนป่วยทั่วไปก็ออกกำลังกายและดูแลตนเองได้ครับ ขอเพียงรู้วิธีการและได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง หมอทั่วไปก็แนะนำให้คุณไปเริ่มออกกำลังกายเอง สองคือ การมีเทรนเนอร์ก็ดีสำหรับผู้ที่มีเป้าหมายชัดเจน เราให้ผู้รู้สอนและเช็คท่าทางของเราให้ถูกต้องแล้วนำไปออกกำลังกายเองก็ได้ แต่คนที่ไม่มีใครสอนก็ไม่เป็นไร เพียงสนใจหาความรู้และเทคนิคจากสื่อต่างๆ หรืออาศัยการถามจากคนที่เก่งแล้ว หรือถามผู้เชี่ยวชาญในเพจทั้งหลายเพื่อให้ออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัยก็ได้ครับ

ข้อแนะนำของผมคือ สิ่งสำคัญที่สุดในการออกกำลังกายคือความรู้ ความเข้าใจ ไม่ใช่อุปกรณ์เสริมทั้งหลาย การเลือกกิจกรรมให้เหมาะสมกับอายุ เพศ น้ำหนักตัว หรือโรคประจำตัวนั้นเป็นกุญแจสำคัญ รู้อย่างนี้แล้ว ผมหวังว่าชีวิตของทุกคนคงเข้มแข็งพอ เลิกทำตัวเปราะบางเพื่อหาข้ออ้างไม่ออกกำลังกายกันได้แล้วนะครับ