เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็หันมาสนใจการกินมังสวิรัติ หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า ‘กินมังฯ’ เพราะนอกจากจะเป็นวิถีที่ไม่เบียดเบียนสัตว์ อ่อนโยนต่อโลกแล้ว การกินมังฯ มีส่วนช่วยให้สุขภาพดี แถมยังลดน้ำหนักได้อีกต่างหาก ซึ่งปัญหาของคนที่อยากเริ่มต้นกินมังฯ บ้าง แต่ดันกินเนื้อมาตลอดชีวิตอย่างเราๆ คือการจะให้มาปฏิเสธเนื้อ นม ไข่ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิดนั้นก็ดูจะหักดิบเกินไป อาจจะทำให้ mission failed ระหว่างทางไปได้ง่ายๆ

โชคดีที่เดี๋ยวนี้วิถีการกินมังฯ ก้าวไปไกลจากจุดเริ่มต้นมาก ไม่ได้มีแค่การห้ามกินเนื้อทุกชนิด ล่าสุดจึงเกิดวิถีทางเลือกกินมังฯ ที่สามารถดูแลโลก ดูแลร่างกาย แบบไม่เคร่งครัดมากเกินไปที่มีชื่อเรียกว่า Flexitarian หรือการกินมังแบบยืดหยุ่น ซึ่งนิยมไปทั่วโลก รวมทั้งบ้านเราด้วยนั่นเอง

มังสวิรัติคืออะไร ยืดหยุ่นได้แค่ไหนถึงยังเป็นมังฯ?

ก่อนจะพูดถึง Flexitarian เรามารู้จักมังสวิรัติหรือ Vegetarian แบบดั้งเดิมกันก่อน มังสวิรัติคือวิถีการกินที่มีมาตั้งแต่ยุคอินเดียและกรีกโบราณ โดยถือคติการกินที่ละเว้นจากการเบียดเบียนสัตว์ (มังสะ แปลว่า เนื้อสัตว์ ส่วน วิรัติ แปลว่า ปราศจากความยินดี ไม่ยินดี) คนที่กินมังสวิรัติจึงหมายถึงผู้ที่ไม่ยินดีในการกินเนื้อสัตว์

คนที่กินมังสวิรัติจะต้องปฏิเสธการกินอาหารที่ทำมาจากส่วนประกอบทั้งทางตรงและทางอ้อมของสัตว์ เช่น นม ชีส ไข่ น้ำผึ้ง ไปจนถึงเจลาติน แต่อย่าสับสนระหว่าง Vegetarian กับ Vegan ล่ะ เพราะ Vegan ไม่ใช่แค่วิถีการกิน แต่ถือว่าเป็นวิถีชีวิตที่เชื่อว่าสัตว์เองก็มีสิทธิ์ในตัวเขา ชาววีแกนจึงปฏิเสธทั้งอาหารไปถึงการใช้เครื่องอุปโภคที่ได้มาจากสัตว์หรือมีการทดลองจากสัตว์ด้วย

การกินมังสวิรัติค่อยๆ ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน แต่ถึงอย่างนั้น การกินมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดเป็นสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องได้ยากในคนส่วนใหญ่ มีผลสำรวจจาก Humane Research Council ที่รายงานว่าคนกินมังสวิรัติทั้งแบบ Vegetarian และ Vegan มากถึง 84% กลับไปกินเนื้อสัตว์หลังจากที่พยายามเลิกกิน แล้วมีคนที่เคยกินมังสวิรัติมากถึง 43% บอกว่าการกินมังสวิรัติแท้ๆ ต่อไปเป็นเรื่องไม่อาจทำได้ต่อเนื่องอย่างแท้จริง

ปัจจุบัน เทรนด์ของการกินมังสวิรัตินั้นไม่ได้อิงกับศาสนาความเชื่ออีกต่อไปแล้ว บางคนแค่อยากเปลี่ยนมาทานมังสวิรัติเพราะเหตุผลทางสุขภาพ หรืออาจจะเพราะไม่อยากสนับสนุนการทำอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เกิดมังสวิรัติสายยืดหยุ่นอีกหลายแบบที่ช่วยให้คนกินมังฯ ใช้ชีวิตง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น มังสวิรัตินม (Lacto vegetarian) รับประทานนม แต่งดไข่ มังสวิรัติไข่ (Ovo vegetarian) รับประทานไข่ แต่ไม่ดื่มนม มังสวิรัติปลา (Pesco vegetarian) เป็นกลุ่มมังสวิรัติที่บริโภคปลาและอาหารทะเล และ กลุ่มกึ่งมังสวิรัติ (Semi vegetarian) งดการรับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู แต่ยังรับประทานเนื้อปลา ไก่ ผลิตภัณฑ์จากนม และไข่ ซึ่ง Flexitarian ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของ Semi-vegetarian นั่นเอง

คำว่า Flexitarian ถือว่าเป็นศัพท์บัญญัติใหม่ที่เพิ่งถูกเพิ่มลงใน Oxford English Dictionary ตอนปี 2014 โดยที่ Dawn Jackson Blatner ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ Flexitarian Diet เล่มแรกได้ให้คำนิยามของวิถีการกินนี้ไว้ว่า

“คุณสามารถเรียกมันว่าการกินแบบ ‘เกือบจะมังสวิรัติ’ ก็ได้ เพราะนี่คือวิถีการกินที่คุณยังสามารถได้รับประโยชน์ของการกินอาหารแบบมังสวิรัติ ไปพร้อมๆ กับการเพิ่มโปรตีนจากเนื้อสัตว์ในบางโอกาส”  

ทำไมใครๆ ก็สนใจกิน Flexitarian?

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 5-10 ปีก่อน เราคงคิดว่าคนที่หันมากินมังสวิรัติส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ใหญ่ที่ถือศีล ไม่อยากเบียดเบียนสัตว์ แต่ในปัจจุบันมีหนุ่มสาวยุคมิลเลนเนียลจำนวนมากหันมาสนใจการกินมังสวิรัติ โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์การกินมังฯ แบบ Flexitarian ที่เป็นการกินมังสวิรัติแบบไม่ซีเรียส มีการกินเนื้อสัตว์ได้บ้าง แต่ก็ยังถือหลักการกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง

จากข้อมูลของ The Vegan Society เผยว่าปี 2018 ที่ผ่านมา ความนิยมในเทรนด์มังสวิรัติทุกประเภทจากทั่วโลกเพิ่มสูงมากถึง 9.87 เท่าจากปีก่อน ปัจจุบันพบว่ามีชาวอเมริกันกินมังสวิรัติเคร่งครัดประมาณ 7.3 ล้านคน แต่มีมากถึงราว 22.8 ล้านคนระบุว่าตัวเองเป็นคนเน้นกินผัก ในขณะเดียวกันก็มีผลรายงานจาก Waitrose ที่บอกว่าชาวอังกฤษถึง 1 ใน 3 มีการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง และ 1 ใน 5 ยังระบุว่าเขาคือ Flexitarian ซึ่งเหตุผลที่ทำให้กระแสของมังสวิรัติแบบยืดหยุ่นเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ก็มีหลากหลายต่างออกไป

ป๋วย-อัจจิมา ศรีปรัชญาอนันต์ นักกำหนดอาหารอิสระและเจ้าของร้าน Little Sunshine Cafe บอกกับเราว่า “คนส่วนใหญ่หันมาทาน Flexitarian เพื่อสุขภาพ เพราะไม่อยากหักดิบไปทานมังฯ เลย ยังพอมีเนื้อสัตว์ให้ได้เอนจอยบ้าง แถมยังมีงานวิจัยบอกว่าการทานมังสวิรัติสามารถลดน้ำหนักได้จริง เนื่องจากการงดทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง โดยดีกรีน้ำหนักที่ลดแปรเปลี่ยนไปตามระดับความเข้มงวดของการกินมังสวิรัติ แต่อาจจะเป็นไปได้ว่าคนที่ทานมังสวิรัติจะมีไลฟ์สไตล์ที่ healthy กว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจจะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้น้ำหนักตัวลดได้

“นอกจากเรื่องน้ำหนักแล้ว ยังมีการศึกษาว่า Flexitarian diet อาจช่วยลดอัตราการเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานและโรคอ้วนลงพุง จากปริมาณการกินอาหารที่มีธัญพืช ผัก ผลไม้ ถั่ว และโปรตีนจากพืชมากขึ้น ลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวและอาหารที่ผ่านการแปรรูปให้น้อยลง”

นอกจากเหตุผลด้านสุขภาพแล้ว ป๋วยยังบอกเพิ่มว่ายังมีคนที่อยากกินสัตว์ให้น้อยลงเพราะเหตุผลเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นเทรนด์มาแรงที่ทำให้ความนิยมในการกินมังสวิรัติสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะการไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ จะเป็นการลดจำนวนสัตว์ที่ต้องถูกฆ่าในแต่ละปีและยังเป็นวิธีแสดงออกว่าเราไม่สนับสนุนการทารุณกรรมสัตว์ด้วย

นอกจากนี้ งานวิจัยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดปี 2018 ยังชี้ให้ว่าการกินมังสวิรัติเป็นหนึ่งในวิธีลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด เนื่องจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์นั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ในทุกวันนี้อุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกราว 14% หรือเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคคมนาคมขนส่งทั้งภาค นอกจากนี้ ถ้าเรากินเนื้อสัตว์ลงตั้งแต่วันนี้ ก็จะช่วยลดการขยายทุ่งเลี้ยงสัตว์และพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับประชากรโลก ซึ่งการขยายพื้นที่นั้นทำให้ป่าไม้ท้องถิ่น ทุ่งหญ้า และทุ่งสะวันนาสูญหายได้ด้วย

มือใหม่หัดกิน Flexitarian อย่างไรดี ?

สำหรับชาวกินเนื้อที่สนใจอยากหันมากิน Flexitarian เริ่มต้นได้ไม่ยาก เพราะหลักการกินมังสวิรัติแบบยืดหยุ่นนี้ไม่มีกฏตายตัว แต่ยึดหลักง่ายๆ คือกินเนื้อให้น้อยเข้าไว้ โดยส่วนใหญ่จะกินเนื้อไม่เกิน 3 มื้อต่อสัปดาห์ และเราสามารถเลือกกินอาหารให้ได้รับสารอาหารแบบสมดุล ดังนี้

  • กินอาหารที่ให้พลังงาน ได้แก่ อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ซึ่งก็คือข้าว เช่น ข้าวกล้อง ข้าวฮาง ข้าวกล้องงอก
  • กินอาหารที่ให้เกลือแร่และวิตามิน ได้แก่ ผัก โดยเฉพาะผักใบเขียวและผักที่มีสีเหลือง ถึงผลไม้ต่างๆ
  • กินอาหารที่ให้สารอาหารโปรตีน ซึ่งโปรตีนจากพืชสามารถหาได้ในถั่วประเภทต่างๆ และในบางมื้ออาจมีถั่วเปลือกแข็งด้วยเพื่อเพิ่มโปรตีนและไขมันที่ดี
  • เสริมด้วยโปรตีนจากสัตว์บางมื้อ โดยเน้นปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ นม โยเกิร์ต และเมนูใกล้ตัวที่ป๋วยแนะนำก็คือเมนูข้าวกับน้ำพริกนั่นเอง

“จริงๆ แล้ววิธีการทานแบบพื้นบ้านของไทยที่เราคุ้นเคย อย่างการเน้นการทานข้าว ผัก ปลาและน้ำพริก คือการทาน Flexitarian ไปในตัว เพราะเป็นการทานอาหารแบบเน้นผักเป็นหลัก และมีโปรตีนจากเนื้อสัตว์มาเสริม นี่จึงเป็นวิธีการกินที่ทำให้คนหันมาสนใจอาหารสุขภาพดีได้ไม่ยาก”

Flexitarian จึงถือว่าเป็นวิธีกินดีที่ตอบโจทย์ทั้งคนเริ่มสนใจกินมังฯ ได้จริงๆ เพราะไม่เคร่งครัดมากเกินไป จนความตั้งใจหายไปกลางทาง และยังยืดหยุ่นได้ให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ถือว่าเป็นการกินที่ดีที่สุดเหมือนกับที่ป๋วยบอกว่า

“อยากให้ทุกคนสังเกตและฟังร่างกายตัวเอง เลือกทานอาหารที่สมดุล ไม่จำกัดตัวเองจนเราเครียดเกินไป นั่นคือวิถีการกินที่ดีที่สุด”

เพราะการกินที่ยืดหยุ่นนี้จะทำให้เราสามารถคงวิถีกินดีให้ยั่งยืนได้ทั้งกับตัวเองและโลก

ข้อมูลอ้างอิง

www.dawnjacksonblatner.com
www.everydayhealth.com
www.greenworld.or.th
www.thetimes.co.uk
www.science.sciencemag.org
www.waitrose.com

ภาพประกอบ: Paperis