แม้เราจะรู้ว่าการดื่มน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจกับการดื่มน้ำมากนัก จนกระทั่งวิกฤตน้ำประปาเค็มเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้หลายๆ คนหันมาสนใจน้ำดื่มของตนเองมากขึ้น แม้ว่าตอนนี้ปัญหาน้ำประปาเค็มจะเบาบางลงไปแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต เราจึงจะพาไปทำความเข้าใจถึงที่มาของปัญหาน้ำประปาเค็มกันอีกที รวมถึงปัญหาอื่นๆ ของน้ำประปา ว่ายังมีเรื่องไหนที่น่ากังวลใจและเราไม่ควรมองข้าม

ทำไมน้ำประปาถึงเค็ม ?

วิกฤตน้ำประปาเค็มที่ผ่านมาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น สาเหตุหลักเป็นเพราะแหล่งน้ำดิบของการประปานครหลวง 80% ใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่น้ำทะเลซึ่งอยู่ปลายทางของแม่น้ำเจ้าพระยาก็หนุนสูงขึ้นมาเรื่อยๆ จึงส่งผลให้มีน้ำเค็มปะปนอยู่ในนํ้าประปา ซึ่งความเค็มเหล่านี้ไม่สามารถหายไปได้จากกระบวนการผลิตน้ำประปาแบบปกติ ทำให้น้ำประปามีรสชาติเปลี่ยนไปจนคนรับรสได้

รสชาติของน้ำที่เปลี่ยนไปหมายถึงปริมาณของโซเดียมที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน นั่นทำให้หลายๆ คนรู้สึกกังวลถึงผลกระทบของน้ำต่อสุขภาพด้วย ซึ่งที่ผ่านมากรมอนามัยได้ออกมาบอก แม้ในน้ำประปาจะมีโซเดียมสูงขึ้น แต่ก็มีปริมาณเพียง 100-150 มิลลิกรัมต่อลิตรซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วไป แต่อาจจะส่งผลต่อกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคไตที่ต้องจำกัดปริมาณของโซเดียมเป็นพิเศษ

ไม่อยากกินน้ำเค็ม ต้องแก้ยังไง

แม้ว่าโซเดียมในน้ำประปาเค็มจะไม่มีผลต่อสุขภาพของเราโดยตรง แต่รสชาติของน้ำที่เปลี่ยนก็ส่งผลต่อรสชาติของอาหารและเครื่องดื่มในชีวิตประจำวันได้ วิธีการแก้เค็มน้ำประปาแบบชั่วคราวที่เราทำได้ มีตั้งแต่การเลือกดื่มน้ำเปล่าบรรจุขวดที่ได้รับการรับรองจาก อย. ว่ามาจากแหล่งน้ำที่ปลอดภัย หรือติดตั้งเครื่องกรองน้ำระบบ RO (Reverse Osmosis) ซึ่งเป็นเครื่องกรองน้ำความละเอียดสูงที่สามารถกรองแร่ธาตุต่างๆ กระทั่งความเค็มซึ่งมีอนุภาคออกไปได้ ทำให้ได้น้ำที่มีความบริสุทธิ์มากที่สุด จนผู้ป่วยโรคไตหรือผู้ป่วยมะเร็งที่ทำคีโมซึ่งร่างกายจะไวต่อกลิ่นและรสก็สามารถกินได้ 

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น เพราะสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาน้ำประปาเค็มคือภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นทุกวัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดน้ำแล้งหนักและน้ำท่วมในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ กลายเป็นปัญหาที่คนเมืองรับรู้ได้ ในระยะยาวภาครัฐจึงต้องมีแผนรับมือล่วงหน้า เช่น การย้ายสถานีสูบน้ำที่เสี่ยงถูกกระทบขึ้นทางตอนเหนือหรือนำระบบกรองแบบ RO มาใช้กับน้ำประปา นอกจากนี้ประชาชนอย่างเรายังต้องเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขเริ่มจากใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้เรามีทรัพยากรน้ำดื่มใช้ต่อไป รวมถึงดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ในอนาคต

นอกเหนือจากความเค็ม ต้องกังวลอะไรไหม ? 

ไม่เพียงแค่ความเค็ม ปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับน้ำประปา เช่น กลิ่น รสฝาด สารเคมีตกค้าง หรือแบคทีเรียที่อาจส่งผลต่อร่างกายยังคงเป็นสิ่งที่หลายๆ คนกังวลใจ เราได้ไปสอบถามกับ ผศ.ดร.นัฐพล ตั้งสุภูมิ รองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าน้ำประปาในปัจจุบันปลอดภัยแค่ไหน ซึ่ง ผศ.ดร.นัฐพลให้คำตอบเราว่าน้ำประปาของไทยที่เราใช้ในทุกวันนี้สามารถดื่มได้จริงๆ เพราะมีกระบวนการผลิตที่ผ่านมาตารฐานความปลอดภัยตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก

ซึ่งกระบวนการผลิตน้ำประปาหลังจากที่การประปานครหลวงสูบน้ำมาจากแหล่งน้ำดิบเรียบร้อยแล้ว จะนำน้ำมาปรับปรุงคุณภาพน้ำเบื้องต้นก่อนด้วยการเติมสารเคมี เช่น สารส้ม และปูนขาว เพื่อช่วยให้มีการจับตัวของตะกอนได้ดียิ่งขึ้น แล้วส่งผ่านไปยังถังตะกอนที่ตะกอนขนาดใหญ่น้ำหนักมากจะตกลงสู่ก้นถัง เป็นการกำจัดสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ที่รวมอยู่ในตะกอนออกไป ได้แก่ ความขุ่น จุลินทรีย์ ฯลฯ ส่วนน้ำใสจะส่งผ่านไปสู่กระบวนการกรองที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อกำจัดตะกอนและจุลินทรีย์ส่วนที่ยังเหลืออยู่ในน้ำ ทำให้น้ำมีความใสมากขึ้น และในขั้นตอนสุดท้ายน้ำจะถูกนำไปผ่านขบวนการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน เพื่อให้น้ำสะอาดสามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย 

ไม่ชอบกลิ่นคลอรีนต้องทำอย่างไร

แม้กลิ่นคลอรีนจะเป็นเครื่องยืนยันว่าน้ำประปานั้นผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว แต่หลายๆ คนก็ไม่ชอบกลิ่นคลอรีนที่ฉุนจมูกเกินไป เรามีวิธีกำจัดกลิ่นได้ง่ายๆ มาแนะนำดังนี้

วิธีที่1 รองน้ำตั้งทิ้งไว้ก่อนประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนใช้งาน เพื่อให้กลิ่นคลอรีนระเหยหมดไปเองซึ่งคนเมืองที่ไม่มีถังรองน้ำหรือตุ่ม ก็สามารถกรอกน้ำใส่ขวดแล้วตั้งทิ้งไว้ได้เช่นกัน

วิธีที่ 2 นำไปต้มจนเดือดนาน 3-5 นาที นอกจากจะลดกลิ่นคลอรีนแล้ว ยังช่วยฆ่าเชื้อโรคทำให้น้ำสะอาดมากขึ้น แต่แร่ธาตุในน้ำยังอยู่ครบ การต้มจึงไม่สามารถลดความเค็มได้

วิธีที่ 3 ใช้เครื่องกรองน้ำที่มีการกรองและฆ่าเชื้อเพิ่มความปลอดภัยมาอีกขั้น โดยปัจจุบันเครื่องกรองน้ำที่ได้รับความนิยมในไทยมีดังนี้

  • เครื่องกรองน้ำระบบ UV  เครื่องกรองน้ำชนิดนี้ถือว่าเป็นเครื่องกรองน้ำยอดนิยมในไทย มีความสามารถในการกรองสิ่งสกปรก กำจัดความกระด้างของน้ำ และกำจัดเชื้อโรคด้วยระบบการกรองแบบหลอดไฟ UV  ข้อดีของเครื่องกรองน้ำประเภทนี้ก็คือนอกจากจะกรองน้ำได้สะอาดแล้ว ยังสามารถเหลือแร่ธาตุที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกายเอาไว้ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องกรองน้ำที่หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพงมีตั้งแต่หลักราคาถีงพันต้นๆ สามารถซื้อไส้กรองเปลี่ยนเองได้ง่ายและทำความสะอาดได้สะดวก จึงเหมาะสมกับการใช้งานทั่วไปในครัวเรือนและสำนักงานต่างๆ แต่ไม่สามารถขจัดความเค็มได้จึงไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมหากวิกฤตน้ำเค็มกลับมาอีกครั้ง
  • เครื่องกรองน้ำระบบ Reverse Osmosis หรือที่เราคุ้นเคยและเรียกกันติดปากว่าเครื่องกรองน้ำระบบ RO คือเครื่องกรองน้ำที่สามารถกรองแร่ธาตุและสารปนเปื้อนต่างๆ ออกไปได้อย่างหมดจด ทำให้น้ำดิบที่ผ่านเครื่องกรองมีความสะอาดบริสุทธิ์มากที่สุดผู้ป่วยที่ต้องระวังเรื่องการดื่มน้ำสามารถดื่มได้อย่างสบายใจ แต่ข้อเสียของเครื่องกรองน้ำชนิด RO ก็คือ จะกรองแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายออกจากน้ำไปด้วย ซึ่งความบริสุทธิ์น้ำนั้นจะทำให้หลายๆ คนไม่ชินกับรสชาติ รู้สึกว่ามันฝาดเกินไปได้เช่นกัน นอกจากนี้มีราคาสูงกว่าเครื่องกรองน้ำทั่วไป มีราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000 -15,000 บาท และมีขั้นตอนการดูแลรักษาที่ยุ่งยากจึงได้รับความนิยมน้อยกว่า

ซื้อกินดีไหม ถ้าไม่ไว้ใจน้ำประปา ?

สำหรับใครที่ไม่อยากดื่มน้ำประปา แต่ไม่สะดวกซื้อเครื่องกรองน้ำมาใช้งานเอง ก็ยังมีทางเลือกการดื่มอื่นๆ ดังนี้

  • ตู้กดน้ำหยอดเหรียญ

ตู้กดน้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับผู้บริโภคที่รักความสะอาด แต่ไม่อยากจ่ายแพง เพราะตู้กดน้ำส่วนใหญ่จะมีระบบการกรองน้ำให้เลือกหลากหลายทั้ง UV และ RO มีราคาขายที่ถูกเพียงลิตรละ 1-2 บาท แต่ปัญหาสำคัญของตู้กดน้ำในปัจจุบันคือไม่มีฉลากที่ชัดเจนว่าเป็นน้ำกรองระบบอะไรและยังติดตั้งในสถานที่ที่ไม่เหมาะ เช่น ใกล้ที่ทิ้งขยะ ใกล้แหล่งน้ำเสียเป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อความสะอาดได้ ผู้บริโภคอย่างเราจึงต้องตรวจสอบตู้กดน้ำเสมอ 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำข้อการสังเกตเลือกใช้ตู้น้ำที่ปลอดภัยต่อตัวเองโดยต้องเป็นไปตาม 4 ขั้นตอนดังนี้  

  1. สภาพภายนอกของตู้ต้องสะอาด มีการทำความสะอาดเป็นประจำ ทั้งตัวตู้และบริเวณรอบๆ รวมทั้งจุดวางภาชนะ หัวบรรจุ หัวจ่ายน้ำห้ามมีสนิมหรือตะไคร่น้ำเด็ดขาด 
  2. เลือกตู้ที่มีสติกเกอร์ แจ้งวัน เวลาการตรวจคุณภาพเครื่อง และไส้กรองเท่านั้น
  3. สังเกตสี กลิ่น และรสชาติของน้ำ ว่ามีความผิดปกติไปหรือไม่ หากเจอน้ำที่มีกลิ่นหรือรสชาติของน้ำเปลี่ยนไปจากเดิม ให้เปลี่ยนไปใช้ตู้ใหม่ทันที หรือรอจนกว่าจะมีการทำความสะอาดหรือเปลี่ยนไส้กรองเสียก่อน
  4. ภาชนะที่นำไปบรรจุน้ำดื่มจากตู้ ควรเป็นภาชนะที่สะอาดและขนาดพอดีกับปริมาณน้ำที่ซื้อ และวางไม่ให้สัมผัสกับหัวจ่ายน้ำ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำดื่ม

  • น้ำดื่มบรรจุขวด

นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอย่างการดื่มน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งหลายๆ คนมั่นใจว่าคุณภาพดีกว่าน้ำประเภทอื่นๆ อีกทั้งหาซื้อได้ง่ายในร้านสะดวกซื้อทั่วไป

น้ำดื่มบรรจุขวดรายใหญ่ๆ ในท้องตลาดมักจะมีแหล่งน้ำดิบเป็นของตนเอง อาทิเช่น น้ำบาดาล น้ำผิวดิน ก่อนจะนำมาผ่านกระบวนการกรองและฆ่าเชื้อโรคทั้งแบบ UV RO หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ที่แต่ละแบรนด์พัฒนาขึ้นมา ในขณะที่บางยี่ห้อก็ใช้แหล่งน้ำจากน้ำประปาทั่วไปแล้วนำไปผ่านกระบวนการกรองและฆ่าเชื้ออีกครั้งเพื่อความสะอาดปลอดภัยมากขึ้น ก่อนจะนำมาบรรจุขวดวางขายก็ต้องได้รับการอนุญาตจาก อย. อยู่เสมอ จึงเป็นทางเลือกที่มั่นใจว่าเราได้ดื่มน้ำที่สะอาดปลอดภัยอย่างแน่นอน

  • น้ำแร่บรรจุขวด

น้ำแร่ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คนนิยมเพราะเชื่อว่ามีประโยชน์มากกว่าน้ำดื่มทั่วไป เนื่องจากเป็นน้ำที่ได้มาจากบ่อน้ำแร่ในธรรมชาติ ซึ่งจากไม่ผ่านกระบวนการกรองเหมือนน้ำดื่มทั่วไป ทำให้คนดื่มยังได้รับแร่ธาตุด้วย แต่หลายๆ คนก็กังวลว่าการดื่มน้ำแร่มากๆ จะส่งผลให้ร่างกายมีแร่ธาตุตกค้างมากเกินไป ผศ.ดร.นัฐพล ได้ไขข้อสงสัยนี้ว่าใการผลิตน้ำแร่แต่ละครั้งจะต้องผ่านการตรวจสอบก่อนว่าแหล่งน้ำแห่งนั้นมีโลหะหนักหรือแร่ธาตุอันตรายมากเกินไปหรือไม่ หากมีแคลเซียม ฟลูออไรด์ หรือแมกนีเซียม ก็จะไม่ได้รับการอนุญาติให้ผลิต น้ำแร่ที่ขายในท้องตลาดจึงสามารถกินได้ ไม่เป็นอันตราย แต่ก็ใช้ว่าจะมีแร่ธาตุมากพอจนสามารถนำมาทดแทนแร่ธาตุจากอาหารทั่วไปได้ 

เลือกน้ำแล้ว เลือกขวดอย่างไร

นอกจากการเลือกน้ำดื่ม เลือกระบบการกรองน้ำที่ไว้ใจได้แล้ว อีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยคือการเลือกบรรจุภัณฑ์ใส่น้ำให้เหมาะสม โดยเฉพาะใครที่มีการกรองน้ำดื่มเองเป็นประจำ ควรเลือกบรรจุภัณฑ์ที่มีความแข็งแรงทนทานสามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคและแบคทีเรียสะสมอยู่ในขวดน้ำ เช่น ขวดแก้ว ขวดสแตนเลส หรือขวดน้ำพลาสติกประเภท BPA Free

สำหรับใครที่นิยมนำขวดพลาสติก PET มาใช้กรองน้ำสำหรับดื่มซ้ำๆ อาจจะต้องหยุดพฤติกรรมนี้ เพราะว่าขวดน้ำดื่มเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อใช้เพียงครั้งเดียว ไม่ได้ออกแบบให้สามารถนำมาทำความสะอาดใหม่ ใช้ความร้อนสูงหรือขัดถูแล้วนำมาใช้ซ้ำได้ทำให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค แบคทีเรีย นอกจากนี้ขวดน้ำพลาสติกที่เก็บไว้เป็นเวลานานอาจจะมีสารอันตรายที่อยู่ในพลาสติกรวมถึงไมโครพลาสติกหลุดออกมาปะปนอยู่ในน้ำได้อีกด้วย ขวดน้ำเหล่านั้นจึงควรนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่มากกว่าการนำกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งขวด PET ที่ใช้ใส่น้ำดื่มทุกวันนี้เป็นพลาสติกที่สามารถนำไปขายและรีไซเคิลได้ง่ายที่สุด เพียงแค่แยกฝา ขวด และฉลากออกจากกัน บีบขวดใสเพื่อลดพื้นที่จัดเก็บ จากนั้นส่งขายให้กับรถซาเล้งหรือร้านรับซื้อขยะรีไซเคิลทั่วไปได้เลย

เรื่องของน้ำดื่มใสๆ แม้จะดูไม่ต่างกันแต่ก็เป็นสิ่งที่เราควรใส่ใจเพราะมีผลกระทบมากมายต่อสุขภาพของเราเอง น้ำดื่มสะอาด นอกจากจะช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย น้ำยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อกระบวนการทำงานภายในร่างกาย เช่น การล้างสารพิษออกจากอวัยวะ การนำสารอาหารและออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ 

และที่สำคัญ อย่าลืมให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรน้ำ รวมถึงรักษาธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ เพื่อให้เรายังมีน้ำสะอาดดื่มได้ในระยะยาว


ที่มาข้อมูล

สัมภาษณ์ : ผศ.ดร.นัฐพล ตั้งสุภูมิ รองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล 
www.who.int
www.mwa.co.th
https://goodlifeupdate.com
www.thairath.co.th
www.pobpad.com