ไม่ว่าโตเกียวจะอากาศร้อนหรือเหน็บหนาวสักเท่าไร ถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ละก็ เชื่อได้เลยว่าต้องมีตลาดกรุบกริบให้เดินเล่นรับลมโชยสักแห่ง ยิ่งตอนนี้เทรนด์ดูแลสุขภาพมาแรง ตลาดนัด farmer’s market ยิ่งป๊อป เกษตรกรและผู้บริโภคมา meet & greet กันง่ายขึ้น ขนาดและความถี่ในการจัดงานแสนหลากหลาย มีทั้งตลาดนัดรายเดือนที่จัดอย่างยิ่งใหญ่คล้ายมหกรรม ไปจนถึงงานเล็กจิ๋วแบบเพื่อนช่วยเพื่อนรายสัปดาห์

กระแสฟาร์มเมอร์สมาร์เก็ตในโตเกียวกระเพื่อมขึ้นรุนแรงเป็นพิเศษหลังแถบโทโฮคุประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่ในปี 2011 ชาวเมืองหลวงของญี่ปุ่นจึงเริ่มตื่นตัวหันมาใส่ใจสุขภาพและอาหารการกิน สังเกตได้จากตลาด Farmer’s Market @UNU ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีเริ่มจัดงานมาตั้งแต่ปี 2009 จำนวนคนที่ไปเดินเพิ่มขึ้นหลายเท่าหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งในช่วง 5-6 ปีมานี้ ผู้จัดหลายเจ้าแอบต่อเติมความครื้นเครงให้ตลาดคึกคักขึ้นไปอีกด้วยการนำวงดนตรีมาเล่น จัดเวิร์กชอปสนุกๆ เพิ่มโซนขายของทำมือ และคิดกิจกรรมสร้างพันธมิตรและคอมมูนิตี้ระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค จนฟาร์มเมอร์สมาร์เก็ตกลายเป็นอีเวนต์ใจกว้างที่เผื่อแผ่ความสนุกให้ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง และคู่รักอย่างทั่วถึง

Farmer’s market@UNU

ตัวแทนฟาร์มเมอร์สมาร์เก็ตที่ถือว่าเป็นหน้าเป็นตาของโตเกียว ต้องยกให้ตลาดยุคบุกเบิกอย่าง Farmer’s market@UNU ซึ่งชักชวนเกษตรกรหลายสิบเจ้ามาออกงานอย่างสม่ำเสมอทุกสุดสัปดาห์ ปัจจุบันมีคนมาเยี่ยมเยียนถึง 15,000-20,000 คนต่อวัน แถมยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด taiyou-no-marche ซึ่งเป็นฟาร์มเมอร์สมาร์เก็ตแบบรายเดือนที่ใหญ่ที่สุดในโตเกียวด้วย

หัวใจของ Farmer’s market@UNU คือ Life with Farm พวกเขาเชื่อว่า ธรรมชาติที่อยู่ใกล้ชิดชาวเมืองที่สุดก็คืออาหาร คนจึงควรใส่ใจมากขึ้น สไตล์การจัดงานของที่นี่ใช้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางและดึงคนในวงการอาหาร คราฟต์แมน ผู้ค้าและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เข้ามารวมกลุ่มกันเป็นคอมมูนิตี้ สนับสนุนการร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกร โดยต้องยังน่าสนใจอยู่เสมอ ที่นี่จึงมีอีเวนต์สนุกๆ ควบคู่ตลาดตลอดปี เช่น Tokyo Coffee Festival, Aoyama Sake Flea, Tokyo Craft Market และ Christmas market

แม้หลายๆ งานจะดีจนใจหาย (เงินเราก็หายไปด้วย) แต่ความเจ๋งสูงสุดของทีมนี้อยู่ที่พลังชีวิตในการยกระดับการจัดงานให้ก้าวข้ามแค่การเป็นงานขายของแล้วจบไป เช่น Rethink Food Project การคืนชีวิตใหม่ให้เศษอาหารที่เหลือ จัดระบบการทิ้งขยะสดในตลาดและการจัดสัมมนารณรงค์ให้ความรู้คนในการนำขยะสดไปหมักทำปุ๋ย อาหารสัตว์ หรือเชื้อเพลิง นอกจากงานวิชาการยังมีงานรื่นเริงบันเทิงสุขที่แสนถูกอกถูกใจเหล่าแม่บ้านอย่าง Disco Soup ซึ่งคือการเอาผลิตผลทางการเกษตรที่ไม่สวยและถูกทิ้งไว้ในสวน มาทำอาหารอร่อยๆ ร่วมกัน ท่ามกลางเสียงดนตรีและคำแนะนำของเชฟมืออาชีพ

Earth Garden

ตลาดน้องใหม่ขนาดกลางที่นานๆ จัดที ปีละ 4 ครั้งตามฤดูอย่าง Earth Garden ก็ไม่น้อยหน้า แบ่งพื้นที่ 30% ของงานจากบูธงานคราฟต์ ของกินและเวทีดนตรีย่อมๆ ให้เป็นตลาดรวมดาวออแกนิคหลายแขนงทั้งผัก สาหร่าย ผลไม้ น้ำผึ้งรวมไปถึงข้าวญี่ปุ่นที่แพคเกจสุดแบ๊วมีรูปสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อาศัยร่วมนากันอย่างสันติมายืนยันความปลอดภัย กลุ่มคนที่มาออกร้านมีทั้งฟาร์มเมอร์ตัวจริงและเพื่อนพ้องที่ทำงานอื่นแต่หัวใจสีเขียวอยากมาช่วยเชียร์ ระดับความเป็นกันเองที่นี่ถือว่าสูงมาก บางร้านถึงกับเด็ดใบให้ชิมกันสดๆ พร้อมแนะสูตรอาหารกลมกล่อมให้มือใหม่หัดกินผัก คนที่มาเดินก็เฟรนด์ลี่มีใจอารี ช่วยกันอธิบายและชี้ช่องทางการซื้อผักผลไม้ออร์แกนิกที่อื่นในโตเกียวให้ด้วย

Earth Garden นำทีมโบกธงปลอดสารพิษโดยองค์กรที่รับจัดอีเวนต์เกี่ยวกับ Organic & Ecology เป็นหลักและเน้นเรื่องสมดุลในการใช้ชีวิต การเรียนรู้และรับพลังงานจากธรรมชาติ รวมไปถึงส่งเสริมให้ผู้คนสื่อสารกันมากขึ้น ตัวตลาดอาจจะนานๆ จัดทีแต่มีสื่อออนไลน์ ฉายหนังสารคดีและงานสัมมนาส่งเสริมความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับออแกนิคหลายรูปแบบ แต่สื่อที่เราคิดว่าเข้าถึงง่ายและได้ผลที่สุดคือ Kimidori คาเฟ่สายธรรมชาติที่ชิบุยะ ซึ่งแอบทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตการทำไร่ทำนา กาแฟ น้ำผลไม้ และอาหารในร้านเป็นออร์แกนิกล้วนเลย

Nanamaru Shouten

ขอปิดท้ายด้วยตลาดไซส์ SS ที่มีชื่อว่า Nanamaru Shouten ทุกวันเสาร์ ร้านนี้จะกางแผงผักและผลไม้สุขภาพดีจากทั่วประเทศ ณ พื้นที่เล็กๆ ของโรงจอดรถหน้าร้าน Shoanbunko คาเฟ่บ้านไม้เก่าแก่อายุกว่า 70 ปีอันอบอุ่น คุณลุงเกษตรกรเจ้าของแผงเป็นตัวแทนกลุ่ม รับของจากเพื่อนๆ มาขายอย่างละนิดละหน่อย แม้แผงจะเล็กๆ แต่คุณลุงมีความรู้กว้างไกลมาก แค่ฟังเรื่องราวที่แกเล่าแต่ละอย่างก็ชวนให้ผันตัวมาเป็นผู้หญิงปลอดสารพิษทันที


ความน่ายินดีของกระแส farmer’s market ที่แรงดีอย่างต่อเนื่องคือ เราหาข้อมูลเรื่องเกษตรอินทรีย์จากสื่อต่างๆ ทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์ได้ง่ายขึ้น เช่น NORAH (นิตยสารเผยแพร่เรื่องฟาร์ม คราฟต์ อาหาร ลีฟวิ่ง จากทั้งมุมมองของเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย คนในวงการอาหร และอื่นๆ ขายแบบเล่มและ PDF ของ Farmer’s market@UNU ) มีกิจกรรมส่งเสริมให้คนได้ลอง เรียนรู้และใกล้ชีวิตของเกษตรกรมากขึ้น โปรเจกต์ที่น่าสนใจมากคือ soradofarm การสร้างฟาร์มจำลองตามดาดฟ้าของอาคารใกล้สถานีใหญ่ๆ ให้ชาวซารารีแมนสามารถแวะไปสวมบทเป็นชาวไร่ได้อย่างง่ายๆ มีทั้งชุด อุปกรณ์ และเกษตรกรตัวจริงรอให้ความรู้แบบไม่กั๊ก งานนี้ไม่เน้นขายของที่ปลูก ขอแค่ให้มาลองสัมผัส

ถึงรูปแบบจะค่อยๆ เปลี่ยนไป แต่เสน่ห์ของตลาดสีเขียวที่ขายของแสนดีต่อร่างกาย ก็ยังอยู่ที่รอยยิ้มและบทสนทนาที่ดีต่อใจ