ดินแดนอีสานในความคิดของผู้คนส่วนใหญ่มักฉายภาพพื้นที่ร้อนแล้ง ยากเข็ญ และขาดแคลน หากเมื่อเราได้มาถึงบ้านโคกโก่ง-หมู่บ้านเล็กๆ บนที่ราบเชิงเขาภูพานอันกว้างใหญ่ในจังหวัดกาฬสินธุ์แห่งนี้ กลับได้พบเห็นสิ่งที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ที่นี่เป็นหมู่บ้านที่โอบล้อมด้วยภูเขาและสายน้ำ มีอาหารหลากหลายและสมบูรณ์ที่หล่อเลี้ยงให้ผู้คนดำรงอยู่ได้อย่างเรียบง่ายด้วยของขวัญที่เป็นอาหารจากผืนป่าตลอดทั้งปีไม่ว่าฤดูร้อน ฝนหรือหนาวก็ตาม

อยู่อย่าง (ภู) ไท

ชาวภูไท (หรือผู้ไทย) เป็นชุมชนดั้งเดิมในเขตภาคอีสาน ในอดีตเชื่อว่าเป็นกลุ่มคนในแถบพื้นที่สิบสองปันนาและสิบสองจุไททางตอนใต้ของจีน ที่อพยพลงมาทางใต้เรื่อยๆ ปัจจุบันตั้งรกรากส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดนครพนม มุกดาหาร สกลนครและกาฬสินธุ์ ชาวภูไทมีความพิถีพิถันเรื่องการเลือกทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นอย่างมาก มักพิจารณาหาที่ราบใกล้ภูเขาหรือแหล่งน้ำเป็นสำคัญ เพราะทำเลเช่นนี้คือการการันตีแหล่งอาหารว่าลูกหลานจะมีกินได้แน่นอนตลอดชีวิต

การอยู่ใกล้ป่าทำให้ชีวิตของชาวภูไทเรียบง่าย หากินปรับตัวตามฤดูกาล เมื่อผสานกับการทำเกษตรแบบพึ่งตัวเองเข้าไปด้วย ก็ยิ่งทำให้ชีวิตมั่นคงเรื่องอาหารการกินอย่างล้นเหลือ แม้จะเป็นที่ราบขนาดไม่ใหญ่นักแต่ทุกบ้านก็จัดสรรที่นา 3-4 ไร่ให้เป็นแหล่งอาหารสำคัญของตัวเอง ฉันนอนพักโฮมสเตย์ในหมู่บ้านและได้พักที่บ้านยายเษม เป็นบ้านหลังที่ห้องนอนอยู่ติดกับทุ่งนาเลย เพียงแค่เปิดหน้าต่างก็นอนรับความสดชื่นได้แล้ว แต่น่าเสียดายที่เรามาหลังฤดูเก็บเกี่ยวไปแล้ว ไม่อย่างนั้นคงได้เห็นความงามของทุ่งข้าวสีทองริมหน้าต่างห้องนอนเป็นแน่

คนภูไทกินข้าวเหนียวเป็นหลัก เกือบทุกบ้านจึงปลูกข้าวไว้กินเอง เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะเก็บขึ้นเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) และทยอยเอามาสีกินตลอดทั้งปี ข้าวเหนียวของบ้านโคกโก่งทั้งหอม ทั้งนุ่มอร่อยน่าประทับใจ ป้าเษมบอกว่าเวลาไปเยี่ยมลูกที่กรุงเทพแล้วต้องกินข้าวเหนียวที่ซื้อจากตลาด กินยังไงก็ไม่อร่อยเพราะข้าวถูกใส่สารเคมีกันมอดแมลงกินจนท่วมท้น สู้กินข้าวหอมๆ นุ่มๆ ของบ้านตัวเองไม่ได้ นอกจากทำนาไว้ปลูกข้าวเพื่อกินเองแล้ว ชาวบ้านโคกโก่งยังปลูกผักสวนครัวไว้รอบบ้าน อยากใช้อะไรเมื่อไรก็เดินไปเด็ดสดๆ ได้ทันที โดยเฉพาะบ้านป้าเษมนี่เป็นเหมือนแหล่งรวมของสารพันผักสวนครัว เช่น มะละกอ พริก ใบแมงลัก โหระพา มะเขือเทศ ข่า ตะไคร้ ฯลฯ ที่คนในชุมชนมักแวะเวียนมาขอนู่นนี่อยู่เสมอ บางอย่างเป็นพืชจากป่า เช่น ผักหวานป่า ต้นหวาย เมื่อเอามาปลูกใกล้บ้านก็ทำให้หากินได้ง่ายขึ้นด้วย บางบ้านมีการเลี้ยงไก่ ขุดบ่อเลี้ยงปลาเพื่อเป็นอีกแหล่งอาหารเสริมสำหรับตัวเอง สำหรับฉันคำว่าภูไท ชวนให้คิดถึงคำว่า ‘ไท’ ที่แปลว่าอิสระ คนที่พึ่งตัวเองได้คือคนที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง

อาหารชั้นสูง ของขวัญจากป่าหน้าร้อน

“หน้าร้อนแบบนี้ต้องกินอาหารชั้นสูง” นี่เป็นคำบอกเล่าของยายเษมที่บอกกับฉันเมื่อเริ่มเตรียมสำรับกับข้าว อาหารชั้นสูงที่ว่าหมายถึง ผักหวาน ไข่มดแดง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องออกไปหาในป่าเชิงเขารอบหมู่บ้าน ต้นผักหวานป่าไม่ใช่ไม้พุ่ม บางต้นสูงมาก ส่วนไข่มดแดงก็อยู่ตามยอดไม้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า ‘อาหารชั้นสูง’ ผิดกับอาหารในช่วงฤดูฝนจะเป็นอาหารชั้นต่ำ อาทิ เห็ด หน่อไม้ ต่างๆ

ฉันมีโอกาสติดตามชาวบ้านไปหาอาหารจากป่าตั้งแต่เช้า เราออกไปไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก รอบๆ หมู่บ้านโคกโก่งเป็นพื้นที่วนอุทยานภูผาวัว แต่เนื่องจากชาวบ้านอยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยาน บางทีการมองด้วยสายตาก็แยกแยะยากสักหน่อยว่าตรงไหนคือเขตป่าหรือเขตพื้นที่ส่วนตัวเพราะเต็มไปด้วยต้นไม้เหมือนๆ กันไปหมด เราเริ่มต้นด้วยการแหย่ไข่มดแดงกันก่อน ชาวบ้านจะใช้ไม้ไผ่ยาวเหยียดมีถุงตาข่ายรองรับอยู่ส่วนปลาย เวลาแหย่ใช้ปลายไม้แหย่รังมดแดงให้ฉีกออก แล้วเขย่าให้ไข่มดแดงหล่นลงมา โดยปกติชาวบ้านจะโรยแป้งมันลงไปเพื่อให้มดแดงลื่นหลุดจากไข่ คือไม่สามารถนำไข่กลับรังไปได้ แต่วันที่เราออกไปนั้น ฟ้าครึ้มลมแรงฝนตั้งเค้าทะมึนตลอดเวลา อุณหภูมิหน้าร้อนลดฮวบจนหนาวสั่น อากาศแบบนี้ชาวบ้านบอกว่ามดแดงจะหวงไข่เป็นพิเศษ เราจึงพักไข่เอาไว้ในถังก่อนแล้วไปเก็บผักหวานกันต่อ

แม้จะดูเหมือนเป็นสิ่งธรรมดาสามัญ แต่รังมดแดงเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าได้อย่างหนึ่ง ที่ไหนมีการใช้สารเคมี ที่นั่นจะไม่มีรังมดแดง หากอยากกินของอร่อยก็ต้องรักษาความสมบูรณ์ตามธรรมชาติเอาไว้อย่างดีที่สุด และการมีไข่มดแดงกินเองใกล้ๆ บ้านนี่เป็นโชคดีอย่างยิ่ง เพราะคุณลุงที่เก็บไข่มดแดงเล่าให้ฟังว่า บางทีคนที่เก็บไปขายเน้นความสบาย มักเอาดีดีทีฉีดพ่นลงไปเพื่อฆ่าแม่มดส้มและเก็บไข่ได้ง่ายขึ้น แต่วิธีนี้ทำให้เสียโอกาสในการเก็บปีต่อไป เพราะเมื่อแม่ตาย รังมดแดงก็จะน้อยลงไปด้วย ดังนั้นหากจะซื้อไข่มดแดงในตลาดควรเลือกแบบที่ยังมองเห็นมดแดงเดินไปมาสักเล็กน้อยจะปลอดภัยว่าการซื้อไข่มดแบบล้วนๆ ผักหวานป่าเป็นไม้ยืนต้นจะแตกยอดอ่อนในช่วงหน้าร้อน ผักหวานเป็นหนึ่งในขุมทรัพย์สำคัญทีเดียว หากบ้านไหนมีผักหวานหลายต้นในบริเวณบ้านก็อาจทำเงินได้มหาศาลเลย วิธีเก็บผักหวานจะเด็ดเฉพาะยอดอ่อนมากิน ปล่อยให้แตกยอดออกใหม่ไปเรื่อยๆเป็นแหล่งอาหารหลักตลอดฤดูร้อน

แซ่บคั่กกับหลากของกินบ้านโคกโก่ง

คนภูไทกินอาหารรสนัวๆ ไม่จัดจ้านมากนัก มีเครื่องปรุงรสพื้นฐานประจำครัวเพียงแค่พริก เกลือ ข้าวคั่ว (ข้าวสารข้าวเหนียวคั่ว) ข้าวเบือ (ข้าวสารข้าวเหนียวแช่น้ำตำใช้เป็นครั้งๆ) และปลาร้าก็ทำอาหารอร่อยได้สารพันแล้ว เราเดินทางมาเที่ยวหมู่บ้านในช่วงพีคของการกินผักหวานไข่มดแดงพอดิบพอดี เพราะฉะนั้นตลอดเวลาที่อยู่อาศัย ยายเษมจึงจัดอาหารชั้นสูงให้กินเต็มที่เกือบทุกมื้อ โดยไข่มดแดงเอาไปทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ก้อย (ยำ) ไข่มดแดงใส่ข้าวคั่ว ไข่เจียวใส่ไข่มดแดง ไข่มดแดงคั่วเกลือ และไฮไลท์อยู่ที่แกงผักหวานไข่มดแดง ซึ่งทำได้หลายสูตรจะใส่ข้าวเบือให้น้ำแกงมีความหนืดเล็กน้อยหรือแกงแบบน้ำใสก็ได้ ส่วนผักหวานนั้นถ้าไม่เบื่อจะแกง ก็ลวกกินจิ้มกินกับตำแจ่ว (น้ำพริก) ได้เช่นกัน

ฉันเองกินผักหวานไข่มดแดงมาไม่น้อย แต่อยากสารภาพว่าไม่มีผักหวานไข่มดแดงของที่ไหนอร่อยเท่าที่บ้านโคกโก่งเลย ไข่มดฟองโตเต่งตึง กัดทีหนึ่งกรุบกรอบจนสัมผัสรสชาติหวานมันภายใน ส่วนผักหวานก็หวานสมชื่อ แค่ต้มกับน้ำความหวานก็ซึมซาบออกมาในน้ำแกงแล้ว ยามเษมบอกว่าน่าจะเป็นเพราะเราได้กินของสดใหม่ไม่ค้างคืน โดยเฉพาะผักหวานซึ่งแม่ค้าในตลาดมักจะใช้น้ำราดเพื่อให้ผักดูสดอยู่เสมอนั่นทำให้สูญเสียความหวานไป และการซื้อค้างคืนใส่ตู้เย็นเอาไว้ก็ทำให้ผักหวานเหนียวขึ้น มิน่าล่ะ ผักหวานที่นี่จึงกรอบ รสหวานถึงใจไม่ว่าจะนำไปปรุงเมนูไหนก็ตาม

ปูนาเป็นวัตถุดิบอีกอย่างหนึ่งที่นิยมกินในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว (ประมาณมีนาคม) ช่วงเดือนนี้ปูจะมีมันนิดๆ กินแล้วอร่อย แต่บางคนที่ไม่ชอบกินมันปูอาจชอบกินปูนาช่วงธันวาคมถึงกุมภาพันธ์มากกว่า เราติดตามน้องๆ ในหมู่บ้านไปขุดปูแถวทุ่งนา เวลาหารูปูต้องเลือกรูที่มีกองดินพูนๆ กองอยู่บนปากหลุม พอขุดปูได้มากพอแล้วบ่ายนี้เราจะไปทำป่นปูกินกัน ป่นปูเป็นเหมือนน้ำพริกอีกแบบหนึ่ง ตำจากพริกจี่ หอมแดงจี่ เกลือ และปูนาย่างที่แกะกระดองกับขาออก กระดองปูที่แกะออก จะมีมันหรือเนื้อปูติดอยู่เล็กน้อย ใช้ข้าวเหนียวร้อนๆ จ้ำลงไปป้อนข้าวเด็กนี่คืออาหารชั้นเลิศเลย ป่นปูทำได้หลายสูตรถ้าอยากให้เนื้อสัมผัสแห้งให้ใช้เกลือปรุงรส แต่ถ้าอยากให้แฉะเป็นเครื่องจิ้มให้ใช้ปลาร้าแทน กินแกล้มแนมกับผักสด เช่น ดอกกระโดนที่ติดปลายขมนิดๆ หรือกินกับดอกกระเจียวลวกที่มีกลิ่นหอมขึ้นจมูกหน่อยๆ (เพราะเป็นพืชตระกูลข่า) อร่อยจนฝันถึงเลยล่ะ

มีเมนูที่น่าสนใจอีกหลายอย่างที่ชาวบ้านกินกันในช่วงฤดูร้อน เช่น แกงอ่อมหวาย หวายเป็นต้นไม้ในป่ามีหนามแหลม ชาวบ้านบางคนเอามาปลูกในสวนเพื่อส่งขายโดยเฉพาะเพราะได้ราคาดี ในตลาดขายต้นละ 5 บาททีเดียว ยอดอ่อนหวายมีรสค่อนไปทางขม เวลาแกงควรใส่ใบออบแอบลงไปด้วยเพื่อตัดความขมของหวายและทำให้หวานขึ้น แกงหน่อไม้ (ยอดเล็กๆ เท่าปลายนิ้วก้อย เป็นหน่อไม้จากไฟป่าที่ออกเพียงช่วงสั้นๆ ) สองอย่างนี้แกงคล้ายๆ กัน ใส่ข้าวเบือเล็กน้อยเพื่อให้น้ำแกงหนืดขึ้น หน่อไม้ไฟป่านี้อร่อยมาก เนื้อแน่นกรุบให้ความรู้สึกเหมือนยอดมะพร้าวมากกว่าหน่อไม้ ส่วนหวายก็ออกปลายขมเล็กน้อยเท่านั้นเอง ยายเษมเจ้าของบ้านของฉันไม่กินอาหารรสจัด มื้อหนึ่งฉันจึงได้มีโอกาสชิมมะขามเชื่อมภูไท ทำจากมะขามเปียกที่เก็บจากรั้วมาผัดหวาน คนเฒ่าคนแก่ที่ไม่ค่อยเจริญอาหารนิยมใช้ข้าวเหนียวจิ้มกินแทนกับข้าว รสชาติหวานๆ เปรี้ยวๆ ช่วยให้อาหารอร่อยขึ้น

เมนูที่ฉันประทับใจที่สุดของบ้านโคกโก่งคือโจ้วมะอึหรือข้าวเหนียวคลุกฟักทอง ทั้งที่ดูเรียบง่ายแต่รสชาติล้ำลึกน่าจดจำมาก วิธีทำก็แสนง่ายดายเพียงนึ่งข้าวและฟักทองรวมกันจนนิ่ม นำมาคลุกให้เข้ากันจนข้าวเหลืองทั่วกันหมด ปรุงรสด้วยน้ำตาลเกลือโรยมะพร้าว กินเป็นของว่างหรือขนมที่อร่อยและได้ประโยชน์มาก ที่สำคัญฟักทองที่ใช้ปรุงเป็นฟักทองสายพันธุ์พื้นเมืองของคนที่นี่ รสชาติจึงหวานและมันเมื่อคลุกรวมกับข้าวแล้วได้รสชาติหวานมันอร่อยแบบไม่ต้องมูนกะทิเลย

ชีวิตง่ายงามที่มีอยู่จริง

ชีวิตในบ้านโคกโก่งเรียบง่าย สงบงาม ผู้คนหาอยู่หากินกันอย่างพอเพียง ผู้หญิงทอผ้า เย็บลายบนเสื้อผ้าภูไท ผู้ชายทำงานจักสาน ของใช้ในบ้านส่วนใหญ่เช่น กระติ๊บข้าวเหนียว หวดนึ่งข้าว กระด้ง ฯลฯ ล้วนแต่ทำใช้เองทั้งนั้น ยามเช้าผู้คนตื่นมานึ่งข้าวแต่มืดเพื่อเตรียมตักบาตร ที่พระสงฆ์จะเริ่มเดินรับบาตรประมาณตีห้ากว่า เป็นการใส่บาตรแต่เฉพาะข้าวเหนียวเหมือนที่เราเคยพบที่หลวงพระบาง แล้วนำกับข้าวตามไปถวายที่วัดภายหลัง ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ชาวภูไททุกบ้านจะต้องมีข้าวเหนียวนึ่งใส่กระติ๊บติดบ้านไว้เสมอเป็นเหมือนสิ่งแสดงออกว่า ‘มีกินจนเหลือเฟือ’ คล้ายกุศโลบายที่ทำให้รับรองแขกที่มาเยือนได้ตลอดเวลา สะท้อนความมีน้ำใสใจจริงอันงดงามของชาวภูไท

บ้านภูไทในหมู่บ้านโคกโก่งเป็นบ้านโบราณ ทำจากไม้ยกพื้นสูง ลานโล่งใต้ถุนบ้านใช้เลี้ยงสัตว์หรือทำกิจกรรมต่างๆ มีเล้าข้าวอยู่ใกล้ๆ ครัวอยู่ในนอกชานบนเรือน ตลอดเวลาสองสามวันในหมู่บ้าน ฉันสัมผัสได้ถึงความสงบสุข ผู้คนมีแต่คำทักทายและรอยยิ้ม ยามเช้าตื่นมาใส่บาตรเพื่อพัฒนาทานบารมี ระหว่างวันก็เดินไปพูดคุยบ้านโน้นบ้านนี้ถามไถ่สารทุกข์กันและกัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คนในหมู่บ้านนี้จะมีอายุยืนยาวและแข็งแรง ส่วนสำคัญมาจากอาหารที่ดีสดใหม่จากป่าตลอดทั้งปี อากาศที่แสนสดชื่น อารมณ์ที่เบิกบานและเป็นสุขเสมอ นี่คือสวรรค์บนดินที่มีอยู่จริง

เราสามารถมาพักผ่อนชื่นชมธรรมชาติและวัฒนธรรมภูไทที่บ้านโคกโก่งได้ตลอดทั้งปี ฤดูที่น่าสนใจคือฤดูฝน เมื่อสายน้ำที่เคยเหือดแห้งไปกลับคืนความชุ่มชื้นให้ผืนป่า เปลี่ยนลานแล้งให้เป็นลานหินฉ่ำน้ำเหมือนสไลเดอร์ขนาดใหญ่ให้เด็กได้กระโดดเล่นอีกครั้ง ในป่าหลังหมู่บ้านมีน้ำตกตาดสูงและเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เรียนรู้ด้วย ฉันปั่นจักรยานที่เอามาเองไปรอบๆ หมู่บ้าน คดเคี้ยวลงไปในคันนาอย่างอ้อยอิ่ง อาวรณ์ที่จะต้องจากลาหมู่บ้านเล็กๆ ที่น่ารักแห่งนี้ บ้านโคกโก่งเหมือนหญิงสาวในชุดสวยแบบภูไท ไร้เครื่องสำอางตกแต่งบนใบหน้า เธอมายืนบอกลาด้วยแววตาแสนซื่อ รถยนต์เคลื่อนออกห่างไปทุกที แต่มือคู่น้อยยังโบกไหวๆ บ้านโคกโก่งในหัวใจบอกให้ฉันเรียนรู้ว่า “ความเรียบง่ายคือสิ่งที่งดงามที่สุดบนโลกใบนี้”

หมายเหตุ: บ้านโคกโก่งตั้งอยู่ในอำเภอกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีบริการที่พักแบบโฮมสเตย์ราคา 300 บาท/คน/คืน (รวมอาหารเช้าและเย็น) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ใหญ่บ้านโคกโก่ง โทรศัพท์ 084-7425822