ปกติเวลาคุณกินผลไม้แล้วรู้สึกยังไงบ้าง อืม..อร่อยดี ประมาณนั้นใช่ไหม

ผลไม้ที่เราซื้อมาจากตลาด จากซูเปอร์มาร์เก็ต ซื้อมาโดยไม่ได้รู้จักคนปลูก มันก็แค่อร่อยที่เป็นความรู้สึกทางกายภาพ แต่เมื่อเราได้ลองกินผลไม้ในอีกประสบการณ์หนึ่ง เช่น การกินสดๆ จากต้น กินโดยรู้ว่าใครเป็นคนปลูก กินโดยรู้ว่าเขาปลูกอย่างไร หรือรู้ละเอียดว่ากว่าที่ผลไม้จะเดินทางมาถึงมือผู้บริโภคอย่างเราๆ มันจะต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง เราจะกินผลไม้นั้นได้อร่อยไปถึงหัวใจ ซาบซึ้งกับทุกคำที่ได้ลิ้มรสด้วยความรู้สึกขอบคุณยิ่งกว่าเดิม

ช่วงนี้ บนดอยแม่วาง จ.เชียงใหม่ ลูกพลับและอะโวคาโดกำลังสุกปลั่งได้เวลาเก็บเกี่ยว Farmto-แพลตฟอร์มที่ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ร่วมกันเป็นเจ้าของผลผลิต จึงชักชวนครอบครัวน้อยๆ ไปร่วมกันเก็บผลไม้สดๆ กันในสวน เด็กสาวตัวน้อยเจ้าของดวงตาแป๋วแหววตะโกนเสียงดังเมื่อถึงที่หมายว่า “โอ้โห..นี่เป็นป่าชัดๆ เลยนะ”

“ป่า” ที่เด็กน้อยพูดถึงนั้นคือสวนหลังบ้านของ แซวะศิวกร โอ่โดเชา เกษตรกรชาวปกาเกอะญอแห่งหมู่บ้านหนองเต่าปลูกเอาไว้หลังบ้านนั่นเอง อันที่จริงจะเรียกว่าป่าก็ไม่ถูกนัก แม้ว่าสวนนั้นจะดูรกครึ้มไปด้วยไม้น้อยใหญ่หลายระดับความสูง หลากหลายพันธุ์ ซึ่งคุณแซวะเจ้าของบ้านพอใจเรียกพื้นที่ของตัวเองว่า “สวนคนขี้เกียจ” มากกว่า

“ที่เราเรียกว่าสวนของคนขี้เกียจเพราะเราไม่ต้องมาปลูกให้มันเป็นระเบียบ อยากกินอะไร เราโยนๆ เมล็ดลงไป เดี๋ยวมันก็งอกเอง แล้วแต่ละวันไม่ต้องดูแลอะไรมาก ไก่คุ้ยเขี่ยหากินตามพื้นก็เหมือนกับเครื่องพรวนดินและเครื่องใส่ปุ๋ยตามธรรมชาติอยู่แล้ว และในสวนนี้มีอาหารให้เรากินได้ตลอดทั้งปี”

ในพื้นที่ขนาดย่อมๆ แต่มีพืชพรรณมากมายแทรกตัวอยู่ร่วมกัน ทั้งแมคคาเดเมีย อะโวคาโด กาแฟ กล้วย อ้อย มะเฟือง ที่ให้ผลเป็นอาหาร ไพลใช้เป็นสมุนไพรประจำบ้าน ฟักแม้วเก็บกินได้ทั้งผลและยอด หวายที่ใช้หน่ออ่อนกินแกล้มน้ำพริกและหวายแก่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์

“เราถือว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ทำทุกอย่างตามธรรมชาติไม่ต้องไปจัดสรร ที่เหลือธรรมชาติจะดูแลเราเอง เกษตรแบบนี้เรียกว่าเกษตรวิถีชีวิต มีอาหารให้เรากินอย่างปลอดภัยตามฤดูกาลและยังเป็นห้องเรียนของคนที่มาเยี่ยมเยือนได้ด้วย”

เพราะมีตู้เย็น (ธรรมชาติ) อยู่หลังบ้านเช่นนี้ ของว่างจึงธรรมดาไม่ได้เลย คุณแซวะเตรียมผลไม้หลากหลายชนิดไว้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน ทั้งลูกพลับ อะโวคาโด กล้วยไข่ มะเฟือง ที่ได้รสชาติความสดแท้แสนอร่อย แถมด้วยแมคดาเมียที่กระเทาะเปลือกใหม่ๆ อีกเล็กน้อย ก่อนลงมือชงกาแฟ Lazy man-ผลผลิตจากสวนให้เราได้ชิม

“ลองกินกาแฟแบบที่แตกต่างดูบ้างนะ” คุณแซวะเริ่มต้นประโยคก่อนสาละวนเตรียมกาแฟดริปให้ผู้มาเยือนจากในเมือง “อันที่จริงกาแฟนี่เป็นชาผลไม้ชนิดหนึ่ง แต่คนในเมืองอาจจะคุ้นเคยกับการกินกาแฟแบบขมๆ ไหม้ๆ แต่ผมว่าแบบนั้นมันแทบไม่เหลือความเป็นกาแฟแล้ว ยิ่งบางคนเติมนม เติมน้ำตาลเข้าไป ก็แทบจะไม่ได้อะไรจากกาแฟเลย” คุณแซวะเล่าพร้อมยื่นกาแฟอุ่นๆ มาให้ “กินกาแฟให้ถูกต้อง ต้องซดให้มีเสียงนิดนึงนะครับ รสชาติจะอร่อยขึ้น” เราสูดกาแฟเข้าปากเสียงดังพร้อมดื่มด่ำกับรสชาติใหม่ที่ทำงานภายในปาก สัมผัสแรกคือรสเปรี้ยวที่ปลายลิ้น ก่อนปรากฏรสหวานชุ่มคอ และทิ้งปลายขมน้อยๆ ในลำคอ เป็นการกินกาแฟที่ได้ความรู้สึกสดชื่นดีมากๆ

ก่อนออกไปเก็บลูกพลับในสวนด้วยกัน คุณแซวะเล่าข้อมูลคร่าวๆ ให้ฟังว่า ลูกพลับนั้นแบ่งง่ายๆ เป็นสองสายพันธุ์คือพันธุ์หวานและพันธุ์ฝาด พันธุ์หวานเนื้อจะหยุ่น นิ่ม เนื้อสัมผัสคล้ายๆ ลูกพรุนขนาดยักษ์ ความหวานของมันทำให้แมลงชอบ เกษตรกรจึงดูแลได้ยาก (และผู้บริโภคไม่มีโอกาสได้กิน) ส่วนพันธุ์ฝาดนั้น สารที่ให้ความฝาดทำหน้าที่คล้ายเป็นสารไล่แมลงตามธรรมชาติ ทำให้ได้ผลผลิตดีกว่าโดยไม่มีแมลงรบกวน แต่ความฝาดของมันทำให้พลับกินสดๆ จากต้นไม่ได้ เพราะจะเฝื่อนปาก (ใครเคยกินลูกพลับที่บ่มไม่ดีจะเคยรู้รสชาตินี้) ต้องนำไปบ่มเสียก่อนจึงจะนำไปรับประทานได้

วิธีบ่มพลับทำได้หลายแบบ เช่น แช่น้ำในกะละมังไว้ 45 วันแล้วใส่ลูกพลับสับลงไปเล็กน้อย หรือบ่มด้วยแก๊สก้อน บ่มด้วยก๊าซคาร์บอน แต่ที่นี่ชาวบ้านจะใช้แอลกอฮอล์ 1 ช้อนชา ชุบสำลีใส่ไว้ในถุงพลาสติกที่บรรจุลูกพลับไว้ มัดปากถุงทิ้งไว้ 4 คืน ครบกำหนดแล้วลูกพลับจะคลายความฝาดเหลือไว้แต่ความหวานกรอบอร่อยตามธรรมชาติ

เพื่อให้ได้ประสบการณ์กันแบบของจริง พวกเราออกเดินทางไปเก็บลูกพลับในสวนที่ปลูกต้นไม้หลายอย่างผสมผสานกัน ทั้งหวาย สาลี่ดอย โดยอาจมีพลับมากกว่าอย่างอื่นสักหน่อย ลูกพลับสุกสีสวยส้มเด่นสะดุดตาอยู่เต็มต้น แต่ลูกที่อยู่ด้านล่างถูกทยอยเก็บไปเกือบหมดแล้วเหลือแต่ลูกที่อยู่สูงๆ บนต้น บางคนอยากลองเก็บบ้างก็ต้องออกแรงลุ้นกันหน่อย เพราะพลับเป็นผลไม้ที่มีผิวบาง เวลาเก็บก็ต้องระวังไม่ให้ตกพื้น เพราะผิวจะช้ำเป็นรอยหรือแตก ต้องเก็บทีละผล นำใส่ถุงหรือย่ามที่สะพายไปด้วย ทำให้เรารู้เลยว่าการเป็นเกษตรกรพลับนั้นไม่ง่ายเลย ต้นพลับที่อยู่สูงยิ่งทำให้การเก็บยากขึ้นไปอีก หรือบางทีก็ต้องปล่อยให้มันสุกเน่าคาต้นไปเลยถ้ากิ่งสูงมากๆ ไหนจะต้องนำมาบ่มก่อนส่งจำหน่ายให้ลูกค้าอีก

พวกเราโชคดีที่ในสวนมีพลับพันธุ์หวานเหลือรอดเหล่าแมลงอยู่บ้าง คุณแซวะสอยมาให้พวกเราได้ลองแบ่งกันชิม พลับหวานนั้นหวานอร่อยดีจริงๆ เนื้อหยุ่นฉ่ำ กินสดๆ แล้วสดชื่นมาก แต่คนส่วนใหญ่ก็จะได้กินในรูปแบบของพลับตากแห้งเท่านั้น (เพราะไม่คุ้มที่จะขายพลับสด ขนส่งยาก แมลงเยอะ) หากมองจากลักษณะภายนอกแล้วพลับหวานจะผลสีส้มจัดกว่าพลับฝาดที่จะสีส้มออกเหลือง เวลาสุกผลจะนิ่ม แต่พลับฝาดแม้สุกจนส้มแล้วแต่ผลก็จะไม่นิ่ม

ส่วนอะโวคาโดนั้น ต้นสูงชะลูดจนทุกคนยอมแพ้ คุณแซวะปีนขึ้นไปสูงเกือบเท่าตึกสามชั้น แล้วค่อยๆ เด็ดอะโวคาโดทีละผลโยนลงมาในตาข่ายที่มีคนกางรอรับอยู่ด้านล่าง ที่ต้องทำอย่างนี้ก็เพราะอะโวคาโดก็เป็นผลไม้อีกชนิดที่ช้ำง่าย ต้องเก็บทีละผลและประคบประหงมตลอดเวลาก่อนเดินทางไปถึงมือผู้บริโภค ฉันไปช่วยลำเลียงอะโวคาโดใส่ถาดทยอยเก็บออกมา แวบหนึ่งของความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็คือ “ต่อไปฉันจะไม่ต่อราคาอีกแล้วเวลาที่ซื้อจากตลาด เพราะรู้แล้วว่ามีขั้นตอนมากมายแค่ไหนกว่าจะมาถึงมือคนกิน”

ในระหว่างเดินไปในสวน คุณแซวะและลูกสาวภูมิใจพาทุกคนไปดู ต้นสะดือ-ต้นไม้ประจำตัวที่ฝังรกเอาไว้ตอนที่ลูกทั้งสองคนเกิด

ชาวปกาเกอะญอมีความเชื่อว่ารกคือส่วนหนึ่งของขวัญในร่างกายของเรา เมื่อคลอดแล้วต้องนำมาฝังที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ โดยเลือกต้นไม้จากลักษณะสูงใหญ่ มั่นคง ไม่เปราะหักง่าย หรืออาจเลือกไม้มงคลก็ได้ ต้นไม้นี้จะเป็นเหมือนเพื่อนชีวิตของคนคนนั้น หากเจ็บป่วยไม่สบายกายหรือไม่สบายใจก็สามารถกลับมาที่ต้นไม้นี้เพื่อขอให้ขวัญอยู่กับเนื้อกับตัวและกลับเป็นปกติได้

ฉันชื่นชมแนวคิดนี้ของชาวปกาเกอะญอมานานแล้ว เพราะเป็นกุศโลบายที่ทำให้คนมีความผูกพันกับต้นไม้ ผูกพันกับป่าโดยปริยาย เพราะมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะตัดทำลายในสิ่งที่เรารัก เราเชื่อ และมองเห็นว่ามันเป็นหนึ่งเดียวกับตัวเรา นี่คือความยิ่งใหญ่ที่แฝงไว้ในภูมิปัญญาดั้งเดิมที่คนรุ่นใหม่ขาดแคลนไป คนทุกวันนี้เราขาดแคลนความรัก เราไม่รัก เราจึงไม่รักษา เราไม่คิดว่าอะไรเกี่ยวข้องกับตัวเรา เราจึงเห็นป่าไม้หรือธรรมชาติทั้งหลายถูกทำลายไปโดยที่เราไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนใดๆ เลย การได้กลับมายืนฟังเรื่องเล่าดีๆ ในโอบล้อมของป่าเขาจึงชวนให้เรากลับมาทบทวนชีวิตได้ดีเหลือเกิน

ก่อนกลับ ฉันขอแบ่งซื้อลูกพลับและอะโวคาโดที่พวกเราช่วยกับเก็บสดๆ เองจากต้น มันมีความรู้สึกบางอย่างที่บอกไม่ถูก ทั้งตื้นตันที่เกษตรกรได้ราคาสินค้าตามที่เขาต้องการโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง รู้สึกมั่นใจกับความสดของผลไม้ที่เราซื้อ และเหนือสิ่งอื่นใดคือความรู้สึกขอบคุณภูเขา ป่า อากาศ ธรรมชาติดีๆ บนดอยที่ช่วยฟูมฟักผลผลิตทั้งหลายให้กลายเป็นอาหารที่มีรสชาติแสนอร่อย

การได้เห็นแหล่งที่มาของสิ่งที่เรากิน การได้เห็นกรรมวิธีขั้นตอนทุกอย่างกว่าที่อาหารจะเดินทางมาถึงมือเรา มันทำให้อาหารของเรานั้นเปี่ยมคุณค่าความหมายมากมายจริงๆ

และมันจะเป็นการกินพลับและอะโวคาโดที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในชีวิต 🙂

ขอขอบคุณ: Farmto ผู้สนับสนุนการเดินทาง ฟาร์มโตะเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้บริโภคได้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ดีมีคุณภาพ เชื่อมโยงกับผู้ผลิตโดยตรงโดยการร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตต่างๆ ในแต่ละรอบการผลิต มีทั้งข้าวออร์แกนิก กาแฟ สตรอว์เบอร์รี่ พลับ อะโวคาโด ทุเรียน น้ำผึ้ง ชีสจากฟาร์มที่เลี้ยงวัวตามธรรมชาติ เป็นต้น ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่

FB: www.facebook.com/yourfarmto

ภาพถ่าย: วิรตี ทะพิงค์แก