“เราคิดว่าพรสวรรค์ของเราไม่ใช่การวาดรูป” จิง-ธีรา ลี้อบาย นักวาดรูปสาว เกริ่นพร้อมรอยยิ้ม

แต่อาจจะเป็นเพราะเราทำซ้ำๆ ก็ได้ มันเลยทำได้ดี” เธอว่า พร้อมกับหันไปมองกองสมุดวาดรูปนับสิบเล่มข้างตัว ที่พอจะเป็นเครื่องการันตีได้อย่างดีถึงการฝึกฝนที่ไม่มีวันสิ้นสุดของเธอ จนทำให้ทุกวันนี้การจับพู่กันและระบายสีน้ำ กลายเป็นงานประจำที่พาเธอออกไปรู้จักโลกกว้าง และทำให้ชื่อ ‘T-ramissu’ นามปากกาชวนหิว เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการตลาดสีเขียว ผ่านภาพวาดที่เราอาจเคยเห็นผ่านตากันมาบ้าง จากผลงานหนังสือ Homemade Seed Saving เก็บเมล็ดพันธุ์ประจำบ้าน ของพันพรรณ ปกหนังสือสวน (Garden) ของโจน จันใด ภาพประกอบสุดคิวท์ของถังขยะผัก Done และโปสการ์ดทำมือลายเส้นเอกลักษณ์อีกหลายชิ้น

จากจิตรกรน้อยสู่นักเรียนออกแบบรักโลก

“ตอนเด็กๆ เราอยากเป็นนักเขียน ไม่ได้อยากเป็นนักวาดรูปเลย แต่พ่อบอกว่าเป็นนักเขียนไส้แห้ง ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกนะว่าคำว่าไส้แห้งคืออะไร แต่คิดว่าคงแปลว่าไม่มีกินเลยเลิกความตั้งใจนั้นไป” จิงเล่าเส้นทางความฝันของเธอที่ไม่ได้แน่วแน่กับการวาดรูปมาตั้งแต่ครั้งยังเด็ก เหมือนเรื่องเล่าชีวิตของศิลปินอีกหลายๆ คน เพราะสำหรับจิงการวาดรูปในตอนนั้นเป็นเพียงงานอดิเรก ที่พอทำบ่อยๆ เข้า ได้รับเสียงชื่นชม ก็กลายเป็นแรงผลักดันให้เธอฝึกฝนเรื่อยมา

“เราวาดรูปมาเรื่อยๆ จนมาพบว่าจริงๆ แล้วพรสวรรค์ของเราไม่ใช่การวาดรูปเก่ง แต่มันคือการที่เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ไม่ใช่ว่างานที่เราวาดไม่เคยผิด แต่ถ้ามันพลาด เรารู้ว่าจะต้องปรับยังไง บวกกับพอขึ้นมัธยม เราเรียนสายวิทย์ฯ สกิลมาทางนี้คนก็จะบอกว่าให้ไปเรียนสถาปัตย์สิ แต่เราไม่อยากสร้างบ้าน กลัวทำบ้านพัง” จิงหัวเราะ

นั่นเป็นเหตุให้เธอตัดสินใจสอบเข้าเรียนในสาขาการออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) สาขาย่อยของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้นักวาดรูปสาวได้นำพรสวรรค์อย่างการแก้ไขปัญหาและพรแสวงอย่างการวาดรูปที่เธอมีมาใช้รวมกันได้ในที่สุด

“การเรียน ID สอนให้เราคิดได้ ถ้าให้เราตีความการเรียน ID ทั้งหมด มันเหมือนการแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง รวมถึงปัญหาสังคมด้วย ว่าผู้ใช้มีปัญหาอะไร แล้วเราสามารถออกแบบอะไรเพื่อมาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง”

พอดีกับที่ตอนนั้นจิงได้รับโจทย์จากอาจารย์ให้ทำโปรเจกต์เกี่ยวกับธุรกิจแนว Social Enterprise ซึ่งเมื่อได้อยู่กับมันเยอะเข้า เธอก็เริ่มสนใจเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง จิงค่อยๆ พัฒนาโปรเจกต์ของเธอซึ่งเป็นต้นแบบของ YELLOWhello แบรนด์นมถั่วเหลืองอินทรีย์ เพื่อนำไปส่งประกวดในงานต่างๆ ปรากฎว่าผลลัพธ์ที่ได้ออกมาดีเกินคาด เธอจึงตัดสินใจต่อยอดร้านถั่วเหลืองเพื่อชุมชนนี้ให้กลายเป็นธุรกิจจริงๆ

นั่นคือก้าวแรกของจิง สู่วงการกินดีอยู่ดี

จากเจ้าของธุรกิจ SE สู่นักเล่าเรื่องด้วยภาพ

YELLOWhello คือธุรกิจ SE หนึ่งเดียวที่จิงเริ่มทำร่วมกับ แอม-ศิวรี มีนาภินันท์ รุ่นพี่ร่วมมหาวิทยาลัย ซึ่งเล็งเห็นปัญหาของถั่วเหลืองจีเอ็มโอที่มีอยู่เกลื่อนตลาด จนขอไปจับมือร่วมกับเกษตรกรอินทรีย์ คิดโครงสร้างธุรกิจนมถั่วเหลืองในแบบของตัวเองที่เป็นมิตรต่อชุมชน นั่นทำให้จิงได้เริ่มใช้ทักษะการวาดภาพของเธอเพื่อประกอบการขายสินค้า คู่ไปกับการเดินทางออกต่างจังหวัดเพื่อพบปะกับชุมชนที่เธอทำงานด้วยอย่างสม่ำเสมอ 

“ตอนแรกๆ เราคิดอย่างดีเลยว่าสิ่งที่เราทำจะสามารถช่วยโลก ช่วยคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ได้ แต่พอทำจริงๆ เราพบว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะเปลี่ยนอะไรบางอย่าง เพราะมันไม่ใช่แค่การที่เราจะเข้าไปประท้วงสิ่งที่เห็นว่าเป็นปัญหา แล้วจะเกิดการแก้ระบบนั้นได้ทันที

“บวกกับปัจจัยด้านธุรกิจอีกหลายอย่าง เราเริ่มรู้สึกสับสนกับสิ่งที่ทำอยู่ และเกิดคำถามว่าตกลงเราทำไปเพื่ออะไรกันแน่”

จิงตัดสินใจยุติบทบาทของเธอใน YELLOWhello โดยมีแอมคอยดูแลธุรกิจต่อไป แล้วหันมาหยิบกระดาษ จานสีและพู่กันอย่างจริงจัง โชคดีว่าจากการออกบูทบ่อยครั้ง ทำให้ผลงานของเธอเป็นที่รู้จักในวงการตลาดสีเขียวอยู่แล้ว เมื่อคนพบว่าเธอหันมาเป็นศิลปินเต็มตัว ก็เริ่มเข้ามาติดต่อ ชวนให้ไปวาดภาพหลากหลาย ทั้งงานออกแบบโลโก้ ทำผลิตภัณฑ์ หรือหอบกระดาษเปล่าไปช่วยสรุปงานเวิร์กช็อปต่างๆ ให้ออกมาเป็นรูปภาพ

“งานที่รับเป็นชิ้นเป็นอันคือ visual story telling จริงๆ จะบอกว่าเราเป็นศิลปินก็ไม่ตรงซะทีเดียว เพราะเราเป็นคนเล่าเรื่อง เรามักจะรับหน้าที่เป็นคนไปบันทึกเรื่องราวให้เวิร์กช็อปต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ แบบขึ้นเหนือล่องใต้เลย สนุกดี เพราะทุกงานเป็นความรู้ใหมสำหรับเรา มีทั้งเรื่องแนวจิตวิญญาณ การไปหาตัวเอง หรือเรื่องวิชาการมากๆ เลยก็มี

“ตั้งแต่ตอนเราทำธุรกิจ SE แล้วที่เราต้องพิทชิ่ง เราก็พูดรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เราไม่เข้าใจการเขียนแผนธุรกิจหรือเรื่องตัวเลขนัก ให้ทำมาเป็นตัวเลขได้ก็จริง แต่เราไม่ได้เข้าใจมันจริงๆ หรอก เราเลยเปลี่ยนมาพรีเซนต์ด้วยภาพ เราวาดภาพเล่าเรื่องธุรกิจของเราทั้งหมด คนก็พูดกันว่ามันเข้าใจขึ้นเยอะ ตอนแรกเราคิดว่าเพราะเราพูดไม่รู้เรื่องล่ะมั้ง แต่สุดท้ายเราพบว่าการสื่อสารด้วยภาพมันครอบคลุมมากกว่าการพูด เหมือนบางอย่างพูดไปมันอาจจะตกหล่น อารมณ์ไม่ชัด แต่พอใช้ภาพมันเก็บได้ครบทั้งเรื่องราวและอารมณ์”

ให้ภาพวาดพาไปเจอโลกกว้าง

“จุดเปลี่ยนที่ทำให้คนมารู้จักเราเยอะจริงๆ คือตอนที่พี่ป๊อป (กิตติพงษ์ หาญเจริญ) มาชวนเราไปวาดโคเวอร์เพจกับโลโก้ของ Gap Year Program หลังจากนั้นเราเลยได้รู้จักกับศิลปินรุ่นพี่อีกหลายคนที่เขาอยากให้โอกาสเรา และคอยแนะนำงานให้เราอยู่เรื่อยๆ ซึ่งมันน่ายินดีมากเลยที่เราได้มีโอกาสสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำสิ่งดีๆ

“อย่างหนังสือ Homemade Seed Saving เก็บเมล็ดพันธุ์ประจำบ้าน พี่ป๊อปเขาก็มาชวนเราไปร่วมงานกับพันพรรณ เริ่มจากการที่เราไปช่วยเขาเซ็ตระบบที่นั่นใหม่ทั้งหมด ช่วยเขาทำป้าย ช่วยเขาจัดวางพื้นที่ ให้คนที่มาเป็นอาสาสมัครเข้าใจและสามารถจัดการเมล็ดพันธุ์ได้ถึงปลายทาง เพราะจริงๆ งานเก็บเมล็ดพันธุ์เป็นงานยิบย่อยมาก ถ้าเราทำผิดจุดแค่นิดเดียวงานก็พังเลย แล้วพอทำเสร็จป้ายมันออกมาอลังการมาก จนคิดว่าถ้าวันหนึ่งมันต้องเก่าไปตามกาลเวลาคงเสียดายน่าดู เลยคุยกันว่างั้นหยิบเอาชุดข้อมูลเหล่านี้มาเล่าเป็นหนังสือด้วยดีกว่า”

จิงอวดหนังสือเล่มบางที่มีลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ของเธออยู่บนปก ภายในบรรจุเรื่องราวของการเตรียมเมล็ด การปลูกเมล็ดและสาระน่ารู้เรื่องเมล็ดพันธุ์เข้าใจง่าย คู่มากับภาพวาดสีน้ำน่ารักอัดแน่น พร้อมกับเล่าสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ระหว่างการทำหนังสือ อย่างการที่เธอสามารถจำแนกเมล็ดพันธุ์ได้มากขึ้น เห็นความแตกต่างเฉพาะตัวของพวกมัน และเมื่อรู้เยอะเธอก็ยังหาโอกาสส่งต่อให้คนใกล้ชิดเวลาเจอกันได้อีกด้วย

ไดอารี่ประจำวันจากพู่กันและจานสี

เป็นเวลา 3 ปีกว่าแล้วที่พู่กันและจานสีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราเลยชวนจิงหยิบผลงานที่ตั้งกองสูงอยู่ข้างตัวขึ้นมาเล่าบ้าง

จิงเล่าว่านอกจากงานที่เจ้าตัวรับวาดอยู่เรื่อยๆ เธอยังมีอีกหนึ่งงานประจำที่สนุกกับมันอยู่เสมอ นั่นคือการหยิบเอาเรื่องในชีวิตประจำวันขึ้นมาเล่าด้วยภาพสีน้ำ โพสต์ลงเฟซบุ๊กบ้าง อินสตาแกรมบ้างผลัดเปลี่ยนกันไป

“เอาจริงๆ มันคือไดอารี่ที่เราอยากถ่ายทอดนี่แหละ เวลาเราไปเที่ยว ไปเจอธรรมชาติสวยๆ เราคิดว่าบางคนที่อยู่ออฟฟิศเขาคงไม่มีโอกาสได้มาเห็นมุมงามๆ แบบนี้ของโลกหรอกเนอะ เราเลยชอบวาดมาเล่า

“บางทีเราก็บันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ที่แทรกความรู้สึก ข้อมูล หรือการทดลองของเราลงไปด้วย เหมือนเราไม่อยากพกถุง เราก็ลองไปเรื่อยๆ ว่าถุงแต่ละชนิดมันมีฟังก์ชั่นยังไง อันไหนใช้แล้วเวิร์ก ไม่เวิร์ก หรือบางทีเราก็เล่าเรื่องตอนเราเลี้ยงโยเกิร์ตเป็นสัตว์เลี้ยง ว่ามันทำให้เราไม่ต้องไปซื้อโยเกิร์ตข้างนอกนะ แล้วยังเก็บไว้ทำต่อได้ด้วย พอเราโพสต์ก็มีคนมาแชร์ มาแลกเปลี่ยนว่าเขาก็ไปลองทำตามเรามาเหมือน

“จากที่แต่ก่อนเราออกเดินทางเยอะ เราพบว่าโลกมันมีทั้งด้านที่ดีและไม่ดีแหละ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันจะผสมกันออกมาให้สวยงามตามที่โลกเป็นเอง เราไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไร แค่ดูการเปลี่ยนแปลงของมันไปเรื่อยๆ แล้วถ่ายทอดสิ่งนั้นออกมาผ่านภาพวาดให้คนอื่นเห็น  เมื่อเขาเห็นว่าโลกมันสวยงามอย่างไร เดี๋ยวเขาก็จะหาวิธีที่เหมาะสมในการดูแลโลกของเขาเอง

“เพราะแบบนี้เราเลยชอบวาดรูปละมั้ง เหมือนแต่ก่อนเราพยายามไปบอกให้เขาเปลี่ยนตรงนั้นตรงนี้ แต่ตอนนี้เราเริ่มจากตัวเองก่อน แล้วพอมีคนอยากมาเปลี่ยนตามเรา มันรู้สึกดีนะ เรารู้สึกว่ามันมีพลัง มันมีคุณค่า” จิงยิ้ม

เข้าใจสีน้ำ เข้าใจชีวิต

นอกจากการวาดรูปเล่าเรื่องราวของเธอแล้ว จิงยังเปิดคอร์สเล็กๆ สอนเล่าเรื่องผ่านสีน้ำ ให้ผู้คนที่สนใจมาลงเรียนกับเธอได้ด้วย 

“ถ้าเราเข้าใจสีน้ำ เราจะเข้าใจชีวิต” มากไปกว่าการสอนว่าควรจะวาดรูปด้วยโครงเส้นอย่างไรให้ออกมาสวย นี่คือสิ่งที่เธอมักสอดแทรกลงไปในการสอนมากกว่า

“จริงๆ สีน้ำเป็นสีที่เหมือนธรรมชาติมากที่สุด เพราะมันคือพิกเมนต์ของสีกับน้ำ หน้าที่ของเราคือควบคุมมันให้พอดีที่สุด ไม่เยอะเกินไป ไม่น้อยเกินไป ถ้าเราทำความเข้าใจมันได้ เราจะใช้สีน้ำได้อย่างลื่นไหล และการจะวาดอะไรออกมาได้เราก็ต้องสังเกตและจดจ่ออยู่กับมัน”

ดูเป็นงานที่ต้องใจเย็นมาก- เราออกความเห็น

“มันต้องใจเย็นและใจร้อนนะ เพราะบางทีเราต้องใจเย็นในตำแหน่งที่เราอยากให้เส้นมันคมชัด แต่สีดันใกล้กัน เราต้องรอให้สีแรกแห้งก่อน เพื่อจะได้ตัดเส้นมันได้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราต้องใจร้อนในจุดที่เราอยากให้สีมันกลืนกัน ถ้าเราอยากวาดแก้มสีชมพู เราจะมัวรอให้สีมันแห้งแล้วค่อยแต้มไม่ได้ มันจะกลายเป็นดวงกลมๆ แต่ถ้าเราแต้มไปในจังหวะที่ถูกต้องมันก็จะเป็นสีชมพูระเรื่อ เนี่ย เราต้องทำความเข้าใจมันมากเลย”

และเพราะทุกๆ ขั้นตอนตั้งแต่การร่างเส้น ลงสี ไปจนถึงการตัดเส้นให้คมชัด ล้วนเกิดจากความเข้าใจในความรู้สึกของตัวเอง ที่เธอมักจับสังเกตอยู่เสมอเมื่อได้ใช้เวลาวาดภาพ และความเข้าใจในธรรมชาติของสี ภาพวาดของจิงจึงกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารชิ้นพิเศษที่ช่วยเธอในเกือบจะทุกสถานการณ์

“เราเองก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่คนมักจะบอกว่าการวาดของเราดูมีชีวิต เหมือนถ่ายทอดไปตามอารมณ์จริงๆ อาจจะเป็นเพราะเรารู้สึกไปกับมันจริงๆ นี่แหละ ถ้าเราวาดคนเท้าแขน เราก็ต้องนั่งเท้าแขนด้วย หรือถ้าเราวาดคนยิ้ม เราก็ต้องยิ้ม ซึ่งเราก็ไม่ได้เห็นตัวเองหรอกนะ แต่เรามองว่าถ้าทำแบบนี้ภาพจะถ่ายทอดอารมณ์ของเราเข้าไปด้วย” 

ในตอนนี้ เราเองก็กำลังมองจิงที่ยิ้มไประหว่างการเล่าเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ขอให้ทุกงานมีความสุข

ผ่านงานมานับสิบ งานชิ้นไหนคืองานที่จิงชอบมากที่สุด – เราถาม

จิงเงียบไปพักใหญ่ ระหว่างกวาดตามองงานส่วนหนึ่งที่เธอขนมาให้เราดูในวันนี้

“ส่วนใหญ่มันคืออะไรที่เราอยากทำ เช่น โปสการ์ดสูตรอาหารไทย เรามองว่าคนต่างชาติชอบดูหนังสือสูตรอาหารนะ แต่มันคงยากที่เขาจะขนกลับไปทั้งเล่ม เราเลยเอาเรื่องอาหารไทยมาทำโปสการ์ด ให้แฟนเรา (เชฟจิ้น-กวีวิรัญจ์ บัวสุวรรณ) ช่วยเล่าสูตรกับวัตถุดิบต่างๆ ให้ฟัง ส่วนเราก็เอามาแปลงเป็นภาพ หรือการ์ดใส่ชา ซึ่งเกิดจากการที่บ้านเราเป็นคนจีน แล้วจะมีเวลาน้ำชาที่ทุกคนต้องมารวมกัน พูดคุยกัน เราเลยทำการ์ดที่มีถุงชาขึ้นมา พร้อมคำสอนภาษาจีนที่แม่เราชอบพูด ให้คนกลับไปชงชาแล้วแลกเปลี่ยนเรื่องราวกันจากการ์ดใบนั้น

“อย่างผัก Done เราก็ชอบ เพราะเขาทำถังขยะใช่ไหม เขามาเล่าให้เราฟังว่าแต่ก่อนเขาทำแล้วคนไม่ค่อยสนใจเลย แต่พอเราช่วยไปวาดรูปให้ คนก็เริ่มมาสนใจ บางทีเขาอาจจะแค่อยากดูรูปหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่สุดท้ายมันช่วยทำให้คนได้เห็นสินค้าของเขาไปด้วย มันคือประโยชน์ทางฟังก์ชั่นที่สร้างผลให้กับผู้ประกอบการจริงๆ”

จิงยังคงไล่ชื่อผลงานอื่นๆ ของเธอไปเรื่อยๆ

“อ๋อ! เวลาที่ประทับใจจริงๆ คือการที่ได้เห็นงานของเราอยู่ที่อื่น เมื่อมีร้านที่ใช้งานของเรา เราก็จะรู้สึกว่าดีจังนะที่มันได้ถูกใช้งาน หรือเวลาเราวาดรูปคนแล้วเขาเอาไปส่งให้คนอื่นต่อ หรือเขาเอาไปตั้งรูปโปรไฟล์ เราก็ดีใจแล้ว

“เราได้ใส่ชีวิตลงไปในงานนั้นๆ ทำให้งานแต่ละชิ้นมีชีวิตของมัน ดังนั้นพอมีคนถูกใจหรือชอบ มันคงจะมีความสุข

“เหมือนเวลาจัดดอกไม้ ดอกไม้ก็มีชีวิต หน้าที่ของมันคือสร้างความสวยงาม พอมีคนจัดมันใส่แจกันให้คนอื่นเห็นต่อ เราว่าดอกไม้ก็คงจะดีใจ ที่มีคนได้ชมความงามของมัน เหมือนงานของเราเวลาที่มีคนไปเจอ เราว่ามันก็น่าจะดีใจนะที่มันได้ทำหน้าที่ของมันเหมือนกัน”

หลังจากนี้จิงยังวางแผนจะสร้างชีวิตให้กับงานอีกหลายชิ้น เธอเล่าแผนคร่าวๆ พร้อมพาเราเดินไปดูบ้านสีขาวสะอาดตาที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง ซึ่งจะกลายเป็นแกลอรี่รวมผลงานของเธอและร้านอาหาร chef table พร้อมแปลงผักปลูกเองของเชฟจิ้น

“บ้านหลังนี้ถือเป็นมาสเตอร์พีซของเรา น่าจะได้เปิดเร็วๆ นี้ มันจะรวบรวมงานที่เราอยากทำจริงๆ ไว้ทั้งหมด เพื่อให้มันได้ทำหน้าที่บอกเล่าความสวยงามของโลกใบนี้แบบที่เราตั้งใจ” จิงปิดท้ายไปพร้อมกับเราที่ฟังแล้วยังอดตื่นเต้นแทนเธอไม่ได้ 

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง