ในฐานะคนชอบช้อปปิ้ง หลายต่อหลายครั้งสมองและสำนึกก็ตีกันอยู่ในหัว ข้างนึงก็กลัวว่ายิ่งเราจับจ่าย เราก็สร้างขยะรวมถึงใช้พลังงานที่ส่งผลกับโลกและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกข้างหนึ่งก็มีความอยากได้ผสมกับความจำเป็นในชีวิต วันนี้ จะพาผู้อ่านมาดูไปด้วยกันว่า เรามีทางเลือกในการช้อปปิ้งอย่างไรที่จะยังเป็นมิตรกับโลกได้อยู่ รวมถึงแบรนด์และธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ ปรับตัวอย่างไร เพื่อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง

ช้อปในศูนย์การค้า Low carbon
ศูนย์การค้าเป็นธุรกิจหนึ่งที่เราต่างทราบดีว่า มีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงมาก และแน่นอนว่าในแต่ละวันก็ผลิตขยะเข้าสู่กระบวนการกำจัดมหาศาล แต่สำหรับคนเมือง ศูนย์การค้าก็เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต การที่เราสามารถอุ่นใจได้มากขึ้นว่า ธุรกิจศูนย์การค้าที่เรากำลังเดินช็อปปิงอยู่นี้ มีความใส่ใจและพยายามที่จะลดการใช้พลังงาน น้ำ และลดการสร้างขยะ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

ศูนย์การค้าในบ้านเรา เริ่มมีการดำเนินการที่จริงจังมากขึ้นในการจัดการเรื่องพลังงาน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการลดค่าใช้จ่ายสำคัญของแต่ละศูนย์ แต่ยังเป็นการลดคาร์บอนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย อย่างเช่น ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล ที่กำหนดให้วาระด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของบริษัท โดยได้ทยอยติดตั้งแผ่นโซล่าร์พาแนล บนพื้นที่หลังคาศูนย์การค้ากว่า 17 แห่ง เพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ EV ในทุก ๆ ศูนย์การค้า รวมถึงออกแบบศูนย์การค้าใหม่ ๆ ให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยมุ่งเป้าที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ 100% ในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากนี้ ยังได้เริ่มกระบวนการในการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สำหรับบริษัทในเครือให้เป็นบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล รวมถึงสร้างกระบวนการหมุนเวียนขยะจากอาหารให้กลายเป็นพลังงานอีกด้วย

ช็อปผ่านออนไลน์ แต่ลดใช้พลาสติก
หลังการระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกไม่สามารถเดินทางได้ ธุรกิจประเภท E-Commerce จึงเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมถึงธุรกิจประเภทโลจิสติกส์ รับส่งสินค้า ที่ได้รับอานิสงค์จากปรากฏการณ์นี้ไปด้วย แม้การที่ผู้คนจะลดการเดินทางจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามหีบห่อและกระบวนการจัดส่งสินค้า ก็เป็นกระบวนการที่สร้างขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลเช่นกัน

ใช้วัสดุธรรมชาติอย่างเช่นผักตบชวาอบแห้ง ในการช่วยกันกระแทกในกล่องบรรจุสินค้า

ปัจจุบันผู้ให้บริการช้อปปิ้งออนไลน์หลายราย ก็หันมาดำเนินการในด้านนี้อย่างจริงจัง เพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกลง โดยหลายรายหันมาใช้วัสดุประเภทกระดาษทดแทนพลาสติกในการห่อสินค้าและการกันกระแทก นอกจากนี้ยังมีการใช้วัสดุธรรมชาติอย่างเช่นผักตบชวาอบแห้ง ในการช่วยกันกระแทกในกล่องบรรจุสินค้าที่จะจัดส่งอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความใส่ใจของฝั่งแบรนด์หรือผู้ให้บริการเป็นหลัก แต่หากเราในฐานะผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ในการเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์หรือผู้ให้บริการ E-Commerce ที่ใส่ใจ แต่เรายังมีสิทธิ์ที่จะสอบถามหรือแจ้งความต้องการของเราให้แก่ผู้ขายมากขึ้น โดยถือเป็นการผลักดันให้ร้านค้า แบรนด์ หรือธุรกิจออนไลน์หันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้นได้ด้วย

ช้อปแบรนด์สีเขียว
ไม่เพียงแต่เลือกผู้ให้บริการ E-Commerce ที่ใส่ใจเท่านั้น แต่แบรนด์สินค้าก็มีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันหลายแบรนด์มุ่งมั่นในการสร้างกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการบริการหลังการขาย
แบรนด์เทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Apple ก็เป็นอีกแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยรายงานด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท Apple ในปี 2022 ได้ระบุว่า ในปี 2021 อลูมิเนียมทั้งหมดถึง 59 เปอร์เซ็นต์ที่ Apple ใช้ในผลิตภัณฑ์มาจากวัสดุรีไซเคิล นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะกำจัดพลาสติกออกจากบรรจุภัณฑ์ของตนเองให้ได้ภายในปี 2025 โดยนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา Apple ได้ลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ของตนเองแล้วถึง 75 เปอร์เซ็นต์

ช้อปน้อยลง ซ่อม-เวียนใช้-upcycling มากขึ้น
ท้ายที่สุด แม้ว่าเราจะมีทางเลือกในการช็อปปิงกับธุรกิจสีเขียวต่างๆ แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้วิถีชีวิตและการบริโภคของเราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นก็คือ การซื้อหรือใช้เฉพาะของที่จำเป็น ลดความถี่ในการซื้อลง แต่เพิ่มความถี่และระยะเวลาในการใช้สิ่งของให้นานขึ้น ตามแบบ Circular Economy นั่นเอง

อาจฟังดูแปลก แต่หลายแบรนด์เริ่มหันมาออกแบบสินค้าของตนเองให้มีความคงทนมากขึ้น สามารถซ่อมแซมได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคตมากขึ้น

อย่างเช่น Bang & Olufsen แบรนด์เครื่องเสียงสัญชาติเดนมาร์ก ที่ออกแบบลำโพงรุ่นใหม่ให้มีความคงทน มีบริการอะไหล่ที่สามารถซ่อมได้ง่ายในระยะยาว ๆ รวมถึงเปลี่ยนแปลงวัสดุได้เองในอนาคต จนได้รับ Cradle to Cradle Certified® ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานการออกแบบที่ปลอดภัย รับผิดชอบ และตรงตามหลัก Circular Economy

แนวโน้มนี้ ไม่ได้เพียงแต่เกิดขึ้นในฝั่งผู้บริโภค แต่กับฝั่งแบรนด์ผู้ผลิตเองก็เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันผู้เขียนเองก็ค้นพบชาเลนจ์ใหม่ ในการพยายามซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้ที่อยู่มานานแทนที่จะตัดสินใจซื้อใหม่ทันที ไม่กี่วันก่อน ก็เพิ่งส่งเครื่องเล่นซีดี อายุ 14 ปีกลับไปซ่อม ในวันที่แทบไม่มีใครฟังเพลงจากแผ่นซีดีแล้ว ส่งกระเป๋าสตางค์ที่ขอบเริ่มเปื่อยให้ช่างซ่อมเครื่องหนังคืนชีพให้กลับมาในสภาพดี และกำลังมองหาช่างซ่อมร่ม ที่ปุ่มกดไม่ดีดร่มออกมาแล้ว แม้ว่าร่มคันใหม่น่าจะราคาไม่กี่ร้อย แอบรู้สึกว่า จริง ๆ แล้วการที่เราสามารถยืดอายุของรักของเราให้มันอยู่กับเรานานขึ้นได้ นั้นสนุก ท้าทาย ไม่แพ้การไปเดินช็อปของใหม่เลยแม้แต่น้อย

เอกสารอ้างอิง
– www.bangkokbiznews.com/social/977757
– www.tei.or.th/th/blog_detail.php?blog_id=51
– www.apple.com/th/newsroom/2022/04/apple-expands-the-use-of-recycled-materials-across-its-products
– onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1002/bse.2274
– www.bang-olufsen.com/en/dk/story/cradle-to-cradle-certification
– www.c2ccertified.org/get-certified/product-certification