แม่ทาเป็นตำบลเล็กๆ ในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ที่จิ๋วแต่แจ๋ว เพราะที่นี่คือแหล่งผลิตอาหารและพรรณพืชออร์แกนิกมานานกว่า 30 ปีตั้งแต่เมืองไทยยังไม่ตื่นตัวเรื่องอาหารสุขภาพ จนกระทั่งในวันนี้ พื้นที่เล็กๆ ที่มีวัตถุดิบครบถ้วนและคนเบื้องหลังที่เป็นตัวจริงเสียงจริง ได้เดินออกมาเป็นคนเบื้องหน้าผ่านการออกแบบ Maetha Organic Café ให้เป็นพื้นที่ที่ผู้ผลิตจะได้พบกับผู้บริโภคโดยตรง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องอาหารการกินที่ปลอดภัยของคนรักสุขภาพสำหรับเมืองเชียงใหม่

พ่อพัฒน์ อภัยมูล เป็นปราชญ์ชาวบ้านคนแรกๆ ที่กลับลำชีวิตจากให้การเกษตรเคมีที่มีแต่สร้างหนี้สินและทำลายสุขภาพ ด้วยการหันมาสร้างสรรค์เกษตรทางเลือก จากการลองผิดลองถูกจนกลายเป็นองค์ความรู้ที่ผ่านการทดลองแล้วว่าประสบความสำเร็จ  แม่ทาจึงเป็นพื้นที่ของตัวจริงเรื่องเกษตรอินทรีย์ ที่วันนี้รุ่นลูกๆ เข้ามาช่วยสานต่อจากพ่อแม่  มัทนา  อภัยมูล-ลูกสาวพ่อพัฒน์ จึงเป็นหนึ่งในเรี่ยวแรงแข็งขันที่ช่วยขยับขยายองค์ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ให้ไปไกลกว่าที่เคยเป็นมา จากลูกๆ ของกลุ่มแกนนำ5-6คน ก่อเกิดเป็นกลุ่มก้อนของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานร่วมกันผ่านวิสาหกิจชุมชนที่มีชื่อร่วมสมัยขึ้นกว่าเดิมว่า Maetha Organic

ชุมชนแม่ทาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารขนาดใหญ่ของตลาดออร์แกนิกประเทศไทย จำหน่ายสินค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ มีทั้งระบบที่ผู้บริโภคผูกปิ่นโตกับผู้ผลิต (CSA) การจำหน่ายด้วยตัวเอง และฝากจำหน่ายในร้านค้าเครือข่าย มีผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ เช่น แยม ชาสมุนไพร ผลไม้อบแห้ง รวมทั้งยังเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ และแหล่งเรียนรู้ที่มีชื่อเสียงระดับนานาประเทศที่มีคนติดต่อมาเรียนรู้เรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนอยู่เสมอ ล่าสุดคือเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและป่าไม้จากประเทศภูฏานที่มาดูงานอย่างเข้มข้น

เมื่อมีคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยกันบริหาร แนวคิดเรื่องคาเฟ่จึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการและความถนัดที่หลากหลาย เพราะหัวใจสำคัญที่ทีมยึดถือคือการมีส่วนร่วมของสมาชิก “ถ้าไม่นับว่าการมีรุ่นพ่อแม่เราทำงานเรื่องนี้มานาน  สิ่งที่เป็นจุดแข็งของพวกเราที่เป็นคนรุ่นใหม่คือการที่สมาชิกทุกคนทำงานแบบมีส่วนร่วมจริงๆ เรารับฟังความเห็นของทุกคน ยอมรับความเห็นของกันและกัน บางอย่างเราทำแล้วอาจดีกว่ารุ่นพ่อแม่เราก็ทดลองทำ

“ร้านอาหารหรือร้านกาแฟสำหรับเราเป็นหนึ่งช่องทางที่เราจะสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้โดยตรง อาหารจะเป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหารและยังต่อยอดไปเรื่องอื่นๆ ได้อีกเยอะ”

แม่ทาออร์แกนิคคาเฟ่ มีจำหน่ายกาแฟ อาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งวัตถุดิบส่วนใหญ่ที่ใช้ในร้านมาจากชุมชนของตัวเองรวมถึงเครือข่ายออร์แกนิก เช่น เครื่องปรุงรถจากรถชำเปลี่ยนโลก เมล็ดกาแฟจากเครือข่าย lapato ที่ได้มาจากกาแฟใต้ร่มไม้ในป่าใหญ่ เรียกว่า “กินกาแฟที่แม่ทา รักษาป่าที่แม่วิน” เมนูอาหารในร้านจะมีเมนูยืนพื้นเล็กน้อย ที่เหลือจะเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนไปตามวัตถุดิบที่มี เพราะหัวใจของการกินดีคือการกินผักกินให้หลากหลายและกินตามฤดูกาล   โดยเมนูอาหารพัฒนาจากวัตถุดิบที่เป็นจุดเด่นจริงๆ ของแม่ทา เช่น น้ำปู๋  ข้าวโพดฝักอ่อน ผักพื้นบ้านหลากชนิด ให้มีหน้าตาร่วมสมัยถูกใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น

เมนูอร่อยขึ้นชื่ออยากชวนให้ชิมคือ ข้าวยำบ้านทา ที่หน้าตาดูคล้ายข้าวคลุกกะปิ แต่ใช้ข้าวคลุกน้ำปู๋ที่ได้จากปูนา (ในนาข้าวออร์แกนิก) ต้นฤดูก่อนการจำศีล มันในตัวจึงไม่เยอะมาก กินเคียงกับยำส้มโอ หมูหวาน ไข่ฝอย หอมแดง พริกซอย มะนาว คลุกเคล้าให้กัน กินแล้วหอมกินน้ำปู๋เบาๆ ได้รสชาติสดชื่นจากสมุนไพร คั่วแคซีชั่น แกงแคผัดแห้งที่เลือกสรรผักพื้นบ้านตามฤดูกาลมาเป็นวัตถุดิบสำคัญ หอมอร่อยได้คุณค่าจากผักหลากชนิด คะน้าเม็กซิกันราดเต้าหู้เห็ดหอม ได้รสชาติเค็มมันจากซอสเห็ดหอมทำเองและหวานกรุบกรอบจากคะน้าสดๆ สลัดซีซาร์เต้าหู้ย่าง ที่เต้าหู้ผลิตจากถั่วเหลืองออร์แกนิก กินเคียงผักสดรสอร่อยจากฟาร์มหลังสวน ซอสซีซาร์มีส่วนผสมของน้ำหมักลูกหม่อน และเมนูเด็ดคือ เฟรนช์ฟรายบ้านทา หรือข้าวโพดอ่อนชุบแป้งทอด ที่กินเพลินและอร่อยได้รสชาติอีกแบบหนึ่งเมื่อกินจิ้มซอส เมนูนี้ ว่ากันว่าอร่อยมากเสียจนเวลาที่เด็กๆ ร้องไห้แล้วบอกว่าจะทำให้กิน เด็กจะหยุดร้องในทันทีเลยล่ะ เพราะแม้จะฟังดูเป็นของพื้นๆ แต่อยากให้รู้ไว้เลยว่า ข้าวโพดอ่อนที่มีขายในท้องตลาดนั้นมีสารเคมีท่วมท้น (พ่อพัฒน์ก็เคยทำไร่ข้าวโพดเคมีมาก่อน) การได้กินข้าวโพดอ่อนออร์แกนิกที่ทอดกรอบกรุบพอดีจึงเป็นสวรรค์ชั้นดีเชียว

กินอาหารอิ่มแล้วแต่เรายังอยากรู้ที่มาของอาหาร คุณมัทนาจึงพาเราไปชมสวนหลังบ้าน แม้เนื้อที่ไม่ได้กว้างใหญ่มากแต่มีต้นไม้ผสมผสานแปลงผักหลากหลายชนิดเหลือเกิน  แปลงผักบางส่วนคลุมด้วยมุ้งหรือตาข่ายเอาไว้ชัดเจนเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์จำหน่าย เพื่อไม่ให้สายพันธุ์ปนเปื้อน มีทั้งผักฝรั่งอย่างผักสลัดต่างๆ เช่น คอสเขียว คอสแดง รวมถึงผักพื้นบ้านหายากเช่นมะเขือยาวสีขาว เป็นต้น

ในระหว่างที่เราได้เยี่ยมชมแปลงก็พบนักศึกษาชาวฝรั่งเศสกำลังทำงานในแปลงอยู่ด้วย ความรู้เรื่องการเพาะปลูก การเก็บเมล็ดพันธุ์พืชจึงเป็นหัวใจของความมั่นคงทางอาหารที่หลายๆ ประเทศกำลังตื่นตัวกันอย่างมาก การมีเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกขยายได้ด้วยตัวเองเป็นเครื่องมือการันตีเพียงประการเดียวว่าผู้คนจะไม่อดตายเพราะมีพืชอาหารกิน ผิดกับประเทศเรากำลังเดินทางไปสู่ระบบผูกขาดทั้งหมด คนในหลายประเทศจึงส่งผู้คนออกมาเรียนรู้เรื่องการพึ่งตัวเองผ่านการเรียนรู้การผลิตในวิถีเหล่านี้

แม่ทาจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ครบวงจรที่เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการผลิต เช่น เทคนิคการปลูกผัก การทำปุ๋ย การแปรรูป หรือการเก็บเมล็ดพันธุ์ มีทั้งหลักสูตรการเรียนรู้ระยะสั้นและระยะยาว

เศษผักในแปลงสามารถนำไปเป็นอาหารให้ไส้เดือน มูลไส้เดือนนำมาใช้เป็นปุ๋ยในแปลงผักหรือจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ในร้านค้าได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเป็นมูลค่าได้ทั้งสิ้นหากเราได้เรียนรู้วิธีการจัดการอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

อันที่จริง ที่นี่ยังเป็นแหล่งเลี้ยงวัวนมขนาดใหญ่อีกแหล่งหนึ่งในประเทศไทย หากมีการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปเพิ่มมูลค่าจากผลิตภัณฑ์นม เราอาจมีแหล่งชีสอร่อยๆ และปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกแห่งในอนาคตได้ด้วย ซึ่งข่าวดีสำหรับคนเชียงใหม่และลำพูนคือชุมชนแม่ทามีระบบส่งผักตะกร้าด้วยคือจัดส่งผักสดและผลไม้คละชนิดตามฤดูกาลให้ลูกค้าถึงบ้าน สามารถเลือกได้ว่าต้องการขนาดใหญ่เล็กอย่างไร สอบถามรายละเอียดเรื่องพื้นที่การจัดส่งได้ที่โทร. 087-1915595 (คุณอั๋น)   หากต้องการเรียนรู้เรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ไว้เพาะขยายเอง ติดต่อที่โทร.085-0326642 (คุณอุ้ย)   มีโฮมสเตย์บริการสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้เรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนโดยเฉพาะ

ร้านแม่ทาออร์แกนิค อยู่ที่ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จ.เชียงใหม่ เปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 10.00-17.00น.
FB: Maetha Organic