หลายปีมานี่ มะยงชิดขึ้นแท่นผลไม้เลอค่าหน้าร้อน ด้วยความหวานฉ่ำชื่นใจแซงหน้ามะปรางหวานที่เคยคุ้น แต่เมื่อแบ่งแยกย่อยลงไป ญาติโยมมะปรางในบ้านเรามีอยู่ 5 สายพันธุ์ด้วยกัน หากเรียงลำดับจากความเปรี้ยว อันดับหนึ่งคือ กาวาง มะปรางผลเล็กที่เปรี้ยวเข็ดฟันขนาดกาคาบไปกินยังต้องวางทิ้งในที่สุด แต่อย่าเบ้หน้าหนีเพราะกลัวเข็ดฟัน เพราะกาวางช่วยเพิ่มรสเปรี้ยวจัดจ้านให้น้ำพริกและเครื่องจิ้มแบบไทยๆ แทนมะนาวได้เลยล่ะ ส่วนลำดับที่สองคือ มะปรางเปรี้ยว เป็นมะปรางลูกเล็กเม็ดโตเปรี้ยวนำ สายแซ่บนิยมมาจิ้มกะปิให้ซี้ดซ้าดใจ ต่อด้วย มะยงห่าง คือมะปรางผลโตเม็ดเล็ก แต่ยังห่างไกลความหวานมากนัก และมะปรางหวาน ก็คือมะปรางผลเล็กเม็ดโตที่มีรสหวานหอม ติดที่จะชวนคันคอเวลากินอยู่สักหน่อย สุดท้ายที่หวานที่สุด ก็ต้องยกให้ มะยงชิด ลูกโตเท่าไข่ไก่ แถมเม็ดยังเล็ก ได้เนื้อเยอะ หอมหวาน และอมเปรี้ยวไม่ชวนเลี่ยนนี่เอง

ว่ากันที่คุณประโยชน์ มะปรางและพวกเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี เบต้าแคโรทีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และสารต้านอนุมูลอิสระ พูดง่ายๆ คือนอกจากจะช่วยบำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งเหมือนมะยงชิดสุกสดใส ยังช่วยบรรเทาโรคเลือดออกตามไรฟัน สมานแผล แถมบำรุงกระดูกและฟันอีกต่างหาก

และถ้าเผลอซื้อมาหลายกิโลแล้วกินไม่ทันสุกงอม ลองแปรรูปเป็นผลไม้ลอยแก้วกินเย็นๆ แก้ร้อนกันดีกว่า

ส่วนผสม

มะยงชิด / น้ำตาลทราย / น้ำเปล่า / น้ำแข็ง

วิธีทำ

1. ทำน้ำเชื่อมด้วยการต้มน้ำตาลทราย 1 ส่วนกับน้ำเปล่า 2 ส่วน จากนั้นพักไว้ให้เย็น
2. ใช้มีดคมๆ ปอกเปลือกมะยงชิด แล้วคว้านเม็ดออกหรือหั่นเป็นชิ้นก็ได้ตามถนัด
3. แช่มะยงชิดลงในน้ำเชื่อม ถ้าชอบแบบรสแท้สดชื่นให้เติมน้ำแข็งแล้วกินได้เลย แต่ถ้าอยากเก็บไว้และให้รสหวานซึมเข้าเนื้ออีกนิด ปิดฝาใส่ตู้เย็นแช่ไว้สัก 1 คืน เปิดมาตักใส่ถ้วยโปะน้ำแข็ง สดชื่นได้อีกวัน ข้อควรระวังคือให้นึกถึงน้ำตาลที่ใส่ไปและไม่บริโภคจนมากเกินนะ

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง