การปลูกผักกินเองอาจไม่ยากขนาดนั้นในยุคที่เรามี ตะกร้าผักมีชีวิต แต่การปลูกผักให้ ‘พอกิน’ เกือบทุกมื้อก็ยังดูเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนเมืองอยู่ดี แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งถอดใจ ถ้ายังไม่ได้ทำความรู้จักกับการปลูกผักเล็กจิ๋วแต่ประโยชน์แจ๋วต่อไปนี้ที่เราอยากแนะนำ

ผักงอก ต้นอ่อน และไมโครกรีน (Microgreens)

เราอาจเรียกรวมต้นกล้าของพืชผักที่นำมากินว่า ‘ต้นอ่อน’ แต่จริงๆ แล้วในวงการอาหารแบ่งชนิดของต้นกล้าออกเป็น 3 แบบตามอายุตอนเก็บเกี่ยวและชนิดของพืชที่นำมาเพาะเลี้ยง คือ ผักงอก ต้นอ่อน และไมโครกรีน เริ่มจาก ‘ผักงอก’ คือต้นอ่อนที่งอกขึ้นจากเมล็ดถั่ว ไม่ว่าจะถั่วเขียวที่กลายเป็นถั่วงอก ถั่วแดง ถั่วดำ หรือถั่วลิสงก็นิยมนำมาเพาะกินเช่นกัน โดยระยะเก็บเกี่ยวของผักงอกจะอยู่ระหว่าง 2-7 วันแล้วแต่ชนิดของถั่วที่นำมาเพาะ ส่วน ‘ต้นอ่อน’ (Sprouts) คือต้นกล้าของผักชนิดต่างๆ ที่นำมาเพาะราว 7-10 วันแล้วถึงเก็บกิน ชนิดที่เรารู้จักกันดีก็เช่น ต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนหัวไชเท้า (ไควาเระ) หรือต้นอ่อนถั่วลันเตา (โต้วเหมี่ยว)

‘ไมโครกรีน’ ต้นกล้าที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้

ไมโครกรีนเป็นที่รู้จักครั้งแรกช่วงกลางยุค 80s เมื่อร้านอาหารในแคลิฟอเนียร์นำต้นกล้าของผักโขมสีแดงระเรื่อมาใช้ตกแต่งเมนูอาหารจนฮือฮา โดยไม่รู้เลยว่าพวกมันอุดมด้วยวิตามินมหาศาล แต่จากนั้นไม่นานนักโภชนาการก็พบว่าผักจิ๋วเหล่านี้มีสารอาหารมากกว่าผักโตเต็มวัยซะอีก ไม่ว่าจะต้นอ่อนของกะหล่ำปลีที่มีวิตามินซีสูงกว่ากะหล่ำปลีหัวใหญ่ๆ ถึง 40 เท่าในสัดส่วนเท่ากัน หรือต้นอ่อนของผักชีเองก็มีเบต้าแคโรทีนมากกว่าต้นผักซีที่เราใช้โรยหน้าถึง 3 เท่า! ทว่ากระแสไมโครกรีนก็เงียบหายไปราวกลางยุค 90s ก่อนกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งพร้อมเทรนด์กินดีอยู่ดีเมื่อเร็วๆ นี้

ข้อแตกต่างหลักๆ ระหว่างไมโครกรีนกับผักงอกและต้นอ่อน คือระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่นานกว่า คือประมาณ 1-2 อาทิตย์หลังลงเมล็ด (กะง่ายๆ ว่าต้นกล้ามีความสูงราว 3 นิ้วก็พร้อมเก็บ) และเมล็ดผักที่ใช้เพาะไมโครกรีนนั้นมักมีขนาดเล็กจิ๋วระดับใกล้เคียงเม็ดทราย สำคัญคือคุณค่าทางอาหารของมันเพียบกว่าต้นกล้าอีก 2 ชนิดแบบทิ้งห่าง ตัวอย่างเมล็ดผักที่นิยมนำมาเพาะก็เช่น ผักบุ้ง กะหล่ำปลี ผักชี และผักโขม

ผักพื้นบ้านไทยก็เพาะเป็นไมโครกรีนได้เหมือนกัน

ที่เราว้าวคือ ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ บอกเราว่าผักพื้นบ้านที่เวิร์กสำหรับการนำมาเพาะคือ โสน ผักขี้หูด และผักเขียวน้อย เพราะต้นอ่อนที่ได้ทั้งอวบ รสชาติดี มีวิตามินซีสูงมากแถมยังช่วยเจริญอาหารด้วย

อยากลองเพาะไมโครกรีนกินเองบ้าง ทำยังไง?

ไม่ยาก เมื่อขึ้นชื่อว่าผักจิ๋วย่อมเรียกร้องพื้นที่น้อย น้ำน้อย และดินน้อย ใครอยากลองลงมือก็สำรวจลิสต์ต่อไปนี้แล้วทำตามได้เลย!

1.เตรียมภาชนะ เช่น กล่องโฟมหรือถาดฟอยล์ เจาะรูตรงก้นให้ระบายน้ำสะดวก

2. นำดินร่วนเทใส่ภาชนะให้สูงประมาณ 1 นิ้ว เกลี่ยหน้าดินให้เรียบแต่อย่าอัดดินจนแน่น

3. โปรยเมล็ดพืชที่ต้องการลงบนหน้าดิน เกลี่ยให้ทั่ว แล้วใช้ฝ่ามือกดเมล็ดพืชลงกับดินเบาๆ (ใครตามหาเมล็ดผักชนิดปลอดภัยหายห่วง เราแนะนำเพจเมล็ดพันธุ์ปู่-ย่า คลิกเดียวส่งถึงบ้าน)

4. นำดินร่วนโปรยกลบเมล็ดพืชบางๆ แล้วใช้ฟ็อกกี้ฉีดพรมน้ำเล็กน้อย จากนั้นนำพลาสติกใสปิดทับหน้าภาชนะ แล้วนำไปตั้งไว้ในที่แดดส่องถึง

​5. หมั่นเปิดพลาสติกใส แล้วฉีดน้ำพรมเช้าเย็น (อย่าให้แฉะ) รอจนกว่าต้นอ่อนงอกออกมาแล้วถึงเอาพลาสติกใสทิ้ง แต่ยังต้องหมั่นฉีดน้ำเช้าเย็นต่อไปเรื่อยๆ จนต้นกล้าโตราว 3 นิ้วก็เก็บกินได้

​อย่างที่บอกว่าไมโครกรีนมีสารอาหารเพียบในระดับผักโตเต็มวัยยังอาย อร่อย ปลูกก็ง่ายแสนง่ายแถมใช้พื้นที่น้อย (อยากเก็บกินบ่อยหน่อยก็ปลูกหลายถาด) จึงไม่เกินไปหากเราจะยกให้เจ้าผักจิ๋วเหล่านี้เป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยทำให้สุขภาพของคนเมืองดีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาวิตามินสำเร็จรูป 🙂