สำหรับคนเมืองที่อยากเริ่มต้นปลูกผัก แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ทั้งขาดความรู้ ขาดทักษะ ความั่นใจ อีกทั้งปัจจัยต่าง ๆ ที่สำคัญในการปลูกผักไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ และแสงแดดที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของผัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถเลือกชนิดผักและวิธีการปลูกผักให้เหมาะสมกับ สภาพพื้นที่อยู่อาศัยของเราได้

คนเมืองมือใหม่สามารถเริ่มต้นด้วยการปลูกผักไมโครกรีน (Microgreen) หรือที่เราเรียกกันว่า ต้นอ่อน หรือ ผักจิ๋ว ซึ่งการเพาะไมโครกรีนข้อดีมากมาย

  • ไมโครกรีนเป็นผักอายุสั้นใช้เวลาในการเพาะปลูกน้อยเพียง 7 วัน
  • เป็นผักที่ปลอดสารเคมีอย่างแน่นอน เนื่องจากการเพาะไมโครกรีนไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีไล่แมลงใด ๆ ในการเพาะสามารถเจริญเติบโตได้อย่างดี
  • รสชาติดี มีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งกากใย วิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระ
  • ใช้พื้นที่น้อยในการปลูก สามารถปลูกได้ในแนวตั้ง คนที่อยู่อาศัยอยู่ใน ตึกแถว หอพัก คอนโดฯ
  • ไม่จำเป็นต้องมีแสงแดดมากเหมือนผักชนิด ๆ อื่น ขอเพียงให้มีแสงสว่างส่องถึง หรือสามารถใช้แสงจากหลอดไฟแอลอีดีได้

เราสามารถเพาะไมโครกรีนได้หลากหลายชนิด แต่ละชนิดจะให้รสชาติและสารอาหารที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น

  • ต้นอ่อนทานตะวัน มีรสชาติออกมัน ๆ ใช้เวลาเพาะ 7 วัน สรรพคุณมี กากใย โปรตีน กรดอะมีโน แคลเซียม เหล็ก วิตามิน A B1 B6 C D E และซีลีเนียม
  • ต้นอ่อนถั่วลันเตาหรือ โตเหมี่ยว รสชาติมันเหมือนกินถั่วลันเตา ใช้เวลาเพาะ 7-10 วัน สรรพคุณมีกากใย แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามิน B C เลซีติน บำรุงสมอง และสายตา
  • ต้นอ่อนหัวไชเท้าหรือคาวาเระ รสชาติเผ็ด ๆ ซา ๆ คล้ายวาซาบิ ใช้เวลาเพาะ 7- 8 วัน สรรพคุณมีไฟโตนิวเตรียน สารรูติน ต้านการอักเสบ ต้านไวรัส และมะเร็ง สารเควอเซติน ป้องกันโรค หลอดเลือดและหัวใจ วิตามิน A B C

วิธีการเพาะไมโครกรีนแสนง่าย และหากใครสามารถเพาะไมโครกรีนได้แล้ว บอกได้เลยว่าสามารถเริ่มต้นเพาะกล้าผักชนิดอื่น ๆ ต่อยอดไปเป็นการปลูกผักชนิดอื่น ๆ ต่อได้อีกด้วย ดังนั้นจึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเริ่มลงมือปลูกผักทานเอง ใช้เพียงดินปลูกผักที่ซื้อตามร้านเกษตร และขุยมะพร้าว สัดส่วน ดิน 1 ส่วน และขุยมะพร้าว 1 ส่วนมาร่อนผ่านตะกร้าหรือกระจาดตาถี่ ๆ ให้ส่วนผสมละเอียด จากนั้นนำส่วนผสมที่ร่อนแล้วใส่ในภาชนะที่มีรูระบายน้ำ แล้วนำเมล็ดผักที่ต้องการเพาะโรยลงดิน จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มเช้า เย็น ข้อสังเกต ควรให้ดินมีความชื้นอยุ่ตลอดเวลาแต่อย่าแฉะหรือมีน้ำท่วมขัง เมื่อเวลาผ่านไปต้นอ่อนจะแทงยอดขึ้นมา รอเวลา 7-14 วัน เราสามารถตัดต้นอ่อนไปรับประทานได้

พื้นที่สำหรับการวางภาชนะเพาะไมโครกรีนคือพื้นที่แสงส่องถึง แต่ไม่จำเป็นต้องมีแสงแดดจัด ดังนั้น สำหรับบ้านใครที่ไม่มีพื้นที่สวนนอกบ้าน หรือเป็นอาคารที่ไม่มีแสงแดดส่องถึงภายในเลย แนะนำวิธีการเพาะแบบใช้หลอดไฟให้แสงสว่าง หรือ หลอดไฟแอลอีดี ซึ่งข้อดี เพราะหลอดแอลอีดีให้ค่าความสว่างต่อวัตต์มากกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์ และหลอดขดลวด จึงประหยัดพลังงานมากกว่าเมื่อเปิดใช้งานแล้วมีความร้อนน้อย หรือแทบจะไม่มีความร้อนซึ่งเป็นอันตรายต่อผัก

ทั้งนี้แสงสีต่าง ๆ จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของผัก เช่น แสงสีแดง ช่วยสังเคราะห์แสง เป็นสีที่พืชดูดซับมากที่สุด ส่งเสริมการงอกของเมล็ด แสงสีน้ำเงิน ช่วยการตอบสนองเรื่องการเบนหรือโค้งงอเข้าหาแสง และแสงสีม่วง ช่วยการงอกของเมล็ด แต่ถ้าหากไม่สามารถหาซื้อหลอดแอลอีดีแสงสีต่าง ๆ ได้ สามารถใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์แสงสีขาวได้ เพราะเป็นแสงสีที่มีคลื่นแสงใกล้เคียงกับแสงพระอาทิตย์ วิธีการใช้แสงจากหลอดไฟแอลอีดีหรือฟลูออเรสเซนต์นั้น เราจะเปิดไฟประมาณ 6-8 ชั่วโมง ตามเวลาของพระอาทิตย์ และติดตั้งหลอดไฟให้ห่างจากภาชนะปลูกผักประมาณ 10-20 เซนติเมตร

เพียงเท่านี้ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาด้านพื้นที่ ปัญหาเรื่องแสงแดด คนเมืองที่อยากเริ่มปลูกผักกินเองก็สามารถลงมือปลูกผักได้แล้ว โดยอาศัยการปรับประยุกต์วิธีการให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเอง

ภาพ : กรชชนก หุตะแพทย์