ปัญหาที่คนเรามีการขยับร่างกายน้อยเกินไป เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เนื่องจากพฤติกรรมแน่นิ่งนั้นเป็น 1 ใน 3 สาเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุดในโลก

ดังนั้นองค์การอนามัยโลกจึงได้มีคำแนะนำให้ประชาชนทั่วไปควรมีกิจกรรมทางกายที่ความเหนื่อยระดับปานกลาง (หายใจเร็ว หัวใจเต้นแรง ร้องเพลงไม่ไหวแต่ยังพูดประโยคยาว ๆ ได้) ขึ้นไปอย่างน้อยอาทิตย์ละ 150 นาที ซึ่งจากที่พยายามรณรงค์มาโดยตลอดก็มีแคมเปญ every move count หรือทุกการเคลื่อนไหวสามารถนับเป็นการมีกิจกรรมทางกายเพื่อทำให้สุขภาพแข็งแรงได้ โดยแบ่งเป็น 3 หมวดหลักได้แก่ กิจกรรมการทำงาน กิจกรรมการเดินทาง และกิจกรรมในเวลาว่าง

จากข้อมูลข้างต้นชวนให้เราคิดว่า คนที่ใช้แรงงาน เป็นกรรมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นคนงานก่อสร้าง แบกหาม แม่บ้าน ฯ ที่ซึ่งต้องขยับร่างกายทั้งวันแล้วน่าจะไม่มีปัญหาตรงนี้ แต่จากการศึกษาที่ค้นพบใหม่ ๆ พบว่าคนเหล่านี้กลับมีสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร (แม้จะมีปัจจัยอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องอย่างเรื่องโภชนาการ ไลฟ์สไตล์การเป็นอยู่)
แต่ทฤษฎี ความย้อนแย้งของกิจกรรมทางกาย (The physical activity paradox) หรือการมีการเคลื่อนไหวร่างกายเยอะแต่ถ้ามาจากการงานกลับทำให้สุขภาพแย่ลง โดยมีการศึกษาถึงการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่อระบบหัวใจและอัตราการตายจากทุกสาเหตุ โดยทำแบบจำลองเพื่อพยากรณ์อัตราส่วนอันตราย โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ทั้งอายุ น้ำหนักตัว การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ โรคประจำตัว การเลือกบริโภคอาหาร รายได้ ฯลฯ

ผลปรากฏว่า คนที่มีกิจกรรมทางกายในเวลาว่าง (ออกกำลังกาย เดินป่า วิ่ง ฟิตเนส ว่ายน้ำ) สามารถลดผลเสียต่อสุขภาพได้ (กราฟสีเขียว) แต่ในคนที่มีกิจกรรมทางกายในการทำงาน (แบกหาม กรรมกร ทำงานกับเครื่องจักร ทำความสะอาด ทำฟาร์ม) กลับมีผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้น (กราฟสีแดง)

โดยทฤษฎีนี้สงสัยว่าปัจจัยทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ได้แก่การใช้แรงงานนั้นทำในความเหนื่อยระดับเบาถึงปานกลางต่อเนื่องยาวนาน ยกของหนัก ๆ ซ้ำ ๆ อยู่ในท่าเดิม ๆ หรือท่าที่ไม่เหมาะสม มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน เวลาพักไม่เพียงพอ ความเครียดสูง ทำงานเป็นกะ สิ่งแวดล้อมไม่ดี ขาดน้ำ ระบบหายใจและไหลเวียนโลหิตไม่ได้รับการพัฒนา ทำให้ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักสูงขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มการอักเสบในร่างกาย เป็นการทำร้ายสุขภาพของหัวใจ

แม้ผู้วิจัยจะบอกว่ายังต้องมีการศึกษาในประเด็นอื่น ๆ และตัดปัจจัยแทรกซ้อนต่าง ๆ ออกแบบงานวิจัยให้รัดกุมขึ้น (เพราะกลุ่มใช้แรงงานมักจะมีการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน และการศึกษาน้อย เป็นต้น) แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือสถานที่ทำงาน ก็ควรมีนโยบายที่จะช่วยให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลด้านสุขภาพก็ต้องคอยอัพเดทความรู้และให้คำแนะนำที่เหมาะสม โดยคำถามสำคัญก็คือ

“ถ้าผู้ใช้แรงงานทำงานเหนื่อยหนักมาทั้งวันแล้ว คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกายควรเป็นอย่างไรดี ?”

เช่น ถ้าทำงานแบบเบา ๆ นาน ๆ ทั้งวัน ก็ยังควรมีกิจกรรมแอโรบิกที่ความเหนื่อยระดับปานกลางเพิ่มอยู่ดีถ้าทำงานยกของหนักแบกหาม อยู่ในท่าเดิมซ้ำ ๆ ก็อาจจะควรมีท่าทางที่เคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามเพื่อให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงสมดุล หรือมีท่ายืดเหยียดให้โดยเฉพาะ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
– Prevention of cardiovascular disease: does ‘every step counts’ apply for occupational work? ; European Heart Journal, ehac456
– The physical activity paradox: six reasons why occupational physical activity (OPA) does not confer the cardiovascular health benefits that leisure time physical activity does ; Br J Sports Med February 2018 Vol 52 No 3

ภาพประกอบ : missingkk