พอรู้ว่าจะได้มีโอกาสไปประเทศอินเดียเป็นครั้งแรกที่เมืองมุมไบ ในใจก็มีภาพผุดมาเยอะแยะมากมายตามประสาของคนไม่เคยไปที่เสพข่าวสารผ่านหน้าจอหรือตัวอักษร ทั้งเรื่องคน เรื่องกลิ่น เรื่องอาหารขยะ เรื่องการจราจร ความคิดในตอนแรกจึงเป็นในแนวตั้งรับและทำใจเอาไว้หมด แต่ก็นับว่าค่อนข้างโชคดีที่ส่วนตัวชอบอาหารอินเดียที่ใช้เครื่องเทศเยอะๆ อยู่แล้ว เลยตั้งใจว่าหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ cooking class สอนทำอาหารไทยให้กับผู้ที่สนใจในมุมไบ ซึ่งได้รับเกียรติจากสถานกงสุลไทยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประจำเมืองมุมไบ ผมก็คิดว่าจะไปเดินชมเมืองให้ทั่วเลย

สิ่งแรกที่ได้เจอและคิดว่าเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ คือรถแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊กสีดำคาดเหลือง รถราที่แน่นถนน และการจราจรที่แออัดในช่วงเร่งด่วน พร้อมเสียงแตรที่ดังกังวานตลอดเวลา อยู่เฉยๆ ก็ส่งเสียงเพียงว่าฉันมาแล้วแค่นั้น เหมือนรถแทบทุกคันต้องไปโมแตรให้ดัง ไม่งั้นจะสู้เสียงแตรคันอื่นไม่ได้ยังไงยังงั้น และในโซนที่พักของชาวประมงหรือชนชั้นแรงงานที่อยู่กันอย่างแออัดตามถนนหนทางหรือเกาะกลางถนน น่าจะเป็นสองสามเรื่องที่ผมประสบพบเจอตามที่ใจคิดตั้งรับไว้

แต่เรื่องอื่นๆ นี่สิน่าสนใจ เพราะมุมไบมีบุญเก่าจากสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมที่สวยงามตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคมอังกฤษ ในหลายๆ แห่งถูกประกาศขึ้นทะเบียนยูเนสโก ทำให้เดินไปทางไหนก็ถ่ายรูปสวยเหมือนเดินอยู่ลอนดอนหรือยุโรปได้เลย แต่สิ่งที่ผมเห็นมากกว่านั้นคือเมืองค่อนข้างสะอาดสะอ้านกว่าที่ผมคิดภาพไว้มาก เห็นป้ายรณรงค์ ‘ห้ามถุย ห้ามทิ้ง’ อยู่ทุกๆ ที่ (เข้าใจว่าที่ห้ามถุยเพราะยังมีการเคี้ยวหมากอยู่) อีกทั้งสิ่งที่เท่มากๆ คือแคมเปญ Mumbai no plastic ซึ่งไม่ได้ทำกันเล่นๆ เพราะในหลายที่ที่ไปส่วนใหญ่ก็ยกเลิกการใช้พลาสติกไปแล้ว ทั้งแก้ว หลอด กล่อง ถุง สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ขยะพลาสติกลดลงไป 60% ในหนึ่งปี นับเป็นสิ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์ของเมืองเปลี่ยนไปได้อย่างดี อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากร้านค้าและผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องขยะพลาสติกมากขึ้นด้วย

การเดินทางครั้งนี้ หนีไม่พ้นที่จะต้องไปเดินตลาด ผมไปแทบจะทุกตลาดในมุมไบเลย และทุกครั้งต้องพกถุงผ้าไปด้วยเพราะไม่มีถุงใส่ให้ ยิ่งถ้าไปตลาดปลาเรายังต้องแบกกล่องไปใส่เองเลย เป็นอีกมิติในความเรียบง่ายแบบโลคัล แต่มาพร้อมความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น เหมือนการค่อยๆ เติมจิตสำนึกทีละนิดให้คนในเมืองทำไปด้วยกัน

แต่ถ้าพูดถึงอาหารอินเดีย สิ่งที่นึกถึงอย่างแรกคืออาหารที่จัดเต็มไปด้วยเครื่องเทศนานาชนิด เช่น อบเชย คาดามัมเขียวและดำ โป๊ยกั๊ก กานพลู รกลูกจันทน์ เม็ดผักชี แต่สิ่งที่เห็นเพิ่มเติมคือมะแขว่น มะแขว่นของที่นี่เม็ดใหญ่กว่ามาก มีกลิ่นหอมจางๆ และไม่ได้ใช้เม็ดด้านในที่ทำให้ชาลิ้นเหมือนทางเหนือบ้านเรา ก่อนกลับไทยก็เลยขอแวะดูเครื่องเทศที่ตลาดซึ่งมีหลากหลายเกรดให้เลือก รวมถึงของที่เป็นออร์แกนิกก็มีให้เลือกทุกชนิด แต่ราคาก็สูงตามไปด้วย 

ไม่ต้องพูดถึงอาหารที่อร่อยถูกปากทุกอย่าง ทั้งแกงแบบต่างๆ แป้งนาน โรตี หรือแม้แต่เครื่องดื่มและขนมหลากชนิด อีกทั้งความน่ารักของคนที่นี่ที่ผมกลับมาแล้วยังส่ายหัวเยสเยสอยู่เลย อาหารในแบบมุมไบเป็นอาหารทางอินเดียตอนใต้ เพราะฉะนั้นจึงมีของทะเลเยอะ และใช้กะทิประกอบอาหารแทบทุกตัว ไม่แปลกใจที่บนโต๊ะอาหารจะมีเครื่องเคียงพวกผักดอง มะม่วง หรือหอมดองวางเคียงไปด้วยเสมอ เพื่อช่วยระบบขับถ่าย และทำหน้าที่ไปควบคู่กับเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ขับลม

ผมได้ไปลองชิมเครื่องดื่มตัวหนึ่งที่เขานิยมดื่มหลังอาหารชื่อว่า Chaas เป็น buttermilk ผสมเครื่องเทศพวกอบเชย ขิง พริกไทย รสชาติเปรี้ยวๆ เผ็ดๆ เหมือนกินโยเกิร์ตรสพะโล้ เป็นเครื่องดื่มที่เขาว่าช่วยย่อยหลังมื้ออาหารหลัก กินยากหน่อยแต่ก็ดีไปอีกแบบหนึ่ง

ผมได้เห็นภาพรวมๆ ของอาหารอินเดียที่มีความคล้ายคลึงกับอาหารไทยหรือแม้แต่อาหารเหนือทั้งเรื่องการใช้เครื่องเทศ แนวคิดเรื่องการใช้อาหารเป็นยา ศาสตร์ของอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนเย็น อะไรช่วยบรรเทาร้อน อะไรขับออก หรืออะไรช่วยย่อยสิ่งเหล่านี้ ทั้งหมดถูกแฝงเข้าไปอยู่ในวิถีจนบางครั้งแทบไม่ทราบเหตุผล แค่รู้ว่ากินแล้วดีถ้ากินไปด้วยกัน แต่หากว่าเราเลือกกินเป็นอย่างๆ อาจจะไม่ได้รับประโยชน์ตามที่เขาได้คิดไว้ก็เป็นได้ เชฟหลายๆ ท่านที่ผมได้เจอที่นี่ก็กำลังพยายามให้ความรู้คนกินมากขึ้นเช่นกัน

สิ่งที่ได้พบเจอในภาพรวมเหล่านี้ได้เปลี่ยนมุมมองที่ผมเคยมองมุมไบและประเทศอินเดียไปมาก ผมรู้สึกว่าเมืองได้เริ่มเล็งเห็นปัญหาและพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงในทุกภาคส่วน ซึ่งถือว่าได้ผลทีเดียวเพราะทำให้ผมอยากไปเยี่ยมเยียนที่นี่อีกแล้ว และทำให้เรามีกำลังใจในการทำสิ่งที่ดี เพราะไม่ว่าคนจะมองเรายังไง ถ้าเรามุ่งมั่นและทุ่มเทที่จะทำในสิ่งดีๆ แล้ว ยังไงก็ไม่ไปผิดทาง

ต้องขอบคุณมุมไบที่ทำให้ตาเบิกกว้างและหัวใจพองโต

ภาพถ่าย: เชฟแบล็ค