นัท กิตติพงศ์ กีรติเตชะนันท์ คือเจ้าของแบรนด์ Mushroom Man

จากอดีตวิศวกรเครื่องกล ทำงานเป็นผู้จัดการในโรงงาน เก็บเงิน สร้างบ้าน มีครอบครัว แล้วก็วางแผนระยะยาวว่าจะรอเกษียณเหมือนวิถีชีวิตทั่วๆ ไป แต่เกิดคำถามกับตัวเองว่า เราเกิดมาทำไมในชาตินี้ ชีวิตมีเพียงเท่านั้นหรือ ทำงาน หาเงิน สร้างสมบัติ รอเกษียณ และจบชีวิตลง 

นั่นทำให้เขาไม่อาจหยุดคิด และตัดสินใจออกจากงานเพื่อมองหาคำตอบใหม่ที่ตอบคำถามของตัวเอง

เหตุผลเพราะบ้านใกล้ เขาเดินมาทำความรู้จักเกษตรในเมืองที่ฟาร์มลุงรีย์ ลองเลี้ยงไส้เดือนแก้เบื่อไปวันๆ ก่อนจะรู้สึกว่านี่คือคำตอบที่ใช่ และได้เรียนรู้ธรรมชาติที่สงบและไม่ต้องวุ่นวายชีวิตมากนัก ด้วยพฤติกรรมของไส้เดือนตัวเล็กๆ และต้นไม้แต่ละต้นที่ค่อยๆ งอกงาม ทำให้เขาตื่นเต้นและสนใจอย่างจริงจัง แต่พอจะลงมือทำก็ติดปัญหาหลักที่เป็นข้อจำกัดสำคัญว่าเขาไม่มีพื้นที่ให้ลงแปลงเพาะปลูกด้วยซ้ำ

แล้วคำตอบก็ถูกเฉลยที่การเพาะเลี้ยงเห็ดมิลค์กี้ เห็ดดอกโตที่เขาคิดค้นนวัตกรรมให้สามารถเลี้ยงเห็ดนี้ในพื้นที่จำกัด หรือพูดชัดๆ ว่าในห้องเช่าเล็กๆ หนึ่งห้องเท่านั้นเอง

ระยะเวลา 3 ปีจากจุดเริ่มต้น Mushroom Man ไม่หยุดที่จะคิดค้นอะไรใหม่ๆ โดยมองฟาร์มเห็ดของเขาเป็นห้องทดลองความรู้เรื่องอาหารและจุลินทรีย์ที่ได้เรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เห็ดมิลค์กี้ เราเลือกนาย

“หนึ่งในศาสตร์ของพระราชาคือต้องหาความรู้ก่อน ถ้าผมจะทำธุรกิจนี้ ผมจะไปอยู่ตรงไหนของห่วงโซ่ธุรกิจเห็ด ถ้าผมจะเป็นผู้ผลิต แต่ผมไม่มีพื้นที่ ต้นทุน 1 ไร่ในกรุงเทพฯ เอาไปทำอย่างอื่นดีกว่า โรงเห็ดส่วนใหญ่ก็เลยต้องอยู่ต่างจังหวัด แล้วก็ต้องมีค่าขนส่งอีก โรงเรือน ระบบน้ำ ค่าบำรุงอีกเท่าไหร่” นัทแจกแจงให้เห็นว่าการทำฟาร์มเห็ดในเมืองไทยใช้เงินทุนสูงมากและกำไรต่ำ แต่ถ้าอยากได้กำไรมากๆ การทำก้อนเชื้อเห็ดจัดจำหน่ายมีรายได้ดีกว่า หากต้องแลกมากับแรงงานจำนวนมากและเงินทุนที่สูงเช่นเดียวกัน

เขาจึงมองหาเห็ดที่แตกต่างไปจากสิ่งที่ตลาดมีอยู่เดิม และหาวิธีด้วยเงื่อนไขพื้นที่ที่จำกัด

“ชีวิตจริงในการทำเกษตรเราต้องขับเคลื่อนด้วยรายได้ เห็ดเป็นทั้งรายได้รายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ที่จะมาหล่อเลี้ยงชีวิต เพียงแต่เราต้องกำหนดว่า เราควรจะยืนอยู่ตรงไหน เราสู้กับตลาดไหน ลูกค้าเราอยู่ตรงไหน เราจึงเริ่มหาตลาดใหม่ โดยเราเป็นคนเลือกลูกค้า ไม่ใช่ให้ลูกค้าเลือกเรา

“เห็ดมิลค์กี้เป็นสายพันธุ์จากเขตร้อนของประเทศอินเดีย ผมจึงเลือกเห็ดเมืองร้อน เพราะบ้านเราร้อนอยู่แล้ว เห็ดมิลค์กี้มีความต่างในตัวมันเองที่ไม่เหมือนเห็ดบ้านเรา ตั้งแต่รูปทรง รสชาติ และเนื้อสัมผัสที่แตกต่าง เราต้องการความต่างเพราะความต่างคือการพัฒนา แต่ความต่างก็เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน เราจึงลงทุนกับความรู้เป็นอันดับแรก ต้องศึกษากับมันจริงๆ ไม่งั้นก็จะตกม้าตาย”

การเพาะเห็ดบนก้อนขี้เลื่อยเหมือนคนส่วนใหญ่นั้นง่ายและสะดวก แต่ก็ต้องให้น้ำและต้องการดูแล ในขณะที่เขาเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตทุกอย่างสามารถดูแลตัวเองได้ การปล่อยให้กลไกของธรรมชาติเป็นตัวจัดการ โดยพยายามเคารพธรรมชาติให้มากที่สุดคือคำตอบของเขา นัทจึงเลือกวิธีที่ไม่มีการให้น้ำและพยายามสร้างกลไกที่ว่านั้น

“ผมพยายามทำให้การเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของผม แต่ผมจะไม่เอาทั้งชีวิตผมไปอยู่กับการทำเกษตร”

นัทลองผิดลองถูกอยู่นานในพื้นที่เล็กๆ ในบ้านทาวน์เฮาส์ของเขา แต่ช่วงแรกๆ ผลลัพธ์กลับเรียกแมลงวันมาที่บ้านเพราะก้อนเห็ดเน่าเสีย ชายหนุ่มจึงพยายามเอาชนะด้วยการทดลองกับจุลินทรีย์หลายๆ ตัวที่มาช่วยเรื่องเชื้อรา

“ผมสังเกตว่าทำไมป่าไม่เคยใส่ปุ๋ย ป่าก็อยู่ได้ ไม่ต้องให้ปุ๋ย ให้ยาฆ่าแมลง แต่ทุกอย่างก็โต ถ้าวันนี้ผมเอาหลักการเดียวกันกับป่ามาใช้ในป่าคอนกรีตล่ะ ผมก็ว่าน่าจะได้สิ”

ห้องควบคุมฤดูกาล นวัตกรรมจากการคิดแล้วทำ

“เมื่อผมเข้ามาในวงการเกษตรแล้ว มันเป็นวงการที่ผมรู้สึกไม่ดีที่สุดตั้งแต่อยู่มาหลายๆ วงการ เพราะเป็นวงการที่แข่งขันกันด้วยราคา คนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด สอดคล้องกันมาตั้งแต่ 50–60 ปีที่แล้ว คนคิดบอกว่าคุณต้องปลูกแบบนี้ จะรับซื้อแบบนี้ ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยาแบบนี้ ยาฆ่าหญ้าแบบนี้ มีชุดความรู้ออกมาขาย ซึ่งมันเป็นกลไกที่คนรับซื้อได้เปรียบ ไม่ต้องลงทุนกับความเสี่ยงในการเพาะปลูก ผมก็เลยต้องคิดชุดความรู้ใหม่ขึ้นมาที่ไม่ตามเขา

“ผมเลือกวิธีที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือใช้แรงงานให้น้อยและง่ายที่สุด ออกแบบให้สำหรับคนอายุเยอะ 60-70 ปียังทำได้ เหมือนออกแบบวัยเกษียณของตัวเองเป็นหลัก ด้วยหลักคิดที่ต้องใช้ทรัพยากรน้อยลง เพราะเมื่อทรัพยากรน้อย ต้นทุนก็น้อยตาม และไปเพิ่มมูลค่าที่ตัวเห็ดแบบทำน้อยได้มากแทน”

ไม่ใช่หนังไซไฟหรือโลกอนาคต นัทถามตัวเองว่าในฐานะวิศวกรคนหนึ่ง เขาสามารถสร้างฤดูกาลที่เหมาะสมกับเห็ดมิลค์กี้ในห้องพักเล็กๆ นี้ได้ไหม เมื่อทำความเข้าใจอย่างถ้วนถี่ ทุกอย่างคือ simple technology หรือเทคโนโลยีพื้นฐานในการเพาะปลูกที่ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่รู้ว่าเงื่อนไขในการเจริญเติบโตของเห็ดคืออะไรแล้วออกแบบเทคโนโลยีมารองรับมัน และสิ่งสำคัญคือข้อมูล เขามีเครื่องมือบันทึกเก็บค่าอุณหภูมิ ความชื้น ความร้อน จนรู้ชัดว่าในหนึ่งวันห้องอุณหภูมิสูงสุดแค่ไหน อุณหภูมิต่ำสุดเท่าไหร่ พัดลมต้องทำงานเมื่อไหร่ ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น คอมพิวเตอร์ที่โปรแกรมไว้สามารถคิดได้ว่าพัดลมต้องเริ่มทำงาน เช่นเดียวกับการไปเก็บข้อมูลในป่าทุก 15 วินาที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อกลับมาสร้างฤดูกาลให้ห้องเล็กๆ นี้

“โจทย์ของผมคือเกษตรพื้นที่น้อย พื้นที่น้อยแต่กระแดะอยากมาทำเพาะปลูก เมื่อผมสามารถสร้างฤดูกาลที่เหมาะสม ผมจะปลูกอะไรก็ได้ แต่ถ้าผมต้องไปกำหนดอุณหภูมิของพื้นที่ 10 ไร่ ผมไม่ทำหรอก เพราะต้นทุนสูงเกินไป เราควรออกแบบตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ ให้สอดคล้องกับชีวิตจริง”

เขาพบว่าการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ 30-32 องศาเซลเซียสเป็นความร้อนที่เห็ดเจริญเติบโตได้ดี เขาจึงสร้างระบบง่ายๆ ที่หากอุณหภูมิสูงเกิน 32 องศา พัดลมจะต้องทำงานอัตโนมัติเพื่อระบายความร้อนออก แต่ในฤดูหนาวที่อากาศเย็นลง ฮีตเตอร์ก็จะสร้างความร้อนให้เหมาะสมตามที่เซ็ตค่าไว้ หรือแม้แต่ความชื้นก็ควบคุมได้ เมื่อชื้นมากไปก็มีพัดลมระบายออกมา แต่ถ้าอากาศแห้ง เขาก็ใช้แค่เพียงเครื่องทำหมอกง่ายๆ ราคาหลักร้อย เพื่อกระจายความชื้นรอบห้อง ซึ่งควบคุมเชื้อราได้ดีกว่าระบบน้ำเหมือนโรงเห็ดส่วนใหญ่

“ต้นทุนของผมก็คือการหาห้องและควบคุมมัน อุปกรณ์ทั้งหมดลงทุนอยู่ที่ 10,000 บาท ในการทดลอง ผมเริ่มจากเล็กๆ แค่ระบบไฟ เห็ดไม่ได้ต้องการแสงเพื่อการเจริญเติบโต แต่มันรับรู้ว่าตัวมันอยู่พ้นดินก็ต่อเมื่อมันเจอแสง มันก็จะปล่อยสปอร์ออกมา ถ้าเราเลี้ยงเห็ดในที่มืด เห็ดจะยืดเพื่อหาแสง ถ้าเราเข้าใจมุมนี้ เราก็แกล้งเห็ดได้ บังคับแสงให้มัน ถ้าแสงน้อย ก้านจะยาว หัวจะเล็ก ถ้าแสงพอดี หัวมันก็จะใหญ่”

หลังจากใช้ simple technology มาเกือบ 2 ปีจนชำนาญถ้วนถี่ ตอนนี้เขากำลังค่อยๆ วางแผนสู่การใช้ high technology ที่เริ่มมีความเสี่ยงสูงในการลงทุนมากขึ้น

เขากำลังวางแผนสร้างห้องเห็ดหน้าตาเท่ในตู้คอนเทนเนอร์ที่เตรียมว่าจะมีฮีตเตอร์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำหมอก เครื่องทำไอ และการวัดค่าจากเซนเซอร์ต่างๆ แต่ทั้งหมดทั้งมวล เขาบอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เทคโนโลยีล้ำสมัยที่แค่ช่วยให้ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น เพราะแก่นแกนหลักยังอยู่ที่เทคโนโลยีพื้นฐาน แต่คนส่วนใหญ่มักเลือกมองไปที่  high technology ก่อน ซึ่งใช้เงินลงทุนสูง คุ้มทุนช้ากว่า

“เราซื้อหมดทุกอย่าง ไม่ซื้ออย่างเดียวคือความรู้ ผมเน้นที่ความรู้ เพราะความรู้ไม่มีใครขโมยเราไปได้”

“คนที่อยากทำเกษตร พื้นฐานแรกที่ควรมีคือความรู้ โดยการเริ่มจาก simple technology ก่อน หลังจากเริ่มเก่งแล้ว มีความรู้แล้ว ค่อยขยับดีกว่าไหม”

ธรรมราคา 

“ถึงคุณมีวิธีการดีแต่เงินมันไม่ไหล เราก็ทำอะไรต่อไม่ได้ ต่อให้เครื่องยนต์คุณดี แพสชั่นคุณดี แต่คุณไม่มีเงินเติมน้ำมันล่ะ สิ่งที่ผมกำลังทำก็คือว่า ตังค์เติมน้ำมันก็ควรต้องมีนะ เพื่อที่จะขับเคลื่อนมันไป ถ้าวันนี้เกษตรกรไทยสามารถกำหนดราคาตลาดเองได้ เขาก็ลืมตาอ้าปากเองได้ แต่ทุกอย่างต้องพอดีนะ ไม่มากไปและไม่น้อยไป”

เขาขายเห็ดกิโลกรัมละพัน แต่หลักการที่เขาไม่เคยอ่อนข้อคือเขาไม่ขายยกทั้งกิโลให้กับใคร เขาถามลูกค้าเสมอว่าซื้อไปกินกี่คน และปริมาณเท่าไหร่ถึงจะพอเหมาะเพื่อไม่ให้กลายเป็น food waste นั่นแปลว่าเขาแบ่งขายเป็นขีด แต่ยืนยันที่จะไม่ให้ใครต่อราคา เพราะเขาเชื่อมั่นว่าเห็ดของเขาที่ไม่ผ่านการให้น้ำ คือเห็ดคุณภาพที่มีน้ำหนักเต็มจากเนื้อเห็ดล้วนๆ และปลอดภัยจากสารเคมีและสารพิษแน่นอน

“ผมและลุงรีย์เป็นคนกำหนดราคาเห็ดตัวนี้เองเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แล้วถามว่าทำไมผมถึงตั้งราคาขีดละ 100 หรือกิโลละ 1,000 บาท เรามีลูกค้าชัดเจนอยู่แล้วว่าจะขายใคร ในจำนวนเท่าไหร่ ลูกค้าเข้าใจดีกับสิ่งที่เราทำ และราคานี้ได้ช่วยคนอื่นอีกที่จะทำตาม เพราะธรรมชาติของมนุษย์กับการตัดราคานั้นมาคู่กัน ใครทำอะไรดีย่อมมีคนทำตามแน่นอน ผมตั้งราคา 1,000 ตัดเหลือ 500 แน่ๆ แต่ 500 นี้คนที่ทำตามยังสามารถอยู่ได้ แต่ถ้าผมตั้งราคาที่ 500 จะเหลือแค่ 200 หรือถ้าผมตั้ง 200 จะเหลือราคาเพียงกิโลละ 100 บาท มันจะทำให้การเพาะเห็ดไปต่อยากเนื่องจากราคาขายต่ำ ต้องทำมากๆ ถึงจะคุ้ม ทำมากลงทุนมาก ความเสี่ยงมาก แล้วในที่สุดเกษตรกรดีๆ ก็หายไปจากระบบด้วยกลไกราคา 

“การตลาดในปัจจุบันย้อนแย้งกันคือ กลุ่มลูกค้าชอบของดีราคาถูก แต่คนผลิตต้องการขายให้ได้กำไรที่สามารถพาครอบครัวให้อยู่ได้กับเกษตรกรรม ซึ่งถ้าเรายังติดกับดักของวงจรนี้ เราจะไม่มีของกินดีๆ เพราะทุกคนจะผลิตปริมาณเยอะๆ จนล้นตลาด หาวิธีที่ได้ผลผลิตมากที่สุดเพื่อให้ขายได้ราคาที่ตลาดต้องการ แล้วรอเวลาล้นตลาดแล้วก็ต้องเลิกทำในที่สุด ตรงนี้มีตัวอย่างในประเทศไทยให้เห็นอยู่มากมายกับกับดักกลไกของราคาตลาดนี้”

รู้รส รู้ลึก

หลังจากคลุกคลีรู้นิสัยใจคอกันดี สิ่งที่จำเป็นต้องเข้าใจจริงๆ ในเห็ดคือรสชาติที่แท้จริงของมัน

“พอเรารู้จักวงจรชีวิตของมันแล้ว เราจะรู้ว่าความอร่อยมีวันหมดอายุ ความอร่อยหายเป็นวินาทีเลย เพราะว่าเห็ดมีความชื้นต่ำ พอมันโดนอากาศความชื้นมันก็จะหายไปเรื่อยๆ ยิ่งความชื้นหาย เห็ดก็จะอร่อยน้อยลง ส่วนใหญ่เราจะนับวันเก็บ 7 วันก่อนสปอร์ร่วงจะอร่อยสุด เราจึงเลือกเวลาการเก็บเห็ดที่ดีที่สุดให้ลูกค้า คือถ้าไม่ได้หรือไม่ดีก็ต้องรอ”

นอกจากระยะเวลาที่เหมาะสม เห็ดแต่ละส่วนก็มีรสชาติไม่เหมือนกัน ส่วนหัวที่นิ่มๆ มีรสชาติคล้ายเนื้อไก่เมื่อย่าง แต่หากเอาไปนึ่งจะให้สัมผัสคล้ายเนื้อปู ส่วนก้านเห็ดที่เหนียวหนุบกว่าให้รสสัมผัสเหมือนปลาหมึก แต่ถ้าหากนำไปทอดแบบเทมปุระ จะคล้ายกุ้งเนื้อหวาน

“โจทย์ของผมวันนี้คือผมรู้แค่เรื่องตัวเองพอ ถ้าวันนี้ผมปลูกเห็ดมิลค์กี้ ผมจะขอแตกฉานเรื่องเห็ดมิลค์กี้ได้ไหม”

“เพราะว่าเวลาเราเอาไปนำเสนอขาย หรือเราจะสร้างตลาดเอง เราต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เราจะไปหาเชฟร้านอาหารที่เขาสามารถซื้อของเราได้ในปริมาณเยอะๆ เราก็แค่บอกเชฟว่า หัวมันเอาไปทำอย่างนี้นะ มันจะกลายเป็นแบบนี้ อร่อยอย่างนี้นะ เชฟลองเอาไปทำ เชฟเก่งกว่าเราอยู่แล้วเรื่องการทำอาหาร แต่ถ้าเกษตรกรส่วนใหญ่ก็คือ “เชฟ เอาไปทำหน่อยสิ ทำอะไรอร่อย” ให้เชฟคิดแทน ความรู้สึกที่ได้รับย่อมต่างกัน วันนี้เราเพิ่มมูลค่าในแบรนด์ของเรา ขอเพียงแค่รู้จริงในสิ่งที่เราทำว่ามันสามารถทำอะไรอร่อย เราถึงจะสามารถสื่อสารออกไปได้

“ตอนนี้ทุกคนคิดว่าการเพิ่มมูลค่าคือการแปรรูป แต่การเพิ่มมูลค่าของผมเริ่มตั้งแต่ก่อนการแปรรูป”

“หนึ่ง เราต้องรู้ก่อนว่าเห็ดเราอร่อยยังไง ทำอะไรอร่อยได้บ้าง สอง การส่งมอบเห็ดถึงมือลูกค้าที่ดีที่สุด ทั้งเวลาในการเก็บเห็ด การเก็บรักษา และคำแนะนำที่ถูกต้อง เช่นเห็ดเขาไม่ให้ล้างน้ำนะ เพราะเห็ดมันเหมือนฟองน้ำ พอมันดูดน้ำเข้าไป เอาไปทำอาหารมันก็จะไม่ซึมซับรสชาติ ให้ตัดส่วนที่เลอะดินทิ้งก็พอ สาม การได้มาหรือที่มาของเห็ดกับการปนเปื้อนสารเคมีและสารพิษ เราเพาะปลูกแบบธรรมชาติ เราจำลองสภาพป่า แต่เราเลี้ยงในระบบปิดเพื่อป้องกันสารพิษและเคมีในอากาศที่จะเข้ามาปนเปื้อนในอาหาร เพราะเห็ดจะดูดซับทุกอย่างในอากาศ เราจึงต้องดูแลเห็ดเป็นอย่างดี”

สร้างนวัตกรรมเพื่อแบ่งปันและส่งต่อ

“ผมเป็นเกษตรกรที่สร้างนวัตกรรมและชุดความรู้ ผมตั้งกฎกับตัวเองว่า จะทำทุกอย่างให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด โดยเริ่มจากเทคนิคการเพาะปลูกที่ได้จากธรรมชาติ ไม่ผ่านกระบวนการทางเคมีใดๆ ทั้งสิ้น อย่างที่บอกว่าวงการเกษตรส่วนใหญ่ก็คือ คนทำไม่ได้คิด คนคิดไม่ได้ทำ ชุดความรู้ที่เราได้มาจากนายทุน ต้องการผลผลิตมากที่สุด หาทุกวิถีทาง ใส่ทุกอย่างเพื่อจะได้ปริมาณมากโดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม แต่วันนี้เราเป็นทั้งคนคิดและคนทำ เราไม่ใช่นักวิจัย แต่เราเป็นเกษตรกรที่ทำวิจัยมากกว่า

“สิ่งที่ผมจะทำต่อไปคือเรื่องสารอาหารในเห็ด เพราะชุดข้อมูลเกี่ยวกับสารอาหารของเห็ดเรายังมีน้อยมาก ที่ตั้งชื่อว่า Mushroom Man เพราะวันนี้ผมไม่ได้ต้องการทำแค่มิลค์กี้อย่างเดียว ผมยังต้องการทำเห็ดที่คนอื่นเขาไม่ทำ เหมือนอย่างเห็ดป่า เห็ดโคน ซึ่งยังไม่มีการเพาะปลูกในพื้นที่จำกัดได้ เห็ดป่าก็ต้องขึ้นในป่า ซึ่งมันก็ดีมาก เพราะมันเป็นธรรมชาติ แต่มันเกิดได้ปีละครั้ง ถ้าวันหนึ่งผมสามารถปลูกเห็ดป่าได้ในที่แคบได้ล่ะ เป้าหมายเรื่องเห็ดของผมคือผมอยากจะให้เห็ดไทยสู้กับเห็ดสากล สู้ทรัฟเฟิล สู้ชิตาเกะ ได้ เพราะผมเชื่อว่าเห็ดไทยไม่แพ้เห็ดชาติใดในโลก”

ในอีกฟากฝั่ง นอกจากการสร้างนวัตกรรม สิ่งที่นัทให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการส่งต่อความรู้และเทคโนโลยีเหล่านี้ออกไปผ่านการสอนซึ่งเขาคิดว่ายั่งยืนกว่าการขายก้อนเห็ดที่หลายคนมาเสนอให้ทำ

“คนติดต่อมาซื้อก้อนเห็ดหลายคน แต่ผมก็ไม่ขาย ถ้าคุณจะทำจริงๆ มาเรียนทำดีกว่า เพราะว่าถ้าคุณเรียนแล้วคุณสามารถทำก้อนเองได้เลย เป็นการเรียนการสอนผ่านทฤษฎี 50% ปฎิบัติ 50% แต่สิ่งสำคัญคือการกลับไปทำจริงที่บ้าน ได้เห็น ได้ศึกษาการเจริญเติบโต ได้เจอปัญหาจริง ส่วนผมจะคอยแก้ไขปัญหาที่เจอและเน้นการป้องกันเป็นหลัก ผมสอนให้ทำบ่อยๆ จนชำนาญ รู้จักการแก้ไขและพัฒนาไปในตัวของคนที่เรียน 

“ผมใช้หลักตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่ง “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” ก่อนที่จะลงทุนในธุรกิจเห็ด ถ้ามีความรู้และประสบการณ์จริง การทำธุรกิจเห็ดไม่มีทางเจ๊งแน่นอน เมื่อไม่เจ๊งแสดงว่ามีกำไร เมื่อมีกำไร ความยั่งยืนจะตามมา ผมสอนตั้งแต่การทำก้อนเชื้อที่ลงทุนน้อยที่สุดในราคาหลักพัน พอทำเสร็จปุ๊บ ผมให้เอากลับบ้านไปเลี้ยง นั่นคือเรียนวันที่สองแล้ว ให้ไปสังเกตเลยว่าเชื้อแต่ละวันมันเดินแบบไหน แล้วระยะเวลา 30 วันเก็บเกี่ยว ทำรอบสองที่บ้าน เจอปัญหา โทรหาผม ผมรู้แล้วว่าปัญหานี้ควรป้องกันยังไง โดยที่เรายังลงทุนต่ำอยู่ ผ่านไปสัก 3-4 รอบ พอเริ่มเก่ง อำนาจการตัดสินใจลงทุนก็สูง โอกาสเจ๊งต่ำ ก็ค่อยขยับ ค่อยลงทุน อย่าเพิ่งกระโดดไปที่ฉันมีตังค์แล้วจะลงทุนเลย แบบนั้นเจ็บแน่นอน”

นอกจากนี้ นัทยังวางแผนที่จะพัฒนาการสร้างก้อนเห็ดโดยไม่ต้องใช้ถุงพลาสติกในอนาคต เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยให้เกษตรกรมือใหม่ใช้งานง่ายและต่อยอดธุรกิจที่ช่วยกันสร้างคุณค่าต่างๆ ให้สังคมได้

จากคำถามในช่วงที่ชีวิตเคว้งคว้างว่าเกิดมาทำไม ในที่สุดนัทก็ได้คำตอบจากห้องเล็กๆ ที่อัดแน่นไปด้วยแพสชั่นของเขา

“ในที่สุดแล้ว ผมก็รู้ว่าวันนี้คุณค่าของผมคืออะไร เราได้ทำอะไรในสิ่งใหม่ๆ เล็กๆ ออกมา แล้วคนเอาไปใช้ เอาไปต่อยอด ไปพัฒนาสังคม

“คำถามที่ว่าผมเกิดมาทำไมวะ อ๋อ ผมเกิดมาเพื่อแบ่งปันความรู้กับคน”

ภาพที่เขาอยากให้ทุกคนทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภคมอง Mushroom Man คือเป็นอีกโจทย์หนึ่งของอาหารปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และการเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรที่คำนึงถึงผู้อื่นด้วย “มีคนหลายคนถามผมว่าสอนคนอื่นแล้วผมได้อะไรวะ ในเมื่อคนที่เรียนสามารถผลิตก้อนเห็ดได้เอง ไม่ต้องซื้อก้อนเห็ดจากผม หรือซื้อเห็ดจากผม ผมได้ค่าเรียนเห็ดไม่กี่พันบาทแล้วผมจะได้อะไรในระยะยาว ผมได้ความสุขครับ เพราะว่าความรู้ที่ผมถ่ายทอดสามารถสร้างอาชีพให้กับพี่ๆ น้องๆ ได้ ช่วยเหลือครอบครัวของเขาได้ แล้วเราได้สร้างครอบครัวเห็ดที่ช่วยเหลือกันโดยไม่ตัดราคากัน ในอนาคต คนในชุมชนก็ได้กินเห็ดที่ปลอดสารเคมีและสารพิษ และผมอยากเป็นต้นแบบของการทำเกษตรที่ไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ คุณมีพื้นที่แค่นี้คุณก็ทำได้ เริ่มจากการเรียนรู้ เริ่มจากของที่คุณมี”

และนั่นก็จะสร้างวงจรแห่งความยั่งยืนแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดขึ้นในชุมชนเล็กๆ ของแต่ละคนได้

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง