เชื่อว่าต้นปี หลายคนคงจะมี New Year Resolution ไว้ตั้งเป้าหมาย ฉันจะผอมลง ฉันจะสุขภาพดีขึ้น ฉันจะออกไปวิ่งบ่อยขึ้น ฉันจะมีซิกแพค ฉันจะแบ่งปันให้เพื่อนร่วมโลก ฯลฯ หรืออะไรก็ตามที่เชื่อว่าจะทำให้เรามีชีวิตดีขึ้น แต่ความคลาสสิกคือเรามักจะทำไม่ได้จริงตามหวังและได้แต่ปลอบใจตัวเองว่า ปีหน้าเอาใหม่นะ

คำว่าปีหน้าเอาใหม่ได้มาถึงแล้ว และการเริ่มใหม่คราวนี้ควรมีกระบวนท่ามากขึ้น greenery ขออาสาเสนอวิธีที่ทำให้เราจดจ่ออยู่กับการเปลี่ยนแปลงตัวเองผ่าน Tracker หรือบันทึกพฤติกรรมในแต่ละวันของเรา งานนี้เรามีเทมเพลตมาให้เลือกใช้เพื่อการเปลี่ยนพฤติกรรมสู่สุขภาพดี เลยรวมไปถึงการดูแลสุขภาพโลกด้วยการลดการสร้างขยะด้วย เพราะการบันทึกจะทำให้เราสนุกกับเป้าหมาย อยากเห็นพัฒนาการ รวมไปถึงมองออกว่าควรจะปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้ได้เป้าหมายนั้นนั่นเอง

วิธีการใช้เทมเพลตนี้ คุณสามารถปรินท์ออกมาเป็นชุดๆ ต่อหนึ่งเดือน มีให้บันทึกทั้งเรื่องการดื่มน้ำ การกินผัก-ผลไม้ การขับถ่าย การลดขยะ การออกกำลังกาย และอารมณ์ สามารถเริ่มชุดใหม่ได้ในเดือนใหม่ จะเย็บรวมเล่มหรือตัดแปะใส่สมุดบันทึกที่ใช้ประจำก็ได้เหมือนกัน ฟังก์ชั่นสำคัญคือบันทึกทุกวันจนกลายเป็นนิสัยที่ช่วยให้เปลี่ยนพฤติกรรมได้ในที่สุด

ปีใหม่นี้เราจะดื่มน้ำเปล่าให้ได้วันละ 8 แก้ว

แค่ขาดน้ำเพียงวันเดียวก็แย่แล้ว และเราก็รู้กันดีว่าควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน แต่ถ้าว่ากันแบบจริงๆ จังๆ ร่างกายของแต่ละคนต้องการน้ำในปริมาณที่แตกต่างกัน คำนวณได้โดยใช้สูตร น้ำหนัก x 2.2 x 30/2 = ปริมาณน้ำ (มล.) เช่น น้ำหนักตัว 55 x 2.2 x 30/2 = 1,815 มล.คือปริมาณที่ควรดื่มต่อวัน แต่ถ้าว่ากันอย่างคร่าวๆ แบบขี้เกียจคำนวณ ปริมาณจะอยู่ที่

ผู้ชาย 13 แก้ว ผู้หญิง 9 แก้ว หญิงมีครรภ์ 10 แก้ว หญิงให้นมบุตร 13 แก้ว โดยต่อแก้วก็อยู่ราวๆ 200 มล.

ถามว่าทำไมต้องดื่มน้ำให้ครบ ก็เพราะถ้าดื่มน้ำน้อยเกินไปจะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดทำงานได้ไม่สะดวก ร่างกายขับของเสียได้ยาก เกิดลิ่มเลือด เลือดข้น อันเป็นสาเหตุของโรคน่ากลัวมากมาย กลับกัน การดื่มน้ำพอดีทำให้ร่างกายมีสมดุลที่ดี ทั้งระบบการไหลเวียนของเลือด การรักษาอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ ดีต่อระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย ฯลฯ ที่สำคัญคือช่วยชะลอความแก่ ริ้วรอย ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลสมชื่อ 

ดื่มอย่างไรดี

มันก็ออกจะยากเล็กน้อยในการจำว่าดื่มน้ำไปแล้วกี่แก้ว จึงมีการจัดการเวลาการดื่มให้เป็นกิจวัตร ดังนี้

1. ดื่มน้ำตอนเช้าหลังตื่นนอน ก่อนแปรงฟันเพื่อให้จุลินทรีย์ที่ดีที่สะสมมาตลอดทั้งคืนในปากลงไปที่ทางเดินอาหาร ช่วยให้ขับถ่ายคล่อง 

2. ดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหาร 45 นาที และไม่ควรดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหารรือหลังอิ่มมากเกินไป เพราะรบกวนการทำงานของน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร 

3. ดื่มน้ำระหว่างวัน เวลา 10.00 น. 14.00 น. 16.00 น.

4. ดื่มน้ำก่อนนอน ครบโดสตามมาตรฐาน

วิธีบันทึก: ดื่มน้ำครบแก้วให้ติ๊กหรือระบายสีหนึ่งแก้ว ถ้าไม่สะดวกพกหรือลืม การดื่มเป็นเวลาจะทำให้เรานึกย้อนง่ายขึ้นว่าดื่มหรือลืมกันแน่

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.greenery.org/articles/drink

“ปีใหม่นี้เราจะออกกำลังกายสม่ำเสมอ”

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกณฑ์ขั้นต่ำว่าเราควรมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ถามว่าการออกกำลังกายหนักและเบาวัดกันที่ตรงไหน ประเมินได้ด้วยการทดสอบการพูด (Talk test)

ออกกำลังกายชนิดเบา สามารถร้องเพลงขณะออกกำลังกายได้
ออกกำลังกายปานกลาง สามารถพูดจาโต้ตอบได้ในขณะออกกำลังกาย
ออกกำลังกายอย่างหนัก ไม่สามารถพูดโต้ตอบได้อย่างปกติ

ถ้าว่ากันอย่างละเอียด การออกกำลังกายระดับหนักทำแค่อาทิตย์ละ 75 นาทีก็เพียงพอ นั่นคือการออกกำลังกายแบบหนัก ก็เท่ากับการออกกำลังกายแบบปานกลางคูณ 2 ก็ลองคำนวณกันให้ครบ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ส่วนการออกกำลังกายแบบเบา ไม่นับรวมตามสูตรนี้นะ

แต่นอกจากจะออกกำลังกายให้ครบ 150 นาที เรายังควรออกกำลังกายให้หลากหลายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงแบบเต็มศักยภาพ ซึ่งถูกจัดกลุ่มให้เข้าใจง่ายๆ ตามนี้

คาร์ดิโอ (Cardio) หมายถึงการออกกำลังกายที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่องเป็นช่วงเวลา เช่น การเดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก ฯลฯ ซึ่งทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปยังกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น หัวใจแข็งแรงขึ้น แถมยังช่วยเผาผลาญพลังงานและไขมัน

เวท เทรนนิ่ง (weight training) คือการออกกำลังกายที่ค่อยๆ มีการเพิ่มน้ำหนักหรือแรงต้านขึ้นเป็นลำดับ ตามระดับความแข็งแรงของร่างกาย กล้ามเนื้อมีการหดและยืดเป็นจังหวะซ้ำๆ ทำให้ระบบกล้ามเนื้อแข็งแรง ใช้ร่ายกายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

การยืดเหยียด (Flexibility training) คือการออกกำลังกายที่ได้เคลื่อนไหวข้อต่อต่างๆ  เช่นโยคะ รำมวยจีน เพื่อให้ข้อต่อได้ทำงานอย่างเต็มที่ ลดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 

วิธีบันทึก: ใส่วันที่ในปฏิทินออกกำลังกายตามเดือนนั้นๆ เลือกประเภทการออกกำลังกายที่ใช้พร้อมเวลาที่เสียเหงื่อ ครบสัปดาห์อย่าลืมบวกรวมว่าได้ตามเป้าหมาย 150 นาทีเพื่อสุขภาพดีหรือไม่

“ปีใหม่นี้เราจะอึอย่างมีคุณภาพ”

หาค่าปกติในการอึของตัวเองด้วยการบันทึก ตามค่าเฉลี่ยมาตรฐาน คนเราอึได้ 3 ครั้งต่อวัน จนถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ (หรือราวๆ 2 วันครั้ง) และควรสังเกตหน้าตาของอึด้วย เพราะมันบ่งบอกถึงสุขภาพได้ด้วยนะ

อึกล้วย สีเหลือง ไม่แข็งและไม่นิ่มจนเกินไป ตกน้ำแล้วลอยตัว บ่งบอกถึงสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ

อึอุด้ง มีสีน้ำตาลแดงปนดำ ขาดเป็นช่วงๆ รูปร่างผอมลีบ มาจากคนกล้ามเนื้อท้องมีปัญหา ขาดสารอาหาร หรือลดน้ำหนักมากเกินไป ควรปรับปรุงด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์และดูแลลำไส้ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยของหมักที่มีโปรไบโอติกส์ เช่น ผักดอง ข้าวหมาก โยเกิร์ต

อึโคลน มีสีน้ำตาลแดงเข้มค่อนไปทางดำ เหม็นมาก เป็นเพราะร่างกายดูดซึมน้ำไม่เพียงพอ ลำไส้เป็นแผล ควรพักผ่อนเยอะๆ และกินอาหารที่มีไฟเบอร์เยอะๆ งดอาหารเผ็ด ชา กาแฟ

อึเป็นน้ำ เพราะลำไส้ไม่ทำหน้าที่ดูดซึมน้ำ มาจากเรื่องของความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ควรพักผ่อนมากๆ งดอาหารไขมันและโปรตีนสูง และกินผักเยอะๆ

อึแข็งปนน้ำ เพราะลำไส้ขาดความแข็งแรงจากความเครียดและกำลังป่วย 

อึขี้กระต่าย ก้อนหินเม็ดเล็กๆ เป็นเพราะในลำไส้ขาดน้ำ ท้องผูก ควรดื่มน้ำมากๆ กินผักเยอะๆ และอย่ากลั้นอึเด็ดขาด 

อึเพอร์เฟ็กต์ ขดเป็นวงเหมือนในการ์ตูน สุขภาพดีเยี่ยม 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.greenery.org/articles/poop

พัฒนาคุณภาพอึให้เพอร์เฟ็กต์

เพราะอึเพอร์เฟ็กต์ไม่ได้มีปัจจัยยุ่งยาก แค่เริ่มจาก กินอาหารที่มีกากใยมากๆ ทั้งผัก-ผลไม้ และธัญพืช ดื่มน้ำเยอะๆ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรืออาหารรสจัด ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่นั่งหรือยืนนานๆ ห้ามกลั้นอึไว้นานๆ เพราะทำให้ลำไส้ใหญ่ดูดซึมน้ำมากเกินไปจนท้องผูก และที่สำคัญ ควรฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ซึ่งช่วงเวลาที่สามารถขับถ่ายได้ดีที่สุดคือช่วงตีห้าถึงเจ็ดโมงเช้านั่นเอง 

วิธีบันทึก: ระบายสีตามจำนวนครั้งในการอึต่อหนึ่งวัน หากจะระบายตามสีสันจริงเพื่อบอกคุณภาพอึด้วยก็ได้ แล้วมาประมวลผลว่าเราอึได้ดี หรือควรจะปรับพฤติกรรมอะไรให้อึคล่องตัว

“ปีใหม่นี้เราจะกินผัก-ผลไม้ให้ครบโดส”

ตามที่องค์การอนามัยโลกบอกว่า หากเรากินผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัมและต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัย จะสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังน่ากลัวต่างๆ ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคไต และปัญหาสุขภาพมากมายที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต

ซึ่งใน 400 กรัมที่ว่า ได้แบ่งสัดส่วนการกินไว้เป็นผัก 3 ส่วน ผลไม้ 2 ส่วน กะคร่าวๆ ด้วยตา ถ้าเป็นผักผลไม้มวลแน่น 1 ส่วนก็ราวๆ 1 ฝ่ามือ แต่ถ้าเป็นผักใบเบาๆ ก็ 2 ฝ่ามือ และอย่าลืมเลือกผักผลไม้ที่ปลอดภัย และกินให้หลากหลายนะ

กินผักผลไม้ยังไงให้ครบโดส

พกผลไม้ให้เป็นนิสัย ติดไปทำงานวันละ 1-2 ผล จะเป็น กล้วย ส้ม แอปเปิ้ล ชมพู่ ฝรั่ง ฯลฯ กินเป็นมื้อพักเบรกหรือของว่างแทนขนมขบเคี้ยว หากทำจนติดนิสัย เราจะกินได้ตามโควต้าผลไม้ 100 – 150 กรัม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมในหนึ่งวันตามสูตรผัก 3 ส่วน ผลไม้ 2 ส่วน โดยควรจะเลือกผลไม้น้ำตาลต่ำดีกว่า พวกทุเรียน มะม่วงสุก น้อยหน่า ลิ้นจี่ ลำไย ฯลฯ เว้นเอาไว้หรือกินให้น้อยๆ พอ

หัดทำกับข้าวกินเอง เริ่มง่ายๆ แค่สัปดาห์ละ 1 วัน เลือกผักที่ชอบสลับสับเปลี่ยนกับผักใหม่ๆ ตามฤดูกาลที่ไม่เคยกิน จะได้สารอาหารหลากหลายและลดการสะสมของสารเคมีจากประเภทผักผลไม้เดิมๆ และถ้าหาแหล่งปลูกแหล่งซื้อที่ปลอดภัยที่ไว้ใจได้ เลือกเอง ล้างเอง ปรุงเอง ก็จะมั่นใจในความสะอาดปลอดภัยและรสชาติที่ไม่หวาน เค็ม เผ็ด เกินควร

เพิ่มผักแต่ละมื้อ เตรียมอาหารกลางวันไปกินที่ทำงานง่ายๆ ที่เตรียมได้ตั้งแต่ก่อนนอน เมนูง่ายๆ ก็มีตั้งแต่สลัด ข้าวผัด ข้าวคลุกน้ำพริก หรือจะแซนด์วิชก็ได้ เน้นให้มีผักมากพอ ส่วนคนไม่พร้อมปรุง จะเตรียมแค่ผักสดหรือผักต้มไปเป็นผักเคียงอาหารที่สั่งจากร้านตามสั่งหรือร้านก๋วยเตี๋ยวมื้อกลางวันก็ได้อยู่

ดื่มผัก ถ้ากินเท่าไหร่ก็ยังไม่ถึง 400 กรัม ทางลัดคือการทำน้ำผักผลไม้ปั่น เน้นผักเยอะๆ เติมผลไม้รสอร่อยลงไปนิดหน่อยลดกลิ่นเขียวของผัก และควรดื่มทันทีเพื่อไม่ให้สูญเสียคุณค่าของสารอาหาร 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.greenery.org/articles/400grams

วิธีบันทึก: งานนี้ต้องใช้หลักการคำนวณในใจตามปริมาณการกะที่บอกไป แล้วนึกดูว่าในหนึ่งวันกินผักไปเท่าไหร่ ผลไม้ได้ตามโดสไหม แล้วหาวิธีเพิ่มให้ครบตามจำนวน

“ปีใหม่นี้เราจะนอนหลับฝันดี”

เราควรนอนวันละ 8 ชั่วโมงและไม่ควรนอนดึกเกินไป เพราะมีผลต่อสมอง ผิวพรรณ ไปจนถึงความอ้วน! มาบันทึกให้เห็นชัดๆ ว่าคุณภาพการนอนของเราดีพอหรือควรปรับปรุง

การนอนหลับถือเป็นช่วงเวลาที่อวัยวะต่างๆ ได้พักผ่อน ปรับสมดุล และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หากนอนหลับไม่เพียงพอจะก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ความจำ ความคิด เรียกว่ารวนไปทั้งระบบเพราะแค่นอนไม่พอ

เทคนิคนอนยังไงดี

1. ออกกำลังกายตอนเย็น 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน และ ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ จะด้วยการนั่งสมาธิ อาบน้ำ หรือกิจกรรมที่ไม่กระตุ้นสมองและร่างกายมากเกินไป

2. งดกินอิ่มมากๆ อาหารหวาน มัน เค็ม เผ็ด เพราะร่างกายต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในการย่อยอาหารหากกินอาหารรสจัดหรืออิ่มมากๆ จะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนัก

3. งดดื่ม งดสูบ หลีกเลี่ยงกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มกระตุ้นประสาท 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน

4. กำจัดสิ่งรบกวน ปิดไฟและอุปกรณ์กวนตากวนใจ เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ

5. นอนให้เป็นเวลา ควรเข้านอนเวลาประมาณ 21.00 – 23.00 น. และทำซ้ำๆ จนเป็นนิสัยทั้งวันธรรมดาและวันหยุด

วิธีบันทึก: ตื่นปุ๊บทำปั๊บก็น่าจะดี ขีดบันทึกช่วงเวลาตั้งแต่ตอนนอนถึงตอนตื่น แล้วนับดูว่าครบ 7-9 ชั่วโมงตามมาตรฐานผู้ใหญ่วัยทำงานหรือไม่ นอกจากจะนับชั่วโมงได้แล้ว ยังดูรู้ว่านอนดึก นอนเร็ว ตื่นเช้า ตื่นสายได้อีกด้วย

“ปีใหม่นี้เราจะจัดการอารมณ์เก่งขึ้น”

mood tracker เป็นเครื่องมือจิตบำบัด (Psychotherapy) ที่ไม่เพียงแต่มีประโยชน์กับผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องหมั่นสังเกตอารมณ์ความรู้สึกตัวเองเท่านั้น แต่กับคนทั่วไปอย่างเราๆ การได้มาวิเคราะห์ทบทวนเมื่อจบวันว่าเรารู้สึกแบบไหนแล้วบันทึกเอาไว้ เหมือนเป็นการได้ใคร่ครวญถึงวันที่เพิ่งผ่านไปอย่างมีสติ ยอมรับความทุกข์ ความสุข ความโกรธ ความกังวล หรือความเครียด ต่างๆ นานาที่มาปะทะ และบันทึกไว้ให้เห็นชัดๆ เพื่อให้เราพบว่า

ไม่ว่าวันนี้จะทุกข์หนักหนา โกรธเอาเป็นเอาตาย หรือมีความสุขจนล้น แต่วันถัดไปก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะขุ่นมัวหรือสนุกสนานได้เหมือนเดิม นอกจากทำใจได้ง่ายขึ้นว่าสุขทุกข์ไม่อยู่กับเรานาน มันยังส่งผลให้เราจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้นเมื่อจับทางของตัวเองได้นั่นเอง

วิธีบันทึก: ประมวลผลเมื่อจบวันว่าวันนี้รู้สึกแบบไหนมากที่สุด แล้วจุดไว้ หากต่อเนื่องไปวันต่อไปให้ลากเป็นเส้นลงมา จะรู้สึกแฮปปี้มาก โอเคดี กังวล โกรธ หรือเสียใจ ก็มาร์กไว้ จบครบเดือนจะได้เห็นความขึ้นลงของอารมณ์ตัวเอง

“ปีใหม่นี้เราจะลดขยะเพื่อลดภาระให้โลก”

มาจริงจังกับการลดขยะ single use ในชีวิตประจำวัน ทุกครั้งที่ไม่รับถุงพลาสติก พกขวดเติมน้ำเอาแทนซื้อขวดใหม่ พกแก้วไปร้านกาแฟ ฯลฯ ให้มาร์กไปทีละชิ้นแล้วมาดูกันว่าในหนึ่งเดือนเราลดภาระให้โลกได้เท่าไหร่กัน

หากยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองยึดหลัก 7R เพื่อลดปัญหาขยะล้นโลกด้วยวิธีหลากหลาย แถมเรายังสามารถดีไซน์วิธีและวิถีกรีนได้ด้วยตัวเองตามความถนัด ความเข้าใจ และโอกาส ซึ่งเจ้า 7R ก็เป็นเหมือนไกด์ที่ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ในการลดขยะหลากหลายรูปแบบ ดังนี้

Reduce ลดการใช้ให้น้อยลง อะไรไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมี เครื่องดื่มบางประเภทไม่เห็นจำเป็นต้องใช้หลอด ถุงพลาสติกไม่ต้องซ้อนหลายชั้น หรือแทนที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ขวดเล็กๆ ก็ลองซื้อขวดใหญ่ใช้บรรจุภัณฑ์น้อยลงดู

Reuse ใช้ซ้ำให้มากขึ้น ใช้แล้วใช้อีกจนกว่าจะคุ้มค่า ไล่ไปตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่างใช้กระดาษให้ครบสองหน้า ใช้ถุงผ้าซ้ำๆ แก้วพลาสติกเอามาชำต้นไม้ ไปจนถึงการประดิดประดอยเปลี่ยนฟังก์ชั่นจากขยะชิ้นเดิมให้กลับมาใช้ได้ใหม่

Recycle กระบวนการแปรรูปขยะให้กลายเป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งใหม่อาจจะยากเกินกำลังผู้บริโภคตัวเล็กๆ แต่อีกแง่หนึ่ง เราคือต้นทางในการจัดการแยกประเภทขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หากเรามีความรู้ความเข้าใจ ทิ้งขยะให้ถูกถัง ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น เทน้ำแข็งลงขยะทั่วไปก่อน แล้วค่อยทิ้งแก้วพลาสติกลงขยะรีไซเคิล แยกประเภทกระดาษสักนิดก่อนทิ้ง ก็ช่วยให้การนำไปแปรรูปได้กระดาษที่คุณภาพดีกว่าการผสมปนเปขยะกระดาษทุกชนิด เป็นต้น

Repair ซ่อมแซมแทนโยนทิ้ง เพราะของบางชิ้นอาจจะแค่ต้องการการดูแลรักษา พาไปหาหมอนิดๆ หน่อย หรือใครมีทักษะที่สามารถซ่อมแซมได้เองก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ อย่าคิดว่า เสียเวลา ซื้อใหม่ง่ายกว่า หรือซ่อมไปก็ไม่คุ้ม เพราะต่อให้ไม่คุ้มสตางค์ แต่ก็คุ้มที่เราจะไม่เพิ่มการใช้ทรัพยากรอย่างเปล่าประโยชน์

Return นอกจากการส่งคืนเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเครื่องดื่มขวดแก้วที่ส่งคืนโรงงานแทนการเลือกเครื่องดื่มบรรจุขวดพลาสติก ส่งคืนบรรจุภัณฑ์ให้กับแม่ค้าที่สนิทสนมเพื่อให้เขานำกลับมาใช้ซ้ำ Return ยังหมายถึงการคืนให้สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ลดการใช้สารเคมีที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็นับเป็นการคืนเช่นเดียวกัน

Reject ปฏิเสธการสร้างขยะล้นเกิน และเลือกใช้สิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Rethink คิดให้ดีก่อนใช้และก่อนทิ้งเสมอ เพราะเราอาจเห็นความเป็นไปได้ในการช่วยลดขยะจากวิธีการที่กล่าวมา หรือวิธีที่มากไปกว่าเพื่อโลกสีเขียว

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.greenery.org/articles/7R

วิธีบันทึก: เมื่อไหร่ที่ลดการสร้างขยะจาก single use ได้ ให้ระบายสีหรือติ๊กถูกเพื่อนับจำนวนไว้ แล้วมาดูกันว่าในแต่ละเดือนเราลดขยะไปได้กี่ชิ้น ใครจะรู้ว่าแค่เราเริ่มเปลี่ยน ผลลัพธ์ก็น่าชื่นใจแล้ว

ดาวน์โหลด New You Tracker คลิกที่นี่

ออกแบบเทมเพลต: npy.j