ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดมะเร็งส่วนมากก็จะตรงไปตรงมา อย่างได้รับสารพิษ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ติดเชื้อ พันธุกรรม แต่ถ้ามีคนมาบอกว่าการทำงานกะกลางคืน นอนไม่เป็นเวลา จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้ เราก็คงนึกภาพไม่ค่อยออก ว่ามันจะมีกลไกอย่างไร

กรมควบคุมโรคของอเมริกาได้เผยแพร่ข้อมูลถึงความมั่นใจในระดับสูงว่า การทำงานกะกลางคืนเป็นการรบกวนนาฬิกาชีวิตซึ่งสามารถเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ โดยข้อสรุปนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัยต่าง ๆ ซึ่งสมมติฐานก็คือ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเรานั้น ทั้งการนอน การกิน การย่อยอาหาร อุณหภูมิร่างกาย อารมณ์ จะมีจังหวะการทำงานของมัน ซึ่งมันถูกเซ็ตมาในระดับยีนของเราเลยทีเดียว

โดยนักวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 18 ก็ได้เริ่มค้นพบว่า โดยปกติต้นไมยราบจะกางใบออกในเวลากลางวันและจะหุบใบในเวลากลางคืน แต่ถ้าเราเอาไปไว้ห้องที่มืดตลอดเวลา ต้นไมยราบก็จะยังคงกางใบและหุบใบตามเวลาเดิม แสดงให้เห็นว่าต้นไมยราบมีนาฬิกาชีวภาพควบคุมอยู่ ซึ่งเมื่อมาทดลองในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็พบปรากฏการณ์นี้เช่นกัน โดยนักวิทยาศาสตร์ผู้สามารถค้นพบยีนและพบโปรตีนที่กำหนดกลไกการทำงานของนาฬิกาชีวภาพก็ได้รางวัลโนเบลไป

ในมนุษย์นั้นระบบต่าง ๆ ถูกกระตุ้นด้วยแสงที่มากระทบดวงตาเรา เพื่อกระตุ้นให้ตื่นตัว หิว ระบบต่าง ๆ เริ่มทำงาน และเมื่อมืดลงฮอร์โมนต่างกาย อย่างเช่น เมลาโทนินก็ออกมา เพื่อให้เราหลับได้สนิท ซ่อมแซมฟื้นฟูร่างกายตนเอง แต่เนื่องจากในปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีมากมาย ที่ปล่อยแสงออกมา โดยเฉพาะแสงสีฟ้า ที่รบกวนนาฬิกาชีวิตของเรา ดังนั้นการใช้แว่นตากรองแสงสีฟ้า ปรับโหมดตัดแสงสีฟ้าจากมือถือ แท็บเล็ต จอคอมเอง หรือจะให้ดีเว้นระยะห่างการใช้หน้าจอก่อนนอนเป็นดีที่สุด

แต่ไลฟ์สไตล์การนอนดึกตื่นสาย เปิดไฟนอน ทำงานเป็นกะ ทำงานกลางคืน เดินทางข้ามไทม์โซน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการรบกวนนาฬิกาชีวิตเราได้ทั้งสิ้น ซึ่งโดยปกติแล้วการนอนที่มีคุณภาพ จะสามารถยับยั้งการเติบโตของเนื้องอกและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ แต่ถ้าวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปรบกวนการนอนของเราจะเป็นอย่างไร

เคยมีงานวิจัยในหนูพบว่า เนื้องอกในปอดนั้นมีความสัมพันธ์กับนาฬิกาชีวภาพ โดยทำการทดลองแบ่งหนูที่มีเนื้องอกในปอดเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกอยู่ในสิ่งแวดล้อมปกติที่มีแสงให้ 12 ชั่วโมง และมืด 12 ชั่วโมง ส่วนหนูอีกกลุ่มจัดให้เหมือนคนทำงานเป็นกะ โดยเวลาที่มีแสงจะเลื่อนไป 8 ชั่วโมง ทุก 2-3 วัน ซึ่งพบว่าหนูในกลุ่มนี้มีการเพิ่มขึ้นของเนื้องอกในปอดมากขึ้นถึง 68% หรือจากการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องทำงานกะดึก จำนวน 61 ชิ้น ศึกษาในคนจำนวนถึง 3,909,152 คน โดยมีคนที่เป็นมะเร็งประมาณ 114,000 คน เมื่อนำมาวิเคราะห์แล้วพบว่าคนที่ทำงานกะดึกเสี่ยงเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นถึง 19%

หากเจาะไปที่นางพยาบาลเพียงอย่างเดียว พบว่านางพยาบาลที่ทำงานกะดึกเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นถึง 58% เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น 35% และเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มมาขึ้น 28%

โดยกรมควบคุมโรคของอเมริกา CDC ได้ระบุกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงไว้ดังนี้

  • ทำงานอย่างน้อย 3 ชั่วโมงในช่วงเที่ยงคืนถึงตี 5
  • ทำงานกะกลางคืนอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน
  • มีการทำงานกะกลางคืนอย่างยาวนาน (10 ปีขึ้นไป)
  • เริ่มทำงานกะกลางคืนก่อนอายุ 30 ปี

ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้งานกะกลางคืนมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งมากขึ้นได้แก่ ความเครียด ไลฟ์สไตล์ (สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ โภชนาการที่ไม่ดี ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ไม่โดนแดดขาดวิตามินดี) ซึ่งไม่ใช่แค่ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งที่มากขึ้น แต่คนทำงานกะกลางคืนมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพ อย่างเบาหวานประเภทที่ 2 โรคหัวใจ โรคนอนไม่หลับ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคอ้วนลงพุง ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีบุตรยากหรือแท้งบุตรง่าย เป็นต้น

อย่างไรก็ดีเรื่องนี้คงยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป และถ้ามีหลักฐานยืนยันชัดเจน ว่าการทำงานเป็นกะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างชัดเจน ภาครัฐหรือสถานประกอบการควรจะมีกฎหมาย/มาตรการใด ๆ มาคุ้มครองดูแลคนที่ต้องทำงานลักษณะนี้

แต่ก็ไม่ต้องหวาดกลัวกันจนเกินไป เนื่องจากถ้าสมมติว่า ทำงานกะกลางคืนมีโอกาสเกิดมะเร็งมากขึ้น 30% เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ว่าทุก 100 คนทำงานแบบนี้แล้วจะเป็นมะเร็ง 30 คน แต่ตัวเลขนี้มาจากการสุ่มสำรวจคนจำนวน 1,000 คนแล้วพบว่า ต่อให้ทำงานกะปกติก็เป็นมะเร็งสัก 10 คน แต่ในคนที่ทำงานกะกลางคืนพบว่าเป็นมะเร็ง 13 คน แต่ถ้าบอกว่าทำงานกะกลางคืนมีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้นจาก 1% เป็น 1.3 % คนก็อาจจะไม่เห็นความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การระวังตัวไว้ก็เป็นเรื่องที่ดี แล้วเราจะลดความเสี่ยงได้อย่างไร กรมควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา(CDC) ก็ได้ให้คำแนะนำสำหรับคนทำงานกะกลางคืนไว้ดังนี้

  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ และควรแจ้งแพทย์ด้วยว่าตนเองทำงานกะกลางคืน
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ (จะให้ดีควรนอนในห้องที่มืดสนิท หรือใส่ผ้าปิดตา)
  • กินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์

หรือ พูดง่าย ๆ ก็ได้แค่ว่าตอนนี้เราทำงานที่มีความเสี่ยงแล้ว อย่าไปเพิ่มความเสี่ยงอย่างอื่นอีก ส่วนใครที่ติดนอนดึกตื่นสาย ก็อาจจะลองนอนเร็วตื่นเช้าดูบ้าง ก็อาจจะช่วยให้สุขภาพในด้านอื่น ๆ เราดีขึ้นด้วยนะครับ

เอกสารอ้างอิง
– Circadian rhythm disruptions linked to increased risk of lung cancer, study shows ; medicalnewstoday
– Recent News about Night Shift Work and Cancer: What Does it Mean for Workers? ; Centers for Disease Control and Prevention
– Night shifts raise women’s cancer risk ; medicalnewstoday

ภาพประกอบ : missingkk