หลังจากได้ฟังเรื่องของคุณยายคาร์สัน ขวัญใจฮิปปี้เจ้าของหนังสือ ‘The Silent Spring’ ที่สร้างความตระหนักรู้เรื่องการใช้สารเคมีให้กับชาวอเมริกันแล้ว ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าอเมริกายังใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆ กว่าจะสามารถผลักดันปัญหาเรื่องสารเคมีให้เป็นปัญหาระดับประเทศ และอีกนานทีเดียวกว่าคำว่าสินค้าออร์แกนิกจะถูกยอมรับอย่างเป็นสากล

ในตอนนี้เราเลยจะพาทุกคนย้อนไทม์ไลน์กลับไปยังช่วงเวลาของการผลักดันมาตรฐานออร์แกนิกระดับโลก และพาไปรู้จักกับหนึ่งในหัวแรงสำคัญของการผลักดันครั้งนี้ด้วย

ย้อนไปช่วงยุค 70 นอกจากบทบาทของหนังสือ The Silent Spring แล้ว ยังมีอีก 4 การเคลื่อนไหวเล็กๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้คนกลุ่มใหญ่หันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องดินเสื่อมโทรม ปัญหาอาหารที่เริ่มไม่ปลอดภัย และอีกหนึ่งการขับเคลื่อนเมืองยูโทเปียด้วยกระแสฮิปปี้ ซึ่งเชื่อมโยงกับการทำเกษตรให้ยั่งยืนโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี 

จากตอนแรกที่กลุ่มคนเหล่านี้เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่รู้จักกันเองระหว่างชุมชน การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรและกลุ่มผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่งเริ่มหันมาสนใจวิถีออร์แกนิกกันมากขึ้น แต่นี่ก็ไม่ได้ทำให้การปลูกพืชแบบออร์แกนิกเป็นที่รู้จักกว้างขวางนัก เพราะเอิร์ล บัทซ์ (Earl Butz) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของอเมริกาในขณะนั้นไม่เห็นด้วยเอามากๆ เนื่องจากเขาต้องการผลักดันการทำการเกษตรที่ให้ผลผลิตมากเพื่อตอบสนองความต้องการของคนอเมริกันได้ทั้งประเทศ 

ตลอดเวลาในช่วงนั้น การเกษตรทางเลือกจึงไม่เคยถูกพูดถึงในฐานะวาระแห่งชาติเลย! 

จนกระทั่งยุค 80 ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการออร์แกนิกไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรและนักวิชาการ ต่างเริ่มเห็นพ้องต้องกันว่า พวกเขาควรมีมาตรฐานออร์แกนิก แม้อาจยังไม่ได้รองรับในสภา แต่ก็เป็นสากลพอที่ผู้ปลูกและผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิกทั่วโลกจะสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานและเป็นเครื่องยืนยันความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคที่เริ่มหันมาใส่ใจเรื่องการกินดี 

เกษตรกรจากเมืองต่างๆ และนักวิชาการที่สนใจจึงค่อยๆ รวมตัวกัน บ้างเคยมีมาตรฐานที่ใช้กันเองในรัฐมาแล้ว บ้างเป็นผู้มาใหม่ที่มีความสนใจอยากผลักดันเรื่องออร์แกนิก พวกเขารวมตัวกันเพื่อส่งตัวแทนไปเจรจาในการร่วมกลุ่มระดับโลก

และตัวแทนของสหรัฐฯ ที่เข้าไปร่วมพูดคุยเรื่องการผลักดันมาตรฐานออร์แกนิกระดับสากลนี้ ก็คือ โรเบิร์ต โรเดล (Robert Rodale) เจ้าของสำนักพิมพ์ผู้เติบโตมากับการทำเกษตรทางเลือก

โรเบิร์ตเป็นลูกชายของ เจ.ไอ.โรเดล ผู้เป็นนักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์ด้านการเกษตรที่พยายามผลักดันคำว่าออร์แกนิกให้รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เขาสอนให้โรเบิร์ตรู้จักกับการทำการเกษตรแบบง่ายๆ มาตั้งแต่ยังเล็ก นั่นทำให้โรเบิร์ตในวัยหนุ่มหันมาสนใจเรื่องเกษตรปลอดภัย และเข้ามารับช่วงต่อกิจการของพ่อ โดยเริ่มจากการเป็นผู้ช่วยอ่านและพิสูจน์อักษรนิตยสารเกษตรออร์แกนิกจำนวนมากของสำนักพิมพ์

ด้วยระยะเวลาเกือบทั้งชีวิตที่ผูกพันอยู่กับเรื่องออร์แกนิก โรเบิร์ตคิดว่าเขาควรจริงจังมากขึ้นจึงตัดสินใจเปิดศูนย์วิจัยสำหรับศึกษาเรื่องออร์แกนิกโดยเฉพาะในชื่อ Rodale Institute ไปพร้อมกับการใช้ที่ดินของที่บ้านทำเกษตรอินทรีย์ และสร้าง Cornucopia Project โครงการสำหรับเด็กๆ และครอบครัว ที่สนใจอยากเรียนรู้เรื่องการกินดีแบบง่ายๆ ผ่านกิจกรรมสนุกๆ ซึ่งต่อยอดยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

และความจริงจังนี้เอง ที่ทำให้โรเบิร์ตได้เป็นตัวแทนของกลุ่มออร์แกนิกจากอเมริกา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรและนักวิจัยด้านการเกษตร ทั้งนักโภชนาการ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดิน และเรื่องอาหารจากทั่วโลก ถือเป็นหมุดหมายแรกของมาตรฐานออร์แกนิกระดับสากล ที่แม้จะไม่ได้มีภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็เป็นที่รับรองถึงกระบวนการผลิตที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้แน่นอน

จากแรงกระเพื่อมที่จริงจังของชาวออร์แกนิกนี้เอง ทำให้ในเวลาต่อมา รัฐบาลอเมริกาเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีมาตรฐานออร์แกนิกแบบสากลที่เป็นจริงเป็นจังของตนเอง จนเริ่มมีการผลักดันให้เรื่องดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ

โดยเน้นไปที่เรื่องคุณภาพอาหารและการสร้างความไว้ใจต่อผู้บริโภคว่าอาหารแต่ละอย่างที่พวกเขากินเข้าไป จะมาจากกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยด้วยมาตรฐานใกล้เคียงกันทั้งหมด 

นับจากวันนั้น Organic Food Production Acts ภายใต้กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ จึงเกิดขึ้น เพื่อผลักดันให้มีมาตรฐานออร์แกนิกอย่างเป็นทางการจากภาครัฐ และได้รับการยอมรับจากสากลอย่างจริงจัง จนเกิดเป็นมาตรฐานที่เราคุ้นเคยกันดีภายใต้ชื่อ USDA ในปี 1990

แต่กว่าที่เราจะได้เห็นเจ้าสัญลักษณ์ USDA ไปโผล่ตามผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกต่างๆ เชื่อมั้ยว่าต้องใช้เวลาถึง 12 ปีทีเดียว

จากความไม่ค่อยตื่นตัวของรัฐบาลในยุคนั้นบวกกับปัญหางบประมาณต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาพร้อมๆ กัน ทำให้การออกมาตรฐาน USDA เป็นไปอย่างช้าๆ แถมยังต้องหยุดพักอีกหลายหน จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของคนจำนวนมาก และหนักสุดถึงขั้นที่ประเทศในยุโรปหลายประเทศเคยแบนสินค้าจากสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องความไม่ปลอดภัยของดินที่ใช้ปลูกพืชในระหว่างนั้นทำให้กระทรวงเกษตรต้องกลับมาฮึดสู้ ผลักดันมาตรฐาน USDA ให้ออกมาใช้ได้อย่างสากล

และเจ้า USDA ในตอนนี้ ก็กลายเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า โดยสังเกตได้จากคำอธิบายบนผลิตภัณฑ์ที่จัดเลเวลความออร์แกนิกแตกต่างกันไปด้วยฉลาก 100 % Organic ฉลาก Organic สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบออร์แกนิกอย่างน้อย 95 %และฉลาก Made with Organic สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบออร์แกนิกอย่างน้อย 70 %

การมีมาตรฐานออร์แกนิกสากลนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่ยิ่งใหญ่ของวงการวิถีอินทรีย์ และยังเป็นสัญลักษณ์ที่บอกพวกเราว่า เรื่องการกินดีอยู่ดีและการรู้ที่มาที่ไปของอาหารได้กลายเป็นเรื่องของทุกคนแล้ว

ส่วน Organic Story ตอนต่อไป จะมาบอกเล่าเรื่องวิถีอินทรีย์ในยุคถัดไปผ่านตัวละครไหน ติดตามได้ที่นี่เลย

ภาพประกอบ: Paperis