ย้อนกลับไปช่วงยุค 80 ในตอนที่ระบบอุตสาหกรรมกำลังเฟื่องฟูและมีบทบาทสำคัญอย่างมากในธุรกิจอาหาร ถึงแม้จะเป็นผลดีในการสร้างผลผลิตจำนวนมหาศาล แต่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้นกลับทำให้ช่องว่างระหว่างคนเมืองและอาหารท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ฮันซาลิม สหกรณ์อินทรีย์แห่งเกาหลีใต้จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 1986 โดยพัค แจอิล นักกิจกรรมชาวเกาหลีใต้และเพื่อนของเขาผู้สนใจเรื่อง Organic Movement เหมือนกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ห่างเหินระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และยิ่งกว่านั้นคือการเชื่อมโยงคนและธรรมชาติเข้าด้วยกัน

จากวันนั้นร้านข้าวอินทรีย์เล็กๆ ในกรุงโซล ได้กลายเป็นสหกรณ์ที่ขับเคลื่อนวิถีอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ พร้อมกับสโลแกนสั้นๆ แต่มีความหมายอันยิ่งใหญ่อย่าง ‘จักรวาลในชามข้าว’ ที่มาจากความผูกพันของชาวเกาหลีที่มีต่อข้าวซึ่งถือเป็นอาหารหลัก แถมข้าวจานเดียวยังสามารถบอกได้ถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของผู้คนในขณะนั้นได้ด้วย ฮันซาลิมเลยพยายามผลักดันให้คนเกาหลีได้รู้จักกับข้าวในประเทศที่ทั้งสะอาดและปลอดภัย ผ่านการสนับสนุนเกษตรกรอินทรีย์ให้ปลูกข้าวท้องถิ่นพร้อมกับชวนคนเมืองมารู้จักกับวัตถุดิบสำคัญนี้ จนขยายไลน์ออกไปเป็นพืชผักอื่นๆ อีกมากมาย

เหมือนกับที่คยู โฮจอง นักวิจัยแห่งสถาบันฮันซาลิม เคยอธิบายไว้ว่า

สหกรณ์อินทรีย์แห่งนี้ทำงานภายใต้คอนเซปต์ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบชีวิตของผู้บริโภค ในขณะที่ผู้บริโภคจะช่วยรับผิดชอบเรื่องการกินอยู่ของผู้ผลิต

ฟังดูแล้วมีความคล้ายกับการทำ CSA อยู่นิดหน่อย แต่โมเดลนี้จะเพิ่มระดับของความจริงจังเข้าไปอีกด้วยการมีตัวกลางเป็นองค์กรของฮันซาลิมโดยตรง ที่จะคอยรับพืชผักจากเกษตรกรอินทรีย์มาแปรรูป ใส่หีบห่อให้สวยเก๋ (แถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ก่อนจะส่งขายให้กับผู้บริโภค ซึ่งมีหน้าที่เสริมเป็นผู้สังเกตการณ์ คอยช่วยเหลือหากการปลูกพืชผักมีปัญหา และเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบกระบวนการผลิต เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างทั้งสองฝ่าย

สำหรับกระบวนการจัดจำหน่าย ฮันซาลิมจะตั้งราคาตามอุปสงค์และอุปทานของสมาชิก ทำให้ไม่เหมือนกับราคาพืชผักในท้องตลาด โดยจะทำการปรับราคาและพูดคุยเรื่องผักที่จะปลูกกันทุกๆ สิ้นปี ผ่านการตกลงกันของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค แล้วก็ไม่ต้องกลัวนะ เพราะที่นี่เขามีระบบประกันความเสี่ยงสำหรับช่วงที่ผักมีราคาแพงหากปลูกผลผลิตได้น้อยกว่าความต้องการ หรือมีผลกระทบอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อราคา ฮันซาลิมจะใช้เงินจากกองทุนอุดหนุนเกษตรกรไปก่อน เพื่อให้ราคาผักยังคงอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคจะเอื้อมถึงด้วยล่ะ

เมื่อขายของได้แล้ว เงินทั้งหมดจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ 76% จะอยู่กับเกษตรกร และอีก 24% จะใช้เป็นเงินค่าจัดส่ง และสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรซึ่งมีหลากหลายนับสิบโครงการ 

ปัจจุบันฮันซาลิมมีศูนย์ใหญ่อยู่ในกรุงโซล ผู้คนที่นั่นทำหน้าที่กำหนดนโยบายและคิดกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องอาหารออร์แกนิกและสิ่งแวดล้อม เช่น การผลักดันเรื่องพลังงานทางเลือก การรักษาเมล็ดพันธุ์และอาหารท้องถิ่นของเกาหลี เป็นผู้สร้างโครงการ Free Organic School Meals และอีกสารพัดโครงการที่มีเป้าหมายในการสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้นในอนาคต ในขณะที่ฮันซาลิมสาขาท้องถิ่นตามจังหวัดต่างๆ เป็นผู้รับหน้าที่ดูแลเรื่องผลผลิต รวมไปถึงจัดกิจกรรมเชื่อมโยงผู้ผลิตและคนเมืองเข้าด้วยกัน

จากการเติบโตอย่างมั่นคงทำให้สหกรณ์ออร์แกนิกแห่งนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงวันละ 130 คน มีเกษตรกรในโครงการถึง 2,200 ครอบครัวจากร้อยกว่าชุมชน และมีผู้บริโภคในโครงการมากถึง 6.5 แสนครัวเรือน! โดยที่พวกเขาเหล่านั้นจับจ่ายไปเป็นเงินกว่า 423 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้ทุกวันนี้ฮันซาลิมจึงเป็นเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดยักษ์ที่ขายวัตถุดิบปรุงอาหารต่างๆ ทั้งเนื้อสัตว์ นม ซอส ขนม เครื่องสำอาง ของใช้ในบ้าน ยาวไปจนถึงหนังสือเกี่ยวกับวิถีออร์แกนิก

และการหันมาสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นนี้ยังช่วยให้ประเทศเกาหลีลดการนำเข้าข้าวได้มากถึง 4,300 ตัน รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 3 แสนต้นด้วย

ด้วยการผลักดันอย่างจริงจังนี้ จักรวาลของฮันซาลิมได้ทำให้คนเกาหลีจำนวนมากเชื่อว่าอาหารออร์แกนิกไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเกินไปนัก และพวกเขาก็ยังคงพยายามอย่างหนักต่อไปเพื่อพัฒนาสังคมที่คนและธรรมชาติจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ส่วนตอนหน้าเราจะหยิบเอาเรื่องราวออร์แกนิกจากมุมไหนของโลกมาเล่าให้ฟัง อย่าลืมติดตามกันได้ที่นี่เลย!

ภาพประกอบ: Paperis