ถ้าเรามองทะลุผ่านม่านหมอกเกี่ยวกับความรุนแรงในพื้นที่ไป จะพบว่า จ.ปัตตานี มีเรื่องราวดี ๆ มากคุณค่า ซุกซ่อนอยู่มากมายรอให้ทุกคนได้สัมผัส จึงเป็นที่มาให้ก่อเกิดกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ใหม่ในย่านเมืองเก่าปัตตานีอย่าง “มลายูลิฟวิ่ง” ขึ้น โดยจุดหมายของพวกเขาคือ อยากเล่าเรื่องราวดี ๆ ของปัตตานี ให้กับคนในพื้นที่และบุคคลภายนอกได้ฟังอย่างลึกซึ้งถึงแก่น ผ่านเทศกาลถอดรหัสปัตตานี หรือ “Pattani Decode” ที่ออกเสียงทับศัพท์ไทย ๆ แต่ได้ความหมายตรงใจคือ “ปัตตานี ดีโคตร” โดยเทศกาลดังกล่าวจัดขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายเดือน ส.ค. ปี 2562 และห่างหายไปด้วยเหตุผลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

“เกลือหวาน” คือ วัตถุดิบอาหารอัดแน่นด้วยเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของปัตตานี ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสินค้าสำคัญ สร้างรายได้มหาศาลให้กับเมืองแห่งนี้ ก่อนจะซบเซาลงตามลำดับเช่นเดียวกับการทำนาเกลือทุกที่ในประเทศไทย สวนทางกับยอดสั่งนำเข้าเกลือสีชมพูจากอินเดียเข้าไทยในปัจจุบัน ทำให้วันนี้แม้กระทั่งคนในพื้นที่เองยังอาจไม่เคยรู้ถึงคุณค่าและเรื่องราวของเกลือรสเค็มนวลทรงคุณค่า ที่ยังหายใจอยู่ (อย่างแผ่วเบา) บนดินแดนด้ามขวานของไทยแห่งนี้เลยด้วยซ้ำ

การกลับมาของเทศกาล Pattani Decode 2022 ระหว่างวันที่ 2-4 ก.ย. 2565 นี้ มลายูลิฟวิ่ง จึงอยากสื่อสารเรื่องราวของปัตตานี ผ่านการถอดรหัส “เกลือหวาน” แบบลึกซึ้ง หรือที่เทศกาลใช้คำว่า “Deep Salt” ภายใต้การร่วมมือของผู้ผลิตเกลือหวานในพื้นที่ ชาวบ้านร้านตลาดในเขตเมืองเก่า ศิลปินหลากหลายแขนง นักวิชาการ เชฟ ผู้ที่จะมาร่วมกันถอดรหัส สะท้อนมุมมอง และหารือร่วมกันว่า เกลือหวานของปัตตานีควรจะมีที่ทางอย่างไรต่อทางออกเชิงเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ ผ่านรูปแบบของงานนิทรรศกาล ผลงานศิลปะ อาหารสำรับพิเศษ ตลอดจนเวทีเสวนาแลกเปลี่ยน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อให้เกิดแง่มุมที่ลึกซึ้งของเกลือหวานสะท้อนออกสู่สังคม

โดยพื้นที่จัดงาน ได้เชื่อมโยงเอา 3 พื้นที่หลักในปัตตานีไว้ด้วยกัน ได้แก่ 1.ถนนย่านเมืองเก่าปัตตานี หรือ ถนน อา-รมย์-ดี 2.นาเกลือบานา บริเวณแหลมนก 3.นาเกลือบ้านตันหยงลุโละ ซึ่งประกอบไปด้วย 9 รูปแบบกิจกรรม คือ 1.Exhibition & Showcase / 2.Workshop / 3.Talk / 4.Salt Market / 5.Exclusive day trip /6.The Book of Pattani Salt 7.Old Town Lighting 8.ดูหนังกลางนา (เกลือ) 9.Chef Table ซึ่งแต่ละกิจกรรมนั้นล้วนสะท้อนแง่มุมของเกลือหวานไว้อย่างลึกซึ้งและน่าสนใจ

ถอดรหัสลับ ทำไม? เกลือ จึง “หวาน” ไปกับหัวเรือใหญ่ของงาน
ตลอดทั้ง 4 วันที่จัดงาน ถนนสามสายสำคัญในเขตเมืองเก่า ทั้ง อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ และ ฤๅดี ในปัตตานี กลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะถูกหลอมรวมเป็นพื้นที่สำคัญในเทศกาลเรียกว่า “ถนน อา-รมย์-ดี” รวมทั้งพื้นที่นาเกลือที่ใช้ผลิตเกลือหวาน และสำรับบนโต๊ะอาหาร ต่างถูกพลิกโฉมเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศกาล วงเสวนา ตลาดเก๋ ๆ และเวทีแสดงศิลปะ และงานออกแบบอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบพื้นถิ่นปัตตานี โดยทั้งหมดทั้งสิ้นล้วนมีเกลือหวานเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งาน เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ลึกซึ้งถึงแก่นแบบครบทุกมิติ

คุณ ฮาดีย์ หะมิดง ประธานจัดงาน และ ราชิต ระเด่นอาหมัด ประธานฝ่ายออกแบบ หัวเรือใหญ่ของงานครั้งนี้ได้เล่าถึงที่มาของคำว่า “เกลือหวาน” ให้เราฟังว่า ภาษามลายูเรียกเกลือนี้ว่า “การัม มานิส (Garam Manis)” สาเหตุที่มีคำว่า “หวาน” พ่วงท้าย เพราะพื้นที่ทำเกลือเป็นส่วนเชื่อมต่อของทะเลและปากแม่น้ำ ทำให้ระดับความเข้มข้นของเกลือและสารเคมีธรรมชาติในน้ำที่ผลิตเกลือต่างออกไป เกิดเป็นเอกลักษณ์แห่งรสชาติของเกลือปัตตานี นั่นคือ “เค็มนวล ไม่เค็มแหลม” จึงถูกขนานนามว่า “เกลือหวาน” นั่นเอง

ทั้งยังเล่าเชื่อมโยงถึงเส้นทางเกลืออีกว่า ปัตตานี คือแหล่งผลิตเกลือท้ายสุดของเส้นทางสายเกลือในไทย ก่อนส่งลงเรือใบนำลงไปขายยังประเทศในแถบมลายู คุณฮาดีย์ กล่าวว่า

“ชาวมลายูจะรู้ดีว่า ถ้าเกลือเค็มต้องเป็นเกลือบ้านแหลม ของเพชรบุรี แต่ถ้าเกลือหวาน ต้องมาจากปัตตานีเท่านั้น ซึ่งชาวมลายูจากตรังกรานูจะล่องเรือใบขนาดใหญ่ไปซื้อเกลือที่บ้านแหลม และ ส่งเรือขนาดย่อมกว่ามาซื้อเกลือหวานที่ปัตตานี เพราะเหตุผลเรื่องความสัมพันธ์ของร่องความลึกของน้ำต่อการเดินเรือ”

นี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า ในอดีตนั้น เกลือหวานเคยสร้างความรุ่งเรืองให้กับปัตตานีได้มากเพียงใด คุณราชิต เด่นอาหมัด ประธานฝ่ายออกแบบ เล่าเสริมว่า

“การจัดงานครั้งนี้ ตั้งใจสื่อสารเรื่องราวของเกลือหวานให้กับผู้คนทั้งในพื้นที่และบุคคลภายนอกได้รู้จัก โดยเราเชิญชวนศิลปินมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ผ่านแรงบันดาลใจต่าง ๆ จากทุกแง่มุมของเกลือหวาน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเล่าจากนักเดินเรื่อรุ่นเก่าก่อนที่พูดถึงแสงวิบวับสะท้อนจากนาเกลือมาแต่ไกลในเวลาที่ล่องเรือมาถึงปากอ่าว กลายเป็นที่มาของชื่อตำบล ‘ตันหยงลุโละ’ ซึ่งแปลว่า ‘อ่าวแห่งแสงระยิบระยับ’ ซึ่งกลายมาเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์งานศิลปะให้กับศิลปินที่เราเชิญมา เป็นต้น”

คุณฮาดีย์ กล่าวเสริมอีกว่า ตนและทีมได้ลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มคนทำเกลือหวานซึ่งเป็นชายสูงวัยผู้ที่ใช้ชีวิตเจริญเติบโตและเริ่มร่วงโรย ไปพร้อมกับความรุ่งเรืองของเกลือหวานที่ค่อย ๆ ลดลงในวันนี้ คำพูดชวนสะท้อนใจจากเสียงของพวกเขาที่มีต่อทีมจัดงานก็คือ “ไม่แน่นะพวกเราอาจจะเป็นชาวนาเกลือหวานแห่งปัตตานีรุ่นสุดท้ายแล้วก็ได้” นั่นยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตินาเกลือหวานอันง่อนแง่นของปัตตานี ทั้งยังมีข้อมูลที่น่าตกใจจากคนผลิตเกลือหวานว่า จากเดิมเคยผลิตเกลือได้ถึงปีละ 500 -600 กระสอบ ปัจจุบันกลับเหลือเพียงปีละ 10 กระสอบเท่านั้น

เป้าหมายสำคัญในการจัดงานครั้งนี้ อยากเชิญชวนคนในพื้นที่และบุคคลภายนอกมาร่วมมองหาทางรอดของเกลือหวานผ่านงานเทศกาลครั้งนี้ไปพร้อมกัน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้ทุกคนที่มาร่วมงานได้รู้จัก ตระหนักถึง ความสำคัญของ “เกลือหวาน” ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ยังมีอยู่ในปัตตานี

ที่เล่ามานี้ยังเป็นเพียงน้ำจิ้ม เดี๋ยวเราจะพาไปเจาะลึกถึงความเจ๋งของงานถอดรหัสปัตตานีครั้งนี้ ผ่านสารพัดนิทรรศการ ตลาด งานศิลปะ และอาหารสุดพิเศษ ที่มีเกลือหวานบันดาลใจ ในงาน Pattani Dcode ตอนถอดรหัสเกลือหวาน แล้วจะรู้ว่าทุกอย่างที่จัดขึ้นในงานครั้งนี้นั้น ดีโคตร

“Field Work” ผลงานศิลปะส่องประกายในนาเกลือ ของ ปัว ศาวินี บูรณศิลปิน
มีเรื่องเล่าว่า สมัยก่อนเมื่อเรือเดินสมุทรเคลื่อนมาถึง ตันหยงลุโละ แหล่งผลิตเกลือหวานแห่งหนึ่งของปัตตานี จะเห็นแสงระยิบระยับของนาเกลือ ที่ทอประกายให้นักเดินเรือได้เห็นเมื่อเดินทางมาถึงปากอ่าวบริเวณนี้ จึงขนานนามแหลมแห่งนี้ว่า ตันหยงลุโละ ซึ่งคำว่า “ตันหยง” แปลว่าแหลม ส่วนคำว่า “ลุโละ” แปลว่า เพชรพลอย เมื่อรวมกันจึงหมายถึงแหลมที่สะท้อนแสงระยิบระยับดุจเพชรพลอย

เรื่องเล่านี้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับ คุณ ปัว ศาวินี บูรณศิลปิน ศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับ Land Art Installation เพื่อสะท้อนประเด็นเชิงสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่จริง โดยนำเอากระจกเงา 600 แผ่น มาปักลงบนพื้นที่นาเกลือหวานของตำบลบานา แหล่งผลิตเกลือหวานในเขต อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อให้แสงตะวันที่ผันเปลี่ยนไปในแต่ละองศาของวัน สะท้อนแสงผ่านกระจกทอประกายแวววับจับตา ต่อผู้ที่มาชมผลงาน ประดุจเรื่องเล่าในตำนาน

นิทรรศกาลภาพถ่าย The Old Man and The Sea Salt ชีวิตคนทำเกลือหวานสะท้อนผ่านเลนส์
สตูดิโอฤๅดี นำเสนอนิทรรศการภาพถ่าย The Old Man and The Sea Salt ที่จะสะท้อนเรื่องราวของชายชาวนาเกลือ 7 คน ที่เติบโตมาพร้อมกับความรุ่งเรืองและร่วงโรยของนาเกลือ ผู้ที่ยังยืดหยัดทำนาเกลือหวาน ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน ด้วยรู้อยู่แก่ใจถึงคุณค่าในสิ่งที่ตนกำลังทำ และรู้ดีกว่าพวกเขา อาจเป็นกลุ่มคนทำนาเกลือหวานกลุ่มสุดท้ายในปัตตานีแล้ว

นอกจากงานนิทรรศการภาพถ่ายแล้วตลอดงานนิทรรศกาลยังมีช่วง “Meet The Old Man” ที่ให้ผู้ร่วมชมงานได้พูดคุยกับพวกเขาทั้ง 7 ถึงการทำเกลือหวนแบบถึงแก่น ด้วยเหตุผลที่ในปีนี้เกลือหวานผลิตได้น้อยมาก จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ลองลิ้ม การได้พูดคุยกับเหล่านักทำเกลือหวานตัวจริง แบบใกล้ชิด จึงถือเป็นไฮไลท์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในงานครั้งนี้ ที่ผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสถึงเรื่องราวอันลึกซึ้ง ขม เค็ม หวาน จากประสบการณ์ของพวกเขา

Le Sel de La Vie นิทรรศการงานคราฟต์ ที่มีเกลือหวานบันดาลใจ
นิทรรศกาล Le Sel de La Vie หรือ “เกลือแห่งชีวิต” จัดขึ้นโดยศิลปินชาวปัตตานีอย่าง เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา โดยเขามีแนวคิดว่า หากไม่มีเกลือ ก็จะไม่มีชีวิต หากไม่มีชีวิตก็จะไร้วิถี หากไร้วิถีก็จะไม่มีงานคราฟต์ และเมื่อสูญสิ้นงานคราฟต์ ก็จะไม่มีอารยธรรม ความเชื่อมโยงนี้คือแรงบันดาลใจที่เขาอยากจะสะท้อนและตั้งคำถามให้ผู้ร่วมชมนิทรรศกาลได้เห็นว่า “ถ้าวันหนึ่งไม่มีเกลือแล้วจะเป็นอย่างไร”

พื้นที่ชั้น 1 ของอาคาร มอ.ปัตตานีภิรมย์ ที่จัดนิทรรศกาลจึงเต็มไปด้วยงานคราฟต์มากมาย ทั้งงานเซรามิก ผ้าย้อมคราม แม่พิมพ์ไม้ งานจักสาน ฯลฯ ทั้งหมดที่กล่าวมาหลอมรวมคอนเซปต์เป็นหนึ่งเดียว นั่นคือมีเกลือหวานมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน อาทิ ลวดลายเซรามิกที่ได้จากรูปฟอร์มของกองเกลือในนาเกลือ ลวดลายของผลึกเกลือ นกตีนเทียน ลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแผนที่โบราณปัตตานี และเรือสำเภา เป็นต้น

Chef Table กับวัตถุดิบสุดพิเศษจากนาเกลือหวานปัตตานี
เทศกาล Pattani Decoded ยังได้จัดให้มี Chef Table มื้อพิเศษที่เชื้อเชิญให้ผู้ที่สนใจมาร่วมถอดรหัสอาหารปัตตานี ซึ่งนำโดย เชฟโน้ต อธิป สโมสร นักออกแบบอาหารที่รังสรรค์เมนูจากวัตถุดิบที่หาได้ในตลาดปัตตานี และที่ขาดไม่ได้สำหรับมื้ออาหารนี้เลยคือ ส่วนผสมจาก “เกลือหวานปัตตานี” ซึ่งในปีนี้ผลิตได้ในจำนวนจำกัด พร้อมจิบชาที่เบลนด์โดย คุณปุ๊ก กาญจนา นักออกแบบและพัฒนาประสบการณ์สร้างสรรค์ รวมทั้งบทสนทนาขับกล่อมโดยอาจารย์ต้น อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนหัวใจโรแมนติก ผู้สนใจในประเด็นอาหารและเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของงานถอดรหัสเกลือหวานปัตตานี

เชฟเทเบิ้ลของเทศกาลจัดให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ดื่มด่ำกับเมนูอาหารท่ามกลางบรรยากาศยามเย็นของนาเกลือปัตตานี ณ เล’หยงโละ แคมปิ้ง ซึ่งรายล้อมไปด้วยนาเกลือแห่งตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ด้วยแนวคิดในการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นและนำมาปรุงอาหารโดยการทดลองใช้เทคนิคใหม่ผสมกับวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมให้กลายเป็นเมนูสุดพิเศษ นั่นเอง

แม้การจัดงานเทศกาลเกลือหวานจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ด้วยความตั้งใจอันดีของคนในพื้นที่เช่นนี้ ก็มั่นใจได้ว่าเรื่องราวของเกลือหวาน มรดกทางภูมิปัญญาอันล้ำค่าของปัตตานี ได้ถูกส่งต่อยังคนรุ่นหลัง และจะยังคงอยู่คู่เมืองไทยไปตราบนานเท่านาน

ขอบคุณ คุณฮาดีย์ หะมิดง เอื้อเฟื้อข้อมูล
ภาพ: มลายูลิฟวิ่ง