“เคยมีชาวประมงพูดกับหนูว่า คุณโนรู้จักหอยทะเลดีกว่าพวกผมอีก ‘พวกผมไม่กล้าแนะนำคุณโนหรอก’ เพราะเขาคงเห็นเรากินหอยมาเป็นร้อย ๆ ชนิดแล้วมั้งคะ” พอกล่าวจบ เธอก็กลั้วเสียงหัวเราะใสกังวานที่คนไทยทั้งประเทศจดจำกันได้ดี

วินาทีนี้ หากพูดถึงพิธีกรหญิงที่บุกป่า ลงน้ำ ลุยโคลน เพื่อออกไปลิ้มลองวัตถุดิบอาหารทุกซอกทุกมุมของไทย ไม่มีใครไม่นึกถึงและไม่รู้จัก โน-อโนชา ศิริจร พิธีกรหญิงคนเก่งคนนี้ ที่เธอออกตัวแบบติดตลกว่าเคยกินหอยมาเป็นร้อยชนิดแล้ว

การเดินทางทำงานกับชุมชนต่าง ๆ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ของประเทศในฐานะพิธีกรผู้สื่อสาร นั่นทำให้เธอได้สัมผัสถึงมิติต่าง ๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้วัตถุดิบอาหารและแหล่งผลิตอาหารในบ้านเรา ทั้งเรื่องราวของผู้คน ชุมชน สิ่งแวดล้อม ครั้งนี้เรามีโอกาสพูดคุยกับเธอ เธอจึงอยากสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้สู่คุณผู้อ่าน พร้อมชวนคุณมาร่วมคิดหาทางออกกันว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้คนสามารถดำรงอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างเข้มแข็งและเกื้อกูลกัน เพื่อนำไปสู่วิถีความยั่งยืน

เส้นทางของสาวบัญชี ที่หนีไปเรียนออกแบบ ก่อนจะก้าวสู่โลกของพิธีกร
“ที่บ้านไม่ค่อยมีตังค์ แม่อยากให้เราเรียนบัญชีเพราะคิดว่ามีงานทำแน่นอน” เธอเปิดบทสนทนาด้วยน้ำเสียงแจ่มใส

ฉุกคิดได้ว่างานเป็นสิ่งที่ต้องอยู่กับมันทั้งชีวิตนะ

“เราก็ไม่อยากขัดก็เรียนจนจบ แล้วไปทำงานบัญชี นั่นทำให้ฉุกคิดได้ว่างานเป็นสิ่งที่ต้องอยู่กับมันทั้งชีวิตนะ จะให้เรามาทำบัญชีตลอดชีวิตมันไม่ได้แน่ ๆ หนูก็เลยลงเรียนภาคค่ำ ควบคู่ไปกับกับการทำงาน เลือกเรียนศิลปกรรมที่บ้านสมเด็จ

“พอเรียนจบก็ได้ทำงานออกแบบอย่างที่ฝันไว้ แต่ตัวเรามันเหมือนเป็นคนที่หามิชชั่นอยู่ตลอดเวลา พอได้ทำงานออกแบบที่อยากทำแล้ว ก็คิดว่าอยากลองทำอะไรใหม่ ๆ พอดีว่าบริษัททีวีบูรพาเขาเปิดรับสมัครพิธีกรรายการกบนอกกะลา เราก็คิดว่าอันนี้แหละน่าสนใจ เพราะเราเป็นคนชอบพูด เราเป็นสายเอนเตอร์เทน เป็น MC บริษัทเวลาที่เขาสัมมนากันอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็จะแบบปากดี ปากแจ๋ว แซวคนโน้นคนนี้ได้โดยที่เขาไม่โกรธ และก็สนุกสนาน

“โนลองส่งใบสมัครไปแบบที่ไม่มีประสบการณ์ใด ๆ แต่คิดว่าเราทำได้ สัมภาษณ์รอบแรกก็ไม่ได้ผ่าน หลังจากนั้นสองปีเขาเปิดรับสมัครอีกเราก็ส่งไปอีก ปรากฏว่ารอบนี้เขาเรียกไปสัมภาษณ์รายการ ‘ฅนค้นฅน’ พอไปทำงานจริง ๆ แล้วรู้สึกไม่ใช่ทาง ก็เลยไปขอลาออก ผู้ใหญ่ก็เลยให้ลองเปลี่ยนไปทำ ‘บ้านบันดาลใจ’ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ผลิตรายการเด็ก พอเริ่มทำก็เลยรู้สึกว่า เอ้อ มันสนุก คือพาเด็กไปหาวัตถุดิบแล้วเอามาทำกับข้าว เหมือนเรากลับไปเป็นเด็ก ณ ตอนนั้นเลย ต่อมาก็ได้ขยับเป็นพิธีกรรายการ ‘กบนอกกะลา’ มันก็พัฒนามาเรื่อย ๆ จนย้ายงานจากทีวีบูรพามาอยู่ที่ช่องอมรินทร์ทีวี ค่ะ”

จากประสบการณ์ที่เธอเก็บเกี่ยวมาทั้งคนเบื้องหลังและพิธีกรเบื้องหน้า ได้หล่อหลอมให้อโนชาก้าวสู่การเป็นพิธีกรหญิงชั้นแนวหน้าของไทย การันตีคุณภาพด้วยรางวัลโทรทัศน์ทองคำ สาขาพิธีกรหญิงดีเด่น ที่มีรายการท่องเที่ยวเชิงอาหารให้เราติดตามกันมากมายทั้ง รายการตามอำเภอจาน ชื่นใจไทยแลนด์ เรื่องเด็ดเอ็ดตะโร และล่าสุดอย่างรายการอาหารนำทาง

ความสามารถของเธอเป็นที่ประจักษ์ และความสำเร็จในฐานะพิธีกรหญิงระดับประเทศก็ไม่เป็นที่กังขาใด ๆ แต่ที่สงสัยก็คือ ทำไมหนอ ทุกรายการของเธอ จึงเกี่ยวข้องกับอาหารทั้งหมด ?

ทุกรายการเกี่ยวกับอาหาร เพราะ อาหารเป็นตัวกลางเชื่อมโยงหลาย ๆ อย่าง
เราโยนคำถามที่สงสัยไป และเธอก็ตอบกลับมาสั้น ๆ ว่า “เพราะความผูกพันค่ะ” เพราะเธอเติบโตมาในครอบครัวที่มีแม่เป็นแม่ครัวและได้เห็นแม่ทำกับข้าวมาตั้งแต่เด็ก จึงเชื่อมโยงเธอให้สนใจเรื่องราวของอาหารเป็นพิเศษ

“โนเป็นเด็กกรุงเทพก็จริง แต่สมัยเด็กเวลาเล่นหนูจะเล่นแบบจำลองชีวิตเหมือนเด็กชนบท ถึงบ้านเราจะไม่ได้ติดกับคลองกับทุ่งนา แต่เราก็จะเล่นจำลองการจับปลา หาปู ขุดดิน ขุดเผือก และก็รู้สึกว่าเราชอบแนวนี้ มันถึงทำให้เวลาทำงานเราตื่นเต้นกับมัน อย่างทุกวันนี้ถ้านับจำนวนปูที่เคยจับในรายการมันคงเป็นพันตัวแล้ว แต่ก็ยังตื่นเต้นทุกครั้งที่จับมันขึ้นมาได้

อาหารมันคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดบรรยากาศที่มีความสุข

“มันคือความชอบ แล้วเราก็รู้สึกว่า อาหารมันเป็นตัวกลางที่นำเราไปสู่หลายอย่าง เวลาล้อมวงกินข้าวมันก็สร้างความสุขร่วมกันในครอบครัว อาหารมันคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดบรรยากาศที่มีความสุข หรือแม้แต่อาหารมันก็สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ โนก็เลยรู้สึกว่า จริง ๆ แล้วในอาหารหนึ่งจาน มันมีเรื่องราวอัดแน่นอยู่ในนั้นเยอะก่อนจะมาถึงเรา

“หลายคนจะรู้จักโนในฐานะพิธีการรายการ ‘ตามอำเภอจาน’ รายการนี้มันเป็นการบอกว่าที่มาของอาหารมันมาจากไหน สะท้อนถึงรากเหง้าของวิถีการกิน ทำให้คนดูได้รู้ หรืออย่างการปรุงพริกเครื่องแกงต่าง ๆ มันถูกถ่ายทอดออกมาโดยผ่านตัวอาหาร ทำให้ตอนนี้มีรายการใหม่ชื่อ ‘อาหารนำทาง’ เพราะอาหารมันก็นำทางจริง ๆ สำคัญที่สุดก็คือมันเป็นความชอบค่ะ”

เรียกได้ว่าทุกถิ่นที่ ทุกแง่มุม ที่มีอาหาร ผู้คน ชุมชนที่เชื่อมโยงกับอาหารในประเทศเรา พิธีกรคนเก่งผู้นี้ได้ไปสัมผัสมามาหมดแล้ว และต่อไปนี้คือเสียงสะท้อนจากเธอ ในแง่มุมเรื่องความยั่งยืนทางอาหารที่ได้เคยพบเห็นและสัมผัสใจที่อยากส่งต่อ

สงสัย : การทำไร่เลื่อนลอยแบบชาวเขา อาจไม่ตรงตามตำราที่เรียนมาแต่เด็ก
“คือสมัยเรียนเรามักจะถูกบอกว่า การทำไร่เลื่อนลอยเป็นการทำลายป่า แต่พอเรามาทำงานตรงนี้เราได้สัมผัสอีกมุมว่ามันไม่ใช่ มันเหมือนกับว่าชาวเขา เขาจะรู้ว่าต้องใช้ชีวิตแบบไหน พวกเขาก็ต้องอยู่กับป่า พึ่งพาป่า เขาไม่ทำลายมันอยู่แล้ว

การทำไร่เลื่อนลอยของชาวบ้านเขาทำแค่พอกิน ไม่ได้ไปบุกรุกทำลาย

“การทำไร่เลื่อนลอยของชาวบ้านเขาทำแค่พอกิน ไม่ได้ไปบุกรุกทำลาย ไม่ได้มีมูลค่ามากมายอะไรอย่างเช่น ปลูกฟัก ปลูกพริก ปลูกแตงดอย กับปลูกข้าวแค่นั้น เขาไม่ได้ โห…ทำเป็นไร่กะหล่ำ อันนี้เราไม่พูดถึงโซนที่ทำแบบนั้น แต่เรากำลังพูดถึงวิถีของชาวเขาจริง ๆ ที่เขาทำแค่พออยู่พอกิน ต่อให้ทำขายมันจะได้สักกี่บาท เพราะฉะนั้นมันไม่ได้มุ่งหวังเพื่อการค้า แต่มันก็คือหล่อเลี้ยงเพื่อทำกินเท่านั้นเอง แล้วถามว่าไอ้ไร่ของเขามันก็ไม่ได้เป็นภูเขาทั้งภูเขา มันก็เป็นแค่เวิ้ง ๆ หนึ่ง ตรงนี้เรื่องพื้นที่โนไม่ได้รู้ชัดเจนนะ แต่ที่เห็นก็คือการทำลายป่าเพื่อหาประโยชน์มันไม่ได้มีมูลค่ามากมายเทียบกับการถางป่าทำรีสอร์ต แต่กลายเป็นว่าเราถูกกรอกหูมาตั้งแต่เด็กว่า การทำไร่เลื่อนลอยคือหนึ่งในตัวการทำลายป่า

“นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เรารู้สึก และพยายามสื่อสารในรายการเรา ก็จะบอกว่า พื้นที่ตรงนี้หลังจากปลูกข้าว พอเราเกี่ยวข้าวเสร็จ เราก็เก็บพริกต่อได้ มีเผือกมีมันอะไรแบบนี้ แล้วเดี๋ยวก็จะทิ้งไว้สักพักมันก็จะโต ระหว่างรอชาวบ้านก็จะย้ายที่ไปทำกินในพื้นที่อื่นต่อ พอถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก็ค่อยกลับมาเก็บอะไรแบบนี้ ถ้ามีโอกาสในรายการหนูก็จะพูดให้ผู้ชมเข้าใจ

“พอเรามารู้อย่างนี้ ก็เลยอดสงสัยไม่ได้ว่า อ้าว แล้วทำไมในหลักสูตรการศึกษาถึงสอนเด็ก ๆ ไปแบบนั้น”

สะเทือนใจ : ทางเลือกทำกินที่บิดงอ ของชุมชนประมงที่ถูกโอบรัดพื้นที่ทำกินด้วยโรงงานอุตสาหกรรม
“เรื่องที่สะเทือนใจที่สุด หนูไปเจอก็ที่ชุมชนริมน้ำแห่งหนึ่งในภาคกลาง แต่ไม่ขอเอ่ยชื่อแล้วกัน คือชุมชนนี้ด้วยการที่สภาพแวดล้อมมันถูกจำกัด คือพื้นที่ทำมาหากินมันไม่เหมือนเดิม มันเหลือน้อยลงเพราะธรรมชาติถูกรุกล้ำด้วยโรงงานอุตสาหกรรมหรือการทำบ่อกุ้ง ทำให้ชาวบ้านหาสัตว์น้ำตามวิถีเดิมได้ยากกว่าเมื่อก่อน ชาวบ้านเขาก็เลยเลือกวิธีที่ไม่ถูกต้องเท่าไร นั่นคือใช้ ‘ไอ้โง่’ ที่เป็นลอบพับยาว ๆ ซึ่งมันผิดกฎหมาย มันก็เป็นเครื่องมือที่ทำลายล้างเลยแหละ

“คำถามคือ…ทำไมเขาถึงไม่วางอวนหรือตาข่ายตาห่าง ? เหมือนที่เราท่านเคยได้ยินว่ามันดีต่อสภาพแวดล้อม ? คำตอบก็เพราะว่า การหาสัตว์น้ำมันทำได้ยากขึ้น แต่โนก็เกิดคำถามในใจว่า ‘ก็เพราะส่วนหนึ่งเขาใช้อุปกรณ์แบบนี้หรือเปล่ามันเลยทำให้สัตว์น้ำลดจำนวนลง มันถึงได้หายากขึ้นไง’ เพราะชาวบ้านเขาเลือกใช้อะไรก็ได้ที่ทำให้ตนเองเก็บเกี่ยวได้เยอะกว่าเดิม สัตว์ทะเลตัวเล็กตัวน้อยก็เอาไว้ก่อนเพราะว่ามันหายากขึ้นทุกวัน แล้วมันกลายเป็นว่าถูกบังคับให้มันยากขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ จากการเปลี่ยนแปลงไปของนิเวศรอบที่ทำกิน ก็กลายเป็นปัญหาที่วนรอบอ่าง

“มีหลาย ๆ ชุมชนนะที่เราเห็นเขาใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย แล้วเขาก็มองว่าถ้าไม่ใช้แบบนี้แล้วเขาจะหากินได้ยังไง แต่ก็เพราะเขาใช้แบบนี้หรือเปล่ามันเลยหากินได้ยากขึ้น อีกเรื่องที่อาจมีส่วนผลักให้ชาวบ้านเลือกใช้วิธีที่บิดงอนั่นคือการถูกสั่งห้ามใช้เครื่องมือจากภูมิปัญญาดั้งเดิมบางชนิด อย่างเช่นการวาง ‘โพงพาง’ ที่เป็นการดักปลากลางน้ำ เดี๋ยวนี้ก็ใช้ไม่ได้แล้ว ในความรู้สึกหนู หนูว่าโพงพางยังดีกว่าไอ้โง่เยอะเพราะสามารถเลือกได้ว่าจะเอาปลาตัวเล็กตัวใหญ่

“พอถูกบีบเรื่องเครื่องมือหาปลาว่า อันนี้ห้ามใช้ ห้ามทำ มันก็ยิ่งบีบเขา ธรรมชาติก็ไม่ได้สมบูรณ์เหมือนเดิม งั้นก็ต้องมาด้านเทา ๆ นี้กันแล้ว ก็คือใช้ไอ้โง่กันทั้งคลองเลยนะ เพราะมันไม่มีทางออกให้กับชาวบ้าน หรือมันไม่เคยเกิดการคุยกันอย่างจริงจังระหว่างภาครัฐกับตัวชุมชนด้วย

“ตัวโนเองก็อาจจะไม่ได้รู้ลึกมากนะ แต่เราแค่รู้สึกว่า เฮ้ย อันนี้คือผิดด้วยหรือ ? หาแบบนี้คือผิดเหรอ ไม่น่านะ มันก็ไม่ได้เหมือนกับเรือคราด เรือลาก คือถ้าอย่างนั้นคือมันเอาหมด มันก็จะมีอะไรแบบนี้ที่เราก็รู้สึกนิดหน่อย บางทีไปถ่ายงานก็ต้องคอยหลบเครื่องมือประมง เพื่อไม่ให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อนถ้ามันออกอากาศออกไป

มันไม่มีคนที่ลุกขึ้นมาแล้วพูดว่า ‘เฮ้ย พวกเรา เราเลิกหาปลาด้วยวิธีนี้กันเถอะ’

“จากเรื่องที่เล่ามา มันเกิดคำถามในใจว่า แล้วมันจะยังไงต่อ ? มันไม่มีคำตอบนะคะ เพราะชาวบ้านเขาก็บอกว่า ก็รู้นะว่ามันผิดกฎหมายแต่ถ้าไม่ให้หาแบบนี้แล้วจะให้เขาหาแบบไหน ? ทุกบ้านก็หาด้วยวิธีนี้ทั้งนั้น ถ้าฉันจะหาด้วยวิธีนี้บ้างแล้วมันผิดยังไง ? มันไม่มีคนที่ลุกขึ้นมาแล้วพูดว่า ‘เฮ้ย พวกเรา เราเลิกหาปลาด้วยวิธีนี้กันเถอะ’ มันไม่มี และพอมาตรการสั่งห้ามต่าง ๆ มันไม่ได้เริ่มจากชุมชนเอง หรือมันไม่ได้เริ่มจากกลุ่มที่ตั้งใจกันอย่างจริงจัง มันก็เลยไม่สามารถนำพาชุมชนให้ปลดล็อกไอ้ความผิดกฎหมายของเขาได้ แล้วสุดท้ายของที่เอามาขายมันก็มีทั้งปลาตัวเล็กตัวน้อยตัวใหญ่ ซึ่งอีกห้าปีสิบปีมันจะเป็นยังไง เขายังต้องวางไอ้โง่มากขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า แล้วมันจะยังไงดีนะ ?”

ประทับใจ : ปลาดุกทะเล โครงการคนละครึ่งระหว่างปลาโลมา และ คน
“มีชุมชนหนึ่งที่รู้สึกประทับใจหนูมากคือ ที่บางปะกง ช่วงฤดูหนาวปลายปี ที่โลมาจะเข้ามากินปลาดุกทะเล อันนี้หนูมองว่ามันเจ๋งมากเลย เพราะมันเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า และสะท้อนให้เห็นถึงการอยู่กับธรรมชาติโดยไม่เบียดเบียนกัน

ปลาดุกตัวเดียว ปลาโลมาก็ได้กินคนก็ได้กิน เหมือนโครงการคนละครึ่ง

“เพราะโลมามันมาไล่งับปลาดุกมันก็จะกินปลาดุกไปแค่ครึ่งตัวหลัง มันก็จะเหลือส่วนหัวปลาที่มีเงี่ยงไว้ ซึ่งปลาดุกที่โดนกัดไปแล้วครึ่งตัวก็ไม่ตายด้วย พะงาบ ๆ อยู่ประมาณ 2-3 วัน ชาวบ้านก็ไปตักมากิน แล้วแถมขายได้ราคากว่าปลาดุกทะเลที่จับมาเต็มตัวด้วย เหตุผลก็คือ ทุกคนบอกว่าปลาดุกพวกนี้มันเป็นปลาดุกที่ตัวใหญ่ ใหญ่มากเลยนะ ตอนที่หนูไปช้อนบางตัวหัวมันเท่าฝ่ามือหนูเลย แล้วเขาก็มองว่า เนี่ย มันอร่อยกว่าปลาดุกที่ธรรมดา อาจจะเป็นเพราะมันหนีตายแล้วอะดรีนาลีนปลาดุกมันหลั่งออกมามั้ง (หัวเราะ) ไม่รู้ อันนี้เดา ก็คือนี่แหละราคาจะดีกว่า แถมคุ้มค่ามาก คือ ปลาดุกตัวเดียว ปลาโลมาก็ได้กินคนก็ได้กิน เหมือนโครงการคนละครึ่ง เรารู้สึกว่า เฮ้ย…มันเป็นวิถีที่ไม่ได้ทำร้ายธรรมชาติเลย”

จากเรื่องที่เธอกล่าวมา ก็ชวนนึกไปว่าหากลองสังเกตธรรมชาติในพื้นที่ของเราดูให้ดี ไม่แน่อาจมีวิถีอะไรแบบนี้ซ่อนอยู่ก็ได้ ช่วยให้เราหยิบจับมาใช้เป็นแนวทางพึ่งพากันระหว่างคนกับธรรมชาติ

เศร้าใจ : การหายไปของปลาในลุ่มน้ำสงครามและวิถีชีวิตริมน้ำเมื่อเขื่อนจีนมาเยือน
“ประเด็นที่รู้สึกเศร้าใจยกให้เป็นประเด็นเรื่องแม่น้ำสงคราม ที่ จ.นครพนม ค่ะ เราเคยไปถ่ายทำการหาปลาตามภูมิปัญญาเดิมเรียกว่า ‘ยามขา’ คือ แม่น้ำสงครามมันเป็นแหล่งปลา แหล่งปลาร้าใช่ไหมคะ คือการยามขาเนี่ย ชาวบ้านจะทำแพไปจอด ด้านล่างจะเป็นเหมือนบ้านปลาให้ปลามาอยู่ ซึ่งเมื่อก่อนด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำการหาปลาด้วยวิธีนี้จะได้ปลามาเยอะมากเพื่อนำมาขายมากิน มาทำปลาร้า มันถึงมีปลาร้าเยอะแยะมากมาย แต่ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปเพราะเขื่อนที่จีน

ชาวบ้านก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องระหว่างประเทศ

“ชาวบ้านก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ก็คือเป็นเรื่องของแม่น้ำโขงที่พอสร้างเขื่อนแล้วมันกระทบกับธรรมชาติของน้ำ แม่น้ำมันเปลี่ยนจนชาวบ้านไม่สามารถรู้ได้เลยว่าวันนี้น้ำจะขึ้นหรือลง จะน้ำมาก หรือน้ำจะแห้งไป หรือบางวันแม่น้ำก็ใสเป็นมรกตแต่ไม่มีปลา อันนี้เป็นสิ่งที่ชุมชนควบคุมไม่ได้

เมื่อก่อนที่ยังไม่มีเขื่อน การยามขาทำให้ได้ปลาจำนวนมาก ชาวบ้านเขาก็จะตักแต่ปลาตัวใหญ่ หรือปลาที่ต้องการ ส่วนที่เหลือก็จะปล่อยกลับ แต่พอมาเจอเรื่องการเปลี่ยนแปลงไปของน้ำเพราะการสร้างเขื่อน บางทียกบ้านปลาขึ้นมาได้ปลาแค่ 4 ตัว ที่เหลือก็เป็นกุ้งฝอย หรือเป็นปลาตัวเล็ก ก็ต้องเอา เพราะว่ามันไม่คุ้มค่ากับการที่ต้องสร้างแพซ่อมแพ แล้วบางคนก็เลิกทำกันไปก็มี ซึ่งก็นั่นแหละมันก็มาจากสิ่งที่บอกว่ามันก็มาจากปัญหาที่เขาไม่สามารถแก้ไขได้

“การขึ้นลงของน้ำที่ผิดธรรมชาติก็ส่งผลกระทบไปถึง ‘ป่าบุ่งป่าทาม’ ซึ่งเป็นป่าที่อยู่ริมตลิ่ง เป็นที่อยู่ที่ปลามันจะมาวางไข่ พอน้ำมันแปรปรวน วิถีของสิ่งมีชีวิตมันก็ผิดเพี้ยนตามไป เช่น ปกติช่วงนี้ปลาจะต้องเข้าแล้ว กลายเป็นน้ำท่วมป่านี้เสียก่อน พอไปตลาด ชาวบ้านก็จะบอกว่า เฮ้ย ปลามันไม่เยอะเหมือนเดิม ถ้าเป็นเมื่อก่อนใครก็บอกแม่น้ำสงครามปลาต้องมาแล้วฤดูนี้ วางขายกันเกลื่อน แต่ตอนนี้มันก็เงียบเหงา เหลือร้านขายปลาอยู่แค่ไม่กี่ร้าน ก็ต้องกลายเป็นว่าซื้อปลาจากที่อื่นมาทำปลาร้าบ้าง อะไรแบบนี้ พอได้ไปสัมผัสแล้วมันก็รู้สึกว่าไม่ดีเลยที่เป็นแบบนี้”

“แต่เราและชาวบ้านจะทำอะไรได้กับปัญหานี้ ?”

ชื่นใจ : หมู่บ้านมะแขว่น เมื่อป่าคือบ้านและที่ทำกิน เราต้องรักษาบ้านสุดชีวิต
พอถามว่ามีชุมชนไหนสะท้อนเรื่องการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนบ้าง พิธีกรคนเก่งนิ่งคิดสักครู่ แล้วตอบเราว่า

การปลูกมะแขว่นก็เหมือนการปลูกป่า

“หนูนึกถึงชุมชนแม่ส้าน ที่ลำปาง ชุมชนนี้เขาจะปลูก ‘มะแขว่น’ ที่เลือกชุมชนนี้มาเล่าเพราะเรารู้สึกว่า มันคืออาชีพดั้งเดิมของเขาและอาชีพนี้มันช่วยรักษาป่าไปด้วยในที ทำให้ชาวบ้านหากินกับป่าได้อย่างยั่งยืน เพราะมันเป็นต้นไม้ใหญ่ การปลูกมะแขว่นก็เหมือนการปลูกป่า และข้างล่างต้นมะแข่วนก็สามารถปลูกแซมพวกกาแฟ หวาย ฯลฯ ได้ คือมันสามารถสร้างรายได้โดยที่เขาไม่ต้องแผ้วถางทำลายป่าเลย พอมีป่า อ้าว…หนอนไม้ไผ่ก็มีให้เก็บ หน่อไม้ก็มีให้เก็บ เมื่อคนและธรรมชาติอยู่อย่างพึ่งพากัน มันจะเกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ยั่งยืนขึ้นเอง

“คนในชุมชนนี้จึงตระหนักว่าป่าเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องดูแล แม่ซ่านเป็นพื้นที่ ๆ ไม่มีไฟป่าเข้ามาไม่ต่ำกว่าสิบปีแล้ว ก็เพราะทุกคนมีมะแขว่นเป็นทรัพยากร เป็นมรดกตกทอด ถ้าเกิดไฟไหม้ป่าขึ้นมามันก็คือการทำลายช่องทางทำมาหากิน มันก็คือจบเลย ชุมชนจึงรู้ว่าต้องดูแลป่าให้ดีนะ ทุกคนต้องเป็นหูเป็นตา มีการกำหนดข้อห้ามในหมู่ชาวบ้าน ว่าเราต้องไม่เผาป่า เพราะไม่อย่างนั้นมันเหมือนเผาบ้านตัวเอง สุดท้ายแล้วก็จะไม่มีกิน พอถึงฤดูที่เกิดไฟป่าทางภาคเหนือ ชาวบ้านก็จะมีการจัดเวรยาม ก่อนหน้านั้นก็จะนำหน่อกล้วยป่าไปปลูกรอบ ๆ พื้นที่แนวกั้นไฟเดิมเพิ่มเติมไว้ มีการฝึกอบรมวิธีป้องกันไฟป่า ให้องค์ความรู้กับเด็กนักเรียน ทุกคนในชุมชนจะรับรู้ร่วมกันและตระหนักว่า เฮ้ย… ป่ามันสำคัญต่ออาชีพ ป่ามันคือชีวิตของทุกคน

“สิ่งสำคัญพื้นที่ดังกล่าวเป็นต้นน้ำด้วย ชาวบ้านเข้าใจถึงความสำคัญ ประกอบกับมะแขว่นเป็นพืชที่ไวต่อสารเคมี ผู้ใหญ่บ้านก็จะห้ามไม่ให้ใช้สารเคมีใด ๆ ไม่เว้นแม้แต่กับพืชที่ปลูกแซมใต้ต้นมะแขว่น ซึ่งก็ได้รับการร่วมมือเป็นอย่างดี ชาวบ้านเองก็มองว่ารายได้จากมะแขว่นนั้นเพียงพอแล้ว การจะไปถางป่าปลูกพืชชนิดใหม่มันต้องลงทุน มันไม่ใช่วิถีที่เขาเป็น

“เรื่องราวของชุมชนแม่ส้านมันสะท้อนให้เห็นว่ามันมีความเข้มแข็ง ชุมชนนี้จะค่อนข้างชัด และที่สำคัญคือมันสะท้อนให้เห็นว่า การอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกันระหว่างคนกับธรรมชาตินั้นทำได้จริง ๆ”

ฟังจบก็ชวนคิดว่า หากลองนำโมเดลที่ชุมชนนี้ทำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ต่างกัน จะทำให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างไร?

รู้จักถิ่นที่ของตน ทางรอดของชุมชนคือการต่อยอดไม่ใช่การเริ่มใหม่
ในบทบาทพิธีกรของอโนชาที่ผู้ชมทางบ้านให้ไปรู้จักกับวัตถุดิบพื้นถิ่นของแต่ละชุมชนแล้ว อีกสิ่งที่รายการของเธอทำเสมอก็คือเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาความเข้มแข็งให้กับชุมชน เราจึงถามไปว่าสำหรับเธอแล้ว อะไรคือทางรอดที่จะนำพาชุมชนให้ก้าวไปสู่ความเข้มแข็ง และเล็งเห็นคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เธอจึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากมุมของเธอว่า

ชุมชนเองต้องรู้ในศักยภาพของตนเอง

“โนคิดว่าชุมชนเองต้องรู้ในศักยภาพของตนเองก่อนค่ะ รู้จุดดีจุดด้อยของชุมชน แล้วเลือกหยิบเอาสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วมาพัฒนา ส่วนของหน่วยงานที่เข้ามาส่งเสริมทั้งด้าน ทักษะ องค์ความรู้ ฯลฯ ก็ควรมองให้ออกว่าสิ่งที่ให้ไปนั้นจำเป็นและสามารถส่งเสริมสิ่งที่พวกเขาทำกันอยู่แล้วให้เกิดมูลค่าได้จริงไหม

“อย่างรายการชื่นใจไทยแลนด์ ซึ่งเป็นรายการที่เราจะลงพื้นที่เพื่อพากูรูหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปช่วยกันพัฒนาชุมชน เราก็เจอปัญหาเช่นว่า เราเข้าไปช่วยทำแพ็คเกจจิ้ง ไปสอนทุกอย่างที่ชุมชนบอกว่าอยากได้ แต่เราพบว่าบางชุมชนไปต่อได้ บางชุมชนก็ไม่ไปต่อ ไม่ไปต่อของเขามันจะติดเรื่องอะไร อย่างเช่น แพ็คเกจจิ้ง มีเรื่องของงบประมาณ มีเรื่องของการที่เขาต้องไปผลิตอะไรบางอย่าง หรือก็เป็นเรื่องของการที่ตัวเขาเองไม่ได้เข้มแข็งพอ

ส่วนชุมชนที่ไปต่อได้ เราก็ลองถอดบทเรียนดูและได้คำตอบว่า สิ่งที่จะทำให้ชุมชนไปต่อได้ก็คือ นำสิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว มาเป็นตัวตั้ง แล้วเราเข้าไปเติมไอเดียให้เขาพัฒนาสิ่งนั้นให้เกิดมูลค่ามากขึ้นโดยไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ยกอย่างเช่น จังหวัดพัทลุง เขาทำไซดักปลาแต่เขาทำไซดักปลาอันใหญ่ ๆ ขายให้ชาวประมง ซึ่งเขาขายได้ในราคา 60 บาท หรือ 100 บาท เราก็เลยบอกว่างั้นเราทำเป็นไซดักทรงเดียวกันเลยแต่ให้ย่อส่วนลงเป็นอันเล็ก ๆ ใช้เศษไม้ไผ่ที่เหลือมาทำแล้วเราก็เรียกว่า ‘ไซดักเงินดักทอง’ ขาย 99 บาท ปรากฏว่ามันขายดีมากมีแต่คนสั่ง ทุกวันนี้เขาก็ยังทำขายอยู่

“นอกจากนี้เรายังเคยไปสอนชาวบ้านที่ จ.พะเยา ซึ่งเขาทำเล้าไก่ขาย ก็แนะให้ลองปรับทรงปรับขนาดทำเป็นบ้านสำหรับแมว ก็มียอดสั่งซื้อถล่มทลาย และในชุมชนเดียวกันมีกลุ่มแม่บ้านทำข้าวเกรียบว่าว เราก็เติมไอเดียให้ลองจัดเซตขายเป็นชุดปิ้งข้าวเกรียบว่าวที่บ้านด้วยตัวเอง มีแผ่นข้าวเกรียบพร้อมไม้ปิ้งพร้อม ก็ปรากฏว่าขายดีสร้างมูลค่าได้ดีกว่าเดิม

ถ้าชุมชนเขาจะไปต่อได้ มันต้องไม่ไปเริ่มอะไรจากศูนย์ แต่ปรับเป็นบวกเพิ่มดีกว่า

“มันสะท้อนว่าถ้าชุมชนเขาจะไปต่อได้ มันต้องไม่ไปเริ่มอะไรจากศูนย์ แต่ปรับเป็นบวกเพิ่มดีกว่า อย่างนี้ค่ะ เพราะรู้สึกว่าถ้ามัวไปสอนทำแพ็กเกจจิงอะไรแล้วเขาไม่ไปต่อ มันไม่ใช่ ถ้าเป็นแบบที่เล่ามานี้เขาทำได้เลย

“ส่วนถ้าชุมชนไหนที่มีศักยภาพทำท่องเที่ยวได้ เราก็จะเน้นย้ำเรื่องการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เช่นถ้าอยากจัดกิจกรรมพานักท่องเที่ยวมางมหอย ต้องออกกฎว่าพวกหอยตัวเล็กต้องไม่จับนะ เพราะว่าคนเดี่ยวนี้คนให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ ยิ่งชุมชนอยากให้คนมาเที่ยวบ้านตัวเอง ก็ยิ่งต้องเป็นตัวอย่างให้เห็น คือโนจะเป็นแนวแนะนำมากกว่า เราจะไม่ได้ไปเปลี่ยน ชาวบ้านอาจมองว่าการจับสัตว์ตัวเล็กเป็นเรื่องปกติ แต่เราก็จะบอกว่าเฮ้ยมันไม่ได้เพราะถ้าเราเอาหมด สุดท้ายสักวันไอ้กิจกรรมนี้ก็ต้องหายไป มันจะไม่เหลือจุดขายอะไรให้คุณแล้ว

“อยากให้ชุมชนลองกลับมาดูความแข็งแรงของสินค้าที่ผลิตในชุมชน เช่น ไม่จำเป็นต้องมาเที่ยวก็ได้ แต่ชุมชนมีสินค้าให้ผู้คนสามารถซื้อได้ งั้นเราก็ขายของกันไม่ต้องเที่ยว เพราะทุกวันนี้มีช่องทางออนไลน์ช่วยเราหลากหลายช่องทาง ก็เลยเป็นไอเดียให้โนคิดทำรายการ “เรื่องเด็ดเอ็ดตะโร” รายการนี้คือเอาสินค้ามาเดี๋ยวรีวิวให้ ไม่ต้องท่องเที่ยวนะ ขายของอย่างเดียวเลย ชุมชนมีอะไร ส่งมา เรารีวิวให้ ตรงนี้คือชุมชนส่งมา เราไม่ต้องเดินทาง คุณก็สามารถสั่งซื้อได้ที่บ้าน

“คือตัวโนเองก็พยายามทำงานที่หาอะไรที่รองรับกับชุมชน เพราะรู้สึกว่า มันอยู่ในเลือดเราไปแล้ว มันฝังอยู่ใน DNA เหมือนเราทำอะไรขึ้นมาเกี่ยวกับชุมชน มันต้องขายได้ คือถ้าคนดูเขาไม่ได้มาเที่ยวตาม อย่างน้อยก็ต้องได้ซื้อของแหละ และเมื่อเกิดรายได้หมุนเวียนกับชุมชน ชุมชนอยู่ได้ ก็จะเกิดความเข้มแข็งขึ้นเอง”

ทุกคนล้วนสำคัญ ต่อการกำหนดอนาคตความยั่งยืนของอาหารในประเทศ
จากประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่ไปเห็นชุมชนมากมายในฐานะพิธีกรรายการท่องเที่ยวเชิงอาหารทั่วไทย อโนชามองว่าการจะทำให้เกิดความยั่งยืนของแหล่งอาหาร ชุมชน และสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน

ทุกความยั่งยืนรวมไปถึงเรื่องอาหารมันเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน

“หนูว่าทุกความยั่งยืนรวมไปถึงเรื่องอาหารมันเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน เราสัมผัสได้ว่าชาวบ้านเขาก็ไม่ได้อยากกอบโกยถ้ามันไม่ได้ถูกบีบรัดด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ทุกคนก็อยากทำมาหากินด้วยความสบายใจ ไม่ได้อยากแอบใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย หากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่ใช้กฎหมายดูแลเขา ช่วยทำให้มันถูกพูดถึง ให้ความสำคัญ ส่งเสริมและให้แนวทางที่ปฏิบัติที่ทำได้จริงเพื่อจะให้วิถีชีวิตของเขายังไปต่อได้ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ชาวบ้านต้องแอบทำในสิ่งที่ผิด

“เหมือนที่หนูเล่าให้ฟังเรื่องหมู่บ้านมะแขว่น คือปลูกมะแขว่นกันทั้งหมู่บ้าน เพราะว่าส่วนหนึ่งมันคือเรื่องของจิตสำนึกด้วย และเขาก็ยังสามารถสร้างรายได้จากสิ่งที่เขาทำอยู่ตรงนี้ได้ มันมีหน่วยงานที่เข้าไปทำทางให้เขาสามารถเข้าไปขนส่งมะแขว่นได้ง่ายขึ้น ทุกคนก็แฮปปี้ เพราะถ้าเปลี่ยนไปปลูกยางพาราต้องกรีดแล้วเอาไปส่ง แต่มะแขว่นเก็บจากป่าที่บ้าน ตากที่บ้าน แล้วพอมีถนนเดี๋ยวนี้ก็มีคนขึ้นมารับไป หนูว่ามันอยู่ที่แนวความคิดของคนในพื้นที่นี่แหละ และพอธรรมชาติให้อาชีพ ให้ที่อยู่ และให้ชีวิตกับผู้คนได้ ผู้คนก็จะเกิดความรักและหวงแหนธรรมชาติขึ้นมาเอง นำไปสู่การดูแลซึ่งกันและกัน

“เรื่องกระแสการค้าที่จะส่งเสริมก็ควรมีการวิเคราะห์ให้ดีก่อนให้ข้อมูลชาวบ้าน เพราะเราได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า ตัดทุเรียนปลูกยาง ตัดยางปลูกทุเรียน วนเวียนอยู่อย่างนี้ ทั้งที่จริง ๆ แล้วแต่ละพื้นที่มันมีดีในตัวอยู่แล้ว ถ้าเราปลูกทุเรียนทุกภาคความพิเศษมันก็จะไม่เกิด หนูว่าควรหันมามองหาวัตถุดิบดี ๆ ในพื้นที่ของตนเอง เช่นระดับพื้นที่ของเราสูงจากน้ำทะเลเท่านี้ควรจะปลูกพืชอะไร พื้นที่มันคือแหล่งบ่งชี้ให้เกิดอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นขึ้นเองอยู่แล้ว

“การสนับสนุนสิ่งบ่งชี้พวกนี้จากภาครัฐสำคัญมาก เพราะถ้าคุณไปบอกชาวบ้านว่า เฮ้ย ราคายางดี แล้วมันไม่มีคนควบคุม หรือไม่มีการส่งเสริมคนที่เขาทำอะไรไว้เดิม ๆ ให้มีช่องทางไปได้ มันก็อดคิดไม่ได้ว่าวันหนึ่งเขาอาจจะแบบว่า ตัดมะแขว่นปลูกอะโวกาโดดีกว่าอะไรแบบนี้ คือเราอยากจะให้เขารักษาไว้ซึ่งสิ่งดั้งเดิมแต่แบบกูจะตายอยู่แล้วมันก็ไม่ไหว

“บ้านเรามักจะห้ามแต่ไม่ให้แนวทางเลย เช่นห้ามไปใช้พื้นที่ป่าทำกิน แล้วจะให้ทำอะไร เหมือนไม่ได้มีอะไรมารองรับคือถ้าห้ามก็ควรมีแผนสำรองว่าแล้วอะไรที่ชาวบ้านสามารถทำได้ ทำได้แล้วมันใช่วิถีของเขาด้วยไหม อันนี้หนูว่าสำคัญ มันควรจะเกื้อกูลกันระหว่างคนใช้กฎหมายกับคนออกกฎหมาย เพราะมันส่งผลต่อทุกความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร

ความต้องการของผู้บริโภคเป็นตัวกำหนดทิศทางความยั่งยืน

“ผู้บริโภคเองก็สำคัญ เพราะความต้องการของผู้บริโภคเป็นตัวกำหนดทิศทางความยั่งยืน เหมือนเมื่อก่อนหนูชอบกินปลาทูตัวเล็กเพราะไม่รู้ว่านั่นคือลูกปลาทู พอเรารู้แล้วเราก็เลิกกิน เพราะเราตระหนักว่าถ้าปล่อยให้พวกเขาเติบโตมันจะตัวใหญ่กว่านี้มาก มูลค่ามันมากกว่านี้ มากกว่าที่มันจะมาตายตอนมันเล็ก ๆ เพียงเพราะความต้องการของเรา ดังนั้นถ้าผู้บริโภคไม่ได้อยากกิน ไม่มีความต้องการ ชาวประมงก็จะไม่จับมา ก็ต้องมาถามกันแล้วละว่าแล้วผู้บริโภคอย่างเราจะเลือกทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้รักษา หรือผู้ทำลาย ? หนูก็คงพูดได้แค่นี้แหละค่ะ”

บทสนทนาจบลง แต่การตั้งคำถามปิดท้ายของอโนชานั้นก้องอยู่ในใจ “ก็ต้องมาถามกันแล้วละว่าแล้วผู้บริโภคอย่างเราจะเลือกทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้รักษา หรือผู้ทำลาย ?” คุณอ่านจบแล้วคิดว่า คุณจะเลือกทางไหน ?

ภาพ : รายการ “ตามอำเภอจาน” และ รายการ “ชื่นใจไทยแลนด์”