อาหารเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับตัวเรามากกว่าวันละสามมื้อ แต่เราตระหนักรู้อย่างลึกซึ้งน้อยครั้งเหลือเกิน ภายใต้จานอาหารมีเรื่องราวที่มองไม่เห็นมากมายอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะบอกเล่าจากมุมมองใดก็ตาม ป้าตา-จำเนียร เอี่ยมเจริญ ทำงานมาแล้วหลากหลายบทบาททั้งในฐานะผู้ประกอบการท่องเที่ยว นักธุรกิจ ผู้ปรุงอาหาร ผู้สร้างสรรค์งานวัฒนธรรมแบบล้านนา ฯลฯ แต่ตัวตนแก่นแท้ที่เธอให้ความสำคัญมากที่สุดในเวลานี้ คือบทบาทการเป็นนักปฏิบัติภาวนาที่ใช้อาหารเป็นเครื่องมือหล่อเลี้ยงทั้งกายใจของตนเอง ผู้อื่น ส่งต่อวิถีการกินเพื่อเกื้อกูลและปกปักรักษาโลกใบนี้ที่กำลังโกลาหลอย่างยิ่ง

วิถีเรียบง่ายในวัยเด็ก
ป้าตาเกิดที่กรุงเทพมหานครก็จริง แต่เมืองหลวงในสมัยนั้นยังไม่วุ่นวายมากเท่านี้ ความหลงใหลในวิถีธรรมชาติทำให้เธอชอบสร้างสรรค์บรรยากาศรอบบ้านด้วยต้นไม้ดอกไม้ให้ชื่นตาชื่นใจ ผู้คนในละแวกบ้านยังรู้จักคุ้นเคย มีน้ำใจ เอื้ออาทรต่อกัน เด็ก ๆ รวมกลุ่มเล่นด้วยกันได้เป็นบรรยากาศผ่อนคลายที่ไม่ต่างจากชนบท แต่ความโชคดีมากกว่านั้นคือแม่ของป้าตาเป็นคนสมุทรสงคราม ทุก ๆ ปิดเทอมจึงเป็นเวลาที่น่ารอคอยเสมอ

“เป็นคนชอบธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก คอยไปหาต้นไม้จากตลาดที่สนามหลวงมาปลูกในบ้าน ชอบวิถีชีวิตเดิม ๆ เช่น ใช้เตาถ่าน เวลาแม่พาไปเที่ยวบางคนที แม่กลอง เราได้นั่งรถไฟและพายเรือเข้าไปในหมู่บ้าน เห็นสภาพแวดล้อมความสวยงามของชีวิต ในตลาดน้ำมีคนพายเรือกันแน่นตลาดทั้งคนซื้อคนขาย สนทนาวิสาสะกัน บ้านเรือนอยู่ตามคลองซอยต่าง ๆ เวลาไปวัดต้องรอให้น้ำขึ้นก่อนถึงพายเรือเข้าไปได้ ชีวิตของคนเชื่อมโยงกับธรรมชาติตลอดเวลา

วิถีชีวิตสมัยนั้นเป็นความสงบ เรียบง่าย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือกัน

“วิถีชีวิตสมัยนั้นเป็นความสงบ เรียบง่าย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือกัน กวนน้ำตาลมะพร้าวเสร็จเอามาแบ่งกัน ถ้าขึ้นไปเยี่ยมบ้านเวลาฤดูมะพร้าว ลิ้นจี่ คนก็เอาอาหารการกิน เอาขันใส่น้ำฝนที่ลอยดอกไม้หอมเย็นชื่นใจมาต้อนรับบรรยากาศแถวสวนมีเรือพายผ่านไปมาตลอด เด็ก ๆ นั่งรอเรือก๋วยเตี๋ยว เรือขายขนมหวานเครื่องไข่ ตอนเย็นลงเล่นน้ำที่ท่าน้ำ กอดมะพร้าวสองลูกเล่นในคลอง ค่ำล้อมวงกินข้าวมีปลาทู น้ำพริกกะปิ ผักสดตามฤดู กับข้าวไม่กี่อย่างจริง แต่ทุกคนมีความสุข กลางคืนจุดไต้เป็นแสงสว่างนั่งคุยกันไปเย็บกระทงกันไป เพราะฉะนั้นทุกปิดเทอมเรารอคอยที่ได้ไปบ้านสวน การที่คนได้เจอกัน คุยกัน แบ่งปันกัน เด็กเล่นด้วยกัน ทำให้คนเรียนรู้เรื่องการมีอัธยาศัยไมตรี เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน สิ่งเหล่านี้เป็นภาพที่ประทับใจและเป็นวัยเด็กที่มีความสุขมาก”

วิกฤติสร้างทางเลือกใหม่
ด้วยความหลงใหลในวิถีเดิม ๆ เรียบง่าย ผ่อนคลาย ใกล้ชิดธรรมชาติอย่างสุดจิตสุดใจ เพียงแค่อายุ 26 ปี ป้าตาก็รู้แน่ชัดว่ากรุงเทพไม่ใช่คำตอบของชีวิต เชียงใหม่จึงเป็นหมุดหมายปลายทางที่นึกถึงเพราะมีทุกอย่างไม่ต่างกัน ไม่ว่าความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่และโอกาสที่ยังรอคอยการค้นพบ

“สภาพของกรุงเทพที่ทั้งฝนตก น้ำท่วม รถติด อยู่กรุงเทพได้แค่ 26 ปี ก็เริ่มทนไม่ไหว คิดว่าไปตายเอาดาบหน้าดีกว่า บอกตัวเองว่าถ้าอยู่เชียงใหม่แล้วยังอดตายก็ให้มันรู้ไป” ป้าตาเล่ายิ้ม ๆ กับความหลัง

“เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีธรรมชาติสวยงาม อยู่แล้วผ่อนคลาย อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ถึงรายได้ไม่มากแต่มีความสุขมากกว่าเยอะ”

หากชีวิตป้าตาในช่วงที่ก้าวเดินใหม่ต้องพบจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตอีกหลายครั้ง ครั้งหนึ่งคือการเผชิญอุบัติเหตุรถชนคนบนถนนทางหลวงเต็มสองตา เป็นเหตุการณ์กระชากใจที่ส่งเสียงว่า “ชีวิตนี้น้อยนัก” กับการมุ่งกำไรสูงสุดในธุรกิจตุ๊กตาทำให้เกิดหนี้สินก้อนโต วิกฤติเหล่านั้นนำมาสู่การฝึกปฏิบัติภาวนาและเริ่มงดเว้นอาหารที่มีเนื้อสัตว์

“เชียงใหม่เป็นขุมทรัพย์สำหรับความสุขสงบ เวลาที่ลำบากเรามีกัลยาณมิตร มีครูบาอาจารย์ มีสถานที่ให้ภาวนาเยอะ ได้ฝึกปฏิบัติอยู่ใกล้ป่าใกล้เขา เป็นวิถีเรียบง่ายพอเพียงแบบพระพุทธเจ้าบอก เป็นความสุขที่หาได้ยากแต่เชียงใหม่มีพร้อมทุกอย่าง”

ป้าตาค้นพบหนทางที่พอดีสำหรับตัวเองที่มีชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมคู่ขนานกันไปอย่างสมดุล อาหารเป็นเรื่องเดียวที่หลงใหลและเป็นสุขเสมอเมื่อได้ลงมือทำ ป้าตาริเริ่มการงานใหม่ด้วยการทำร้านอาหาร ขยับขยายมาเป็นการออกร้านด้วยบรรยากาศล้านนาซึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อนยังไม่มีใครริเริ่มทำ “กาดหมั้วครัวฮอม” มาก่อน จนสุดท้ายกลายเป็น กระแสที่ผู้คนชื่นชอบและโด่งดังไปทั่วประเทศ

การที่คนเราได้เห็นอะไรเดิม ๆ กินกับข้าวบ้าน ๆ ทำให้หัวใจอ่อนโยนลง มีความสุข

“เรามีความรู้เรื่องอาหารและชอบเรื่องวัฒนธรรมอยู่แล้วเลยลองจัดงานกาดหมั้ว อีเว้นท์งานวัฒนธรรมล้านนา เราเก็บกระบุงตะกร้า ข้าวของแบบบ้าน ๆ ที่ซื้อจากชาวบ้านเอาไว้เยอะก็เอามาตกแต่งในงาน ตอนแรก ๆ มีคนพูดเหมือนกันว่า ‘จัดงานแบบนี้ใครจะมา’ แต่เราชอบ ยิ่งได้สร้างสรรค์อะไรแบบไม่เหมือนใครยิ่งสนุก ตอนนั้นจัดงานสืบสานล้านนาเป็นวิถีย้อนยุคที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำซุ้มขายของที่วัดมหาวันสมัยถนนคนเดินท่าแพครั้งแรก ๆ (ภายหลังเทศบาลเชียงใหม่สานต่อเอง) สุดท้ายงานกาดหมั้วก็ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง ป้าเดินสายจัดงานเกือบทั่วประเทศเลย สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าต่อให้โลกพัฒนาไปขนาดไหน คนก็ยังไม่มีความสุข ลึก ๆ แล้วเขาโหยหาอะไรบางอย่าง การที่คนเราได้เห็นอะไรเดิม ๆ กินกับข้าวบ้าน ๆ ทำให้หัวใจอ่อนโยนลง มีความสุข เป็นความรู้สึกอบอุ่นในใจที่ไม่ใช่ข้าวของ”

ชีวิตดีเริ่มต้นที่มื้ออาหาร
ป้าตาขึ้นชื่อเรื่องฝีมือทำอาหารอร่อยจึงมีลูกค้าติดตามมายาวนาน บางคนเป็นลูกค้าตั้งแต่ร้านอาหาร (ที่ไม่ได้เป็นมังสวิรัติ) มาจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นผู้สร้างสรรค์อาหาร plant based แบบมาก่อนกาลตัวจริง

“ป้าเป็นมังสวิรัติมาตั้งแต่ปี2536และทำอาหารปลอดเนื้อสัตว์มาตั้งแต่นั้น แค่ไม่ได้ติดป้ายหรือเรียกว่าอาหารมังสวิรัติหรือเจเท่านั้นเอง ทำข้าวฟืน ข้าวจี่ น้ำเงี้ยว หมี่พันลับแล กระบองทอด ลาบทอด ข้าวส้มปั้นฮังเล ฯลฯ ใครกินก็ว่าอร่อยนี่ (หัวเราะ) การไปเที่ยวแบบวิถีเดิม ๆ เช่น ลาว เชียงตุง ทำให้เราเรียนรู้และดัดแปลงเก่งขึ้น บางอย่างไม่ใช้เนื้อสัตว์และอร่อยอยู่แล้ว

เรื่องทำอาหารยิ่งให้ยิ่งได้ เรามอบสิ่งดี ๆ วัตถุดิบดี ทำด้วยความตั้งใจประณีต อาหารได้ขาย ผู้บริโภคมีความสุข

“การทำอาหารเป็นศิลปะ เราต้องจดจำรสชาติแล้วดัดแปลงวัตถุดิบโดยหน้าตาอาหารยังดูดี บางอย่างลูกค้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นเมนูมังสวิรัติ เช่น เนื้อสวรรค์ ขนมจีนน้ำยา ลูกกะปิกินกับข้าวแช่จากก้านเห็ดหอม ไส้อั่ว ทอดมัน หมูสะเต๊ะจากเนื้อขนุน ผักหวานอบชีส ส้มตำก้านผักหวาน ส้มตำลูกหม่อน ฯลฯ สำคัญคือทำให้รสชาติเป็นอย่างที่เป็น ใช้ศิลปะดัดแปลงวัตถุดิบเอาเอง รักษาคุณภาพอาหารด้วยเครื่องปรุงที่ดี เรื่องทำอาหารยิ่งให้ยิ่งได้ เรามอบสิ่งดี ๆ วัตถุดิบดี ทำด้วยความตั้งใจประณีต อาหารได้ขาย ผู้บริโภคมีความสุข เราได้เปิดเผยตัวเอง ทำให้คนคิดถึงเราจากอาหาร แค่นี้ถือเป็นกำไรสำหรับป้าแล้ว

“อาหารคือสิ่งสำคัญของชีวิต การกินดีคือกินอาหารให้เป็นยา ป้าเลยเลือกชีวิตทางนี้ ทำอาหารดี ๆ ให้คนได้กิน เป็นศิลปะที่เราชอบและทำได้ดี แม้แต่ทำความดีเราก็ทำผ่านอาหาร สมัยก่อนตอนทำร้านอาหาร เราตักให้กินอิ่ม เวลาอาหารเหลือก็ใส่ถุงแบ่งปัน คนกินอร่อยเขาก็บอกต่อเอง เราคิดถึงอำนาจในการให้ ทำด้วยความสุข จิตใจประณีตและผลลัพธ์ย่อมกลับคืนมาหาเราในระยะยาว ”

ทุกเช้าป้าตาจะตื่นแต่เช้ามืดทำอาหารไปถวายพระที่วัดในละแวกบ้านสามแห่งโดยปรุงจากวัตถุดิบรอบสวน
“ถ้าท่านไม่มีอาหารก็ปฏิบัติไม่ได้เหมือนกัน การได้ทำอาหารเท่ากับร่วมส่งเสริมการปฏิบัติของท่านทางอ้อมด้วย”

บ้านสวนของป้าตาจึงเหมือนกับซูเปอร์มาร์เก็ตกลางผืนป่าที่มีกินได้ตลอดเวลาที่ต้องการ เพราะในพื้นที่ชายป่าขนาดย่อมแห่งนี้บรรจุต้นไม้มากมาย ทั้งไผ่ กล้วย ส้มป่อย ผักหวาน ผักกูด ฯลฯ จนเนรมิตอาหารแสนอร่อยให้เราชิมได้ง่าย ๆ เพียงพริบตา ทั้งน้ำพริกถั่วเน่าเคียงผักสด กระทงทอง ยำส้มโอ สลัดกระเจี๊ยบ เมี่ยงสมุนไพรที่ทำจากสารพันวัตถุดิบในสวน เช่น ดอกดาหลา มะม่วงหาวมะนาวโห่ ยอดมะกอก อัญชัน กลีบกุหลาบ เป็นอาหารที่แสนสดชื่นและปลอดภัยเพราะปลูกและเก็บจากรั้วรอบบ้านด้วยตัวเอง

ออกซิเจนทางจิตวิญญาณที่อยู่มีจริง
ป้าตาทำอาหารและแบ่งปันความรู้ด้วยการสอนทำอาหารกับผู้คนหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยคลั่งไคล้ป้าตามากและเชิญไปสอนทำอาหารถึงประเทศญี่ปุ่น อาหารอันเรียบง่ายของป้าตาทำให้ผู้คนหลงใหล หลายคนว่าทำให้คิดถึง “รสมือแม่” ซึ่งป้าตากล่าวอย่างถ่อมตนถึงเคล็ดลับที่แท้จริงว่า

แท้จริงแล้วการทำอาหารจึงเป็น ‘การใส่ใจโดยแยบคาย’

“แม่ของป้าเป็นคนทำอาหารอร่อย ตอนเด็ก ๆ ทุกเย็นเรานั่งรอพ่อกลับมากินข้าวพร้อมหน้ากัน แม่จำได้ทุกอย่างว่าใครชอบอะไรไม่ชอบอะไร แท้จริงแล้วการทำอาหารจึงเป็น ‘การใส่ใจโดยแยบคาย’ คือเอาใจใส่ทุกคนผ่านอาหารทุกมื้อ เพียงแต่คนโบราณเรียกว่า ‘เสน่ห์ปลายจวัก’ พ่อไม่เคยกินข้าวที่อื่นเพราะกลับมากินกับข้าวฝีมือแม่ เราล้อมวงกินข้าวกันหกคนพ่อแม่ลูกมีความสุขทุกวัน

“ลองคิดดูสิว่าถ้าเราได้มีชีวิตแบบนี้จะดีแค่ไหน แม่ทำอาหารที่ทุกคนชอบ เป็นอาหารที่ทำจากใจ กินแล้วอบอุ่น เป็นอาหารที่มีคุณค่าความหมายเพราะผู้ให้ให้ด้วยหัวใจ ครั้งหนึ่งสมัยทำร้านอาหาร ลูกค้าประจำขับรถจากกรุงเทพฯมาเชียงใหม่ บอกว่ามาถึงช้าแต่อย่าเพิ่งปิดร้านนะ อยากมากินข้าวที่ให้ความรู้สึกสึกคิดถึงแม่และบรรยากาศล้อมวงกินข้าวกับครอบครัว อันนี้แหละที่เป็นออกซิเจนบำรุงหัวจิตหัวใจของมนุษย์”

อาหารที่ดีจึงไม่ใช่แค่อาหารที่อร่อย หากเป็นอาหารที่ปรุงอย่างใส่ใจจนสัมผัสรับรู้ได้ถึงความหมายและสายใยความรักในนั้นจริงๆ

หล่อเลี้ยงโลกคือหล่อเลี้ยงตน
ทุกวันนี้ ป้าตามีชีวิตสงบสุขอยู่ในสวนป่าอย่างที่ตั้งใจ ได้หล่อเลี้ยงชีวิตด้วยการงานที่รัก หล่อเลี้ยงตนเอง ผู้อื่นด้วยอาหารที่ดี ดูแลรักษาผืนดินผืนป่าอย่างขอบคุณเพื่อให้ธรรมชาติได้ก่อกำเนิดอาหารหล่อเลี้ยงโลกเป็นวัฏจักรมิรู้จบ

“ในอนาคตตั้งใจถ่ายทอดความรู้วิถีชีวิตแบบนี้ให้คนเรียนรู้ มานอนกระท่อมแบบไม่มีไฟฟ้า ตักน้ำจากลำธารมาใช้ สอนเรื่องการหุงข้าวด้วยเตาฟืน ทำอาหาร ดูแลจิตใจตัวเอง เราอยากทำสิ่งที่เราทำได้ไม่ใช่เพราะอยากเปลี่ยนโลก แต่เราสามารถเกื้อกูลคนที่เปิดใจอยากเปลี่ยนตัวเองให้มาเรียนรู้ด้วยกันได้

ป้ารักและเคารพโลกที่ให้โอกาสเราอยู่อาศัย

“ป้ารักและเคารพโลกที่ให้โอกาสเราอยู่อาศัย ได้มีชีวิตทำความดีต่าง ๆ สิ่งที่เราควรคืนให้โลกคืออนุรักษ์สภาพแวดล้อมเท่าที่เราทำได้ เราอาจทำไม่ได้ทั้งหมดแต่ครูบาอาจารย์สอนว่า ‘ถ้าจบที่เราได้จงทำ’ ใครไม่ทำก็เรื่องของเขาแต่เราทำได้ทำ ทำในอาณาจักรเล็ก ๆ ของเราเอง ถ้าทุกคนมีความคิดแบบนี้เราจะอยู่กับโลกได้อย่างเกื้อกูลด้วยความขอบคุณ

“ชีวิตป้าสมบูรณ์พร้อมแล้ว ได้อยู่ในที่สัปปายะ ได้ทำสิ่งที่ชอบ ซื้อที่ดินตรงนี้ไว้แล้วถวายทำเป็นวัดเพราะอยากรักษาป่าต้นน้ำเอาไว้ ช่วยลดคนตัดไม้และเกษตรเคมีได้ทางอ้อมด้วย เรารักษาธรรมชาติในส่วนเท่าที่เราทำได้ ไม่คาดหวังการเปลี่ยนแปลงจากคนอื่นเพราะทุกอย่างเริ่มและจบที่เราได้ทำ เป็นการทดแทนบุญคุณของโลกด้วยการรักษาโลกนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไปเพราะเรามีโลกนี้แค่ใบเดียว”

เป็นสังคมของความสุขที่เริ่มต้นได้จากเราเอง เพราะการเปลี่ยนแปลงที่แท้อยู่ที่ลงมือทำ

หมายเหตุ : ติดตามความรู้เรื่องการทำอาหารจากวัตถุดิบธรรมชาติแบบง่ายๆที่ facebook : ป้าตาอาหารสุขภาพ และนัดหมายล่วงหน้าเพื่อรับประทานอาหารที่บ้านสวนสุขใจได้ที่ facebook : ป้าตาโอบะซังสวนสุขใจ เปิดรับนัดหมายตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นไป บ้านสวนสุขใจ อยู่ที่อำเภอแม่แตง จ.เชียงใหม่ (รับเฉพาะนัดหมายเท่านั้น)

ภาพ : วรากร ถนัดกิจ