“ฉันยังจะเป็นหมอได้ไหม ถ้าฉันไม่มียาที่เหมาะกับเด็กคนนี้?”

คำถามสั้นๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์คับขันของแพทย์จบใหม่คนนั้น กับคำตอบชัดๆ ที่พิสูจน์ได้แล้วว่า “เป็นได้” และ “เป็นได้จริง” ด้วยศาสตร์การแพทย์แบบองค์รวมที่ดูแลคนทุกช่วงวัยให้เป็นสุขได้อย่างยั่งยืน พญ. กอบกาญจน์​ ชุณหสวัสดิกุล คือเจ้าของคำถาม และผู้ให้คำตอบ

และเพื่อพูดคุยไถ่ถามถึงเหตุการณ์ของคำถามและคำตอบนั้น วันนี้จึงขออนุญาตทำนัดพิเศษกับคุณหมออ้อมที่ “เวนิตา สหคลินิก” ย่านวัชรพล ซึ่งเป็นคลินิกที่ดำเนินงานโดยคุณหมอและสามี แม้จะไม่ได้มาในฐานะคนไข้ หรือแบกปัญหาอาการเจ็บป่วยมาพบ แต่เป็นการมาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ สร้างความเข้าใจในเรื่องของการดูแลสุขภาพที่จำเป็นต้องทราบก่อนที่โรคภัยจะมาเยือน  

เหมือนเช่นทุกครั้งเมื่อได้ไปโรงพยาบาลหรือคลินิก คือเมื่อก้าวเข้ามาก็จะรู้สึกสุขสบายใจ รู้สึกปลอดภัย ถ้าป่วยก็ว่าเหมือนป่วยนั้นจะทุเลาอาการ ยิ่งได้เห็นหน้าคุณหมอก็เหมือนไข้จะลดลง 

คำถามแรกหลังจากสวัสดีทักทายคุณหมออย่างเป็นทางการกึ่งเป็นกันเอง  เป็นคำถามที่คุณหมอน่าจะได้ยินอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือ “จริงหรือไม่คนส่วนใหญ่จะมาหาหมอเมื่อเจ็บป่วย” คุณหมออ้อมยิ้มอย่างพึงใจ แล้วพยักหน้าเป็นเชิงตอบรับและเห็นด้วย

“อันนี้เป็นเรื่องจริงมากค่ะ เพราะตามธรรมชาติแล้ว คนเราจะไปหาหมอเมื่อเกิดการเจ็บป่วย ถ้าไม่ทุกข์จะไม่นึกถึงหมอเท่าไร  ”  

“แต่เพราะการใช้ชีวิตตอนที่ยังไม่ป่วยทุกอย่างจะนำมาสู่อาการเจ็บป่วย เมื่อป่วยแล้วเขาเคยรักษาแบบไหนตรงนี้คือประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนค่ะ แต่ถ้าไม่ป่วยก็จะไปใช้ชีวิตสนุกสนาน ไปปาร์ตี้ แต่พอไม่สบายก็จะมาหาหมอ ยิ้มเขินๆ เข้ามาแตะมือแล้วบอกว่า “วันนี้เอาความทุกข์มาให้คุณหมออีกแล้วค่ะ” จริงๆ แล้วตอนไม่ป่วยตอนมีความสุขก็มาหาหมอได้นะคะ” 

บรรยากาศของการพูดคุยที่ผ่อนคลาย ประกอบกับรอยยิ้มบนใบหน้าของคุณหมออ้อม ทำให้รู้สึกว่า บทสนทนากึ่งวิชาการสุขภาพในวันนี้น่าจะช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจเรื่องการดูแลตัวเองและคนรอบๆ ตัวได้ไม่น้อยเลย และบทสนทนาเพื่อสุขภาพดีๆ มีได้แม้ยังไม่ป่วยก็เริ่มขึ้นนับจากนี้ 

นิยามแพทย์องค์รวมของคุณหมออ้อม
จากประวัติของคุณหมอและดีกรีทางการแพทย์ ด้านเวชศาสตร์ป้องกัน สาขาสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  แต่บทบาทและความเชี่ยวชาญการรักษาในช่วงหลายปีมานี้ เราจะรู้จักคุ้นเคยกับคุณหมออ้อมกันดีในฐานะแพทย์ทางเลือก หรือแพทย์แบบองค์รวม เพื่อให้เข้าใจนิยามของแพทย์แบบองค์รวมอย่างชัดเจน คุณหมออ้อมจึงอธิบายเพิ่มเติมเป็นฉบับย่อไว้ให้เข้าใจได้ง่าย ว่า

 “เมื่อเกิดความเจ็บป่วยในร่างกาย ในระยะเวลา 1 ปี เราทำการรักษาในกระบวนการสาธารณสุขทั่วไปกี่วัน?​  ยกตัวอย่างที่คนไข้มะเร็ง ใน 1 ปี ระยะเวลารวมๆ ของการรักษา บำบัดตามนัดของแพทย์คือประมาณ​ 50 วัน   365 วันคือ 1 ปี ถ้า 310 วันที่เหลือ คุณดูแลตัวเองไม่ดี สุดท้ายสุขภาพของคุณก็จะพัง”   

Holistic care หรือ Wellness care เป็นงานสหวิชาชีพรูปแบบหนึ่ง คือความหมายของการแพทย์แบบองค์รวม

สิ่งหนึ่งที่เรามักหลงลืม ละเลย และเพิกเฉยกันไป คือการดูแลตนเองในวันที่ยังไม่ป่วย หรือแม้แต่ในวันที่ป่วยแล้วแต่ยังต้องการใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข และในบางครั้ง การดูแลร่างกายรักษาอาการป่วยทางด้านร่างกายเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ 

“เมื่อเจ็บป่วย ไม่ว่าสั้นหรือยาว เวลาที่เหลือจากการรักษาทางการแพทย์แผนปรกติ เราต้องกลับมาฟื้นฟูและซ่อมแซมร่างกายอยู่ตลอดเวลา และต้องดูแลไปจนถึงเรื่องของสภาพจิตใจ ทำอย่างไรถึงจะหายจากอาการซึมเศร้าวิตกกังวลจากการเป็นผู้ป่วยมะเร็ง ทำอย่างไรให้นอนหลับได้ ทำอย่างไรให้รู้สึกสบายตัว เพราะเรายังอยู่ในฐานะของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ต้นตอของปัญหายังไม่หายไปจากร่างกาย นี่คืองานของการแพทย์องค์รวม ที่เป็น Patient center คือมีคนไข้เป็นศูนย์กลาง เพราะคนไข้ไม่ได้มีแค่อวัยวะ แต่คนไข้มีจิตใจ มีทัศนคติ มีความเชื่อ มีสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นของตัวเอง”  

“ บางครั้งหมอยังต้องทำให้คนไข้รู้สึกกลับมามีพลังกลับไปทำมาหาเลี้ยงชีพอีกครั้งเพื่อให้มีเงินมาดูแลรักษาตัวได้ต่อ  หรือบางคนเมื่อป่วยเป็นมะเร็งแล้วก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปทำไม อยู่ต่อไปอย่างไร เราจึงต้องดูแลทั้ง กาย ใจ และจิตวิญญาณของผู้ป่วย”

ถ้าไม่มียารักษาคนไข้ เราจะยังเป็นหมอได้อยู่ไหม?
คุณหมอก็เหมือนกับใครอีกหลายๆ คน ที่ชีวิตถูกขับเคลื่อนและท้าทายด้วยคำถาม และบ่อยครั้งที่คำถามสั้นๆ เพียงคำถามเดียวก็นำพาคำตอบนับร้อยพันมาสร้างคุณประโยชน์ให้กับโลก เช่นเดียวกันคำถามไม่กี่คำถามที่คุณหมอเคยมีกับตัวเองในวันนั้น คือที่มาของคำตอบอันทรงคุณค่าต่อชีวิตและสุขภาพของคนไข้ในวันนี้ 

“หมอเป็นคนขี้สงสัยและต้องหาคำตอบ เมื่อบางคำตอบบอกว่าอย่าไปเชื่อ กินยานั้นวิตามินนี้ไม่หายหรอก แต่ในบางเคสหมอได้ฟังได้เจอว่าใช้ยานั้นแล้วดีขึ้น ใช้ยานี้แล้วหาย หมอก็จะรู้สึก เอ๊ะ! ทำไมข้อมูลที่เรามีจากโรงเรียนแพทย์ กับสิ่งที่เราเจอจากคนไข้ที่ได้รับประสบการณ์จริงมันย้อนแย้งกัน ทั้งจากการใช้วิตามินที่เป็นเม็ด และทั้งจากใช้อาหารมารักษาโรค หมอเลยตั้งปณิธานว่าต้องหาคำตอบให้กับตัวเองให้ได้”

ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยน และในขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจในศาสตร์การรักษาแบบองค์รวมของคุณหมอ เรื่องราวในวันนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง?​

“จุดเปลี่ยนที่สำคัญมากๆ ในความคิดและตัวของหมอเอง คือเมื่อตอนที่ไปเป็นแพทย์ทำงานใช้ทุน หมอไปประจำอยู่โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในโคราช ซึ่งในบางช่วงยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิดจะขาดแคลน วันนั้นที่โรงพยาบาลไม่มียาพ่นตัวหนึ่งที่ใช้รักษาโรคหอบ แต่มีคนไข้เด็กเข้ามารักษาตอนกลางคืน หมอก็กังวลว่ายาเฉพาะที่รักษาเด็กคนนี้ขาด มียาตัวอื่นที่พ่นแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น และแม่ของเด็กก็วิตกกังวลมาก คนไข้เด็กที่อยู่ตรงหน้ามีความไม่สุขสบายตัว ตอนนั้นเองมันเกิดภาวะความคิดแว่บเข้ามาว่า 

“ถ้าเราไม่มียารักษาเรายังจะเป็นหมอได้อยู่อีกหรือเปล่า?”  

“ฉันยังจะเป็นหมอได้ไหมถ้าฉันไม่มียาที่เหมาะสำหรับเด็กคนนี้?”   

“มันมีวิธีอื่นอีกไหมที่เด็กคนนี้จะหายจากอาการหอบได้เลยโดยที่ไม่ต้องพ่นยาอย่างเดียว?”   

หมออยากมีอิสรภาพทางการรักษาที่ไม่ต้องพึ่งยา มันทำได้ไหม? มันทำได้อย่างไร?​ 

เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ ฉันก็มองเห็นรอยยิ้มเล็กๆ ในดวงตาสดใสทั้งสองของคุณหมอ ราวกับว่าเรื่องที่เพิ่งเล่าจบไปนั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานทั้งที่ผ่านมาแล้วกว่า 25 ปี  

“และกระบวนการทั้งหมดนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้หมอไปเรียนเภสัชแผนไทย การนวดแผนไทย การผดุงครรภ์ การฝังเข็ม ไปเรียนการแพทย์แผนจีนถึงที่ประเทศจีนจนได้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมมา ไปเรียนการทำอาหารในโรงเรียนสอนการทำอาหารชั้นนำ ทุกอย่างที่เป็นความรู้ที่นำมารักษาคนไข้ได้หมอเก็บเกี่ยวมาหมด เพราะทั้งหมดนี่ทำให้เรามีอิสระ หรือมีตัวเลือกในกระบวนการที่มารักษาคนไข้ได้มากขึ้น” 

ปัญหาของคนไข้คนหนึ่งเรามีทางเลือกอะไรบ้าง แทนที่จะมี  1 ทางเลือก ถ้าหมอมีสัก 8 ทางเลือก มันก็จะดีกว่า

“นั่นหมายความว่าคนไข้ปวดหัวมาหาหมอ หมอไม่ได้แค่รักษาแค่อาการปวดหัว พอหายแล้วกลับบ้านไป เมื่อปวดใหม่ก็มารักษา หายอีกก็กลับบ้านไป เพื่อรอให้ปวดหัวใหม่แล้วกลับมารักษาต่อ แต่หมอจะต้องรู้ว่าเข้าปวดหัวเพราะอะไร เพราะปวดหัว 10 คนมี 10 สาเหตุ คนไข้จึงต้องตระหนักและเรียนรู้การเข้าใจตัวเองด้วยว่าปวดเพราะอะไร ต้องนำพาตัวเองให้ไกลจากสิ่งที่เป็นความเสี่ยงให้ได้ Holistic care ของหมอคือเป็นประบวนการ ขั้นตอน และความรู้ ในการดูแลคนไข้ทั้งก่อนป่วย ระยะที่กำลังป่วย หรือหลังป่วยแล้ว ทั้งหมดนี้ใช้กระบวนการของ Holistic care มาดูแลได้ทั้งหมดเลย”

‘อาหาร’ คือเครื่องมือสำคัญต่อการรักษาสุขภาพ
เครื่องมือสำคัญทางการแพทย์อีกชนิดหนึ่งที่คุณหมอนำมารักษาดูแลคนไข้ เป็นเครื่องมือที่ไม่ได้ถูกคิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์หรือนักเทคนิคการแพทย์​ หากแต่เป็นเครื่องมือใกล้ตัว เครื่องมือที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตมาตั้งแต่เกิด นั่นคือ “อาหาร” และนี่คือเรื่องราวประสบการณ์ “โภชนบำบัด” หรืออาหารรักษาโรคที่คุณหมอเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ​

“เรื่องอาหารนี่เป็นเรื่องที่ชัดเจนมาก อาหารที่ดีนอกจากจะมากไปด้วยคุณค่ามีคุณประโยชน์แล้ว การเลือกอาหารให้เหมาสมกับวิถีชีวิต และจิตใจของคนไข้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น ถ้า​เราแนะนำอาหารไทยให้กับอากงอาแปะที่เป็นโรคเบาหวาน ท่านก็จะไม่ถูกปาก

“เราเรียนเรื่องอาหารสุขภาพมากันมาก และส่วนมากก็จะเป็นอาหารฝรั่ง อย่างอะโวคาโด หรือสเต๊ก สลัด ซึ่งอะไรแบบนี้อากงท่านไม่อินด้วย เราก็ต้องแนะนำข้าวต้ม แนะนำอาการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของอากง หรือเบาหวานของอากงอีกท่านก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวอากงเอง เพราะอากงกินอาหารตามที่คนอื่นตักให้ เบาหวานของอากงมันขึ้นอยู่กับคนที่ตักข้าว

“นี่คือสิ่งที่หมอต้องไปดูทั้งองค์รวมว่า อ๋อ…ที่อากงน้ำตาลขึ้นเพราะเปลี่ยนคนตักข้าว คือ care giver หรือคนดูแลคนป่วยจึงสำคัญและเป็นอีกหนึ่งงานของหมอ คุณย่าคนหนึ่งอยู่ๆ ก็กลายเป็นคนอารมณ์เสีย โวยวาย ความดันขึ้น สืบไปสืบมาจึงทราบว่าเพราะเปลี่ยนคนดูแล ทำให้เปลี่ยนผ้าอ้อมช้าจนปัสสาวะเต็มล้น อย่างนี้เป็นต้น”  

หมอเชฟ และ เชฟหมอ  เป็นนักรักษาและนักปรุงยาเป็นอาหาร
ความรู้หลากหลายศาสตร์ที่คุณหมออ้อมสั่งสมมา เป็นส่วนเติมเต็มของกันและกัน และในหลายๆ ครั้ง ก็เป็นส่วนสำคัญที่การรักษาที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้ 

“เมื่อใกล้จะถึงมื้ออาหาร คำถามที่คนมักจะถามกันคือ “มื้อนี้อยากกินอะไร?” เห็นไหมคะว่าเราใช้ความอยากนำมาก่อนเลย แต่พอมีคิดต่อว่า “หมอให้คุมน้ำหนัก หมอห้ามกินนั่นกินนี่” ความสนุกความอยากเริ่มหายไป เหลือตัวเลือกอะไรที่กินได้ก็จะกินสิ่งนั้น“

“ถ้าเราสามารถทำให้กระบวนการดูแลสุขภาพเป็นความอยาก เป็นความสนุก เช่น ถ้าขึ้นชื่อว่าร้านอาหารสุขภาพ คนไม่เข้าแน่นอน คุณหมอเคยเปิดร้านอาหารเพื่อสุขภาพ Healthy Flavor ก็จะมีแต่คนเคร่งเครียดกับสุขภาพเข้ามาเป็นลูกค้า แต่คนที่เอ็นจอยกับการกินจะไม่เข้า   

“หมอเปลี่ยนแปลงให้การรับประทานอาหารของคนไข้เริ่มต้นด้วยความอยาก เป็น “ฉันอยากสุขภาพดี” ก็ต้องกินอาหารแบบนี้”

“เพราะอาหารแบบนี้มันเป็นมิตรกับความอยากของฉัน ไม่ใช่สิ่งที่ “ต้องกิน” เพราะคุณจะกินแบบน้ำตาตกใน  บางคนถึงกับมีความคิดว่า “ให้ผมกินผักกินหญ้าฆ่าให้ตายดีกว่า” มันก็เกิดความเครียด” 

คุณหมอย้ำเสียงหนักแน่นอีกครั้งว่า อาหารเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตที่ทุกคนต้องมีความสุขเมื่อรับประทาน และทุกคนต้องมีความอยากที่จะดูแลตัวเอง อาหารที่เป็นได้ทั้งพิษ​และยา อยู่ที่ผู้ป่วยหรือผู้ที่ยังไม่ป่วยจะเลือกสิ่งไหนให้กับตัวเองมากกว่ากัน 

“ถ้าคนไข้มะเร็งมีความอยากที่จะคุมอาหารจริงๆ หมอถึงจะบอกเรื่องเมนูอาหารที่เหมาะกับเขา หมอจะไม่สั่งว่าต้องย่างนั้นต้องอย่างนี้ถ้าคนไข้ไม่อยาก เมื่อคนไข้อยากหายป่วย แล้วขอให้หมอแนะนำอาหาร หมอจะมีความสุขมาก มันคือการชวนกันวางแผนการใช้ชีวิต เริ่มตั้งแต่มื้อเช้า กลางวัน เย็น ค่อยๆ ปรับกันที่ละเล็กละน้อย จากแกนเดิมของชีวิตของเขา”  

“ผิดกับเมื่อก่อนที่หมอจะมีเมนูเป็นเล่มๆ รอไว้ เบาหวานกินตามเล่มนี้ ไขมันสูงกินตามเล่มนี้ โรคนี้กินตามเล่มนี้ พอคนไข้ได้ไปก็จะสุขภาพดีขึ้นมาช่วงหนึ่ง แต่ปัจจุบันคือการออกแบบการกินร่วมกัน มีเป้าประสงค์ร่วมกันแล้วจะสำเร็จได้ดีกว่า” 

นับเป็นข่าวดีทุกวันนี้คนไทยตื่นตัวเรื่องของอาหารรักษาโรค หรือโภชนบำบัดกันมากขึ้น คุณหมอเองในฐานะที่มีพื้นฐานความเชี่ยวชาญเรื่องการทำอาหาร ทั้งอาหารทั่วไปและอาหารเพื่อสุขภาพ จึงมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นที่จะมอบให้กับคนไข้กลับไปใช้รักษาตัวเองในทุกๆ วัน

“สมัยเมื่อ 20 ปีก่อน เราดูแลคนไข้มะเร็งด้วยวิธีการธรรมชาติบำบัด สิ่งที่เราต้องการคืออาหารที่สด สะอาด  และปราศจากสารเคมี ซึ่งสมัยนั้นหายากมาก ไม่มีร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ไม่มีหญ้าหวาน ไม่มีอะโวคาโดเยอะขนาดนี้ ผักผลไม้ก็มีแต่สารเคมี ขนมปังก็ไม่มีแบบออร์แกนิก ไม่มีอะไรเลย และทุกอย่างราคาสูงมากๆ คนไข้น่าสงสารมากๆ แต่ในปัจจุบันเริ่มมีความใส่ใจและมีทางเลือกให้กันมากขึ้น”

หมออยากให้องค์ความรู้ทางสุขภาพเข้าไปแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของคน ได้เข้าไปอยู่วิถีชีวิตและสุขภาพจะเกิดประโยชน์ในระยะยาวมากกว่า  เพราะการป้องกันใช้มูลค่าน้อยกว่าการรักษาเสมอ  และน้อยกว่าถึง 10 เท่า

เมื่อหมอป่วย คุณหมอที่ทำอาหารเก่งไม่แพ้เชฟจะเลือกปรุงให้ตัวเองอะไรรับประทาน
“ขอนึกย้อนไปตอนที่คุณหมอป่วยเพราะติดเชื้อไวรัสโควิด คุณหมอเป็นโควิดมาแล้วนะคะ (ยิ้ม) ในตอนนั้นคือหมอกินแต่ซุป กินแต่สุกี้ นึกถึงแต่ของที่กินแล้วคล่องคอ กินได้แต่ผักที่เปื่อยยุ่ย และปริมาณอาหารหนึ่งมื้อปรกติก็จะสามารถแบ่งได้เท่ากับ 3 มื้อของตอนป่วย น้ำซุปที่กินก็ต้องเป็นน้ำสต๊อกผัก กินเนื้อสัตว์น้อยมากๆ ค่ะ เพราะจืดปากจืดคอมาก (ยิ้ม)”

ครอบครัวคือขุมพลัง
หลายเวลานาทีของชั่วโมงสนทนาการวิชาสุขภาพ สังเกตเห็นได้ตลอดว่าที่คลินิกของคุณหมออ้อมในวันนี้มีคนไข้ที่มาปรึกษาและรับการรักษาครบทุกช่วงวัย ทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น วัยกลางคน ไปถึงวัยชรา และบางคนก็ดูสุขภาพดี ดูไม่คล้ายคนมีอาการป่วยเลยสักนิด บ้างก็เป็นคุณตาจูงมือหลานวัยเตาะแตะหัดเดิน บ้างก็เป็นพี่น้องวัยเด็กกำลังหยอกล้อเล่นกันระหว่างที่รอพบคุณหมอ และคู่สามีภรรยาเพิ่งแต่งงานใหม่ และที่ทุกๆ คนมีเหมือนกันคือ สีหน้ายิ้มแย้ม อาการผ่อนคลาย คล้ายดังว่าการมาพบคุณหมอพร้อมๆ กับคนในครอบครัวคือพื้นที่แห่งความสุขสบายใจ 

“ใช่ค่ะ นี่คือจุดเด่นครอบครัวของคนไทย เป็นสีสันที่สร้างความสุข เพราะในครอบครัวในบ้านเดียวกันจะมีคนอยู่ร่วมกันหลายวัย ทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น วัยกลางคน และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย คุณหมอขอเล่าถึงเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ หรือ Elderly care ที่บางบ้านก็ให้ความสำคัญอยู่แล้ว แต่บางบ้านอาจจะยังต้องการตัวอย่างที่ชัดเจนขึ้นนะคะ

“คุณหมอเคยทำการทดสอบแล้วพบว่า ถ้าคนสูงอายุอยู่ด้วยกันจะไม่มีสีสันเหมือนกับอยู่กับวัยรุ่น หรือสนุกเท่ากับอยู่คนต่างวัย เพราะจะอบอุ่นและมีมิติมากกว่า อย่างในบ้านคุณหมอเอง คุณพ่อคุณแม่ของคุณหมออายุ 70-80 ปี อยู่กับหลานๆ ที่อายุตั้งแต่ 6-7 ขวบไปจนถึง 16-17 ปี ทำอะไรร่วมกันก็สนุก โดยเฉพาะทำอาหาร วันก่อนนี้ทำช่วยกันทำก๋วยเตี๋ยวเรือ เด็กตำถั่ว อีกคนหนึ่งแกะกระเทียม อีกคนหนึ่งจัดโต๊ะ ช่วยคุณตาคุณยายเจียวกระเทียม ส่วนคุณตาคุณยายลวกผัก หั่นถั่วฝักยาว” 

“การทำอาหารเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญภายในบ้านที่ทุกๆ คนได้ใช้เวลาคุณภาพและรับประทานอาหารคุณภาพร่วมกันในแต่ละวัน”

กินข้าวพร้อมหน้า อาหารพร้อมหมู่ ครอบครัวต่างวัยใส่ใจกันและกัน
ในบ้านที่อยู่อาศัยกันหลายช่วงวัย ต่างความต้องการด้านการดูแล คุณหมอก็มีคำแนะนำง่ายๆ เพื่อการตระเตรียมสำรับกับข้าวแต่ละมื้อให้กับทุกคน แบบไม่ต้องแยกโต๊ะก็อร่อยจากเมนูเดียวกันได้  

“เรื่องนี้ง่ายมาก ถ้าเรารู้ถึงปัญหาของแต่ละวัย เช่น ที่บ้านของหมอ คุณตาคุณยายคือผู้สูงอายุที่ต้องควบคุมอาหาร และไม่ต้องการแคลเลอรี่จากอาหารในแต่ละวันเยอะเท่าวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ท่านก็จะงดมื้อเย็น กินเท่าที่ร่างกายต้องการ เพราะใช้พลังงานไม่ได้เยอะมาก และสิ่งที่ท่านกินคือเส้นใย และงดน้ำตาล แต่ก็ไม่ได้มาบังคับให้หลานต้องงดน้ำตาลด้วย หลานก็รู้อยู่แล้ว เพราะได้เห็นวิธีการของคุณตาคุณยาย พอถึงเวลา 5 โมงเย็นก็ไปออกกำลังกายกับท่าน นี่คือจังหวะของชีวิตที่ทำเป็นกิจวัตร” 

“ในหนึ่งมื้ออาหารที่นั่งรับประทานร่วมกันเมนูเดียวกัน ในวัยสูงอายุต้องเพิ่มโปรตีน เลี่ยงแป้งและน้ำตาล เด็กก็จะเห็นว่าคุณตาคุณยายกินปลามากหน่อยเพื่อเพิ่มโปรตีน ตักผักในจานมากกว่าส่วนที่เป็นน้ำมัน หรือไข่เจียวจานนี้เด็กตักกินเท่าไหร่ คุณตาคุณยายตักเท่าไหร่ วัยรุ่นตักเท่าไหร่ ปริมาณจะต่างกัน หากช่วงไหนเป่าเค้กวันเกิด คุณตาคุณยายก็จะกินได้ 1 คำ เด็กๆ ก็จะรู้ว่านี่คือสิ่งที่ท่านต้องระมัดระวัง และช่วงไหนที่วัยรุ่นในบ้านต้องทำกิจกรรมที่ใช้แรงใช้พลังงานมาก เขาก็จะกินโปรตีนเพิ่มขึ้น กินข้าวสองจาน น้องๆ ก็จะเห็นวิถีชีวิตของพี่ และคุณตาคุณยาย มันก็จะเป็นองค์ความรู้ที่เด็กๆ ได้ซึมซับจากผู้ใหญ่ โดยที่เราไม่ต้องสอน” 

เราจบการสนทนาในวันนี้กันที่ตรงนี้ และต่างกล่าวคำอำลาแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตัวเอง คุณหมอมีคิวตรวจคนไข้รายอื่นๆ ต่อ ส่วนฉันก็ได้แต่คิดอยู่ว่า อาหารมื้อหน้าที่จะเลือกกินนั้น จะเลือกรับเอาพิษหรือเอายาใส่ตัวเองดี… ในท้ายที่สุดก็ตัดสินใจเลือกอาหารอร่อยที่เป็นยา เพราะคุณหมอบอกไว้ว่า ‘เราเลือกได้’

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร