จากสาววารสารศาสตร์ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนต่อด้านออกแบบลายผ้า สองสาขาวิชาการที่อาจดูเหมือนไม่ใกล้เคียงกันเลย แต่สุดท้ายเมื่อเราค้นหาความชอบและความถนัดที่แท้จริงของตัวเองได้ ทุกอย่างก็เป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรใกล้หรือไกลจากกัน

การเดินทางไกลบ้านเพื่อกลับมาหาสิ่งที่ใกล้ตัวของ นลินา ตั้งกนกวิทยา (หวอ) และ Mon Studio
“หวอจบการศึกษาจากคณะวารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ และไปต่อปริญญาตรีอีกใบด้านการออกแบบลายผ้า วิชาเอกการพิมพ์ผ้าที่ Central St. Martins ลอนดอน ประเทศอังกฤษค่ะ จริง ๆ แล้วตอนที่เรียนวารสาร ฯ อยู่ก็มีงานพิมพ์ผ้าทำเสื้อยืดขายกับเพื่อน นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจเรื่องเสื้อผ้า พอหลังจากเรียนจบก็พยายามหาคอร์สเรียนต่อพอมาเจอที่นี่และเห็นว่าน่าสนใจดี เลยตัดสินใจเลือกค่ะ ไม่ลังเลกับการเปลี่ยนสายการเรียนแต่เพราะเห็นว่าวิชานี้น่าสนใจดีอยากเรียนมาก ก็ตั้งใจไปที่โน่นเลยค่ะ

“จากความตั้งใจแรกคืออยากเรียนสาขาออกแบบเสื้อผ้า​โดยตรง แต่พอได้ทำแฟ้มสะสมผลงานจริง ๆ จะเห็นชัดเลยว่าเราไม่ได้มองงานของเราเป็นสามมิติเลย งานส่วนใหญ่จะเป็นสองมิติ เป็นแนวกราฟิก ถ้าคนที่เหมาะกับการเรียนออกแบบเสื้อผ้าผลงานก็จะออกมาเป็นสามมิติ มีแพทเทิร์น มีโครงสร้าง แต่เพราะเราได้รับอิสระจากโจทย์ที่ทางอาจารย์มอบให้ แล้วเราออกไปหาแรงบันดาลใจกลับมาทำงาน เนื้องานนั้น ๆ ก็ออกมาแบบเป็นอิสระมาก ๆ เช่นกัน เลยได้เห็นชัดเจนว่าโดยธรรมชาติของงานเราเป็นสองมิติ อาจารย์ที่สถาบันเรียนปรับพื้นฐานก่อนเข้าเรียนเลยแนะนำว่าถ้าไปเรียนออกแบบเสื้อผ้าอาจจะไม่เหมาะ แต่ไปเรียนด้านออกแบบลายผ้าน่าจะดีกว่า”

จากลอนดอนถึงสระบุรี กลับบ้านเพื่อสานต่อ
เมื่อมีเป้าหมายที่แน่ชัด วิธีการจะเกิดขึ้นตามมาเองโดยอัตโนมัติ และเพราะเป็นความชอบ ความรัก และความถนัด สตูดิโอเล็ก ๆ ที่เริ่มต้นจากอะพาร์ตเมนต์แคบ ๆ ในลอนดอน ก็ขยับขยายมาลงหลักที่จังหวัดสระบุรี

“ตอนเรียนที่อังกฤษ เราจะได้ความรู้เรื่องวัสดุแทบจะทุกชนิดในโลก ไม่จำกัดอยู่แค่ผ้า แต่เราได้เรียนเรื่องพื้นผิวของไม้ คอนกรีต เหล็ก และอื่น ๆ อีกมากมาย และวิธีการเรียนคือเราจะเริ่มจากผ้าดิบสีขาวเปล่า ๆ 1 ผืน ถ้าเราอยากได้ลายเราก็ต้องออกแบบเอง ถ้าอยากได้สีเราก็ต้องย้อมเอง แต่ในตอนนั้นสีทุกอย่างที่ใช้คือสีเคมี เป็นแบบอุตสาหกรรม ต้องผ่านความร้อน และระบบที่ใช้คือต้องอาศัยอุปกรณ์เยอะมาก หลายขั้นตอนมาก ๆ

ระหว่างที่เรียนนั้นก็อยากหารายได้พิเศษ​ หวอเริ่มจากการรับเสื้อยืดจากเมืองไทยไปขายในตลาด แต่พี่เม (เมธา เดชะ – สามี) มีความคิดว่าอยากจะทำเสื้อของตัวเองขายมากกว่า จึงเริ่มซื้ออุปกรณ์สกรีนเสื้อ ซื้อสีเคมีและมาสกรีนกันเองในห้องนอน ล้างบล็อกล้างสีกันในห้องน้ำ แต่เพราะพื้นที่จำกัดมาก ๆ ทุกอย่างมันก็เลยค่อนข้างลำบาก ประกอบกับตอนนั้นน้องชายของพี่เมกลับมาอยู่บ้านที่สระบุรีพอดี และพอจะมีเวลาว่างอยู่ เราเลยมองเห็นช่องทางใหม่ และพี่เมก็ตัดสินใจบินกลับมาเมืองไทยมาเซ็ตระบบเครื่องมือ เครื่องจักรทุกอย่าง ซื้อผ้า ออกแบบและพิมพ์ แล้วส่งไปให้หวอขายที่อังกฤษ ซึ่งก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้อนของ Mon Studio และ Mon (มณ) ก็มาจากพยางค์แรกของชื่อคุณแม่พี่เม

“ตอนแรกก็เป็นงานสกรีนสีเคมีทั่ว ๆ ไป ทำไปได้สักช่วงหนึ่ง ทุกคนที่บ้านสระบุรีก็รู้สึกถึงความน่ากลัวของมัน เพราะมีทั้งไอระเหยและสารเคมีมากมายที่เราต้องอยู่กับสิ่งนั้นทั้งวัน โดยปรกติแล้วคนที่ทำงานอยู่ในโรงงานสกรีนผ้าทั่ว ๆ ไป ถ้าต้องทำงานในที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท ก็จะไม่สบาย เวียนหัว คลื่นไส้อาเจียนได้ง่ายมาก

“ครอบครัวที่สระบุรีก็รู้สึกว่าชักเริ่มไม่ปลอดภัยแล้ว และเราควรหาทางเลือกอื่นๆ ในการทำงานของเราที่มันไม่ทำร้ายตัวเราจะดีกว่า…นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเรื่องการย้อมสีจากธรรมชาติอย่างจริงจัง”

หันหลังให้เคมี หันหน้าเข้าหาธรรมชาติ และมีใบไม้เป็นดีไซเนอร์
หลายครั้งที่การลองผิดลองถูกเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ไม่การันตีผลลัพธ์ แต่กับการต้องเสี่ยงชีวิตและสุขภาพกับสารเคมีในทุก ๆ วัน ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่คาดเดาผลได้ไม่ยาก และแน่นอนว่าเมื่อทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่า การลองผิดลองถูกครั้งนี้จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าอย่างแน่นอน

“เมื่อตัดสินใจเลิกใช้สารเคมีในการพิมพ์ผ้า เราเริ่มต้นเรียนรู้และขอรับรับคำปรึกษาจากหน่วยงานของรัฐ คือกรมหม่อนไหม น้องชายไปเรียนการย้อมครามเพิ่มเติม อาจจะด้วยว่าตอนนั้นการย้อมครามกำลังเป็นที่นิยม เป็นกระแส พอเราทำเสื้อย้อมครามออกมาแล้วได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เราก็รู้สึกสบายใจมากขึ้นไปอีก และคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว

เราไม่ต้องพาตัวเองไปเสี่ยงกับอันตรายจากเคมีอีกแล้ว

“เพราะอย่างแรกเลยคือเราไม่ต้องพาตัวเองไปเสี่ยงกับอันตรายจากเคมีอีกแล้ว ในระหว่างที่พัฒนางานออกแบบคู่กันไปเราก็เริ่มตกหลุมรักเสน่ห์ของครามมากขึ้นเรื่อย ๆ

“และเมื่อเราทำผ้าย้อมครามไปได้สักพักหนึ่งก็เริ่มอยากจะได้สีอื่นเพิ่มขึ้น เราก็กลับไปที่จุดเดิมอีกครั้ง คือการศึกษาหาข้อมูล ค้นคว้าอ่านหนังสือกันเยอะมาก จนมาเจอว่ามะเกลือนี่แหละที่เราจะเลือกใช้ เพราะไม่ต้องใช้ความร้อน เป็นการย้อมเย็นที่สีติดง่าย ติดทนและมีเสน่ห์ เพราะย้อมไปเรื่อย ๆ สีจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เราเลยตื่นเต้นกับการทำงานทุกครั้ง เพราะจะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ที่น่าประหลาดใจได้ตลอดเวลา ครามและมะเกลือก็เลยเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติหลักของเสื้อผ้า Mon Studio เป็นระยะเวลาหนึ่ง

“จนมาช่วงการระบาดของโควิด ทำให้ได้อยู่บ้านกันมากขึ้น และบ้านที่สระบุรีก็แวดล้อมไปด้วยต้นไม้หลายชนิดมาก ๆ ไม่ต้องออกไปหาที่ไหนไกล เลยได้ใช้เวลานี้ทดลองการย้อมสีธรรมชาติแบบอื่น ๆ เพิ่มเติม ศึกษาหาข้อมูลกันอีกครั้ง เลยเป็นที่มาของงานชุดต่อมาคือ eco print ที่ย้อมจากใบไม้ และส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้

“เราได้เจอยูคาลิปตัส เจอเปลือกขนุน ใบมะม่วง ใบหูกวางที่ร่วงอยู่บนพื้นบ้าน ทุกใบเหล่านี้เราเอามาย้อมผ้าได้หมด และมีเสน่ห์มาก ๆ ”

ครามดีได้ดี ส่วนต้นมะเกลือ…จะสูงแค่ไหนก็ปีนถึง
“ในช่วงแรก ๆ เรารับครามมาจากสกลนคร บางทีก็ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เราจึงไม่มีทางรู้เลยว่าครามที่ได้มานั้นดีหรือไม่ดีจนกว่าจะมาก่อหม้อ (ก่อหม้อคือการนำเนื้อครามมาผสมกับน้ำมะขามเปียกและน้ำด่างให้ทำปฏิกิริยากันเพื่อให้ย้อมสีติดผ้า) และธรรมชาติของครามแต่ละฤดูก็ไม่เหมือนกัน บางฤดูเก็บได้เยอะก็ได้สีที่ดี แต่บางทีเก็บได้เยอะแต่ตีไม่ดีสีครามก็ไม่ออก

“ช่วงแรก ๆ นั้นด้วยความที่เรายังไม่รู้จักครามดีเท่าไหร่ หลายครั้งเวลาก่อหม้อเราเสียครามไปเยอะมาก พอเสียแล้วกู้กลับมาไม่ได้ก็ต้องก่อใหม่ กว่าจะรู้เรื่องก็อาศัยเวลานาน แต่เหมือนตอนนั้นเราต้องใช้เยอะ เลยได้เจอครามทุกวัน

“เราต้องอยู่กับครามตลอด ก่อหม้อตลอด เลยเหมือนได้ค่อยๆ ทำความรู้จักกันไป จนเข้าใจกันดีในที่สุด

“ส่วนมะเกลือนั้น ด้วยความที่เขาเป็นต้นไม้ท้องถิ่น เป็นไม้โบราณที่คนจะไม่ค่อยรู้จัก บางทีเห็นว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็ตัดโค่นไป จนตอนนี้จะเริ่มหายากมากขึ้น แหล่งเก็บลูกมะเกลือของเราจะเป็นวัด เพราะในวัดไม่ค่อยตัดต้นไม้และสามารถเข้าไปขออนุญาตปีนเก็บได้เลย ก็จะตระเวนไปรอบ ๆ อำเภอที่อยู่คืออำเภอหมอสีและอำเภอใกล้เคียง บางทีแม่พี่เมธาก็จะโทรหาเพื่อน ๆ และคนรู้จักเพื่อถามว่ามีใครเจอต้นมะเกลือที่ไหนบ้าง แล้วก็ขับรถไปเก็บกัน

“มะเกลือที่ลูกดก ๆ ก็จะต้นใหญ่และสูงมาก ๆ ไม่รู้จะไปจ้างใครมาช่วยเก็บให้ พี่เมก็ต้องเป็นคนปีนขึ้นไปเก็บเอง เขาลงทุนไปเรียนการปีนต้นไม้อย่างจริงจัง เป็นหลักสูตรเฉพาะของรุกขกร (นักวิชาชีพจัดการและดูแลต้นไม้ใหญ่) เพื่อที่จะรู้วิธีการปีนต้นไม้สูงอย่างปลอดภัยเพราะมันอันตรายมาก

“แต่ทำไปทำมาเมื่อความรู้มี เครื่องมือมี ระบบรักษาความปลอดภัยพร้อม กลับพบว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดนั้นไม่ใช่ความสูงแต่เป็นรังมดแดง ซึ่งก็ต้องสู้รบกันตลอดเวลากว่าจะปีนเก็บมะเกลือได้สักต้นหนึ่ง

“ด้วยความที่มะเกลือออกลูกปีละครั้งสองครั้ง ในขณะที่เราต้องใช้ย้อมผ้าทั้งปี พอเราเก็บได้มาปริมาณมาก ๆ ก็ต้องเอามาถนอมไว้ด้วยการดองด้วยน้ำกับเกลือในโอ่ง แม้จะมีความแตกต่างของสีระหว่างมะเกลือสดกับมะเกลือดองอยู่บ้างนิดหน่อยแต่ไม่ถือว่าเป็นข้อด้อย พื้นที่ที่บ้านสระบุรีมีสวน มีต้นไม้ มีพื้นที่ที่เราคิดว่าในอนาคตอาจจะสร้างเป็นพื้นที่ที่ทำงานได้ทุกที่ เลยหาพันธุ์ไม้ที่เราชอบมาลงปลูกไว้

“เพราะตั้งใจไว้ว่าถ้ามีต้นไม้เป็นของเราเองก็ไม่ต้องไปตระเวนหาที่อื่น เราปลูกต้นไม้หลายชนิด ทั้งให้สีและให้ผล เช่นยูคาลิปตัส มะเกลือ ตะโก

“ตะโก ซึ่งเป็นผลไม้ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักแล้ว คุณแม่เคยเล่าว่าตอนเด็ก ๆ ยังเคยไปเก็บลูกตะโกมากิน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครทำกันแล้ว ตะโกจะให้สีที่สวยมากเป็นโทนสีพีช สีชมพูอ่อน ๆ อมส้ม คนสมัยก่อนจะเอายางตะโกมาย้อมแห เพราะมันเหนียวและช่วยให้แน่น”

ธรรมชาตินั้นเป็นมิตร อุ่นใจได้ แต่…คาดเดาไม่ได้
การย้อมผ้าด้วยเคมีย่อมมีสูตรชั่งตวงวัดที่ตายตัว มีกระบวนการที่อาศัยเครื่องมือเครื่องจักรที่ทำงานแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ วนไปมา ควบคุมได้ จึงได้ผลิตภัณฑ์ที่แทบไม่มีอะไรผิดแผกไปจากกัน และไม่สนุกเท่างานทำมือ และไม่น่าลุ้นเท่าผลลัพธ์ที่จะได้จากธรรมชาติ

“ตอนที่เพิ่งย้อมครามแรก ๆ ด้วยความที่กึ่งทำกึ่งทดลอง และยังไม่เข้าใจครามอย่างลึกซึ้ง เลยยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วความคลาดเคลื่อนของสีจากครามมีเยอะมาก เหมือนเราอยากให้เข้มก็ไม่เข้ม อยากให้อ่อนก็ไม่อ่อนให้

“แต่บ่อยครั้งที่ผลลัพธ์ไม่ได้ออกมาอย่างที่เราคิดแต่กลายเป็นว่าเรากลับชอบมันมาก เพราะการที่เราควบคุมอะไรไม่ได้ แต่ผลงานกลับออกมาอย่างเหนือความคาดหมาย และอาจจะดีกว่าที่ตอนเราตั้งใจทำเสียอีก

“มีอยู่วันหนึ่ง น้องชายตัดกิ่งต้นหว้าเพราะมันเริ่มโตมากเลยต้องตัดแต่งกิ่งออกบ้าง ก็เห็นว่าลูกหว้ามีสีม่วงสดดีจัง เราเลยไปเก็บลูกหว้าที่ร่วง ๆ อยู่ตามพื้นมาลองย้อมแบบ eco print และปรากฏว่าให้สีที่ติดสวยดีมาก หลังจากนั้นก็เริ่มสนุกกับการทดลองหาผลไม้ใบไม้มาทำงานมากขึ้นไปอีก

“ในหัวจะคิดตลอดเลยว่าผลไม้ชนิดนั้นชนิดนั้นชนิดนี้ที่มีรสชาติแบบนี้น่าจะเอามาย้อมผ้าได้ เพราะมันมีสารชนิดนี้ หรือใบและดอกจากต้นนั้นต้นนี้น่าจะให้สีแปลกๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เช่นดอกบัวและใบขี้เหล็ก และเราก็ได้นำมาใช้จริงๆ ซึ่งทุกอย่างก็อยู่รอบๆ บ้านของเราหมดเลย”

เพราะเราใช้เนื้อผ้าที่เป็นเส้นใยจากธรรมชาติ จึงต้องใช้กับสีที่เป็นสีธรรมชาติเท่านั้น

“เพราะเราใช้เนื้อผ้าที่เป็นเส้นใยจากธรรมชาติ จึงต้องใช้กับสีที่เป็นสีธรรมชาติเท่านั้น ต้องลงรายละเอียดถึงเส้นด้ายแต่ละเส้น ซึ่งก็มีข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือนี่คือธรรมชาติ 100% แต่เพราะเป็นธรรมชาติก็จะมีความเปราะบาง ผ้าที่ทอจากฝ้ายก็จะไม่ทนทานเท่าผ้าที่ทอจากโพลีเอสเตอร์​ ต้องได้รับการดูแลอย่างทะนุถนอมเป็นพิเศษ และมีความเข้าใจถึงธรรมชาติของผ้าย้อมสีธรรมชาติที่จะค่อย ๆ ซีดจางไปตามเวลา

“นอกจากจะใช้เนื้อผ้าและสีย้อมจากธรรมชาติทั้งหมดแล้ว น้ำที่เราใช้และปล่อยทิ้งไปก็ไม่เป็นพิษ เพราะไม่มีสารเคมี ส่วนประกอบทุกอย่างในทุกๆ ขั้นตอนการทำเสื้อผ้า เราพยายามใช้ให้คุ้มค่าที่สุด เศษผ้าที่เหลือจากการตัดเสื้อ กางเกง เราก็เอามาเย็บเป็นถุงผ้าใส่สินค้าของเราให้กับลูกค้า”

จากใยฝ้ายถึงไม้แขวน: ตัด มัด ย้อม กระบวนการสร้างสุขของคนคราฟต์
เมื่อตั้งคำถามกับคนทำงานคราฟต์​หรือนักทำมือ ถึงเหตุผลที่เลือกเดินบนถนนเส้นนี้ คำตอบที่ได้รับมักไม่หนีไปจาก “ทำเพราะรัก” “ทำแล้วมีความสุข” “ทำแล้วสนุก” “ทำเพราะได้ทำ” อาจฟังดูเหมือนง่าย แต่ถ้าได้ลงมือทำก็จะพบว่ามันเป็นไปได้จริง ๆ

“ไม่ได้มองอนาคตของ Mon Studio ไกลมากไปกว่าการที่ยังได้ทำไปเรื่อย ๆ ทำไปอีกนาน ๆ เพราะวัตถุดิบทุกอย่างนั้นอยู่ใกล้ตัวของเราหมดเลย และเรายังมีความสนุกอยู่มาก แต่สิ่งที่ประทับใจมาก ๆ คือด้วยความที่เรามีลูกคือน้องมานะที่อยู่กับเราตลอดเวลา ตอนที่เราทำงานก็ไม่คิดว่าลูกจะเข้าใจว่า นี่คือการทำงาน เอาไปขายได้เงินแล้วก็เอาเงินมาใช้

“มีครั้งหนึ่งที่อยู่ ๆ มานะก็วิ่งไปหยิบเศษผ้าที่เราไม่ใช้แล้วมาถามว่า ‘หม่าม๊า มานะจะย้อมผ้าอันนี้ได้ไหม มานะจะเอาไปขาย’ แล้วเขาก็ตั้งใจย้อมมาก ย้อมจริงจังเลย เสร็จแล้วก็เอาไปตาก คือมันเป็นแค่เศษผ้า เอาไปขายคงไม่ได้แต่เราก็เก็บมันไว้ เพราะเรารู้สึกว่าเป็นของน่ารัก ๆ ชิ้นหนึ่ง

“พอเราได้ย้อมสีธรรมชาติ คือย้อมร้อน ต้องจุดไฟ ลูกก็จะมาเป็นผู้ช่วยช่วยจุดไฟ มาช่วยดูเตาให้ตลอด อยู่ใกล้ ๆ กับเรา เขารู้ว่าไฟมันอันตราย เขาก็จะระวังของเขาเอง และเขาก็ได้เข้าใจเรื่องการทำงานของทุก ๆ คนในบ้านโดยที่เราไม่ต้องสอนเลย

“ส่วนความยากง่ายของการทำงานคราฟต์ คือต้องตอบโจทย์ลูกค้า เราต้องทำเสื้อผ้า ทำสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของเขา เช่น ถ้าเราต้องการทำเสื้อผ้าสำหรับลูกค้าวัยรุ่น เราต้องออกแบบทรงของเสื้อแบบไหนที่เขาเห็นแล้วอยากมาจับมาสัมผัส ส่วนเรื่องงานคราฟต์​ งานทำมือ ถ้าคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องนี้มาก่อน เขามาดูเสื้อผ้าที่เป็นคราฟต์มาก ๆ แต่ไม่ใช่สไตล์ที่เขาสนใจ เขาก็อาจจะไม่ชอบ แต่ถ้าเขาได้มาดูเสื้อผ้าแบบที่เขาสนใจแต่เป็นสไตล์คราฟต์ เขาก็จะสนใจและยอมรับได้

“เลือกที่จะทำงานคราฟต์ เพราะเรามีความสุขกับการทำมันมากกว่า คือเราใช้เครื่องจักร เครื่องมือหรือโรงงานก็ได้ มันก็ง่ายดี แต่สิ่งที่เราทำอยู่ เรารู้สึกว่ามันสนุกมาก สนุกจนบางครั้งไม่อยากขายด้วยซ้ำ”

ถ้าถามว่าอะไรคือจุดที่ประสบความสำเร็จที่สุด หรือเป้าหมายที่วางไว้ จริง ๆ แล้วไม่มีอะไรมากไปกว่าได้ทำงานสนุกๆ อยู่กับธรรมชาติ กับครอบครัว ได้เดินเก็บใบไม้ในสวน ได้ความสบายใจ ได้เห็นลูกเติบโตกับดินกับต้นไม้ วิ่งเล่นกับไก่ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด ไม่ต้องไปหาจากที่ไหน ทุกองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิตมีอยู่ที่นี่หมดครบแล้ว

เพราะคุณค่าของงานทำมือ อยู่ที่ร่องรอยซึ่งเกิดจากมือทำ และความงามของธรรมชาติ คือริ้วลายที่ไม่อาจทำซ้ำหรือเลียนแบบ ถ้าโอกาสพอมี มาลองมัดย้อมใจด้วยใบไม้ลูกไม้กันหน่อยก็คงจะดี

ภาพ: เมธา เดชะ