หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อเขาในฐานะที่ปรึกษาที่อายุน้อยที่สุดของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือการเป็นอดีตสมาชิกกลุ่ม New Dem และเมื่อรู้จักเขาอย่างเข้าใกล้กว่านั้น พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ คือคนหนุ่มไฟแรงที่เป็นสมองคิดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในคณะทำงานผู้ว่าฯ กทม. กับอีกบทบาทหนึ่งเขาคือนักการเมืองเลือดใหม่ ที่อยากผลักดันให้เรื่อง Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้กลายเป็นวาระสำคัญของประเทศ

ความสนใจเรื่องนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของเขา เริ่มต้นหลังจากเรียนจบด้านรัฐศาสตร์ จากประเทศอังกฤษ และได้มีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วยสมาชิกสภาฯ สหรัฐอเมริกาท่านหนึ่ง ซึ่งทำงานขับเคลื่อนและผลักดันเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามา การทำงานเป็นผู้ช่วยส.ส.ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นช่วงเวลาที่เขาได้เรียนรู้งานในสนามการเมือง และการทำงานประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ก่อนจะเข้าศึกษาต่อปริญญาโทด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก

นอกจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ว่าฯ กทม. แล้ว Greenery. ชวนมาทำความรู้จักพรพรหม ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานการเมืองและปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังทำงานขับเคลื่อนการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วยนโยบายสาธารณะให้กับกรุงเทพฯ ในวันนี้

การผลักดันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมแบบภาคประชาชนกับเชิงนโยบาย มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย นโยบายจะไม่เกิดขึ้นถ้าประชาชนไม่ต้องการ ยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา พอคนรุ่นใหม่เริ่มมีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาคการเมืองตอบสนองด้วยการเสนอนโยบาย เราจึงได้เห็นโครงการต่างๆ เกิดขึ้นจากภาคประชาชน และนโยบายที่ออกมาตอบรับ พอกลับมาอยู่ที่ไทย ผมก็มีความหวังแบบนั้น เพราะเห็นว่ามีคนทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะมาก ทั้ง SE (Social Enterprise-ธุรกิจเพื่อสังคม) ทั้ง NGOs เดิม ต่างคนต่างมีเครือข่ายและมีแนวทางของตัวเอง

แต่เรื่องนี้ตบมือข้างเดียวก็ไม่ดัง ภาครัฐจะต้องตอบสนองด้วย ซึ่งข้อดีของที่อเมริกาในเรื่องนี้คือ ภาครัฐเขาเป็น regulator เขามีหน่วยงานชื่อว่า EPA (United States Environmental Protection Agency) ซึ่งเป็นกึ่งกระทรวงสิ่งแวดล้อมแต่มีอำนาจมากกว่า ดูแลในเรื่องต่างๆ ทั้งโรงงาน มลพิษ ขยะ อากาศ ทั้งหมดที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และมีอำนาจต่อกลุ่มเอกชนให้ทำตามข้อกำหนดและนโยบายด้วย

แต่ในบ้านเรา โครงสร้างการปกครองมีผลต่อการขับเคลื่อนนโยบาย คุณจะทำอย่างไรให้นโยบายมันขยับไปได้
เมื่อมีโอกาสได้มาทำงานกับท่านผู้ว่าฯ ท่านผู้ว่าฯ บอกเสมอว่า การทำงาน การตั้งคณะทำงาน ต้องมีสี่เกลียว คือ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคเอกชน ในการประชุมของคณะทำงานทุกครั้ง จะต้องมีตัวแทนจากทั้งสี่ภาคเพื่อให้ทำงานได้ครบทุกด้าน งานจะต้องขับเคลื่อนโดยไม่ลืมมิติใดมิติหนึ่ง และเกิดการถกเถียงกันด้วย ซึ่งตอนนี้คณะทำงานในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ผมจัดตั้งขึ้น ทั้งในเรื่องต้นไม้ พื้นที่สีเขียว ขยะ มีสมาชิกครบจากทุกภาคส่วน รวมไปถึงเรื่องน้ำเสียที่กำลังจะจัดตั้ง ก็จะมีครบเช่นกัน

ในฐานะคนรุ่นใหม่ คุณคิดว่าอะไรคือความท้าทายที่สุดของการผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมในเชิงนโยบาย
ผมมีความหวังนะ เพราะคนรุ่นใหม่เป็น target group ที่สำคัญ และเขาเริ่มสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เรื่องสิ่งแวดล้อมเริ่มเป็น social norm จากเมื่อก่อนถ้าคุณเป็นคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณกลายเป็นแกะดำ แต่ตอนนี้ถ้าใครไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อนๆ จะมองว่าทำไมเป็นคนแบบนี้ เราเห็นเทรนด์คนพกแก้ว พกถุงผ้ามากขึ้น

ผมชอบที่คนรุ่นใหม่อิงเรื่องสิ่งแวดล้อมกับไลฟ์สไตล์ไปแบบคู่ขนานกัน สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือเรื่องที่ยุ่งยากอีกต่อไป มันเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ ซึ่งอันนี้คือตัวสำคัญ เพราะเราจะบังคับให้ทุกคนมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมทุกคนมันเป็นไปไม่ได้ ตอนนี้ผมให้สัก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่สนใจ อีก 90 เปอร์เซ็นต์ไม่สนใจ แต่มันอาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนอีก 90 เปอร์เซ็นต์หันมาทำดีเพื่อสิ่งแวดล้อม เราอาจจะไปกระตุ้นเรื่องการศึกษา ให้ความรู้

ในเรื่องของไลฟ์สไตล์ บางทีคุณอาจไม่ต้องสนใจขนาดนั้นก็ได้ แต่มันมีอะไรที่เข้ามาทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไปโดยปริยาย ยกตัวอย่างเรื่อง Tesla เขาเป็นตัวอย่างบริษัทที่ทำดีเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาทำให้คนที่ไม่ได้แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมอยากขับ เพราะรู้สึกว่ามันเท่ จากเมื่อก่อนคนมองว่ารถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวีเหมือนรถกอล์ฟ จะขับกันทำไม ไม่เวิร์กหรอก ไม่เท่ แต่ตอนนี้พอมี Tesla และบริษัทอื่นๆ ทำ มันเท่ ทำให้เราอยากทำดีเพื่อสิ่งแวดล้อมเพราะมันเท่

ผมคิดว่า social norm เป็นโจทย์ที่สำคัญ ซึ่งตอนนี้คนรุ่นใหม่มีความสนใจในเรื่องนี้มากขึ้นแล้ว เราจะเห็นว่าร้านกาแฟ คาเฟ่ เขาสามารถทำขวด ทำแก้ว ดีไซน์เท่ๆ ออกมาขายในหลักร้อยหลักพันได้ มันคือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป

ในด้านดีคือความสนใจและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว แล้วในมุมของคนทำงานด้านนโยบาย ยังมีข้อจำกัดอื่นๆ อีกไหม
ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดคือความขัดแย้งระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม อันนี้เห็นชัด ถ้าพูดภาพใหญ่ในระดับประเทศ เวลาที่เศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมมักจะไม่ดี เศรษฐกิจดี โรงงานมาตั้งเยอะ มีมาจากทั่วโลก มีการจ้างงาน แต่ปล่อยมลพิษเยอะ ขยะเยอะ อากาศไม่ดี

กลับกัน ในช่วงปี 2020 ที่มีโควิด-19 มีโรงงานต้องปิด อากาศดีขึ้น เราเริ่มเห็นความหลากหลายทางชีวภาพฟื้นกลับมา เต่าทะเลกลับมา เลยเป็นคำถามว่า ทำไมล่ะ ทำไมอันหนึ่งดี แล้วอีกอันหนึ่งต้องแย่ โจทย์หลักเลยกลับมาที่ว่า จะทำยังไงให้ทั้งสองเรื่อง คือเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สามารถเติบโตควบคู่กันไปได้ อย่างที่เขาเรียกว่าสองเด้ง เพราะที่ผ่านมามันเป็นความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกัน เกิดหลักคิดเรื่อง BCG คือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่านี่คือโจทย์สำคัญของคนทำงาน

กับข้อถกเถียงที่ว่า ไลฟ์สไตล์ที่รักโลกมากขึ้น ก็เพิ่มค่าใช้จ่ายในชีวิตมากขึ้น เรามีวิธีการสื่อสารหรือแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างไร
กลับมาที่เรื่องเดิมเลยครับ อยากทำดีแต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น อยากขับรถยนต์ไฟฟ้าแต่รถยนต์ไฟฟ้ายังแพงอยู่ ผมคิดว่าอันนี้คือกลไกของภาคเอกชนนะ ถ้าผู้บริโภคมีความต้องการ ภาคธุรกิจเขาจะแข่งกันเอง ผมเชื่อในกลไกตลาดเสรี พอมีความต้องการแล้ว บริษัทจะต้องเคลื่อน กลับไปที่ตัวอย่างของ Tesla ตอนที่เข้ามาเจ้าแรก ราคารถยนต์ไฟฟ้ายังสูงอยู่ แต่เมื่อรู้แล้วว่าคนมีความต้องการ Tesla ออกรถรุ่นใหม่ที่ราคาถูกลง และในทางเดียวกันบริษัทอื่นๆ ก็เห็นโอกาสตรงนี้ เช่น ประเทศจีนมีสตาร์ทอัพอีวีออกมาเต็มไปหมด เมื่อเขาแข่งกันเอง ราคาก็จะลดลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับทุกอย่าง ตอนนี้ก็มีรถยนต์ไฟฟ้าหลายยี่ห้อเข้ามาทำตลาดไทย ราคาก็จะดิ่งลง และทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

นอกจากเรื่องกลไกตลาดเสรีแล้ว เรื่องอื่นๆ อย่างโครงสร้างพื้นฐานของการอุปโภคบริโภค เช่น มีคนตั้งคำถามว่า พกขวดน้ำออกจากบ้าน แต่ไม่มีที่เติมน้ำ เรามีวิธีสื่อสารในเรื่องนี้กลับไปอย่างไร
ในฐานะคนที่ดูแลเรื่องนโยบาย ก็ต้องทำให้ครอบคลุม ถ้าตอนนี้ยังไม่มี ก็ต้องทำให้มี เรื่องที่กดน้ำ ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่ผมกำลังตั้งทีมทำงานเรื่องนี้อยู่ ซึ่งมันอยู่ในนโยบายของท่านผู้ว่าฯ อยู่แล้ว ว่าจะเพิ่มที่ดื่มน้ำสะอาดสำหรับประชาชน แต่เราก็คิดว่าควรจะมองในมิติสิ่งแวดล้อมให้เยอะๆ ด้วย โดยมองว่าการมีตู้กดน้ำมันช่วยลดการซื้อน้ำขวดพลาสติก เรื่องนี้ลอนดอนเป็นตัวอย่างที่ดี เขามีโครงการที่ทำแผนที่แสดงตำแหน่งตู้กดน้ำ และร้านอาหารที่ให้ประชาชนเติมน้ำได้ฟรี ซึ่งถ้ากรุงเทพฯ มีอย่างนี้ได้จะเป็นเรื่องที่ดี ตอนนี้อยู่ระหว่างการวางแผนครับ

ในขั้นตอนการออกแบบนโยบายพัฒนาเมืองเพื่อประชาชน คุณและทีมงานมีวิธีในการหาประเด็นที่ประชาชนสนใจเพื่อมาทำงานอย่างไรบ้าง
กทม.มีงานประจำที่ต้องทำอยู่แล้ว เช่น เรื่องขยะ กทม.เกี่ยวข้องกับทุกมิติของการจัดการขยะ ตั้งแต่โรงเรียน บ้านเรือน ชุมชน รถเก็บขยะ การกำจัดที่โรงกำจัด หรือเรื่องอากาศสะอาด ปัญหา PM2.5 เรื่องพื้นที่สีเขียว เหล่านี้เราไม่ต้องรอความคิดเห็นของประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องทำ

บางอย่างเราก็พยายามให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ผมคุยกับโฆษก กทม. ให้ใช้เพจเฟซบุ๊กของ กทม.ทำโพลสำรวจ เช่น แคมเปญขยะ เรามีโจทย์ตั้งแต่แรกที่อยากแยกขยะแค่ 2 ประเภท เอาแบบง่ายๆ ให้ประชาชนเข้าใจ เข้าถึง ซึ่งตอนแรกเราตั้งโจทย์ว่าเป็น ‘เปียกกับแห้ง’ ผมไปตั้งโจทย์ถามความเห็น ก็มีคนเข้ามาให้ความเห็น บ้างว่าเปียกแห้งดีนะ บางคนบอกยังงงๆ อยู่ อย่างโดนัทที่ซื้อมาตอนนี้ กับโดนัทที่ซื้อมาอาทิตย์หนึ่งแล้วแข็งแล้ว อันไหนเปียก อันไหนแห้ง ขวดน้ำที่ยังมีน้ำอยู่ข้างในเป็นเปียกหรือแห้ง พวกนี้ยังเป็นข้อสงสัย

ฝั่งเรามีโจทย์ว่าอยากแยกขยะแค่ 2 ประเภทนี้ มีคนเสนอมาหลายคำ เราก็เอาไปทำโพล มีคนประมาณพันกว่าคนให้คำตอบมา และได้ข้อสรุปว่า คำตอบมากกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์เขาอยากได้คำว่า ‘เศษอาหารกับขยะอื่นๆ’ ทำให้ชัดเจนขึ้นว่า ขยะเปียกคือขยะเศษอาหาร จึงเป็นที่มาของนโยบายที่เราเน้นไปที่การแยกขยะเศษอาหาร นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เรานำความคิดเห็นจากประชาชนมาสร้างนโยบายเชิงรุก สร้างแคมเปญที่เขาได้มีส่วนร่วม

อีกตัวอย่างคือ Dog Park เราเริ่มทำที่สวนเบญจกิติ แล้วมาคิดต่อว่าจะขยายไปสวนไหน ผมมีสวนที่เล็งไว้ว่าน่าจะตอบโจทย์ แล้วเราก็ทำโพล ให้ประชาชนเลือกว่าสวนไหนควรจะเป็น Dog Park สวนต่อไป ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเปิดรับความคิดเห็นอยู่

เมืองในฝันของคุณมีหน้าตาประมาณไหน
มีเยอะมากเลยครับ ถ้าพูดในมิติสิ่งแวดล้อม ผมชอบเมืองที่มีการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ง่าย ส่วนตัวผมไม่ชอบสวนใหญ่ๆ แต่ชอบเน้นเรื่องปริมาณ ซึ่งอันนี้ตอบโจทย์เรื่องสวน 15 นาทีอยู่แล้ว ผมอยากให้เดินออกไปไม่ไกลก็เข้าถึงสวนได้ และสวนตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน เป็นที่ที่อยากนัดเพื่อนไปเจอกัน ไม่ใช่ทุกคนต้องไปห้างสรรพสินค้า ผมว่าเป็นความสำคัญเรื่องสุขภาพด้วย ถ้าคุณเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ ไม่ว่าคุณจะมีปัญหาเรื่องความเครียด เรื่องการหายใจ สวนช่วยตอบโจทย์ได้จริงๆ

เรื่องที่สองคือ เมืองที่ไม่ต้องพึ่งรถยนต์ ผมเป็นคนที่ส่งเสริมเรื่องการใช้รถไฟฟ้า แต่ผมคิดว่ามันก็ไม่ได้ตอบโจทย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ การตอบโจทย์มากที่สุดคือ คุณสามารถเดินทางไปทั่วเมืองได้โดยไม่ต้องใช้รถส่วนตัว อันนี้ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีก็ได้ อย่างเช่น เรามีระบบเส้นเลือดใหญ่อย่างรถไฟฟ้าอยู่แล้ว เราจะทำยังไงให้ออกจากบ้านไปถึงรถไฟฟ้าได้ เราก็อาจจะมาทำทางเดินจากชุมชนไปรถไฟฟ้าสถานีที่ใกล้ที่สุด ทำทางเดินให้น่าเดิน ปลูกต้นไม้ มีเลนจักรยาน หรือตรงไหนที่ กทม.มีอำนาจในการเติม เราทำรถเมล์ไฟฟ้าเสริมเข้าไป ทำยังไงให้คุณสามารถไปกินข้าว เจอเพื่อน กลับบ้าน โดยที่ไม่ต้องใช้รถตัวเอง แล้วทุกอย่างสะดวกสบาย หรือปั่นจักรยานไปที่สถานีบีทีเอส แล้วมีที่ล็อกจักรยานที่แข็งแรง และมั่นใจว่าจะไม่ถูกขโมย

เรื่องที่สามคือเป็นเมืองที่มีอากาศสะอาด เรื่องอากาศสะอาดเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มเปราะบาง คนสูงอายุ เด็ก ซึ่งเป็นคนที่สร้างมลพิษน้อย เมื่อเทียบสัดส่วนของคนสร้างมลพิษที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ หรือกลุ่มรถบรรทุก เมื่อคนสร้างกับคนที่ได้รับผลกระทบเป็นคนละกลุ่มกัน ความเหลื่อมล้ำเลยเป็นอีกโจทย์สำคัญที่เราต้องหาทางแก้ ต้องหาทางให้คนที่สร้างมลพิษรับผิดชอบ และให้คนที่ถูกผลกระทบได้รับผลกระทบที่น้อยลง

สิ่งแวดล้อมกับความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่มาพร้อมกัน ไปจนถึง Climate Justice (ความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศ) ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ คุณเคยรู้สึกท้อบ้างไหมในการทำงานประเด็นเหล่านี้
พยายามไม่ท้อนะ เราต้องหาทางออกมากกว่า เรามองว่าถ้าเราไม่ทำอะไร ปัญหานี้จะยิ่งหนักขึ้น ความเหลื่อมล้ำเรื่องฝุ่น กลายเป็นประเด็นความเหลื่อมล้ำที่ใหญ่ขึ้น เรื่องน้ำท่วม คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนที่มีรายได้น้อย เขาโดนครั้งเดียว เขาต้องสร้างบ้านใหม่ เป็นเรื่องของการมี resilience (ความยืดหยุ่น ความสามารถในปรับตัวและการรับมือกับวิกฤติ) ถ้าเป็นเรื่อง climate เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราก็ต้องทำตั้งแต่ต้นทาง อย่างที่เขาเรียกว่า climate adaptation (การปรับตัวต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)

อีกประเด็นคือ มีคนอยากเข้ามาทำเรื่องการลดมลพิษเยอะนะ อยากมาติดโซลาร์เซลล์ อยากมาส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า แต่ในเรื่องของการปรับตัวกลายเป็นว่าท้องถิ่นต้องทำหมดเลย แล้วท้องถิ่นก็งบน้อย ซึ่งถ้าเอกชนหันมาทำตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็น CSR หรืออะไรก็ตาม จะเป็นประโยชน์ เพราะคือสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ และจะช่วยคนที่มีกำลังน้อยได้มาก

หรืออย่างเรื่องของขยะ ตอนนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ของขยะ กทม. ถูกเอาไปฝังกลบ และฝังกลบในที่ที่ไม่ใช่ของกทม. เช่น เอาไปฝังกลบที่อำเภอพนมสารคาม ฉะเชิงเทรา ที่อำเภอกำแพงแสน นครปฐม แปลว่าคนในพื้นที่นั้นต้องมารับขยะของคนกรุงเทพฯ ที่ก็ต้องยอมรับว่าใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย แล้วผลกระทบจากมลพิษ สารพิษ น้ำเสีย ก๊าซมีเทน ที่ออกมาจากกองขยะ กลับไปลงที่จังหวัดอื่น ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของเขา นี่ก็เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อมและความเหลื่อมล้ำมันเกี่ยวข้องกันหมดเลย ผมเชื่อว่าเรื่องการแก้ปัญหาขยะ ต้องแก้ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดการสร้างขยะ ถ้าเราลดได้ตั้งแต่ต้นทาง เราก็ไม่ต้องเอาไปฝังกลบ

ต้นทาง ในที่นี้หมายถึงใครบ้าง
ประชาชน องค์กร หน่วยงาน โรงเรียน สถานที่ ทุกคนคือต้นทาง

ในมุมที่ทุกคนเป็นผู้บริโภค เราทุกคนจึงเป็นต้นทางในการสร้างขยะ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เช่นว่า น้ำประปายังดื่มไม่ได้ คนส่วนใหญ่จึงยังจำเป็นต้องซื้อน้ำขวด การเป็นผู้บริโภคจึงต้องกลายเป็นผู้สร้างขยะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วถ้าจะชี้กลับไปให้ผู้ผลิตมีบทบาทต่อเรื่องนี้ คุณมีความคิดเห็นอย่างไร
ผมสนับสนุนเรื่อง EPR (Extended Producer Responsibility) คอนเซ็ปต์คร่าวๆ คือ ถ้าคุณเป็นผู้ผลิต คุณต้องหาทางเอาผลิตภัณฑ์ของคุณกลับมารีไซเคิลให้ได้ ถ้าหากทำแบบนี้ได้มันจะตอบโจทย์ ให้เอกชนพยายามทำหรือถูกบังคับให้เอาคืน ตอนนี้บ้านเรายังไม่มีกฎหมายบังคับเหมือนเมืองนอก แต่เริ่มมีคนทำด้วยความสมัครใจแล้ว ผมคิดว่าเป็นภาพใหญ่ของประเทศที่สำคัญ และประเทศที่เริ่มทำแล้วก็เห็นผลจริงๆ โดยเฉพาะของที่เริ่มทำได้เลย เช่น E-waste คุณเอากลับมาได้ปุ๊บ คุณสามารถเอามารีไซเคิลได้เยอะเลย ตอนนี้ยังไม่มีแรงจูงใจให้บริษัทต้องเอาคืนมา แต่ถ้ามีกฎหมายเมื่อไร ทุกคนต้องทำ

คุณมีความคิดเห็นอย่างไรต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการจัดการขยะ
มันเป็นไปตามทฤษฎีนะ มีเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกทม. ซึ่งท่านผู้ว่าฯ มักจะพูดถึงบ่อยๆ คือ ยุทธศาสตร์มันไปเน้นที่ต้องลดฝังกลบให้ได้มากที่สุด ซึ่งกำหนดเป็นเชิงตัวเลขว่าต้องลดเท่านี้ให้ได้ภายในกี่ปี กทม.ก็ตั้งเป้าว่าจะลดให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนรู้ว่าฝังกลบไม่ดี ถ้าลดได้ก็เยี่ยมเลย แต่พอเราตั้งเป้าที่จะลดตัวเลขการฝังกลบให้ได้ตามเป้า เราไม่ได้ไปดูเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องค่าใช้จ่าย

ตัวเลขกลมๆ ตอนนี้ในการฝังกลบต้องใช้เงินตันละ 600 บาท แต่ถ้าเราจะเปลี่ยนไปจัดการแบบอื่น อย่างเอาไปเผาตอนนี้ค่าใช้จ่ายตันละ 900 บาท ซึ่งถ้าเรายังสร้างขยะกันเท่าเดิม แต่จะลดการฝังกลบให้ได้ตามเป้าเลยการเอาไปเผาแทน ตัวเลขการฝังกลบลดลง เอาไปพูดอ้างอิงเป็นความสำเร็จได้ แต่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตันละ 300 บาท คือค่าใช้จ่ายที่เอาเงินภาษีมาใช้ คือภาระที่เพิ่มขึ้นของประชาชน และเตาเผาขยะที่เราจะต้องสร้างเพิ่มขึ้นตามนโยบายเพื่อลดการฝังกลบ อีกด้านคือมีค่าใช้จ่ายในการสร้างที่ต้องเอาภาษีมาใช้ ผมเลยมองว่ายุทธศาสตร์ชาติในเรื่องแผนการจัดการขยะ ตามทฤษฎีมันดี แต่เราต้องมาดูวิธีการดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามเป้าด้วย สุดท้ายแล้วการแก้ปัญหาขยะที่ดีที่สุด คือการพยายามลดปริมาณ ซึ่งเรื่องนี้ก็เกี่ยวกับ กทม.โดยตรง

ระหว่างเรื่องนโยบาย เรื่องสิ่งแวดล้อม พื้นที่ไหนคือพื้นที่ที่คุณอยากเติบโตมากที่สุด หรือต้องเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเลยไหม
ผมมีความอยากเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ผมเชื่อในระบบที่ประชาชนสั่งมาให้ทำ คนที่เสียงส่วนใหญ่เลือกมาให้รับอำนาจจากประชาชนเพื่อรับเรื่องไปทำงานต่อ เป็นระบบที่ใครที่มีนโยบายดีที่สุด คุณก็จะได้รับเลือกจากประชาชนให้ไปทำงานต่อ และเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ นอกจากนั้นก็ยังมีนโยบายด้านอื่นๆ ในใจที่อยากทำ แต่สุดท้ายแล้วก็คงหนีไม่พ้นเรื่องที่เกี่ยวกับความยั่งยืนครับ

คุณมองภาพการขับเคลื่อนประเด็น climate change ของประเทศไทยในตอนนี้อย่างไร
ผมก็เป็นคนกรุงเทพฯ ที่สนใจเรื่องนี้ และได้เข้ามาทำงานในเรื่องนี้ ซึ่งก็เข้าใจว่า กทม.เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งประเทศ สมัยทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ผมมีโอกาสได้ไปทำงานในหลายจังหวัด ได้จัด youth camp ที่พูดเรื่อง climate change

ในความเห็นของผม ประเทศไทยเหมือนอเมริกาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ความสนใจเรื่อง climate change ยังอยู่ในวงจำกัด คนที่สนใจและมีมูฟเมนต์มักเป็นคนชนชั้นกลาง ที่มีการศึกษาปริญาตรี ปริญญาโท แต่ปัจจุบันในต่างจังหวัดของไทย เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่คนไม่เข้าใจ ซึ่งจากประสบการณ์ที่เราไปทำค่ายเยาวชน ผมก็กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราพูดได้น่าฟังหรือยัง ทำให้เขาเข้าใจได้ดีพอหรือยัง เราก็ต้องมาคิดเพิ่ม

แล้วก็ต้องยอมรับว่ามันมีรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เขายังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงกับตัวเอง มันยังไม่เป็นเทรนด์ คนยังไม่พูดถึง ก็แค่มาเรียนแล้วกลับบ้านไป ผมเลยให้ความสำคัญกับเรื่องไลฟ์สไตล์ มองว่ามันไม่ใช่แค่การซื้อถุงหรือไม่ใช้ถุง แต่มันคือไลฟ์สไตล์ที่เริ่มมีการพูดถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องโลกร้อน เห็นดาราอย่างลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ พูดเรื่องนี้แล้วดูเท่จังเลย มันก็ทำให้คนอยากไปศึกษาต่อ เริ่มเป็นเรื่องที่คนพูดถึงกันในวงกว้าง ซึ่งประเทศไทยเราวันนี้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น

คำตอบง่ายๆ ที่คนยังไม่สนใจเรื่อง climate change มากนัก เพราะเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ อย่างปัญหาฝุ่น ปัญหาขยะ เรามองเห็นเลย แต่พอมาเรื่อง climate change ปัญหาที่มองเห็นได้คืออะไร เรามองไม่เห็น ผลกระทบจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คืออะไร เกิดภาวะเรือนกระจกแล้วทำให้โลกอุณหภูมิสูงขึ้น แล้วทำไมอุณหภูมิสูงขึ้นแล้วน้ำท่วม ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกันแต่ก็มีความซับซ้อน เลยเห็นว่าการศึกษาเป็นอีกทางหนึ่งที่เราต้องกระตุ้นให้คนหันมาสนใจมากขึ้น อย่างในอเมริกาพอเรื่องนี้จุดกระแสในคนกลุ่มใหญ่ได้ ก็เริ่มส่งผลกระจายความคิดไปทั่วประเทศได้

คิดว่ากระแสที่จุดติดมาจากทางไหน
ผมคิดว่ามาจากทั้งสองทาง สมัยโอบามามีแคมเปญ Yes We Can แต่โอบามาก็คงไม่ได้ริเริ่มขึ้นมา หากประชาชนไม่มีความสนใจ เพราะเขาคือนักการเมือง พอมีคนกลุ่มใหญ่ที่สนใจมากขึ้นเรื่อยๆ กระแสที่ใหญ่ขึ้น ก็ทำให้นักการเมืองและประธานาธิบดีต้องหันมาสนใจ และพูดถึงเรื่องนี้

ซึ่งในเมืองไทย ถ้าผมพูดเรื่องนี้เยอะๆ ผมก็อาจจะไม่ได้รับเลือกเพราะคนมองว่าเรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจต้องมาก่อน แต่ผมว่าเราต้องพูดไปพร้อมกันให้ได้ ต้องหาทางทำให้การส่งเสริมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปคู่กัน ซึ่งเราก็เห็นความพยายามของรัฐบาลที่กำลังทำอยู่ อย่างเช่น การส่งเสริมเรื่องโมเดลเศรษฐกิจ BCG*

คุณมองภาพตัวเองในอีก 20 ปีข้างหน้าไว้แบบไหน คิดว่าตอนนั้นกำลังทำอะไรอยู่
คิดว่าคงทำเรื่องสิ่งแวดล้อม และถ้ามีโอกาสก็ยังอยากทำงานกับภาครัฐสักส่วนใดส่วนหนึ่ง ในอีก 20 ปี เมื่อผมกลับมาประเมินตัวเอง ผมอยากมองกลับมาแล้วภูมิใจว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายมาเป็นวาระสำคัญของประเทศและของเมือง ในเรื่องสิ่งแวดล้อมเองมันมีหลายประเด็น อย่างเรื่องขยะ น้ำเสีย อากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ กทม.ก็มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลและทำมาตลอดทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว แต่เรื่องของ climate change ยังเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันเพื่อให้ไปอยู่ในวาระ และถ้าเรื่องนี้ไม่มีใครขยับ ไม่มีใครพูดถึง เรื่องนี้ก็จะถูกมองข้ามไป

ผมเคยคิดเล่นๆ ตอนเด็กนะครับ ว่าอยากเปลี่ยนชื่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มคำว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในชื่อกระทรวงเลย เพื่อผลักดันเรื่องนี้เข้าไปเป็นวาระสำคัญ แต่จริงๆ แล้วเรื่อง climate change นั้นเป็นมากกว่าแค่เรื่องของกระทรวงทรัพยากรฯ เรื่องนี้แตะทุกกระทรวง ตั้งแต่กระทรวงการคลังก็มีเรื่อง Climate Change Financing กระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องการควบคุมมาตรฐานโรงงานและอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย ดูแลการไฟฟ้า การประปา เป็นต้น

ทุกเรื่องทุกกระทรวงมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหมดเลย ถ้าในอนาคตมีกระทรวงหรือหน่วยงานที่ดูเรื่องนี้ และทำงานแบบ cross cutting ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานใหม่ อยู่ใต้สำนักนายกฯ ก็เป็นเรื่องที่ผมอยากผลักดัน

หมายเหตุ : *BCG Model หรือเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B-Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C-Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 ระบบเศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G-Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน – www.nstda.or.th/home/knowledge_post/what-is-bcg-economy-model

ภาพ : ศรัณย์ แสงน้ำเพชร