ภาพที่เราชินตาเมื่อได้พบกับ เบนซ์-วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์ ทุกครั้ง คือภาพของชายหนุ่มหน้าเข้มที่กำลังถ่ายทอดเรื่องราวของน้ำผึ้งที่วางเรียงรายอยู่ตรงหน้านับสิบนับร้อยขวดอย่างตั้งใจ ไม่ใช่แค่คนเล่าเรื่องเท่านั้นที่ตั้งใจเล่า เพราะคนฟังเรื่องเล่าของเขาก็ต่างนิ่งฟังอย่างใคร่รู้ โยนคำถามกลับไปบ้าง พลางใช้ไม้ไอติมอันเล็ก ๆ แตะน้ำผึ้งมาป้อนลิ้นเพื่อสัมผัสรสหวานที่แตกต่าง แล้วก็ตื่นใจไปกับรสชาติของน้ำผึ้งทุกขวดที่ต่างถิ่นต่างที่มา ก็พาให้รสชาติต่างกันออกไปอย่างแฟนตาซีกันเสียทุกที

เรื่องหวานๆ ที่เบนซ์นำมาเสนอทุกครั้งที่ได้เจอ เริ่มขึ้นจากตรงนี้ เมื่อหกปีก่อน…

“ตอนนั้นผมทำเรื่องเกษตรอินทรีย์และความมั่นคงทางอาหารอยู่ ด้วยการเปิดบ้านของตัวเองในนครสวรรค์เป็นพื้นที่เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ และในปีนั้นผมกับเพื่อนก็คิดจะทำกระเช้าปีใหม่ โจทย์คือเราอยากให้คนไทยได้กินข้าวดี ๆ ตอนนั้นเราทำเรื่องข้าวนพรงค์ นพ แปลว่า เก้า แต่เรามีข้าวสิบเอ็ดชนิดในกระเช้า ข้าวแดง ข้าวดำ ข้าวเหนียว ข้าวขาว หุงรวมกันแล้วอร่อยมาก แล้วในกระเช้าก็จะมีน้ำผึ้งและเมล็ดงาด้วย แต่โครงการนี้เกิดล้มเลิกไปกลางคัน”

เบนซ์เล่ายิ้ม ๆ เมื่อนึกถึงวันที่ถูกเท เขาจึงต้องหาระบายของที่เหลือคามือในตอนนั้นออกจำหน่าย จนได้พบความสนใจใหม่ของตนเอง “เราซื้อน้ำผึ้งกินเองอยู่แล้ว เลยมีที่เก็บเอาไว้ส่วนหนึ่ง ตอนนั้นมีเก็บไว้ทั้งของปลอมของจริง เพราะซื้อมาด้วยความไม่รู้ หลังจากนั้นก็ได้ชิมมาเรื่อย ๆ เรียนรู้มาเรื่อย ๆ

“เมื่อก่อนในตลาดเขียวผมจะทำงานคราฟต์ ขายงานจักสาน งานหัตถกรรม แต่เราเป็นคนชอบเปลี่ยนอะไรไปเรื่อย ๆ ก็เลยคิดว่าจะกลับมาเรื่องอาหาร เพราะยังไงคนเราก็ต้องกิน และเราก็ต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลี้ยงครอบครัวให้ได้ด้วย แล้วน้ำผึ้งเป็นอาหารที่เสียยาก ตอนนั้นคิดแค่ว่าน่าลงทุน”

เขาตอบเราอย่างตรงไปตรงมา ก่อนที่ “บำรุงสุข” จะกลายเป็นแบรนด์น้ำผึ้งที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคตลาดเขียวหรือตลาดที่มีเส้นเรื่องในการสื่อสารถึงความยั่งยืน

กว่าจะมาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำผึ้งอย่างตอนนี้ เบนซ์ผ่านมาแล้วหลายอาชีพ ทั้งเป็นอาจารย์สอนว่ายน้ำ ขายของวินเทจ ไปเรียนทำเกษตรเพื่อเป็นชาวนา และนั่นคือจุดเริ่มของการเข้าสู่โลกเกษตรอินทรีย์ ที่วันนี้นอกจากบำรุงสุข ฟาร์ม ของเขาจะเป็นสวนเกษตรอินทรีย์แล้ว ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ให้เกษตรกรที่สนใจในแนวทางนี้ โดยมีเขาเป็นผู้สอนด้วยตัวเอง ทั้งการเตรียมดิน การทำปุ๋ยหมัก และการดูแล

ผมเรียนจากโครงการหนึ่งไร่หนึ่งแสน ของอาจารย์อดิศร พวงชมภู ก็เป็นการได้เรียนรู้แบบองค์รวม แต่การทำเกษตรอินทรีย์มันมีปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ คือดินฟ้าอากาศ แม้เราจะควบคุมเรื่องธาตุอาหาร เรื่องปุ๋ยได้ก็ตามที ปัญหาที่ผมเจอเลยเป็นเรื่องผลผลิตที่ไม่สัมพันธ์กับช่วงที่ต้องเก็บขาย ไม่ตอบโจทย์ทางรายได้สำหรับตัวผม ผมเลยไม่ได้โฟกัสเรื่องผลผลิต แต่เก็บเรื่องนี้ไว้สอนคนที่สนใจเรียน ให้เขาได้เห็นงานเชิงประจักษ์ว่าปุ๋ยอินทรีย์มันทำให้ผลผลิตโตได้และช่วยลดต้นทุน ส่วนตัวเองก็มาโฟกัสกับเรื่องน้ำผึ้งอย่างจริงจัง”

เบนซ์เล่าว่าเขาจริงจังกับเรื่องน้ำผึ้งมาหกปีแล้ว แต่ก็ยอมรับว่าครั้งหนึ่งเคยคิดจะเลิกไปทำอย่างอื่น เพราะนิสัยของเขาชอบการเรียนรู้ เมื่อเรียนรู้อะไรอย่างหนึ่งจนพอใจ เขาก็จะละมือแล้วไปทำสิ่งใหม่ โชคดีว่ามีเพื่อนสนิทเตือนสติว่าควรทำเรื่องนี้ต่อ

“ถ้าวันนั้นผมไม่ทำต่อ ตอนนี้ผมคงกำลังนับหนึ่งใหม่กับอะไรสักอย่างอยู่”

“ถ้าวันนั้นผมไม่ทำต่อ ตอนนี้ผมคงกำลังนับหนึ่งใหม่กับอะไรสักอย่างอยู่” เขาหัวเราะให้กับนิสัยส่วนตัวที่ชอบท้าทายกับอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ “แต่ตอนนี้คำว่าท้าทายไม่ใช่ปัญหาของผมแล้ว ปัญหาของผมคือทำยังไงที่จะรักษาคุณภาพของบำรุงสุขเอาไว้”

วันที่เขาคิดจะเลิก ตอนนั้นเขามีน้ำผึ้งสะสมอยู่เพียง 30 กว่าตัว ผ่านมาถึงตอนนี้ เบนซ์มีน้ำผึ้งสะสมอยู่มากกว่า 130 ตัว และยิ่งเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เขายิ่งหลงใหลในเสน่ห์ที่หลากหลายของน้ำผึ้ง เป้าหมายใหม่ของเขาจึงเป็นการทำยังไงให้น้ำผึ้งธรรมชาติเหล่านี้ สร้างมูลค่าในตัวเองได้กว่าที่เป็นมา เพราะคุณค่าของน้ำผึ้งไทยไม่ได้มีอะไรที่ด้อยไปกว่าน้ำผึ้งฝรั่งที่ราคาสูงลิ่ว

“แบรนด์เราใช้คำว่าชาตินิยม เราอยากนำเสนอน้ำผึ้งไทยให้คนไทยได้กินน้ำผึ้งดี ๆ ไม่รู้จักอยู่แค่น้ำผึ้งดอกลำไย ดอกสะเดา ดอกสาบเสือ หรือดอกฟ้าทะลายโจรที่เป็นน้ำผึ้งฟาร์ม เรานำเสนอน้ำผึ้งจากผึ้งที่หากินแบบธรรมชาติ ซึ่งการหากินแบบนี้แหละที่ทำให้น้ำผึ้งมีรสชาติที่หลากหลายมาก”

การเก็บสะสมน้ำผึ้งของเบนซ์ นอกจากสร้างความหลากหลายให้กับแบรนด์ ในอีกทางหนึ่งคือการเก็บเพื่อเป็นฐานข้อมูลของแต่ละปี เพื่อที่จะได้รู้ว่าแต่ละปีน้ำผึ้งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือแย่ลง ผึ้งแต่ละสายพันธุ์หากินแบบไหน ชันโรงแต่ละสายพันธุ์หากินแบบไหน เพราะเหล่านี้มีผลต่อรสชาติทั้งนั้น

น้ำผึ้งจากอำเภอน้ำหนาว เพชรบูรณ์ น้ำผึ้งมิ้มจากเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง น้ำผึ้งหลวงจากอำเภอสบเมย แม่ฮ่องสอน น้ำผึ้งชันโรงพันใหญ่จากนราธิวาส น้ำผึ้งป่าพรุจากชะอวด นครศรีธรรมราช น้ำผึ้งหลวงป่าชายเลน เกาะลันตา กระบี่ ฯลฯ เหล่านี้คือตัวอย่างน้ำผึ้งจำนวนน้อยนิดที่เรามีโอกาสได้ชิมจากน้ำผึ้งสะสมของเบนซ์ แต่ละขวดระบุที่มาของน้ำผึ้ง เดือนปีที่ตีน้ำผึ้งไว้บนฉลาก บางขวดมีรสชาติเหมือนกล้วยเชื่อม บางขวดมีกลิ่นคล้ายดิน บางขวดเจือเปรี้ยวที่แตะผ่านลิ้นแล้วได้ความสดชื่น

รสชาติที่หลากหลายนี้ยืนยันถึงความแตกต่างของน้ำผึ้งจากต่างที่มาก ขึ้นอยู่กับว่าบริเวณเหล่านั้นมีดอกไม้ชนิดไหนให้ผึ้งได้เก็บน้ำหวานมาสะสมไว้ในรัง

น้ำผึ้งปลอมจะมีแค่สองมิติคือหวานและหอม น้ำผึ้งแท้มีสี่มิติ คือหวาน หอม เปรี้ยว ขม

“เรื่องที่หลายคนไม่รู้ และทะเลาะกันมากที่สุดคือเรื่องน้ำผึ้งแท้กับน้ำผึ้งปลอม” เบนซ์เล่าจากประสบการณ์ที่ได้เจอ เขาให้ความรู้ใหม่กับเราเช่นว่า น้ำผึ้งปลอมจะมีแค่สองมิติคือหวานและหอม น้ำผึ้งแท้มีสี่มิติ คือหวาน หอม เปรี้ยว ขม และจะมีสามมิติเป็นขั้นต่ำเสมอ อาจจะหวาน หอม ขม หรือหวาน หอม เปรี้ยว ก็ขึ้นกับแหล่งน้ำหวาน น้ำผึ้งในขวดที่มองเห็นการแยกชั้นระหว่างน้ำกับน้ำผึ้งคือน้ำผึ้งปลอม และการตกตะกอนของน้ำผึ้งแท้เกิดขึ้นได้ โดยเป็นลักษณะของการตกทราย ซึ่งน้ำผึ้งที่ดี คุณภาพสูงจะตกตะกอน เพราะโมเลกุลในน้ำผึ้งมีความหนาแน่น บวกกับเก็บน้ำผึ้งไว้บริเวณที่มีความชื้นต่ำ และมดขึ้นน้ำผึ้งได้เป็นปกติ ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าน้ำผึ้งที่มดขึ้นนั้นแท้หรือปลอม ฯลฯ

รู้ไหมว่า น้ำผึ้งหัวเดียวกัน รังเดียวกัน ก็รสชาติไม่เหมือนกัน

“แล้วรู้ไหมว่า น้ำผึ้งหัวเดียวกัน รังเดียวกัน ก็รสชาติไม่เหมือนกันอีก” เขาโยนคำถามกลับมาที่เราบ้าง ก่อนจะอธิบายด้วยน้ำผึ้งที่เก็บได้จากสวนอินทรีย์ของตัวเองว่า “หัวซ้ายที่ได้เป็นกลิ่นดอกมะนาว แต่หัวขวาเป็นกลิ่นน้ำผึ้งธรรมดา ที่เป็นแบบนี้เพราะในหนึ่งรังมีผึ้งประมาณสามหมื่นตัว แล้วผึ้งแบ่งกันทำงานในรัศมีหากินสองกิโลฯ เขาหากินกันคนละจุด สะสมไว้คนละฝั่ง น้ำผึ้งภาคใต้กับภาคเหนือในปริมาณเท่ากันน้ำหนักก็ไม่เท่ากัน เพราะความชื้นไม่เท่ากัน”

และความแตกต่างของผึ้งเหล่านี้เองที่เป็นเสน่ห์ และเสน่ห์เหล่านี้เกิดจากความหลากหลายของธรรมชาติที่สัมพันธ์กันอย่างไม่เห็นช่องว่าง

“ช่วงหลังมานี้เวลาคุยเรื่องน้ำผึ้งกับคนที่มาซื้อน้ำผึ้งเรา เขาจะคุยกันเรื่อง climate change เยอะ จากการที่เราเก็บน้ำผึ้งมาหกปี สิ่งที่เรารับรู้และเห็นความเปลี่ยนแปลงคือเรื่องฝนเยอะ ฝนแล้ง แล้วแต่ละปีเราจะมีตัวอย่างน้ำผึ้งที่เป็นน้ำผึ้งพรีเมียม เป็นแรร์​ไอเท็มที่คนกินแล้วรู้สึกว้าว แต่ปีนี้ไม่มีน้ำผึ้งที่ว้าวเลย น้ำผึ้งที่ได้มามีเฉดใกล้เคียงกันหมด น้ำผึ้งที่คนนิยมในแบรนด์เรายังเป็นน้ำผึ้งปี 63 ปี 64 น้ำผึ้งปี 65 มีน้อยตัวที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ชัดเจน เป็นเพราะว่าปีนี้ฝนมาเร็ว”

ดินฟ้าอากาศมีผลกับน้ำผึ้งยังไง เบนซ์อธิบายภาพให้เราเห็นผ่านดอกไม้ที่จะออกดอกหลายหลายในช่วงฤดูร้อนหลังจากได้ฝนแรก

“ช่วงปลายฝนคือพฤศจิกายนไปจนถึงมีนาคม ห้าเดือนนี้ดอกไม้จะแห้ง เพราะมันแล้ง และต้นไม้ต้องการน้ำฝน ต่อให้เอาน้ำประปาไปรดก็แทนไม่ได้ เพราะในน้ำฝนมีไนเตรต คือไนโตรเจน ที่ต้นไม้ต้องการ ต้องรอจนน้ำฝนมา ต้นไม้ถึงจะขึ้นมาหลากหลายชนิด เพราะได้ธาตุอาหารจากธรรมชาติ”

แต่ฝนที่มาเร็วผิดปกติในปีนี้ ทำให้การออกของดอกไม้ผิดปกติไปด้วย จึงไม่เกิดความหลากหลายเหมือนปกติ น้ำผึ้งที่ได้จึงมีรสชาติที่ไม่หลากหลายตามมาเป็นผลพวง เบนซ์เห็นความผิดปกตินี้ผ่านปริมาณน้ำผึ้งที่ได้มาน้อยกว่าเคย บวกกับรสชาติและคุณภาพที่เปลี่ยนไป

“น้ำผึ้งที่เราได้มา จะมีทั้งมาจากรังในสวนเราเอง มีน้ำผึ้งที่ชาวบ้านในละแวกบ้านหามาส่งให้ ชาวบ้านที่เคยทำงานจักสานให้เราหามา และจากกลุ่มที่เลี้ยงชันโรงด้วยกันเขาหาน้ำผึ้งส่งมาให้ด้วย ก่อนหน้านี้เราทำงานกับชุมชนที่ทำงานจักสานเยอะ เลยมีเครือข่ายที่ค่อนข้างกว้าง

ผมมองว่าการเข้าไปเก็บน้ำผึ้งไม่ได้มีผลกระทบกับระบบนิเวศ

“ส่วนตัวผมมองว่าการเข้าไปเก็บน้ำผึ้งไม่ได้มีผลกระทบกับระบบนิเวศ เวลาเก็บเขาไม่ได้เก็บตลอดทั้งปี คนหาน้ำผึ้งจะทำงานเป็นฤดูกาล แล้วแต่ละโซนก็หาน้ำผึ้งไม่เหมือนกันด้วย บางโซนหาน้ำผึ้งเดือนมีนา เมษา บางโซนหาเดือนกรกฎา สิงหา ซึ่งการหาคนละฤดูกาล ก็ได้ดอกไม้คนละแบบ

“การหาน้ำผึ้งเดือนห้า ส่วนตัวผมมองว่าคำนี้คือการตลาด ถ้าดูจากน้ำผึ้งของผม จะบอกไว้เลยว่าเราตีผึ้งเดือนไหน มีน้ำผึ้งเดือนเจ็ด น้ำผึ้งเดือนเก้า เราไม่โกหก แต่อยากจะแนะนำให้เข้าใจว่าน้ำผึ้งมีทุกเดือน เพียงแต่การหานั้นหาไม่ได้ทุกเดือน เพราะว่าธรรมชาติของมนุษย์ที่ตีน้ำผึ้งเดือนห้าเพราะเป็นเดือนที่มีความชื้นต่ำ ไม่มีฝน สองคือ เดือนหกเดือนเจ็ดเป็นฤดูทำเกษตรกรรม เขาต้องไปเตรียมพื้นที่ปลูกพืชผล เลยไม่ได้ตีผึ้งกัน

“แต่ในทางกลับกัน พอถึงเดือนเจ็ดเดือนแปด ทางใต้จะเริ่มหาน้ำผึ้งเพราะดอกเสม็ด ดอกโกงกางจะออก พอเดือนเก้าเดือนสิบ มีดอกส้มโอ ดอกผลไม้ต่าง ๆ แต่ความไม่เข้าใจทำให้คนชูประเด็นแต่น้ำผึ้งเดือนห้า ทำให้น้ำผึ้งเดือนนี้เป็นที่ต้องการ และทำให้ผู้บริโภคได้กินน้ำผึ้งที่ไม่มีความหลากหลาย”

ความรู้ที่ค่อยสะสมมาเรื่อย ๆ ถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคที่สนใจน้ำผึ้งของเขา

คนโบราณจะบอกเสมอว่า น้ำผึ้งที่จะเอามาเข้ายา ต้องเป็นน้ำผึ้งที่มีเกสรร้อยแปด

“เรายังหาความรู้อยู่เรื่อย ๆ ยังหาจากยูทูบ ไปอบรม แล้วเชื่อมโยงกับการทำเกษตรของเรา บางกลุ่มบอกว่าน้ำผึ้งที่หายาก เป็นแรร์ไอเท็ม เป็นน้ำผึ้งสีเขียว สีม่วง สีแดง บทสรุปที่ผมเจอคือ เกิดจากผึ้งกินน้ำหวานที่ไหว้ตามศาล เลยได้น้ำผึ้งที่สีเพี้ยนไป กับการขายความเป็นยาของน้ำผึ้ง ถ้าผึ้งถูกเลี้ยงด้วยไซรัป ความเป็นยาจะน้อยลง หรือคนโบราณจะบอกเสมอว่า น้ำผึ้งที่จะเอามาเข้ายา ต้องเป็นน้ำผึ้งที่มีเกสรร้อยแปด ซึ่งก็คือน้ำผึ้งเดือนห้า ที่จะมีในต้นฤดูฝน เรามีพายุฤดูร้อนเดือนสามเดือนสี่ พอฝนมาเมล็ดหญ้าที่ร่วงอยู่ที่พื้นดินก็จะงอก เพราะได้น้ำฝนที่มียูเรียธรรมชาติ และต้นหญ้าเล็ก ๆ เหล่านั้นก็จะออกดอกในช่วงเดือนห้า ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวดอกไม้จะคัลเลอร์ฟูล เป็นธาตุอาหารจากธรรมชาติให้กับผึ้ง”

และการส่งต่อความรู้เหล่านี้ ช่วยให้การสร้างแบรนด์บำรุงสุขมีความหนักแน่นและแข็งแรงยิ่งขึ้น

“ถ้าขายแบบตลาด เราจะได้ราคาตลาด เราพยายามทำให้น้ำผึ้งเราเป็นแรร์ไอเท็ม เราเชื่อมั่นว่าเรามีความรู้ในระดับหนึ่ง กล้าที่จะคุยกับลูกค้าทุกระดับ สิ่งที่เรานำเสนอในการขายคือ เราให้ความรู้เรื่องผึ้งทั้งกระบวนการ การขายเลยช้าหน่อย (หัวเราะ) คนนั่งกับเรานาน และคนได้ชิมน้ำผึ้ง ได้รู้ว่าน้ำผึ้งไม่ใช่แค่น้ำผึ้ง น้ำผึ้งไม่ใช่แค่น้ำหวาน

“มูลค่าน้ำผึ้งบ้านเราถูกตีราคาให้ต่ำเพราะเราพรีเซนต์ไม่เก่ง ทั้งที่น้ำผึ้งไทยเราคุณภาพสูง อาจารย์ที่ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองบอกว่า มานูก้าฮันนี่กับน้ำผึ้งไทยมาตรฐานเดียวกันเลย แต่ราคาเทียบกันไม่ได้ มานูก้าฮันนี่ขวดละสามพันกว่าบาท แต่น้ำผึ้งไทยถูกให้ค่าว่ามันควรจะขวดละร้อยห้าสิบ ไม่เกินสามร้อย

ผมอยากให้คนไทยได้รู้จักน้ำผึ้งไทย

“ผมอยากให้คนไทยได้รู้จักน้ำผึ้งไทย ไม่ได้จำกัดการกินอยู่แค่น้ำผึ้งภาคเหนือ แล้วไม่รู้จักน้ำผึ้งป่าโกงกาง น้ำผึ้งป่าชายเลน น้ำผึ้งป่าพรุ ถ้ามีโอกาสได้นำเสนอต่างประเทศ เราจะนำเสนอว่านี่เป็นของพรีเมียม มีกลิ่นพิเศษ เหมือนที่เนปาลเขานำเสนอน้ำผึ้งเมา เพราะมียาบางตัวในดอกไม้ที่กินแล้วเมา เขาขายได้กิโลละเป็นหมื่น”

อย่างไรก็ตาม เบนซ์เล่าอย่างตรงไปตรงมาอีกเช่นเคยว่า การได้มาของน้ำผึ้งแต่ละล็อต ใช่ว่าจะคุณภาพสูงเหมือนกันทุกตัว บางตัวที่คุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เบนซ์นำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยดึงเอาผลไม้พื้นบ้านที่ดูไม่มีราคามาสร้างมูลค่าด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องทางรสชาติ

“เราแปรรูปเป็นน้ำผึ้งผลไม้ เป็นผลไม้ที่ได้จากเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ของเรา และผลไม้ไทยอย่างมะแปรม (ผลไม้พื้นบ้านที่มีชื่อเรียกอื่นว่า มะแป๋ม หรือมะดันแดง) ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ก็เท่ากับว่าเราได้นำผลไม้ไทยมาให้เขารู้จักเพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่ง ใช้พุทราไทยที่ผมเรียกว่าพุทราบ้านนอกตามทุ่งนา ใช้กล้วยน้ำว้า พยายามเอาความเป็นบ้านๆ มาสู่เมือง ให้คนเมืองรู้จักของบ้าน ๆ และให้คนได้รู้ว่าของบ้าน ๆ แบบนี้มันสร้างมูลค่าได้ โดยเราเอามาหมักกับน้ำผึ้ง แต่การหมักก็ต้องให้ได้กลิ่นน้ำผึ้งที่ไม่กลบกลิ่นผลไม้ด้วย”

ในวงจรของเบนซ์ เป็นการทำงานแบบครบทั้งห่วงโซ่ ในฐานะต้นน้ำ เขาเป็นเกษตรกรที่มีน้ำผึ้งจากสวนอินทรีย์ของตนเอง เป็นข้อต่อห่วงโซ่ในการทำงานกลางน้ำด้วยเป็นตัวกลางรับซื้อน้ำผึ้งจากเกษตรกรชุมชนทั่วไทย และเป็นปลายน้ำในฐานะผู้ขายที่สัมพันธ์กับผู้บริโภคโดยตรง ทว่านอกจากบทบาทของพ่อค้าน้ำผึ้ง เบนซ์มีบทบาทเป็นผู้สื่อสารเรื่องความยั่งยืนผ่านรสหวานของน้ำผึ้งนี้ด้วย ทั้งกับผู้บริโภคปลายน้ำ และผู้ยืนอยู่ต้นน้ำอย่างเกษตรกร

“มันเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้สื่อสารเรื่องความหลากหลายที่เชื่อมโยงกับคนเมือง เมื่อก่อนเราไม่เคยคุยเรื่อง climate change เลยนะ แต่วันนี้เราต้องมาคุยกันแล้วว่าคุณภาพของน้ำผึ้งที่ได้มาปีนี้แบบนี้เพราะอะไร ลูกค้าก็ดีใจที่ได้คุยเรื่องนี้กับเรา บางคนก็อยากสนับสนุนเรา

“เราได้มีโอกาสคุยเรื่องนี้กับคนในชุมชน สิ่งที่เราทำได้กับเกษตรกรคือเราชวนให้เขาปลูกดอกไม้ให้กับผึ้ง ซึ่งเป็นดอกไม้กินได้ที่เราเอามาใช้งานได้ด้วย เรื่องการเก็บน้ำผึ้ง ถ้าคนที่ชำนาญเราจะมีวิธีปาดเอาแค่หัวน้ำหวาน ไม่ต้องตีทั้งรัง รังยังอยู่เหมือนเดิม

“อีกทางหนึ่งคือเราส่งเสริมให้คนที่มาเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์กับเราเลี้ยงชันโรง ผมทำงานกับชาวบ้านอยู่ห้าหกครอบครัวที่นครสวรรค์ ให้แต่ละบ้านมีชันโรงบ้านละหนึ่งรังเพื่อให้ช่วยผสมเกสรผักผลไม้ของเขา และสามารถขยายประชากรชันโรงของเขาได้

“ที่เราไม่ได้สนับสนุนให้เลี้ยงผึ้งเพราะเราเลี้ยงไม่ได้ ถ้าอาหารหมด ผึ้งก็ไป ระบบนิเวศไม่ได้ ผึ้งก็ไป ลูกศิษย์ที่ทำเกษตรอินทรีย์เราจะไม่ได้ทำเรื่องน้ำผึ้ง แต่เราใส่เรื่องการเลี้ยงแมลงผสมเกสรเข้าไป น้ำผึ้งเป็นแค่ผลพลอยได้ แต่เราจะคุยเรื่องระบบนิเวศกับเขาเสมอว่า ปลูกพริกต้นหนึ่ง ถ้าดินดี ปุ๋ยดี เราได้แล้วห้าสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามีผึ้ง มีแมลงผสมเกสร ผลผลิตจะได้มากขึ้น

“ทุกเรื่องที่เราทำมันคือประสบการณ์ แล้วเราจับมาโยงเป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย ซึ่งก็คือเรื่องของระบบนิเวศ”