เป็นประเด็นถกเถียงกันในวงกว้างของสังคมหลังจากที่ เพจข่าวสารงานพระพุทธศาสนา โพสต์ว่ามีการส่งนักวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นเทรนเนอร์มืออาชีพ อยู่ในสถานที่มิดชิดเพื่อดูแลโรคอ้วนและ NCD ให้กับพระสงฆ์ หลังภาพเผยแพร่ไป มีเสียงวิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ถ้าดูในคู่มือการบริหารขันธ์ (ออกกำลังกายสำหรับพระสงฆ์) จากกรมอนามัยหรือแนวทางเวชปฏิบัติการเคลื่อนไหวร่างกายการออกกำลังกายในพระสงฆ์จากโรงพยาบาลสงฆ์แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าพระสงฆ์ก็มีความจำเป็นต้องบริหารร่างกายด้วยท่าที่เหมือนคนปกตินี่แหละ (เนื่องจากต่อให้เราดูแลเรื่องอาหารการกินดีขนาดไหนแต่ถ้ามีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอก็เสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้อยู่ดี) แม้ในคู่มือจะบอกว่าต้องทำด้วยความสำรวม ระมัดระวัง แต่เราก็จะเห็นได้จากคู่มือว่า จะมีท่าที่ดูแล้วแปลก ๆ ขัดความรู้สึกอยู่ดีเพราะมีการยกแข้งยกขา ยกสะโพกขึ้นลงเหมือนท่าออกกำลังกายที่เราทำ ๆ กัน ดังนั้นประเด็นสำคัญคงอยู่ในเรื่อง การทำในสถานที่ที่สมควร

แต่อย่างไรก็ตาม ในคู่มือการบริหารขันธ์สำหรับพระสงฆ์เองก็ระบุว่าในแต่ละท่าควรทำ 8-12 ครั้ง (ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์การกีฬาหมายถึง ให้เลือกท่า / แรงต้านที่ทำได้ในช่วงนี้ ถ้าต่ำกว่า 8 ครั้งแสดงว่าหนักไป ทำได้เกิน 12 ครั้งแสดงว่าเบาไป) ยกตัวอย่างถ้าเราต้องการฝึกกล้ามเนื้อสะโพกและต้นขา ถ้าทำท่ากายบริหารอย่างท่า สควอท คนสุขภาพดีทั่วไปก็น่าจะทำได้อย่างน้อย 20 ครั้งขึ้นไปอย่างสบาย ๆ ถ้าอยากให้ร่างกายเกิดการพัฒนาก็มีความจำเป็นต้องมีแรงต้านมาเพิ่ม เพื่อให้ทำได้ไม่ถึง 12 ครั้ง ดังนั้นการมีอุปกรณ์ฟิตเนส ก็จะช่วยทำให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพและได้ผลดียิ่งขึ้น

แต่ถ้าถามว่า มีหนทางอื่นในการดูแลสุขภาพหรือไม่ เพราะพระสงฆ์จากวัดเล็ก ๆ จะให้มีห้องฟิตเนสสำหรับพระสงฆ์เท่านั้นก็คงเป็นไปไม่ได้ ไหนจะชาวบ้านทั่วไปในชนบทจะหาเงินที่ไหนไปเข้าฟิตเนสได้ (แต่ถ้ามีการบริจาคให้วัดแล้วแบ่งเวลากันใช้ระหว่างพระสงฆ์และประชาชนทั่วไปได้ นี่น่าจะเป็นทางออกในอุดมคติ)

แต่ด้วยบริบทของสังคมตอนนี้จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การกีฬาในปัจจุบัน ไม่ว่าพระสงฆ์หรือประชาชนทั่วไปถ้าเพื่อสุขภาพแล้ว การฝึกด้วยท่ากายบริหารต่าง ๆ แม้จะแรงต้านน้อยแต่ถ้าทำจนหมดแรงก็ได้ผลดีต่อสุขภาพเพียงพอเช่นเดียวกับการเพิ่มแรงต้านด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ

หรืออย่างการออกกำลังกายแบบแอโรบิก แม้สภาพในเมืองอาจจะไม่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย หลายคนเลยต้องเลือกใช้บริการลู่วิ่ง แต่ผมเองก็มักจะแนะนำคนที่มาถามผมว่าลู่วิ่งรุ่นไหนดี ผมก็บอกว่าลองย่ำเท้ายกเข่าสูง วิ่งอยู่กับที่ หรือก้าวขึ้นลงบันไดดูก่อนก็ได้ ได้ผลดีเช่นเดียวกัน

และโดยส่วนตัวผมอยากแนะนำให้พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทุกท่านให้ลองกราบแบบอัษฎางค์ประดิษฐ์ หรือการกราบที่พระทิเบตหรือภูฏานทำกันเพียงวันละ 5-10 นาทีขึ้นไป โดยเป็นการกราบแบบนอนราบไปทั้งตัว เพราะได้ทั้ง ความแข็งแรงกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่น และยังพัฒนาระบบหายใจและไหลเวียนโลหิต แถมยังเป็นการฝึกสมาธิ เจริญสติได้อีกด้วย