โฆษณาในรูปแบบรีวิวเครื่องสำอางบนกองขยะสุดลูกหูลูกตา คลิปยาวเหยียดที่เล่าเหตุผลว่าทำไมเราต้องแยกขยะก่อนทิ้งผ่านสตอรี่ของหญิงสาวที่กำลังทิ้งข้าวของของแฟนเก่า ไปจนถึงงานที่พา Akira Sakano ผู้เปลี่ยนเมืองเล็กๆ ของญี่ปุ่นให้เป็นเมืองปลอดขยะเบอร์หนึ่งของโลกมาเปิดเวิร์กช็อปในไทยเพื่อให้เกิดการแยกขยะที่เวิร์กจริงๆ คือผลงานจำนวนหนึ่งของชูใจ กะ กัลยาณมิตร ครีเอทีฟเอเจนซีที่มีเป้าหมายทางธุรกิจว่าจะใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น

หลายคนอาจเคยได้ยินได้ฟังเรื่องเล่าของชูใจ เคยเห็นสมาชิกและผู้ก่อตั้งผ่านสื่อต่างๆ ในบทสัมภาษณ์ บนเวที่ทอล์กสร้างแรงบันดาลใจ หรือในบทความสร้างสรรค์ผ่านสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่มักบอกเล่างานที่เขาทำ วิธีที่เขาคิดสร้างสรรค์โปรเจกต์ใหม่ๆ และการเปลี่ยนงานโฆษณาที่เล่นกับความอยากได้อยากมีของเรา ด้วยการสอดไส้ความรู้ความเข้าใจบางชนิดที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม

แต่ในครั้งนี้ เราไม่ได้ชวน เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของชูใจมาคุยเรื่องเหล่านั้น แต่เราชวนเขามาคุยกันเรื่องวิธีใช้ชีวิตของเขา ในฐานะพลเมืองชนชั้นกลางคนหนึ่งในเมืองใหญ่ และในฐานะพ่อของเด็กหญิงวัยขวบกว่าชื่อ สติมา วิทยสัมฤทธิ์

พ่อของเด็กที่จะเติบโตไปกับอนาคตของโลกใบนี้แทนพวกเรา  

ของสะสมและมู้ดแอนด์โทนในใจ 

“ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นของสะสม”

เม้งบอกเล่าเมื่อเราถามว่าเขาเริ่มต้น ‘อิน’ กับเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ เขาบอกว่าอาจจะทั้งจากการเรียนสาขาภูมิสถาปัตย์ตอนเป็นนิสิต ที่ได้อยู่กับต้นไม้และพื้นที่สีเขียวจนทำให้เขามีสายตาที่มองเห็นคุณค่าของธรรมชาติ อาจจะทั้งจากการอ่านหนังสือความคิดสร้างสรรค์สีเขียวของนักเขียนคนโปรดอย่างทรงกลด บางยี่ขัน อาจจะมาจากการเห็นวิธีการดูแลโลกแบบสร้างสรรค์จากเวทีประกวดโฆษณาระดับโลกในตอนที่เขาเริ่มทำงานในฐานะครีเอทีฟ และอาจจะทั้งจากเพื่อนฝูงใกล้ชิดในชูใจที่ทดลองใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรวันหยุดและสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นทุนเดิม

ของสะสมเหล่านั้นเป็นเพียงความชอบในใจและไกลตัว แต่สิ่งที่ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงได้จริงจังมาถึงพร้อมกับทุกคน นั่นคือเมื่อความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมในสังคมมาพร้อมเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่เอื้อให้การใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องยากเย็นเกินไป เขาจึงไม่รีรอที่จะลงมือทำเท่าที่คนเมืองหนึ่งคนจะทำได้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ ของตัวเอง

จุดเริ่มต้น จุดเริ่มแต่ง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 มู้ดแอนด์โทนในใจของเขาคลี่คลายออกมาเป็นงานแต่งงานน่ารักที่จัดในสวนสาธารณะ แขกทุกคนต้องใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเข้างาน มารับประทานอาหารร่วมกันด้วยภาชนะย่อยสลายได้ มีการจัดการขยะอาหารด้วยการส่งไปทำเป็นปุ๋ย ใช้แผงโซลาร์เซลล์เป็นเครื่องกำเนิดพลังงานเพื่อใช้ในเล่นดนตรีในงานและเปิดไฟในช่วงหัวค่ำ ไม่มีของชำร่วยเพราะเอาเงินส่วนที่ต้องใช้ในการซื้อหาของขวัญไปมอบให้มูลนิธิโรคหัวใจ และกิจกรรมสำคัญคือการชวนแขกเหรื่อที่รักใคร่มาร่วมปลูกต้นไม้ด้วยกัน 

“งานแต่งงานมันเป็นเหมือนการรวบรวมความคิดที่ผมอยากให้เป็นจากหนังสือที่เราอ่าน และจากการงานที่ส่งเสริมผม”

“พอหลังจากตั้งชูใจ งานการมันพาเราไปเจอเจอความรู้ใหม่ๆ ได้ลองใช้โซลาร์เซลล์ก็เพราะตอนนั้นได้ทำงานกับกรีนพีซ ผมยังไม่ค่อยเข้าใจด้วยซ้ำว่าเอาขยะอาหารไปทำเป็นปุ๋ยมันดียังไง แค่อยากให้มีคนมาจัดการขยะให้ แต่ผมคิดว่าผมได้ส่งสารบางอย่าง อย่างเช่นเราก็ไม่เคยปลูกต้นไม้จากเมล็ดเลย ผมปลูกเองยังรู้สึกเลยว่า มันโตอย่างนี้เหรอวะ กูปลูกต้นไม้ขึ้นว่ะ แล้วผมคิดว่ามันก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันเหมือนได้หยอดเมล็ดพันธุ์อะไรสักอย่างให้คนที่มาร่วมงาน และผมคิดว่ามันสำคัญมากๆ” 

การ์ดเชิญที่ชวนมาปลูกต้นไม้ จึงถูกส่งไปให้แขกเหรื่อพร้อมตุ้มดินและเมล็ดพันธุ์พร้อมคู่มือ เพื่อให้ทุกคนได้เพาะต้นโมกจากเมล็ดแล้วถือต้นกล้าจิ๋วๆ มาร่วมงาน และร่วมเป็นหนึ่งในเค้กแต่งงานให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวได้รดน้ำ จากนั้น ต้นไม้จำนวนหนึ่งได้ถูกแจกจ่ายไปยังแขกเหรื่อที่มีพื้นที่ ส่วนหนึ่งถูกนำมาปลูกต่อที่ดาดฟ้าในบ้านของครอบครัวใหม่ และหวังใจว่าจะหาพื้นที่มากพอเพื่อนำต้นไม้เหล่านี้ไปลงดิน และได้มี ‘สวนโมก (ข์) ของตัวเอง’

“ต้นโมกมันไม่สวยเหมือนต้นอื่นๆ ที่เราชอบปลูกกัน เพราะต้นมันไม่เรียบร้อย เป็นต้นไม้ป่า แต่ผมเพิ่งได้ฟังอาจารย์จุลพร นันทพานิช อาจารย์บอกว่าชอบโมกมันมาก เพราะเป็นไม้ที่สง่า และเหมาะกับการปลูกกับบ้านมากเพราะใบมันย่อยสลายง่าย แล้วมันช่วยเรื่องฟอกอากาศ ฟอกฝุ่น ผมรู้สึกว่าโชคดีว่ะ ไม่ใช่แค่เพราะมันพ้องกับสวนโมกข์ แต่มันก็เวิร์กจริงๆ”

และสักขีพยานการแต่งงานก็กลายเป็นต้นไม้ของเด็กหญิงสติมา-ต้นไม้ที่เขาฝังรกของลูกสาวเอาไว้ ตามความรู้ที่ได้มาจากการทำงานว่า ‘รกราก’ เกิดจากภูมิปัญญาของคนในอดีต ที่จะฝังรกของเด็กเกิดใหม่ไว้ใต้ต้นไม้ เพื่อให้เด็กน้อยผูกพันกับแผ่นดินเกิดซึ่งเป็นที่ฝังรกราก และเคารพธรรมชาติที่จะเติบโตผ่านต้นไม้ใหญ่ไปพร้อมกันกับเขา 

ชนชั้นกลางที่มีบ้านเป็นงานทดลอง 

“ผมชอบความเป็นชนชั้นกลางของเรานะ เรามีกำลังซื้อของบางอย่างที่มันไม่ได้แพงมากได้ อย่าง Green Cone 15 ถัง ยังไม่ได้รองเท้าผ้าใบคู่นึงเลย ก็เลยซื้อมาฝังทั้งสวน เรียกว่าวู่วามเลยก็ได้ ทุกวันนี้พยายามหาสูตรที่ทำให้เราเหนื่อยน้อยที่สุดอยู่ การวู่วามจิ้มถังไว้ทั่วบ้านนี่ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งนะ เพราะพอกับความต้องการกำจัดขยะเศษอาหารในบ้านเราได้เลย”

“คำปลอบใจภรรยาคือบ้านคือการทดลองเว้ย ทำไปก่อน” 

เม้งเล่าถึงถังหมักขยะเศษอาหารกรีนโคนที่ฝังเอาไว้รอบบ้านเพื่อเสริมกำลังย่อยสลายขยะอาหารในบ้าน หลังจากใช้ถัง ผักDone มาหลายปีเพื่อแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป บวกกับการแยกขยะในบ้านอย่างจริงจังเป็นหมวดหมู่เพื่อส่งต่อไปรีไซเคิลและจัดการอย่างถูกวิธี เลยรวมไปจนถึงแนวคิดที่พยายามถ่ายทอดให้ทุกคนในบ้าน เพื่อนรอบตัว ไปจนถึงชุมชน (ถังกรีนโคนริมรั้วนอกบ้านกลายเป็นที่ทิ้งขยะของร้านอาหารตามสั่งเพื่อนบ้าน และเป็นปุ๋ยให้กับผักสวนครัวที่เขาตั้งใจปลูกเพื่อแบ่งปันให้เพื่อนบ้านมาเด็ดไปกินได้ และป้องกันคนมาทิ้งเศษขยะเล็กๆ น้อยๆ ริมรั้ว) มากไปกว่านั้น เขาเริ่มขยับขยายจากรั้วบ้านตัวเองไปสู่รั้วโรงเรียนข้างบ้าน โดยขออนุญาตใช้พื้นที่และเรียกช่างมาสร้างจุดแยกขยะให้ชุมชน พร้อมกับเจรจาขอพื้นที่ข้างบ้านไว้ปลูกหม่อนในฐานะพืชกินได้เพื่อขยายแนวคิดนี้ให้กว้างออกไปกว่าชายคาตัวเอง

“บ้านนี้ไม่มีกฎหรอกครับ แต่จะเข้มงวดเรื่องภาชนะ เวลาเราไปซื้อของหรือสั่งของมากิน ส่วนใหญ่ถ้าผมอยู่คนเดียวผมก็จะไม่ค่อยสั่ง แต่บางทีภรรยาเหนื่อยเตรียมอาหาร เราก็ต้องปิดตาข้างหนึ่ง แต่ถุงพลาสติกก็ล้างและคัดแยกตลอด”

“พอแยกขยะ ผมก็ยกไปให้รถขนขยะทีละถัง การที่บ้านไม่มีขยะเศษอาหารมันช่วยให้ขยะผมมีคุณภาพ ไม่ค่อยเป็นปัญหา”

“แต่ก็มีหลายอย่างที่ผมเรียกเขามาเก็บแล้วเขาไม่เก็บ ก็จะเจ็บปวดนิดหน่อย เช่นโฟมตาข่ายกันผลไม้ช้ำ หรือพวกขยะชิ้นเล็กๆ ที่ก็ตัดใจทิ้งไว้หน้าบ้านก็ได้ แต่ก็ตัดใจไม่ลง จนมาเจอที่ให้ส่งไปเผาเป็นพลังงาน ผมก็เลยไปรวบรวมกับที่ออฟฟิศส่งไป ก็รู้สึกผิดน้อยลง”

เราถามเขาว่า ความรู้สึกผิดเป็นสิ่งที่ถูกต้องไหมกับการใช้ชีวิตแบบนี้ เขาพยักหน้า “ผมว่าคนที่เริ่มทำ อาจจะเริ่มจากความรู้สึกผิดนะ หมายถึงคนที่กั๊กๆ ประมาณผมนี่แหละ มีความขี้เกียจบ้างหรืออะไรอย่างนี้ เคยคุยกับเพื่อนที่ทำประจำ เขาบอกว่าวันไหนที่ต้องเอาข้าวใส่กล่องจากร้าน แม้ว่าจะเป็นกล่องกระดาษเขาก็รู้สึกผิด รู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่ดีไปแล้ว”

แต่แน่นอน ความรู้สึกผิดนี้มีต้นทุน

“เวลาที่เราทำอะไรแบบนี้มักมีคำถามเสมอๆ อย่างงานแต่งที่ดูเหมือนผมจะพยายามประหยัดหลายๆ อย่างที่คิดว่าฟุ่มเฟือยและทำแบบที่เราชอบ แต่สุดท้ายแล้ว งานแต่งผมก็มีค่าใช้จ่ายพอๆ กับงานที่จัดในโรงแรมเลย บางคนก็บอกจะลำบากทำไม บางคนก็คิดว่าไม่เห็นประหยัดเลย ซึ่งใช่แล้วครับ ค่าใช้จ่ายไม่ประหยัด เพราะผมก็ต้องจ่ายเงินบางอย่างไปกับการจัดการสถานที่ หาอาหาร หาเครื่องเสียง หรืออื่นๆ อีกมากมาย ที่มันไม่ได้มีอะไรแบบนี้สำเร็จรูป หรือการติดโซล่าร์เซลล์ที่ออฟฟิศ ที่สุดท้ายมันก็ไม่ได้ประหยัดแบบที่จะทำให้เราประหยัดจริงๆ มันต้องลงทุนแผง ค่าติดตั้ง กับการประหยัดต่อวันที่เล็กน้อยมาก ถ้าคิดจะคืนทุนก็อีกนาน แต่เหล่านี้เพราะเราคิดว่ามันเป็นเรื่องของเงิน

“จริงๆ แล้วเงินที่เสียไปมันก็คุ้มนะครับ เอาเฉพาะเรื่องความชอบก่อนก็ได้ งานแต่งผมจ่ายเท่ากัน แต่ผมได้สิ่งที่ต้องการทั้งหมดแบบไม่ประนีประนอมกับใคร หรือการติดโซลาร์เซลล์ มันก็เป็นออฟฟิศแบบที่ผมปรารถนา และอีกด้านหนึ่ง ผมมองว่ามันแสนถูกเลย

“ผมไม่ได้ ‘ได้’ มันคนเดียว การทำสิ่งเหล่านี้มันคือการลงทุนกับสิ่งแวดล้อม เราทุกคนได้ด้วยกันหมด ผมได้เลือกว่าผมอยากมีชีวิตแบบไหน ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเราจ่ายช่วยเหลือธรรมชาติไปบ้าง มันได้มากกว่าที่เราจะได้เสียอีก เพราะฉะนั้นมันไม่แพงเลยครับ”

โลกนอกอัลกอริธึม

“ผมว่าเราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้นเยอะเลยนะ กับคนเมืองที่มีโอกาส มีกำลังซื้อ เดี๋ยวนี้เครื่องมือช่วยเหลือเรามากขึ้น และกลายเป็นของที่ซื้อง่ายด้วยซ้ำ”

เม้งบอกว่าเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำพกพา ปิ่นโต ถุงซิลิโคนที่พับเก็บได้ง่ายๆ ไปจนถึงถังแยกขยะ ถังหมักปุ๋ย และนวัตกรรมอีกมากมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อแบ่งเบาภาระให้สิ่งแวดล้อม คือเครื่องมือใกล้ตัวที่ช่วยให้คนหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายและเป็นรูปธรรมมากขึ้น และทำให้เขาเชื่อว่าใครๆ ก็กำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

“เราเห็นคนรอบๆ ตัวเขาก็ทำกัน ใช้กัน แต่พออยู่ในกรุ๊ปไลน์เพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนที่คณะ มันเป็นเครื่องยืนยันว่าเราโดนหลอกโดยอัลกอริธึม ผมก็เห็นเฉพาะคนรอบตัวที่เขาเห็นเหมือนผม เพราะผมไปกดไลก์เขา ในขณะที่เพื่อนเราเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวมากเลย เพื่อนไม่ค่อยตื่นเต้น คิดแล้วโมโหนะ คุยกันว่าพวกมึงนี่ไม่น่าบ่นที่สุดแล้วนะ หมายถึงว่าคนชนชั้นกลาง ทำมาหากิน มีบ้าน มีอาชีพ มีสตางค์ มันมีบนสนทนาที่ชอบตั้งเงื่อนไข ฟังแล้วหงุดหงิด ทั้งที่จริงๆ เราก็ไม่ได้ลำบากอะไร ผมว่าความรู้ความเข้าใจมันไปไม่ถึง กับหลายคนมันก็คงไกลตัวจริงๆ ขนาดข้อมูลต่างๆ มันฟ้องขนาดนี้เรายังคิดว่าเอาไว้ก่อนได้ ไม่น่าเชื่อ” น้ำเสียงขุ่นเล็กๆ บอกว่าเขาหงุดหงิดใจไม่น้อย

แต่ในฐานะนักสื่อสาร-เขาไม่ยอมแพ้

“คุยกับคนใกล้ตัวยากที่สุด แต่ผมก็สู้นะ พิมพ์ในไลน์สู้เอา” เม้งยิ้ม “พยายามเป็นกูรูของเพื่อน ก็จะมีบางคนมาถามว่าอย่างนี้ใช้ได้ไหม หรือบางคนก็มาประชดประชันแซะๆ เราบ้าง แต่มันเป็นเพื่อนฝูง ก็เข้าใจได้ ผมจะเป็นคนเอาลิงก์หรือสรุปใจความความรู้ไปให้เขาบ้าง ยัดเยียดข้อมูลบางอย่างให้ ซึ่งผมก็คิดว่ามันออกดอกออกผลช้านะ ก็พยายามทำให้ดู เวลามีอีเวนต์กับญาติ ผมก็พยายามทำให้ดู บังคับแยกขยะ มีสเตชั่นล้างจานแบบกะละมังเพื่อให้ประหยัดน้ำถ้าต้องล้างจานกันทีละเยอะๆ หรือน้องๆ ที่ออฟฟิศ ผมใช้วิธีสั่งเอา บางทีผมรังเกียจตัวเองนะ เราเป็นนักสื่อสารอะไรวะ ไม่มีวิธีสั่งลูกน้องเหรอ ใช้ประชดเอาบ้าง สั่งบ้าง ดุบ้าง” เขาตอบพร้อมเสียงหัวเราะแทนการยอมจำนนว่ายังไม่มีวิธีสร้างสรรค์ในแบบที่เขาทำในงานโฆษณา

พ่อของลูก พลเมืองของโลก

ลูกเป็นเหตุผลให้รู้สึกว่าต้องหันมาเอาจริงเอาจังเรื่องสิ่งแวดล้อมไหม? -เราถาม

“ผมเพิ่งคิดเรื่องนี้ไม่กี่วันก่อน เพราะเราจะได้ยินว่าหลายคนเริ่มต้นเพราะห่วงลูก สำหรับผมคิดว่าไม่เกี่ยวนะ ต่อให้ไม่มีลูกเราก็คงทำ แต่กับพ่อแม่หรือกับเพื่อน เราก็จะเอาเรื่องลูกไปขู่เขานี่แหละ อย่างแม่นี่จะขู่ง่ายหน่อยเพราะเขารักหลาน บอกเขาว่าทิ้งพลาสติกเยอะแยะอย่างนี้ เห็นไหมว่าอากาศมันแย่ขนาดนี้ แล้วสติมาจะอยู่ยังไง” 

“จริงๆ เรื่องแยกขยะก็เป็นปัญหาที่แม่ผมเขาก็เบื่อๆ ผมนะ คล้ายๆ กับว่าครอบครัวก็จะรำคาญเรานิดหนึ่งน่ะ เดี๋ยวนี้สั่งอาหารผ่านพวกแอปฯ เดลิเวอรี่ง่ายมาก ก็จะมีพวกอาหารถุงๆ มาส่งถึงบ้าน เราบอกว่าอย่าไปกินเลย เขาก็บอกว่าเราเรื่องมากจังเลย หรือบางทีเขาก็พูดว่านิดหน่อยเอง เราก็จะบอกว่ามันไม่นิดหน่อยนะ แต่หลังๆ เราก็บังคับเอาพวกปิ่นโต ถุงผ้า ใส่ไว้ท้ายรถเลย พอเขาถูกเราบังคับบ่อยๆ มันก็จะอัตโนมัตินะ เหมือนถ้ามาบ้านเรา ก็จะมาในอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง” ในฐานะลูกชาย เขาเลือกใช้วิธีนี้กับคุณย่าคุณยายของหลาน

“พอมีลูกแล้วเรื่องที่ต้องคิดเผื่อแทนเขามันเยอะมาก เรื่องวิธีว่าเราจะเลี้ยงเขายังไง เรื่องให้กังวลเยอะไปหมด สภาพแวดล้อมมันแย่เต็มทีแล้ว และมันเป็นโลกที่เขาต้องอยู่จริงๆ แต่ถ้าถามว่าในอนาคตเราอยากให้เขาเป็นยังไง ผมกลับคิดว่าผมอยากให้เขาเป็นคนหนึ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงโลก จริงๆ เมื่อก่อนผมค่อนข้างมีความหวังมากนะว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ แต่ไม่รู้ว่าเพราะอายุหรือเพราะสิ่งที่เราเห็นมากขึ้นหรือเปล่า ผมก็รู้สึกว่าสิ้นหวังมากขึ้น หมายถึงเราน่าจะเปลี่ยนให้ทิศทางของโลกมันดีขึ้นยากจริงๆ เพราะแค่เครื่องมือง่ายๆ ที่มันจะช่วยเรา อย่างการงดรับถุงพลาสติก หรือลดการใช้ภาชนะใช้แล้วทิ้ง คนยังคิดแค่มิติว่าใครสะดวกสบาย ใครขาดทุนกำไร 

“แต่ถ้าถามความคาดหวังกับลูก ผมก็แค่ไม่อยากให้เขาหมดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ เพราะถ้าเขาเป็นคนที่ยังไม่หมดหวัง เขาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในโลกใบนี้ สำหรับผมนี่คือความหวัง”

ในขณะที่เขากำลังจะหมดหวัง แต่เขาจะไม่ส่งต่อความรู้สึกลบนี้ไปสู่ลูก และยังเชื่อเต็มใจว่าต่อให้หมดหวัง เขาก็ยังคงต้องทำต่อไปในแบบที่เขาเชื่อว่าดี “ผมเห็นคนที่หมดหวังก็ยังทำกันทุกคนนะ คนที่รู้สึกหมดหวังก็ยังพยายามที่จะหาทางเปลี่ยนแปลง”

ไม่ว่าในฐานะพ่อของลูก หรือในฐานะพลเมืองของโลกก็ตาม

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง