เต้าหู้ปลา คงเป็นหนึ่งในเมนูของกินเล่นที่หลายคนเชื่อว่าเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ด้วยชื่อที่มีทั้งคำว่าเต้าหู้และคำว่าปลา ซึ่งต่างก็เป็นโปรตีนดีๆ ที่คนรักสุขภาพต้องกิน

“คนจะคิดว่าเต้าหู้ปลามันเฮลท์ตี้กว่าลูกชิ้นอื่นๆ แต่ถ้าไปดูในฉลากเราจะเห็นทั้งน้ำมัน ทั้งวัตถุเจือปนอาหาร” โอ-ปิยรัตน์ พูลพันธ์ co-founder ของเต้าหู้ปลามาดี (MADE) บอกกับเราว่าเต้าหู้ปลาที่กินกันทุกวันนี้ แม้หน้าตาจะดูเฮลท์ตี้แต่อาจไม่ได้มีดีอย่างที่หลายคนคิด 

เพราะเต้าหู้ปลาในท้องตลาดนั้นไม่ใช่เต้าหู้จริงๆ เป็นเพียงแค่ลูกชิ้นที่ทำมาให้หน้าตาเหมือนเต้าหู้ แถมยังไม่ค่อยมีเนื้อปลา มีแต่แป้งและสารปรุงแต่งที่ใส่เข้ามาในเต้าหู้อีกเพียบ 

กระบวนการมากมาย อันตรายก็มากตาม

เต้าหู้ปลาเป็น processed food หรืออาหารแปรรูปประเภทหนึ่ง ที่นำเนื้อปลามาบดแล้วผสมกับน้ำมันพืชให้ได้เนื้อที่นุ่มยืดหยุ่น บางเจ้ามีการผสมแป้งเพื่อลดต้นทุนการผลิต จากนั้นก็จะผสมกับเครื่องปรุงรส เช่น เกลือ น้ำตาล รวมถึงการใส่วัตถุเจือปนในอาหารเพื่อให้เต้าหู้ปลามีสัมผัสที่นุ่มและรสชาติที่ดีถูกปากคนกินทั่วไป

จะเห็นได้ว่ากรรมวิธีแปรรูปของเต้าหู้ปลานั้นมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การแปรรูปเชิงกลไก (mechanical processing) อย่างการบด การแปรรูปด้วยความร้อน (thermal processing) จากการนึ่งและทอด ไปจนถึงการแปรรูปที่ใช้สารเคมีเข้ากระทำ (chemical processing) ให้เนื้อเหนียวนุ่ม 

อย่างไรก็ตามกระบวนการที่มากมายนั้นไม่ใช่ตัวการเดียวที่ทำให้อาหารแปรรูปอย่างเต้าหู้ปลาไม่ดีต่อสุขภาพ อีกสาเหตุหลักคือส่วนผสมต่างๆ ที่ใส่เข้ามาเพื่อให้รสถูกปากทั้งน้ำตาล ไขมัน โซเดียมและสารเคมีอย่างฟอสเฟต ผงชูรส และวัตถุกันเสีย ที่เรียกรวมๆ ได้ว่าวัตถุเจือปนในอาหาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายหากรับประทานในปริมาณมากได้ 

แต่อาหารแปรรูปอย่างเต้าหู้ปลาก็ยังสามารถเป็นของกินดีได้ หากผู้ผลิตลดขั้นตอนการผลิตด้วยเครื่องจักรและเลือกใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัยมากขึ้น

มาดีมากขึ้นด้วยความใส่ใจ 

มาดีคือหนึ่งในผู้ผลิตที่สามารถทำให้เต้าหู้ปลาดีต่อสุขภาพ โอเล่าย้อนว่ามาดีนั้นเกิดขึ้นจากหุ้นส่วน 4 คนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารแปรรูปกันอยู่แล้ว ด้วยความสนใจในการผลิตการอาหารเพื่อสุขภาพและชอบกินเต้าหู้ปลาเป็นทุนเดิม จึงเริ่มคิดถึงการผลิตเต้าหู้ปลาที่ใส่ใจวัตถุดิบและกระบวนการมากขึ้น

“เรารู้ว่าเต้าหู้ในท้องตลาดไม่ใช่ทางเลือกที่ดี มันมีทั้งแป้ง มีไขมันที่ทำให้อ้วน มีวัตถุเจือปนอาหารอย่างเช่นฟอสเฟตที่เป็นสารก่อมะเร็ง พอมาทำเองเราจึงต้องเพิ่มความใส่ใจมากเป็นพิเศษ ตั้งแต่เลือกวัตถุดิบที่ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อคนทั่วไป ผู้ป่วยเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรังก็กินได้ ไปจนถึงกระบวนการผลิตที่น้อยลงเพื่อคงสารอาหารเอาไว้”

โอเล่าว่าพวกเขาใช้เวลาเกือบ 1 ปีเพื่อปรับปรุงรสชาติ ค้นหาแหล่งผลิตที่ไว้ใจ และพัฒนาให้กระบวนการผลิตเต้าหู้ปลานี้มีขั้นตอนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ “ส่วนที่ยากที่สุดคือเราไม่ใส่สารปรุงแต่งต่างๆ หลายคนคงรู้สึกว่าอาหารคลีนหรืออาหารเพื่อสุขภาพรสชาติดรอปลงมาจากปกติ เพราะว่าไม่มีวัตถุเจือปนในอาหาร เช่น โซเดียม ฟอสเฟต หรือสารกันบูด ที่ช่วยให้เนื้อสัมผัสของอาหารดี มีสีสันสวยงาม และมีรสถูกปาก

“แต่เรายังอยากได้เต้าหู้ปลาที่รสชาติอร่อย มีเนื้อสัมผัสที่ถูกใจ จึงต้องเลือกให้วัตถุดิบที่ดี ที่สดใหม่ ตั้งแต่ตัวเต้าหู้ปลา โดยใช้ดอกเกลือทะเลจากเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม ซึ่งมีโซเดียมน้อยกว่าเกลือปกติ ใส่น้ำมันรำข้าวในเนื้อเต้าหู้ปริมาณ 1% เท่านั้นเพื่อไม่ทำร้ายร่างกายเกินไป แต่ยังคงความนุ่มของเนื้อเต้าหู้อยู่ ส่วนตัวน้ำจิ้มซีฟู้ดก็มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำเนื่องจากใช้น้ำหวานจากช่อดอกมะพร้าว และอีกส่วนสำคัญคือกระบวนการผลิตของเราก็จะ less process หรือมีขั้นตอนการใช้เครื่องจักรให้น้อยที่สุด เพื่อคงคุณค่าทางอาหารไว้ให้ได้มากที่สุด”

จากความตั้งใจและความใส่ใจนี้ทำให้เต้าหู้มาดีกลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมากมาย ตั้งแต่เด็กๆ หนุ่มสาววัยทำงาน ไปจนถึงผู้ใหญ่ จากจุดเริ่มต้นที่ขายในช่องทางออนไลน์และออกอีเวนต์ ก็เริ่มวางขายตามร้านอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและหลากหลายขึ้น “เราดีใจที่สามารถทำให้หลายคนรับรู้ได้ว่ายังมีเต้าหู้ปลาที่มาด้วยความหวังดี ด้วยความจริงใจและทำให้ทุกคนได้ทานอาหารเมนูโปรดที่ดีต่อสุขภาพได้จริงๆ”

เกร็ดสุขภาพจาก Greenery:

อาหารแปรรูปส่วนใหญ่ในท้องตลาดมักขาดสารอาหารที่จำเป็น มีเกลือ น้ำตาล และไขมันในปริมาณที่สูง ฉะนั้นก่อนที่จะเลือกซื้ออาหารแปรรูปควรอ่านฉลากโภชนาการให้แน่ใจ ว่าไม่มีส่วนประกอบที่เป็นเกลือ น้ำตาล หรือไขมันในปริมาณมากเกินไป

ซึ่งอาหารมื้อหลักไม่ควรให้โซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัมต่อวัน อาหารว่างไม่ควรมีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนการบริโภคน้ำตาลที่เติมเพิ่มในอาหารไม่เกิน 4, 6 และ 8 ช้อนชา สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 1,600, 2,000 และ 2,400 กิโลแคลอรีต่อวันตามลำดับ ส่วนน้ำมันไม่ควรเกิน 65 กรัมหรือไม่เกิน 16 ช้อนชาต่อวัน

MADE Healthy Food

FB : MADE Healthy Food
สั่งซื้อได้ที่ Line @madehealthyfood หรือร้าน  Fix You และ BoxBox health+ ทุกสาขาภาพถ่าย: MADE Healthy Food