เชื่อว่าคนรักสุขภาพทุกคนย่อมมีแหล่งซื้อหาอาหารการกินที่ประจำกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะซูเปอร์มาร์เก็ตสายกรีน มุมอาหารปลอดภัยในร้านสะดวกซื้อ ที่เริ่มมีตัวเลือกหลากหลายขึ้นทุกวัน รวมถึงบรรดาตลาดนัดสีเขียวที่มีให้เราเลือกเดินกันแทบทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ และเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการกินดีกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเข้าถึงอาหารสะอาดปลอดภัยกันได้ง่ายกว่าเดิม

แต่ท่ามกลางการเติบโตอย่างคึกคักเหล่านี้ นักกิจกรรมและนักวิชาการด้านอาหารต่างก็จับตามองกันต่อว่าทิศทางของ ‘ตลาดสายกรีน’ นั้นกำลังมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางไหน ผู้ผลิตอาหารสะอาดควรเตรียมรับมือกับโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวันอย่างไร และผู้บริโภคอย่างเราสามารถมีส่วนช่วยให้ตลาดเหล่านี้ยั่งยืนได้ยังบ้าง 

ประเด็นดังกล่าวถูกใช้เป็นหัวข้อเสวนาในงาน ‘รวมพลคนตลาดทางเลือก’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับวงการอาหารสะอาด จากเครือข่ายกินดีมีสุข และนักวิชาการจากบริษัทป่าสาละ รวมถึงแพลตฟอร์มขายอาหารปลอดภัย Blue Basket ได้แสดงความเห็นและทำนายทิศทางของตลาดทางเลือกในประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ

ในอนาคต ตลาดอาหารดี อาจเต็มไปด้วยวัตถุดิบจากเพื่อนบ้าน

จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดอาหารสะอาดทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย สิ่งที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่ากำลังจะเกิดขึ้นภายใน 10 ปีข้างหน้าก็คือ การทะลักเข้ามาของวัตถุดิบอาหารสะอาด ทั้งพืชผักอินทรีย์และปลอดสารพิษที่ปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในประเทศลาว ซึ่งมีสัดส่วนพื้นที่การทำเกษตรปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกมาก และต้นทุนการผลิตต่ำกว่าบ้านเรา

สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาก็คือ คนกลางรายใหญ่ อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ตทางเลือก หรือผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพรายใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง อาจหันไปรับซื้อผลผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดต้นทุน ทั้งยังตอบโจทย์การขายในระดับแมส เนื่องจากปริมาณการผลิตของประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ค่อนข้างแน่นอน ผู้ผลิตอาหารปลอดภัยชาวไทยจึงอาจได้รับผลกระทบหากไม่สร้างจุดขายของสินค้าให้โดดเด่น และสร้างเครือข่ายผู้ผลิตที่เข้มแข็ง สามารถต่อรองกับพ่อค้าคนกลางรายใหญ่ได้ 

รวมถึง ผู้ผลิตไทยควรพยายามหาทางเข้าถึงผู้บริโภคทางตรงให้มากขึ้น อาทิ การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือการผูกการซื้อ-ขายกับคู่ค้าที่มีเสถียรภาพ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย เพื่อกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากพ่อค้าคนกลางในอนาคต 

อาหารดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องมาพร้อมสตอรี่น่าสนใจ

ประเด็นถัดมาที่เหล่าพ่อค้าแม่ขายอาหารปลอดภัยต้องเตรียมตัวรับมือคือ การแข่งขันด้าน ‘เรื่องราวของสินค้า’ (Product Storytelling) ที่จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยคุณประไพ ทองเชิญ ตัวแทนจากเครือข่ายกินดีมีสุข จังหวัดพัทลุง เสริมในเรื่องนี้ไว้ว่า ปัจจุบันตลาดชุมชนกำลังเร่งปรับตัวให้ทันการแข่งขันในตลาดอาหารพื้นบ้านและอาหารปลอดภัย ด้วยการผลักดันให้ตลาดชุมชนกลายเป็น ‘ตลาดชุมชน เพื่อการท่องเที่ยว’ ด้วยแนวคิดว่าตลาดชุมชนนั้นสามารถยกระดับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งดึงคนนอกพื้นที่เข้ามาสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้ด้วย 

ตัวอย่างของจังหวัดพัทลุง เช่น ตลาดใต้โหนด ในอำเภอควนขนุน ซึ่งทางเครือข่ายกินดีมีสุขได้ทำการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตอาหารปลอดภัย รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนนานถึง 3 ปี ก่อนเปิดตลาดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2558 โดยกำหนดแนวทางของสินค้าในตลาดใต้โหนดไว้ว่า 

1) เป็นสินค้าที่ผู้ผลิตนำมาขายด้วยตัวเอง 

จึงมั่นใจได้ว่าปลอดภัย เนื่องจากสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ชัดเจน ทั้งยังทำให้ตลาดใต้โหนดมีความยั่งยืนจากสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้าแม่ค้าในตลาดที่แลกเปลี่ยนความรู้ในการผลิตให้กันได้โดยตรง 

2) สินค้าทุกชนิดมีเรื่องราวเบื้องหลังที่แข็งแรง 

อาทิ ร้านขายขนมพื้นบ้านที่ผสมผสานเรื่องราวของวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าไปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความภูมิใจให้แก่ผู้ผลิตเอง และเพื่อสร้างจุดขายที่ตลาดชุมชนแห่งอื่นไม่มี ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและนักพัฒนาชุมชนอย่างเข้าใจบริบท และส่งเสริมให้ผู้ผลิตเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวด้วยตัวเอง 

3) เป็นสินค้าที่เข้าใจกระแส แต่ไม่ตามกระแส

สินค้าส่วนใหญ่ในตลาดใต้โหนดนั้นเป็นสินค้าพื้นบ้านก็จริง ทว่าก็ปรับตัวให้เข้ากับกระแสและความต้องการของตลาดอยู่เสมอ อาทิ การปรับวิธีการนำเสนอ หรือแพ็คเกจให้จับความสนใจ แต่ยังคงไว้ซึ่งแก่นคุณค่าของความเป็นพื้นบ้าน ‘ป่า นา เล’ ซึ่งคืออัตลักษณ์สำคัญของจังหวัดพัทลุง 

ตลาดทางเลือก ยังจำเป็นอยู่ไหม?

นักวิชาการจากบริษัทป่าสาละ คุณสฤณี อาชวานันทกุล ได้นำเสนอในประเด็นสุดท้ายไว้ว่า การคาดเดาทิศทางของตลาด ในเมื่อซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำเริ่มมีสินค้าอาหารปลอดภัยวางขายเพิ่มขึ้น 

คำถามคือตลาดทางเลือกยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่? โดยความจำเป็นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบรรดาตลาดทางเลือกกำหนด ‘คุณค่า’ ที่แตกต่างจากตลาดกระแสหลักให้ชัดเจน อาทิ การเดินตลาดทางเลือกช่วยพัฒนาระบบอาหารให้ดีขึ้น หรือการเดินตลาดทางเลือกนั้นสนุก ได้สัมผัสความแปลกใหม่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอาจให้ไม่ได้ เป็นต้น

สุดท้าย คุณฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ จาก Blue Basket ได้เสริมถึงการพัฒนาสินค้าอาหารปลอดภัยในอนาคตเอาไว้ว่า ผู้ผลิตต้องทำความเข้าใจตลาดคนรุ่นใหม่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง อาทิ การตั้งเป้าพัฒนาสินค้าให้เป็น ‘ภาพแทนตัวตนของผู้บริโภค’ ไม่ใช่เป็นเพียงสินค้าคุณภาพดีหรือมีเรื่องราวน่าสนใจเท่านั้น อาทิ น้ำปลาหมักโดยกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งอาจต้องทำแพคเก็จและสร้างสตอรี่ให้เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์กลุ่มผู้บริโภคให้มากขึ้น ให้เขารู้สึกว่าสินค้าชิ้นนั้นมีรสนิยมต้องตรงกับตัวเอง และรู้สึกดีตั้งแต่หยิบสินค้านั้นลงตะกร้า ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวจะนำพามาซึ่งการพัฒนาตลาดทางเลือกอย่างยั่งยืน ในโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน 

แล้วในฝั่งผู้บริโภคอย่างเราๆ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ว่าผู้ผลิตอาหารที่ดีตามตลาดทางเลือกจะต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้างเพื่อเอาตัวรอดในปัจจุบัน หน้าที่ของพวกเราคือการร่วมกันสนับสนุน บอกต่อพิกัดตลาดดีๆ และส่งต่อข้อมูลความรู้กันให้มากๆ 

เพราะถ้าทุกฝ่ายช่วยกันแล้วล่ะก็ ตลาดกรีนจะต้องรอดแน่นอน ฟันธง!



ภาพถ่าย: ม็อบ อรุณวตรี