จบลงไปแล้วอย่างสวยงาม สำหรับเทศกาลด้านการพัฒนาความยั่งยืน Chula Sustainability Fest 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 กันยายนที่ผ่านมา ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งนี้เจ้าภาพอย่างจุฬาฯ ได้นำเสนอกิจกรรมมากมาย เพื่อสร้างความตระหนักถึงไลฟ์สไตล์ที่สร้างความยั่งยืนให้กับชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ชนิดว่าอัดแน่นตลอดทั้ง 3 วัน โดยศาสตราจารย์ นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานการจัดงานได้กล่าวถึงเป้าประสงค์ของเทศกาลนี้ว่า

“จุฬาฯ จัดงานนี้ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนที่ผู้คนจับต้องได้ ผ่านการหยิบเอาเรื่องสุขภาวะทั้งกายและใจ มาเป็นกรอบในการจัดงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่คนในสังคมกำลังให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน”

กิจกรรมภายในงานไล่เรียงตั้งแต่การออกบูธสื่อสารและให้บริการเกี่ยวกับสุขภาวะทั้งกายและใจ อาทิ คลินิกสุขภาพใจซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตคอยให้คำปรึกษาแบบใกล้ชิด วงเสวนา ‘กลวิธีจัดการความเครียดในยุคโควิด’ โดย ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ซึ่งให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาวะโรคระบาดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนทั่วโลก การรับมือกับความเครียดและภาวะกดดันด้วยความเข้าใจ จึงเป็นองค์ความรู้สำคัญที่สังคมควรผลักดันร่วมกัน และยังมีกิจกรรมดูแลสุขภาพกาย เช่น บูธตรวจสุขภาพเบื้องต้น เพื่อนำข้อมูลมาออกแบบวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับความยั่งยืนทั้งมิติสุขภาวะและสิ่งแวดล้อม

ภายในงานยังอัดแน่นด้วยกิจกรรมเพื่อสื่อสารถึงประเด็นความยั่งยืนในมิติอันหลากหลาย อาทิ walk and talk อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาร่วมกิจกรรมและแสดงปาฐกถาเรื่อง ‘นโยบายเพื่อเมืองที่ยั่งยืนและน่าอยู่ของทุกคน’ โดยเน้นย้ำถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่ามีใจความสำคัญคือการ ‘Think big Start small’ หรือการมองให้เห็นภาพใหญ่ และค่อยๆ สร้างความร่วมมือระหว่างคนทุกกลุ่มในสังคม เพื่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในระยะยาว พร้อมบอกถึงหลักการในการเดินหน้าพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนว่า ควรมี action plan ที่ชัดเจน และควรคำนึงถึงเศรษฐกิจฐานรากหรือเหล่า SME ให้อยู่ในสมการการพัฒนาด้วย รวมถึงการวางแผนยกระดับการพัฒนา ขยายสเกลให้เกิดประโยชน์ในระดับสังคมได้จริง

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมเชิงสันทนาการอีกหลากหลาย ทั้งการเปิดวิกหนังกลางแปลงฉายภาพยนตร์ ‘Don’t look Up’ พร้อมเสวนาถึงทิศทางการพัฒนาสังคมกันกลางสวน นิทรรศการภาพถ่าย ‘A Sustainable Happiness’ เวิร์กช็อป ‘A cup of awareness’ การแสดงดนตรีในสวนจากเหล่าศิลปิน CU Night Run และตลาดสีเขียว Greenery Market ที่ยกขบวนสินค้าอาหารและของใช้ที่เป็นมิตรต่อเราและต่อโลกกว่า 32 ร้านมาให้ได้จับจ่ายกัน

โดยในส่วนของตลาดสีเขียว Greenery Market ในครั้งนี้ เรียกว่าเป็นการกลับมาอย่างเต็มรูปแบบของร้านค้าสายอินทรีย์ ที่ผ่านการคัดสรรคุณภาพตามมาตรฐานของ Greenery. นั่นคือเป็นอาหารปลอดภัยและมีต้นทางการผลิตที่มั่นใจได้ เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อย่างผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งป่าและสมุนไพรจากชุมชนปกาเกอะญอ ไอศกรีมโฮมเมดจากวัตถุดิบท้องถิ่นไทย Jinta ขนมและอาหารเพื่อสุขภาพจากเคี้ยวเขียว และอื่นๆ จากอีกหลายผู้ประกอบการหัวใจกรีน รวมถึงมีบูธรับบริจาคขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิลจาก Cirplas และบูธรับบริจาคอาหารส่วนเกินคุณภาพดีจากมูลนิธิ SOS มาร่วมแจม เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

ไม่เพียงประเด็นเรื่องสุขภาวะเท่านั้น เพราะงาน Chula Sustainability Fest 2022 ยังให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์อยากสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายได้จริง ทั้งในระดับของมหาวิทยาลัยเองและในระดับสังคม ผ่านกิจกรรมอื่นๆ อาทิ วงเสวนาหัวข้อ ‘Sustainability Lifestyle’ ที่รวมบุคคลจากหลากหลายวงการมาร่วมออกความเห็นถึงวิถีชีวิตที่ส่งเสริมความยั่งยืน ในรูปแบบที่หลากหลายและสอดคล้องกับทั้งบริบทของชีวิตและสังคม

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับวิถียั่งยืน อย่างกิจกรรม ‘Clothes and Books Swap Party เรื่องชั้นแลกเรื่องราว’ ที่ชวนผู้เข้าร่วมมาแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าคุณภาพดีและหนังสือ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานที่สุด รวมไปถึงเวิร์กช็อปชวนกินดี Plant-based Cooking Class กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนรักสุขภาพเข้ามาเรียนรู้วิถีการกินดี โดยมีผักเป็นส่วนประกอบหลักของมื้ออาหาร ซึ่งเป็นมิตรกับทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม พร้อมเรียนรู้เมนูอร่อยทำง่ายกลับไปเติมสีสันให้กับมื้ออาหารของตัวเองกัน ท่ามกลางเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม

การพัฒนาความยั่งยืนนั้นนับเป็น 1 ใน 3 ยุทธศาสตร์หลักของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเดินหน้าอย่างสอดคล้องกับวาระการพัฒนา 2030 ของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals:SDGs

การเกิดขึ้นของงาน Chula Sustainability Fest 2022 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในการตั้งต้นเพื่อไปสู่เป้าหมาย ผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายจากหลากหลายวงการ เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงวิถีชีวิตและเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้

ภาพ: Greenery. / CU Let It Green