ก่อนจะเริ่มเรื่องความอร่อยแบบท้องถิ่น เรามาทำความรู้จักน้องๆ กลุ่มลูกเหรียงที่เป็นแม่ครัวของกิจกรรมนี้กันก่อน ‘กลุ่มลูกเหรียง’ หรือ สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ก่อตั้งขึ้นที่จังหวัดยะลา เพื่อจัดหาทุนการศึกษาให้เยาวชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ต้องกำพร้าและเผชิญความสูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบ กลุ่มลูกเหรียงได้หยิบยื่นโอกาสให้เยาวชนสามารถก้าวข้ามผ่านอดีตอันโหดร้ายและลุกขึ้นมาทำตามความฝันของตนเองได้อีกครั้ง 

เราได้มีโอกาสและประสบการณ์ส่วนตัวในการให้ทุนสนับสนุนและทำงานร่วมกับน้องๆ และพี่ชมพู่ แอคทิวิสต์รุ่นใหญ่ในการขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพในชายแดนใต้มาสักพัก ทำให้เราเข้าใจถึงรากเหง้าปัญหาและความรู้สึกของคนในพื้นที่ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาอย่างไรบ้าง แต่กระนั้นทุกคนก็ยังมีความฝันและความสามารถที่ไม่ต่างไปกับเราทุกคน 

“ดังนั้น การที่เราได้มีโอกาสมาทานอาหารในครั้งนี้ มันไม่ใช่แค่ความอิ่มอร่อยที่เราจะได้รับกลับไป หากแต่เป็นความภูมิใจและกำลังใจที่อยากส่งต่อให้น้องๆ และเพื่อนๆ ในสามจังหวัดได้ลุกขึ้นมาเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความหวังในทุกวัน”

ขณะที่เรากำลังนึกย้อนกลับไปที่ยะลานั้น อาหารคำแรกก็มาวางอยู่ที่หน้าเราซะแล้ว เมี่ยงข้าวยำ ที่มีกรือโปะ หรือข้าวเกรียบปลา อาหารพื้นถิ่นในสามจังหวัดมาให้ทานเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย

ตามมาด้วย ไก่กอและเสิร์ฟคู่กับตุปะใบพ้อ หรือ ข้าวเหนียวที่ถูกห่อในใบพ้อนั่นเอง ซึ่งปกติเมนูนี้จะได้กินเฉพาะในงานมงคลหรือมอบให้คนพิเศษเท่านั้น เป็นเมนูดั้งเดิมของเมืองปัตตานี ซึ่งต้องใช้ทักษะในการห่อข้าวในใบพ้อโดยไม่ให้แน่นเกินไป ส่วนไก่กอและนั้นรสชาติดีมาก เป็นไก่เก้าสายพันธ์จากเบตง เนื้อเหมือนไก่ตอนแต่หนังเหมือนไก่บ้าน ปรุงรสแบบดั้งเดิมของปัตตานี โดยมีการหมักหัวกะทิและเครื่องสมุนไพรไว้ก่อน วางข้างๆ มากับ อีแกอายอ (ปลาน้ำเค็มอีกแก) หรือ ปลาโอเนื้อแน่นเหมือนปลาทูน่า นำมาย่างไฟจนหอม แต่ตัดเลี่ยนด้วยซอสลูกหยีสามรสสูตรลับของกลุ่มลูกเหรียง ที่ทำกินกันเป็นประจำ เพราะเป็นวัตถุดิบที่มีเยอะมากในภาคใต้ มีความเปรี้ยว อมหวาน เพิ่มสัมผัสด้วยแครกเกอร์ทุเรียนทอด

พอเรากำลังนึกถึงผัก จานผักก็มาทันที ผักกูดในน้ำสลัดปลากุเลา เป็นสไตล์น้ำสลัดแขกที่ไม่ค่อยสามารถหาทานได้ในเมือง แต่มีมากที่สามจังหวัดชายแดนใต้ พิเศษตรงที่ใส่ปลากุเลาบดกับมะม่วงหิมพานต์ลงไปด้วย ทำให้มีรสความนัว อร่อยเลย ส่วนของผักนั้นก็เป็นผักพื้นบ้านอย่าง ดอกขมิ้น ผักน้ำ และดอกดาหลา ซึ่งขึ้นเยอะมากริมแม่น้ำปัตตานี ที่สำคัญยังมีผักกูด ที่เป็นเป็นสัญลักษณ์ของการปลอดสารพิษ ดังนั้นจานนี้เราไม่ต้องกังวลเรื่องสารพิษเลย 

ละแซแกงปู อาหารถิ่นประจำจังหวัดยะลา จานที่คนในพื้นที่หาทานได้เป็นประจำแต่คนเมืองอย่างเราไม่มีโอกาสที่จะได้รู้จักด้วยซ้ำ ละแซ เป็นอาหารพื้นบ้านจากรัฐกลันตัน มาเลเซีย มีลักษณะคล้ายขนมจีนบ้านเรา แต่หนากว่าและดูเหมือนเส้นใหญ่ ทำจากแป้งข้าวเจ้า โดยน้องๆ ร่วมช่วยกันทำเส้นสด ต้องนึ่งกว่า 50 รอบสำหรับมื้ออาหารสองมื้อนี้ ราดด้วยแกงปูรสเอกลักษณ์เผ็ดร้อนนิดหน่อย ทานคู่กับใบชะพลูอบกรอบและหมี่เบตงทอด 

ตูปะชูตง อาหารพื้นเมืองหาทานได้ยาก ที่จะมีเฉพาะช่วงรอมฎอนเท่านั้น นิยมทานเป็น Breakfast ช่วงพระอาทิตย์ตกหรือ ‘เปิดครัว’ หลังที่ถือศีลอดมาทั้งวัน ตูปะชูตงที่อร่อยจะต้องเลือกปลาหมึกที่มีขนาดพอดี อัดข้าวเหนียวให้แน่นพอดี และห้ามให้ปลาหมึกแตกเด็ดขาด นำไปต้มกะทิ ปรุงรสและความหอมด้วยน้ำตาลโตนดจากยะหริ่งที่หวานหอมและเค็มปลาย ดับคาวด้วยตะไคร้ เคี่ยวจนน้ำงวดและข้นเป็นอันเสร็จ ทานไปก็คำนึงคิดไปว่านี่คือของหวานหรือของคาวกัน 

เฉาก๊วยเบตงชามาเล เฉาก๊วยโบราณจากเบตง หอมกลิ่นสมุนไพรหญ้าวุ้นดำขนานแท้ เหนียวนุ่มตามธรรมชาติปราศจากผงวุ้น ในชามาเลที่มีรสหวานกลมกล่อมและกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสขมเล็กน้อย เสิร์ฟกับ กล้วยหินคาราเมล ที่เป็นกล้วยหินป่าจากปานังสตา หาได้เฉพาะในยะลา มีเนื้อขาวครีมออกรสเปรี้ยวเล็กน้อยตัดรสด้วยน้ำตาลคั่วไหม้ เป็นการจบคอร์สการกินอาหารที่อร่อยและอิ่มเอมจริงๆ 

วัตถุดิบของดีในชุมชนมีมากมาย อาหารพื้นบ้านสืบทอดกันในแต่ละชุมชนมีคุณค่า ของที่อร่อยที่สุดกินแล้วมีความสุขที่สุดก็คงเป็นประสบการณ์นี้ เราได้ฟังและได้เจอน้องๆ ลูกเหรียงที่เป็นแม่ครัวลงมือทำให้เรากินกันเองอย่างแข็งขัน เป็นการแบ่งปันความอร่อยจากสิ่งที่น้องๆ ได้ทานกันเป็นประจำ 

ความอร่อยแบบท้องถิ่นอย่างนี้ จะอร่อยที่สุด ก็ต้องกินจากคนในชุมชนนั่นแหละ!

เกี่ยวกับ โลเคิล อร่อย (LocalAroi) 

กิจกรรมนี้ที่เราได้มีโอกาสมาทานอาหารพื้นถิ่นในเมืองกรุงต้องขอขอบคุณ โลเคิล อร่อย (LocalAroi) ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง โลเคิล อไลค์ (LocalAlike) กับ เชฟบุ๊ค บุญสมิทธิ์ พุกกะณะสุต จากรายการ Foodwork โดยเชฟบุ๊คได้มาช่วยสร้างประสบการณ์มื้ออาหารมิติใหม่นี้ด้วยการนำเสนออาหารพื้นถิ่น วัตถุดิบในท้องถิ่น ปรุงตามแบบฉบับชุมชน แต่รังสรรค์หน้าตาอาหารออกมาให้น่ารับประทานมากขึ้น

โลเคิล อไลค์ (LocalAlike) เป็นกิจการเพื่อสังคมที่พัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้ดีขึ้น และสามารถพัฒนาชุมชนต่อไปได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน มื้ออาหาร โลเคิล อร่อย (LocalAroi) ในวันนี้ รายได้ทั้งหมดจะถูกนำไปเป็นทุนการศึกษาสำหรับน้องๆ ในพื้นที่สามจังหวัดอีกด้วย

ติดตามความอร่อยแบบพื้นถิ่นครั้งหน้ากับชุมชนอื่นๆ ได้ที่ https://localaroi.com

สนใจระดมทุนร่วมสนับสนุนกลุ่มลูกเหรียง ได้ที่ https://taejai.com/th/d/luukrieang_sos