หลายครั้งที่เรื่องของการจัดการจัดการขยะ หรือการเลือกใช้วัสดุหรือพลังงานทดแทน แม้กระทั่งการนำกลับไปรีไซเคิลได้ กลายเป็นหัวข้อที่ชวนให้เกิดการตั้งคำถามต่อไปอีกว่า สิ่งที่เราทำกันอยู่มันเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วจริงหรือ การแก้ปัญหาเดิมมันไม่ได้ก่อให้เป็นปัญหาในรูปใหม่จริง ๆ ใช่มั้ย?

แล้วเคยแอบคิดไหมว่า หากบทสนทนาในเรื่องดังกล่าวมันเกิดเป็นการถกเถียงแบบที่ต่างคนไม่เก็บไว้ในใจขึ้นมา เสียงเหล่านั้นจะตะโกนออกมาดังแค่ไหน?

‘The End is Coming’ หรือ ‘จุดจบของโลก…บนภูเขากองขยะ’ เป็นนิทรรศการในรูปแบบ Immersive Art ที่เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมในประสบการณ์การชมที่ Lido Connect เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ความน่าสนใจของนิทรรศการชุดนี้คือ นี่เป็นครั้งแรกของนิทรรศการสิ่งแวดล้อม ที่ดึงเอาผู้ชมให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ทำให้ศิลปะกลายเป็นสิ่งที่มีส่วนร่วมกับเราอย่างไม่มีกฎเกณฑ์ เพื่อย้ำการรับรู้ที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ของแต่ละบุคคลโดยตรง และเกิดปฏิสัมพันธ์กับงานแสดงตรงหน้า ไม่ว่าจะด้วยความรู้สึกอย่างไรก็ตามแต่ ไม่มีถูก ไม่มีผิด

นิทรรศการศิลปะชุดนี้ เป็นไฮไลต์หนึ่งของงาน ‘มาหามิตร’ ที่อลิอันซ์ อยุธยา ชวนพันธมิตรองค์กรที่มีเจตจำนงรักษ์โลก มุ่งเดินหน้าสู่ความยั่งยืนอย่างโรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ, โครงการ Chula Zero Waste, MBK และธนาคารกรุงศรีอยุธยา มาร่วมตั้งเป้าหมายความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ โดยสร้างความยั่งยืนจากภายในองค์กร และขยายผลสู่ภายนอก

ภายในห้องกิจกรรมของ Lido Connect ถูกปรับเปลี่ยนพื้นที่จากห้องที่ว่างโล่ง มาเป็นงาน Art Installation ผ่านตัวละครที่เป็นตัวแทนของมนุษย์ 6 คน ในงานแสดงที่ประกอบขึ้นด้วยแสง สี และเสียง ที่จะพาเราไปดูชีพจรของโลกซึ่งกำลังถอยหลังไปสู่จุดจบบนยอดกองภูเขาขยะ

นิทรรศการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วนการแสดงคือชั้นล่างและชั้นบน ชั้นล่างจัดแบ่งห้องแสดงงานออกเป็น 6 ห้อง โดยมีตัวละครประจำอยู่ในแต่ละห้อง แต่ละห้องคือหนึ่งในจุดกำเนิดของตัวการสร้างก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความแปรปรวนของธรรมชาติ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อโลกอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

การแสดงเริ่มขึ้นด้วยการรวมตัวกันของตัวละคร ที่ต่างออกมาพูดถึงมุมของตัวเองเมื่อโลกกำลังเกิดปัญหา บางคนบอกว่าเราจะต้องช่วยกันจริงจังเสียที บางคนบอกว่าตัวเองยังไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านเลย แล้วปัญหาของโลกกับปัญหาของตัวเองอย่างไหนจะสำคัญกว่ากัน ในขณะที่บางคนก็บอกว่าเรื่องพวกนี้มันไร้สาระ ณ พื้นที่แสดงในชั้นล่าง ตัวละครในห้องทั้ง 6 ต่างดำเนินเรื่องไปตามโจทย์ เริ่มจากห้องแรกซึ่งเป็นห้องของเจ้าของโรงงาน ตัวละครสวมสูทตามแบบนักธุรกิจ พ่นความคิดอยู่ในห้องที่มีปล่องควันปล่อยไอพิษสีขาวฟุ้งออกมาตามท่อ ในมุมของนักธุรกิจ เขามองว่าตัวเองลดการปล่อยควันพิษน้อยลงแล้ว นี่คือสิ่งที่เขาทำได้ และทำดีที่สุดในฐานะเจ้าของกิจการ

ห้องที่สองเป็นห้องที่กองพะเนินไปด้วยทีวีและเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายสิบเครื่อง ตัวละครสื่อสารกับพวกเราที่เป็นคนดูซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งตัวละครว่า ไฟฟ้าทุกดวงที่เราเปิด อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกเครื่องที่เราใช้ คือการดึงเอาพลังงานถ่านหินขึ้นมาใช้ และบอกกับเราว่าทำไมพวกเราจึงต้องประหยัดไฟฟ้า

ในห้องที่สามซึ่งเปิดโล่งให้เห็นความแห้งแล้ง ตัวละครไร้เสียงสื่อสารกับเราด้วยป้ายกระดาษที่เขียนเป็นข้อความต่าง ๆ บรรยากาศที่แวดล้อมสะท้อนการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ไม่มีจุดรีเทิร์น มีแต่เพิ่มขึ้น และทุกการเพิ่มขึ้นของแต่ละองศาฯ มันส่งผลกระทบอย่างทั่วถึง และหากเรายังฉุดรั้งตัวเลขเอาไว้ไม่ได้ จุดจบอาจเป็นความแห้งแล้งแบบที่เราเห็น

ส่วนห้องของตัวละครนักขายออนไลน์สาวที่อยู่ฝั่งตรงข้าม กำลังไลฟ์ขายผลิตภัณฑ์ปั๊มรายได้ บับเบิลขนาดใหญ่ถูกก่อขึ้นเป็นห้องสีขาวที่เปลี่ยนสีสวยตามไฟสะท้อน การบริโภคสินค้าออนไลน์ของพวกเรากำลังสร้างขยะแพกเกจจิ้งมหาศาล และข้าวของที่เรากดสั่งอย่างสะดวกสบาย สุดท้ายแล้วบางชิ้นก็อาจจะกลายเป็นขยะด้วยเหมือนกัน

ต่อเนื่องจากห้องที่สื่อถึงขยะจากบรรจุภัณฑ์ เป็นห้องของนักแยกขยะที่กองขยะพลาสติกกองสุมและแขวนเอาไว้ราวกับอุโมงค์หลากสี จริงอยู่ว่าการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเป็นเรื่องดี แต่นักแยกขยะคนนี้ก็แฝงนัยว่าบางทีแล้วการแยกขยะอาจไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะในการรีไซเคิลก็ยังมีผลกระทบต่อเนื่องในกระบวนการ สิ่งที่ดีที่สุดของการจัดการขยะ คือการลดการสร้างขยะมากกว่า

ปิดท้ายด้วยห้องที่หก ผนังที่กำลังเคลื่อนไหวสื่อสารกับเราผ่านตัวหนังสือ บอกกับเราถึงการลดการใช้กระดาษที่เป็นหนทางหนึ่งในการช่วยลดการผลิตและลดการใช้ทรัพยากร ท่ามกลางแผ่นกระดาษชวนเปลี่ยนพฤติกรรมที่ปลิวเกลื่อนอยู่บนพื้น และส่งใส่มือผู้เข้าชมให้นำไปแจกจ่าย

ฉับพลันเสียงไซเรนส่งสัญญาณลั่นห้องจัดแสดง ปลุกความตื่นตระหนกให้ทุกคนในงาน เสียงนี้ส่งเป็นนัยบอกเราถึงโลกกำลังถึงคราววิบัติ พวกเราถูกต้อนขึ้นไปรวมตัวอยู่บนชั้นสอง บนนั้นมีกองขยะสุมสูงเป็นภูเขา เต็มไปด้วยขวดพลาสติก ชิ้นส่วนพลาสติก และกระดาษ ตัวละครทั้ง 6 ที่ยืนอยู่กลางโอบล้อมของขยะต่างตะโกนความเห็นของตัวเองออกมาเซ็งแซ่ แผดเสียงแข่งกับสารคดีที่กำลังฉายอยู่บนจอ เรื่องราวบนนั้นกำลังบอกกับเราว่า The End is Coming จุดจบของโลกกำลังคืบเข้ามา

“ก็ความมักง่ายความเคยชินของเรานี่แหละ ที่เร่งให้มันเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้”
“เป็นนายทุน ทำอะไรหน่อยก็โดนจ้องจับผิด”
“โลกกำลังสูญเสียไปเท่าไร สัตว์กำลังเดือดร้อนจากน้ำมือของมนุษย์ไปอีกเท่าไร”
“พวกคุณทำอะไรบ้างนอกจากตะโกนตำหนิคนอื่น”
“อย่าเกลียดชัง อย่าใช้ความรุนแรง ทุกคนรักโลก”
“เรายังมีโอกาสช่วยกัน”

เสียงถกเถียงตะโกนแผดใส่กันลั่นห้อง ในขณะที่บนหน้าจอกำลังฉายให้เห็นภาพความรุนแรงของภัยพิบัติ สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั่วโลก และมันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งต่อมาถึงความแปรปรวนของฤดูกาล พายุ น้ำท่วม ขยะในทะเลจำนวนมหาศาล ภาพสัตว์ที่สูญเสียชีวิต เป็นผลงานจากน้ำมือพวกเราทุกคน

ดนตรีในหนังสารคดีค่อย ๆ แผ่วจังหวะที่เร่งเร้าให้อ่อนนุ่มลง วันนี้จุดสิ้นสุดของโลกยังมาไม่ถึง แต่มันก็กำลังใกล้เข้ามา พวกเขาปิดการแสดงด้วยความนิ่งสงบ ราวกับว่าความตึงเครียดและแรงโกรธที่ทุ่มใส่กันก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอยู่จริง

เบื้องหลังงานนิทรรศการชิ้นนี้ คือการร่วมกันระหว่างอลิอันซ์ อยุธยา กับ H.U.I Team Design ที่มีจุดเริ่มต้นจากโจทย์ที่ต้องการกระตุกให้คนสนใจเรื่องใกล้ตัวที่ถูกมองข้ามอย่างขยะ ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ไม่จบสิ้น ตัวละครทั้ง 6 สื่อถึงคาแรกเตอร์และจริตของมนุษย์ที่ต่างกัน และผู้ชมแต่ละคนก็อาจจะได้เคยประสบกับสถานการณ์เหล่านี้ ส่วนกองขยะที่เต็มไปด้วยพลาสติกและกระดาษนั้น คือขยะที่นำมาจาก Recycle Day Thailand ซึ่งหลังจากจบนิทรรศการก็ได้ส่งกลับคืนสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อ

แม้ ‘The End is Coming’ จะไม่ได้ให้คำตอบปลายปิดกับเราว่าที่สุดแล้วเราควรต้องทำยังไง แต่สิ่งที่ติดกลับออกไปอาจเป็นความคิดหรือความตั้งใจบางอย่าง และช่วยให้เราได้หันกลับมาทบทวนตัวเองว่า ที่เราบอกว่าเรารักโลกใบนี้ เรารักมากพอที่จะดูแล หรือหากว่าดูแลแล้ว เราดูแลมากพอเท่าที่เรารักหรือยัง?

ภาพ : อลิอันซ์ อยุธยา